18 มี.ค. 2020 เวลา 13:50 • ประวัติศาสตร์
ใครคือ “ฮองเฮา” คนแรกของ ‘จักรวรรดิจีน’ ?
เป็นที่ทราบกันดีนะครับ หลังจาก “อิ๋งเจิ้ง” รวบรวมแผ่นดินที่แตกแยกให้กลับมาเป็นหนึ่งเดียว พร้อมสถาปนา “จักรวรรดิจีน” ขึ้นโดยมี “ต้าฉิน” เป็นราชวงศ์แห่งแรกของจักรวรรดิ ทั้งยังยกฐานันดรของโอรสสวรรค์จากกษัตริย์ให้เป็นจักรพรรดิ ทำให้ประมุขฝ่ายในที่เป็นคู่ครองของพระประมุขบ้านเมือง มีการเลื่อนฐานะจาก “ราชินี” (Queen : 王后) ให้กลายเป็น “จักรพรรดินี” (Empress : 皇后) หรือที่คุ้นเคยกันในตำแหน่ง “ฮองเฮา” นั่นเองครับ
แต่ทว่า...หลักฐานที่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์ฉิน ไม่ได้มีบันทึกไว้ว่า รายพระนามของฮองเฮาแห่งต้าฉิน..มีใครบ้าง แม้แต่เรื่องราวชาติกำเนิดของจักรพรรดิจิ๋นซี ปฐมฮ่องเต้ของจีน ว่าใครเป็นพระมารดาที่แท้จริงของพระองค์ นอกจากนั้น พระราชประวัติของพระมารดาของพระราชโอรสองค์โตของอิ๋งเจิ้งอย่าง “อดีตรัชทายาท อิ๋ง ฝูซู” กับพระมารดาของพระราชโอรสองค์สุดท้องอย่าง “จักรพรรดิฉินเอ้อซื่อ (อิ๋ง หูไฮ่)” ฮ่องเต้รัชกาลที่ 2 ของราชวงศ์ฉินหลังสิ้นจิ๋นซี ก็ไม่มีการกล่าวถึงในหน้าประวัติศาสตร์เลย
ทำให้เรื่องราวเกี่ยวกับวังฝ่ายในสมัยราชวงศ์ฉิน ยังคงเป็นปริศนาที่รอการพิสูจน์ให้กระจ่างชัดต่อไป
ดังนั้น ด้วยข้อมูลที่พอมีอยู่ จึงอาจอนุมานได้ว่า คนที่ดำรงตำแหน่งฮองเฮาคนแรกในประวัติศาสตร์จีน ต้องอยู่ในสมัยราชวงศ์ฮั่น ที่ขึ้นครองจักรวรรดิหลังต้าฉินล่มสลายโดยมีฮ่องเต้เพียง 2 พระองค์.....นักวิชาการถือว่า “อิ๋งจื่ออิง” ที่เป็นประมุขแผ่นดินต่อจากหูไฮ่นั้น เป็นเพียง “กษัตริย์รักษาการณ์ของฉิน (King of Qin)” ไม่ได้ดำรงฐานันดรจักรพรรดิฉิน (Qin Emperor) เพราะถูกเซี่ยงอวี่หรือฌ้อปาอ๋องบุกถึงพระนคร ทำให้ราชวงศ์ฉินถึงคราวสิ้นสุดเสียก่อน
ทำความรู้จัก “หลวี่จื้อ” 《吕雉》คู่ครองของหลิวปัง จักรพรรดินี (Empress Consort) คนแรกของราชวงศ์ฮั่น (และจีน....)
หลวี่ฮองเฮา จักรพรรดินี คนแรกของฮั่นตะวันตก
นักประวัติศาสตร์จีน “กัวม่อรั่ว” (Guo Moruo : 郭沫若) วิเคราะห์ไว้ว่า หลวี่จื้อ น่าจะสืบเชื้อสายมาจาก “หลวี่ปู้เหวย” คหบดีที่ต่อมาเป็นอัครเสนาบดีของรัฐฉินในยุคจ้านกว๋อ (รณรัฐ) พื้นเพเดิมของครอบครัวนางอยู่ที่ซ่านฟู่ (單父) หรือบริเวณมณฑลซานตงในปัจจุบัน
1
ปลายราชวงศ์ฉิน หลวี่เหวิน บิดาของนางพาครอบครัวไปอยู่ที่อำเภอเพ่ย ปัจจุบันคืออำเภอเพ่ย มณฑลเจียงซู ซึ่งนางก็ได้พบกับคู่ชีวิตของตัวเอง ณ ที่แห่งนี้เอง เพราะนายอำเภอในขณะนั้นก็คือ “หลิวปัง” ที่เลื่อนตำแหน่งจากกำนันตำบลซื่อสุ่ยมาเป็นนายอำเภอ ‘เพ่ยกง’ หลวี่จื้อจึงได้เป็นภรรยาของเพ่ยกงตั้งแต่นั้นผ่านการสนับสนุนของบิดา ทั้งยังให้กำเนิดบุตรธิดาอย่างละคน ลูกสาวคนโต คือ องค์หญิงหลวี่หยวน 《鲁元公主》และลูกชายอีกคน คือ หลิวหยิง
ราชวงศ์ฉินถึงคราวอับแสงเพราะกลุ่มกบฏชาวนาที่เกิดขึ้นทั่วจักรวรรดิ แม้ว่าชุมนุมของหลิวปังจะเป็นผู้มาเยือนราชธานี ‘นครเสียนหยาง’ เป็นกลุ่มแรก แต่เขากลับเห็นดีเห็นงามกับความคิดของกุนซือข้างกายเขา “จางเหลียง” และ “เซียวเหอ” ว่าอย่ามุทะลุเพราะจะมีสูญเสียมากกว่าได้ ชุมนุมของหลิวปังจึงรอการมาเยือนของเซี่ยงอวี่ เพื่อจะได้ทำการส่งมอบแผ่นดินให้
ทว่าเพราะสวรรค์ลิขิตหรืออะไรก็แล้วแต่ ฌ้อปาอ๋อง แทนที่จะปราบดาภิเษกขึ้นเป็นฮ่องเต้หลังปลงพระชนม์พระเจ้าฉินจื่ออิงให้หมดเรื่องหมดราว เขากลับกระมิดกระเมี้ยนร่ำไร ตั้งตนเองเป็นเพียงแค่ “กษัตริย์ซีฉู่ป้าหวาง” พร้อมปูนบำเหน็จเหล่าหัวหน้าชุมนุมให้เป็น ‘กษัตริย์ (หวาง)’ กันถ้วนหน้า ทั้งยังแบ่งดินแดนออกเป็น 18 อาณาจักร ให้พวกอ๋องเหล่านี้ไปปกครอง โดยหลิวปังได้รับส่วนแบ่งเค้กน้อยที่สุด เพราะถูกอัปเปหิให้ไปปกครองแคว้นฮั่นจง ถิ่นทุรกันดารห่างไกลศูนย์กลางอำนาจ หลิวปังจึงได้เลื่อนเป็น “กษัตริย์ฮั่นจงหวาง หรือ ฮั่นต๋งอ๋อง” เมื่อ 206 BC
ช่วงสงครามฉู่-ฮั่น นางหลวี่จื้อถูกจับเป็นเชลย ภายหลัง 4 ปีต่อมา ได้รับการปล่อยตัวและฮั่นจงอ๋องสามารถพิชิตเซี่ยงอวี่ลงอย่างราบคาบได้ สถาปนาราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ณ เมืองติ้งเถา ปัจจุบันคือบริเวณมณฑลซานตง ระยะแรกใช้ “นครลั่วหยาง” เป็นเมืองหลวง แต่ต่อมาก็ย้ายราชธานีพร้อมเทครัวผู้คนมาที่ “นครฉางอาน” พร้อมเถลิงถวัลยราชสมบัติขึ้นเป็น “จักรพรรดิฮั่นเกาจู่” โดยฮ่องเต้โปรดให้ใช้ชื่อแคว้นฮั่นจงที่เคยเป็นกษัตริย์ก่อร่างสร้างตัว มาใช้เป็นชื่อราชวงศ์เพื่อความสิริมงคล ในรัชสมัยของพระองค์ โปรดเกล้าให้เหล่าขุนศึกที่ร่วมงานกันมาตั้งแต่คราวเป็นสามัญชนให้ดำรงตำแหน่งขุนนางชั้นผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหาร เซียวเหอได้เป็นอัครมหาเสนาบดี ยศนี้เทียบได้กับนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน
เพื่อให้ทุกคนยอมสยบอยู่ใต้อำนาจ หลิวปังจัดชุมนุมพิธีทางไสยศาสตร์ ทำการสาปแช่งว่ามันผู้ใดคิดคดทรยศต่อแผ่นดินที่คนแซ่หลิวเป็นเจ้าของ ขอให้ประสบหายนะทั้งตระกูลของมัน เพื่อสร้างฐานอำนาจของพระราชสกุลหลิว หลิวปังโปรดให้พระราชวงศ์ไปเป็นกษัตริย์หรืออ๋องตามแคว้นต่างๆ ทั่วจักรวรรดิ เพื่อผูกขาดอำนาจอย่างถึงที่สุด ตำแหน่ง “จูโหว หรือ จูเหา” ก็ยกให้เชื้อพระวงศ์ไปครองตามๆ กัน ทั้งเจ้าพระยา (กง) พระยา (โหว) ลดหลั่นกันไป ยกเลิกรูปแบบการปกครองสมัยต้าฉินที่การปกครองส่วนภูมิภาคจะให้ ข้าราชการส่วนกลางไปกินเมืองทั้งระดับจังหวัด ระดับอำเภอ โดยมีวาระเพียงแค่ 3 ปี
ราชสำนักประกาศยกเลิกกฎหมายสมัยต้าฉิน ให้ใช้กฎหมายฉบับใหม่ตามคำชี้แนะของจางเหลียงทั่วจักรวรรดิ สรุปได้ว่า ‘เดิมทีการฆ่าคนต้องประหาร 3 ชั่วโคตร ก็เปลี่ยนเป็น “ชีวิต 1 ต้องแลกด้วยอีก 1 ชีวิต”’ และ “การทำร้ายร่างกายผู้อื่นและลักขโมย ถือว่ามีความผิด” ซึ่งกฎหมายนี้ได้รับการพัฒนาจาก “กฎหมาย 3 ข้อ” ที่หลิวปังเลือกยึดถือสมัยเขาก่อกบฏต่อต้านราชสำนักฉิน
เรื่องของวังฝ่ายในยุคซีฮั่นตอนต้น นางหลวี่จื้อ ภริยาคู่ทุกข์คู่ยาก ได้รับการเฉลิมขึ้นเป็น “จักรพรรดินี” รู้จักกันในพระนาม “หลวี่ฮองเฮา” หรือ ‘พระนางลิเฮา’ และองค์ชายหลิวหยิง ได้รับโปรดเกล้าให้เป็น “ไท่จื่อ” องค์รัชทายาทตามกฎมณเฑียรบาล เรื่องราวของพระนางเริ่มโดดเด่นหลังจากปฐมฮ่องเต้สวรรคตลง ดังที่จะเล่าต่อไปนี้ครับ
จักรพรรดิองค์แรกสู่สวรรคาลัย รัชทายาทหลิวหยิง ครองราชสมบัติเป็น “จักรพรรดิฮั่นฮุ่ยตี้” ด้วยพระชนมายุ 16 ชันษา หลวี่ฮองเฮาจึงเฉลิมขึ้นเป็น “จักรพรรดินี พันปีหลวง หลวี่ไทเฮา” (Empress Dowager Lü) พระนางเป็นคนหัวแข็ง ตอนหลิวปังยังมีพระชนม์ชีพอยู่ มักขัดคำสั่งของพระสวามีอยู่เนืองนิจ เมื่อกลายเป็นสตรีม่ายผู้สูงศักดิ์ มีหรือที่จะสืบสานเจตนารมณ์ของสามี หลวี่ไทเฮาโปรดให้พระญาติแซ่หลวี่มาดำรงตำแหน่ง “ไท่เว่ย” ผู้บัญชาการทหารสูงสุด แทนที่จะเป็นโจวป๋อ บุคคลไม่กี่คนที่หลิวปังไว้ใจไม่นึกระแวง ทั้งยังทำเรื่องเกินงาม ฝ่าฝืนกฎเหล็กของราชสำนักด้วยการส่งเหล่าคนสกุลหลวี่ไปเป็นอ๋องตามแคว้นที่เหลือแทนเชื้อพระวงศ์หลิว
หลวี่ไทเฮา ยิ่งสูงอายุยิ่งมีไฟหึงหวง พระนางจงเกลียดจงชังกษัตริย์แคว้นจ้าว “จ้าวหวาง หลิวหรูอี้” ด้วยข้อหาเป็นโอรสของอดีตพระมเหสีเอกชีฟูเหริน ฟูเหรินคนโปรดของฮั่นเกาจู่ ฐานันดรศักดิ์ของ “ฟูเหริน” 《夫人》 คำนี้แปลว่า “ผู้เป็นของสามี” ในต้นราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ถือได้ว่าคือ ‘พระมเหสีเอก’ เป็นรองแค่ฮองเฮาเท่านั้น หลวี่ไทเฮาวางแผนคิดกำจัดหลิวหรูอี้ ฮั่นฮุ่ยตี้ พระราชโอรสรู้ดีว่าพระมารดาคอยสบโอกาสหาทางทำร้าย จึงพยายามปกป้องพระอนุชาร่วมบิดาผู้นี้อย่างสุดความสามารถ ตอนกษัตริย์จ้าวหวางเดินทางมาพระราชวังเว่ยหยาง จักรพรรดิถึงขนาดรับสั่งให้บรรทมร่วมพระแท่นเดียวกัน เกรงว่าพระชนนีจะปองร้าย
แม้จะระวังขนาดไหนก็เผลอได้เช่นกัน เช้าวันหนึ่ง ฮ่องเต้มีพระประสงค์ออกไปล่าสัตว์ ความจริงก็อยากปลุกชวนหลิวหรูอี้ด้วย แต่น้องชายกำลังหลับสนิทจึงไม่อยากรบกวน หลิวหรูอี้นอนเพลินถึงตอนสาย ทันใดนั้นมีนางกำนัลจากพระตำหนักของไทเฮานำพระสุธารสกลิ่นหอมพระราชทานมาให้ หลิวหรูอี้นึกว่าไทเฮาเปลี่ยนเป็นแม่พระผู้เมตตาแล้วก็รีบรับชามาดื่มทันที จากนั้นก็กระอักโลหิต สิ้นพระชนม์ ณ ตอนนั้นเอง ด้วยวัยเพียง 13 ปีเท่านั้น
หลวี่ไทเฮายังจองเวรไม่เลิก ตามล้างบางไปถึงอดีตพระมเหสีเอก ‘ชีฟูเหริน’ สั่งจับนางไปกักขังและทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ สั่งให้ข้ารับใช้นำโซ่มาล่ามไว้ เลี้ยงในคอกหมู ทั้งยังสั่งให้เรียกนางอย่างเหยียดหยามว่า “เหรินจื้อ” (Human Swine : 人彘) มีความหมายว่า “มนุษย์สุกร” จิตใจหลวี่ไทเฮายังวิปริตผิดมนุษย์ไม่พอ พระนางยังเรียกฮ่องเต้ผู้เป็นโอรสให้ไปทอดพระเนตรที่คอกหมู ฮั่นฮุ่ยตี้ถึงกับช็อกตกพระทัยแทบเสียสติ ตรัสกับพระมารดาด้วยเสียงโกรธครือว่า รู้สึกอับอายจริงๆ ที่เกิดมาในสายเลือดของแม่จิตใจอำมหิต พระนางลิเฮาหัวเราะไม่ไหวกับอาการที่อ่อนโยนของโอรส ที่สุดแล้วชีฟูเหรินก็ทนทุกข์ทรมานไม่ไหว สิ้นใจไปในปีเดียวกับโอรส ‘หลิวหรูอี้’ ซึ่งเป็นปีแรกของรัชกาลฮุ่ยตี้
เรื่องของ ‘มนุษย์สุกร’ มีบันทึกไว้ในหนังสือจดหมายเหตุ “สื่อจี้” (Records of the Grand Historian) โดยขันทีซือหม่าเชียน ข้าราชสำนักในรัชสมัยจักรพรรดิฮั่นหวู่ตี้ (หลิวเช่อ) ฮ่องเต้รัชกาลที่ 7 ของซีฮั่น อย่างไรก็ดี นักประวัติศาสตร์ออกมาวิพากษ์ว่า มีพงศาวดารบางท่อนที่เขียนใส่ไข่ใส่ร้ายพระนางลิเฮามากเกินไปหน่อย ที่กล่าวอ้างว่าพระนางสั่งตัดแขนตัดขาของชีฟูเหรินอีกด้วย ลองพิจารณาดูว่านางชีฟูเหรินเป็นเพียง ‘นางใน’ ไม่ได้มีกำลังวังชาเฉกเช่นบุรุษอาชาไนย มีหรือที่จะทนทรมานได้ โดนให้อยู่อย่างโสมมขนาดนั้นน่าจะสิ้นใจไปตั้งนานแล้ว ฉะนั้นโปรดใช้วิจารณญาณว่า เรื่องไหนที่ถูกเขียนเพื่อเป็นการดิสเครดิต
แค่นั้นยังไม่พอ พระนางหลวี่ไทเฮายังคิดหวาดระแวงกษัตริย์แคว้นฉี “ฉีหวาง หลิวเฝย” โอรสองค์โตของหลิวปัง พระเชษฐาของหลิวหยิง กำเนิดจากนางเฉา เมียเก็บภริยาคนแรกของหลิวปัง เมื่อครั้นเขาเป็นกำนันหนุ่ม ไทเฮามีรับสั่งเรียกตัวหลิวเฝยจากแคว้นฉีเข้าวังหลวง พระนางโปรดให้จัดงานเลี้ยงต้อนรับ แล้วลูกไม้เดิมก็มาถึง มีคำสั่งให้นางกำนัลนำสุราพิเศษมาให้หลิวเฝย เขาไหวตัวทันว่าไทเฮามักพระราชทานสุราให้กับคนที่พระนางเหม็นขี้หน้า ก็ยังไม่ดื่มทันที องค์จักรพรรดิรู้สึกกระหายน้ำ เอื้อมพระหัตถ์หยิบจอกสุรานั้นมาจะยกดื่มสักหน่อย ไทเฮาเห็นแล้วใจวาบรีบชิงมาขว้างลงพื้นทันที กษัตริย์ฉีเห็นไม่ชอบมาพากลก็รีบกราบบังคม ลากลับแคว้นฉี
หลังจากนั้นจักรพรรดิฮั่นฮุ่ยตี้ก็ปล่อยปละละเลยจากราชกิจทั้งปวง งานราชการแผ่นดินปล่อยให้พระพันปี เสด็จแม่จัดการเอาจนฮ่องเต้สวรรคตเมื่อ 188 BC สิริพระชนมายุ 23 พรรษา ครองในราชสมบัติได้ 7 ปี
หลังพระราชโอรสสู่สรวงสวรรค์ก่อนผู้เป็นพระชนนี หลวี่ไทเฮาก็สรรหาเด็กไม่รู้หัวนอนปลายตีนทั้งสังหารแม่ที่แท้จริงของเขา มาเป็นหุ่นเชิดของพระนาง เพราะจักรพรรดินีจางเยียน ฮองเฮาของหลิวหยิง ไม่มีพระราชโอรส บางแหล่งกล่าวอ้างว่านั่นเป็นเพราะฮั่นฮุ่ยตี้ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์กับนางในคนใดเลย เนื่องมีรสนิยมทางเพศผิดจากบุรุษทั่วไป บ้างก็อ้างว่าทรงเป็นหมัน เด็กอุปโลกน์คนนี้นามว่า “หลิวกง” ถูกจับนั่งบัลลังก์เป็น “จักรพรรดิฮั่นเฉียนเซ่าตี้” โดยคำว่า “ฮั่นเซ่าตี้” มีความหมายว่า “จักรพรรดิเด็กแห่งฮั่น” และเฉียน แปลว่า ‘ก่อน’ ก็เพราะหลังจากนั้น หลิวกงถูกหลวี่ไทเฮาสั่งเก็บเพราะมีความกระด้างกระเดื่อง ไทเฮามิวายยังจัดแจงเด็กอุปโลกน์อีกคน “หลิวหง” มานั่งบัลลังก์ต่อเป็น “จักรพรรดิฮั่นโฮ่วเซ่าตี้” คำว่าโฮ่ว แปลว่า ‘หลัง’
หลวี่ไทเฮา ตอนเป็นพระพันปีหลวงแรกๆ ก็สนใจแต่ชู้คนสนิทของพระนาง แต่พอได้ชักใยโอรสสวรรค์ไม่รู้ความแล้ว ก็ว่าราชการและกุมอำนาจใหญ่ในแผ่นดิน ปล่อยให้พระญาติแซ่หลวี่เข้าครองราชสำนักบริหารบ้านเมืองตามทิศทางของพระนาง คนสกุลหลวี่วางอำนาจบาตรใหญ่ ทำให้ราษฎรเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า โชคดีของต้าฮั่นที่เหล่าขุนศึกที่สวามิภักดิ์กับหลิวปังตอนบุกเบิกแผ่นดินยังมีชีวิตอยู่หลายคน คอยเฝ้ารอให้พระนางลาลับไปก่อน ค่อยก่อรัฐประหารใหญ่ในราชสำนัก จัดการเก็บตระกูลหลวี่ให้สิ้นซาก กระชากหลิวหงที่ไม่ใช่หน่อเนื้อเชื้อไขของฮั่นฮุ่ยตี้ ลงจากราชบัลลังก์ไปสำเร็จโทษ แค่นั้นยังไม่พอ จักรพรรดินีหลวี่ ฮองเฮาของหลิวหง มีศักดิ์เป็นเหลนสาวของหลวี่ไทเฮา ก็ถูกสำเร็จโทษด้วยการโยนลงบ่อน้ำแล้วใส่ก้อนหินถมทับตามลงไป ช่วยให้จักรวรรดิฮั่นของคนแซ่หลิวที่พึ่งสถาปนาได้ไม่กี่สิบปี ให้คงอยู่ไปได้อีกนับร้อยปีและสร้างยุคทองครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ ถึงขนาดที่ว่า ชาวจีนในปัจจุบันมีความภาคภูมิใจที่ตนเองนั้นเป็น “ชาวฮั่น”
พระพันปีหลวง หลวี่ไทฮองไทเฮา สิ้นพระชนม์เมื่อ 180 BC สิริพระชนมายุประมาณ 61 พรรษา พระบรมศพของพระนางถูกฝังไว้ที่เดียวกับสุสานของหลิวปัง ณ สุสานฉางหลิง (Changling Mausoleum [Emperor Han Gaozu] : 长陵) ต่อมาร่างพระบรมศพของหลวี่จื้อก็ถูกกลุ่ม “กบฏชื่อเหมย” (Red Eyebrows : 赤眉) หรือที่เรียกกันว่า “กบฏคิ้วแดง” ที่ต่อต้านการปกครองของหวางหมั่ง (อองมัง) ที่ปลดจักรพรรดิหรูจื่ออิง ราชวงศ์ฮั่นตะวันตกถึงคราวสิ้นสุดในยุคสมัยของราชวงศ์ซิน พวกกลุ่มขบถคิ้วแดงบุกเข้าหมิ่นเหยียดหยามพระบรมศพของหลวี่จื้อ ภายหลังในยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก จักรพรรดิฮั่นกวงหวู่ตี้ถวายพระสมัญญานามให้หลวี่จื้อว่า “จักรพรรดินีเกา : Empress Gao”
ปัจจุบันสุสานฉางหลิงแห่งนี้ อยู่ที่จังหวัดเสียนหยาง ทางตะวันตกของเมืองซีอานหรือนครฉางอานในอดีต ณ มณฑลส่านซี มีลักษณะเป็นเนินภูเขา แลดูคล้ายพีระมิด เป็นอีกสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งในสาธารณรัฐประชาชนจีน
และนี่ก็คือเรื่องของ หลวี่ฮองเฮาในหลิวปัง จักรพรรดินี (ฮองเฮา) คนแรกของจักรวรรดิฮั่น (และคาดว่าของจีน...?) พร้อมทั้งเหตุการณ์ยุคต้นซีฮั่นพอสังเขปครับผม
หมายเหตุ : คำว่า "หลวี่" สามารถอ่านได้เป็น "หลี่ว์" ('หลี่' ทำปากจู๋ๆ )
และที่สำคัญครับ โปรดอ่านสักนิด...
นักวิชาการให้คำนิยามเอาไว้ว่า "Empress" มีฐานันดรที่สูงกว่า "Queen" ดังนั้นผมจึงไม่อาจแปล ฮองเฮา ว่าราชินีจีนได้ ขณะเดียวกัน ในประวัติศาสตร์จีนก็มีฐานันดร "ราชินี" ด้วยเช่นกัน นั่นคือ "หวางโฮ่ว" มิใช่ 'หวงโฮ่ว' (ฮองเฮา) และต้องใช้ในสมัยราชวงศ์เซี่ย ราชวงศ์ซาง และราชวงศ์โจวเท่านั้น เพราะไทม์ไลน์ดังกล่าวถือว่าเป็น "ยุคราชวงศ์โบราณ" ไม่ใช่ "ยุคจักรวรรดิจีน (Chinese Empire)" แต่อย่างใด
Empire คือ จักรวรรดิ ไม่ใช่ Kingdom ที่เป็นอาณาจักร เพราะ Empire ปกครอง Kingdom ให้อยู่ใต้อาณัติด้วย...ความรู้แถมจากผมครับ
..หากใครพอมีข้อมูลเรื่องของ ฮองเฮาแห่งราชวงศ์ฉิน สามารถชี้แนะได้เต็มที่เลยครับ ยินดีรับทุกความเห็นที่มีคุณภาพ..
“สงวนสิทธิ์ไม่อนุญาตให้คัดลอก สามารถกดแชร์ได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น”
เจมส์ เซิ่งจู่
แฟนพันธุ์แท้ ราชวงศ์จีน
รวบรวมเนื้อหาบทความ
โฆษณา