18 มี.ค. 2020 เวลา 23:19 • ความคิดเห็น
"🐲 "🐲 "🐲 "
กลัว..เลยเครียด
"🐲 "🐲 "🐲 "
ช่วงนี้มีแต่ข่าวต่างๆพร้อมมาตรการที่ต้องปรับตัวเยอะมีทั้งคนเห็นด้วยและเห็นต่าง ทั้งข่าวจริงข่าวเท็จ ฟังจนเวียนหัว
การเสพข่าวสารและเรื่องราวยิ่งมากก็ยิ่งสับสน แถมเพิ่มอาการเคร่งเครียดไปกับข่าวและข้อมูลต่างๆ อินไปด้วยแบบไม่รู้ตัว
สังคมเคร่งเครียดไปตามๆกัน จนน่าจะเป็นห่วง..ตรงโรคเครียดมาแทรกซ้อน
ทำไมคนเราจึงเครียด..นึกดูแล้วก็น่าจะมาจาก3เรื่องหลักๆคือ
@"กลัวเกินเหตุ"
ตื่นตกใจง่ายไปตามกระแสต่างๆ ใครทำอะไรก็จะทำตามๆกันไป จิตปรุงแต่งเรื่องราวให้น่าตื่นเต้น ยิ่งช่วงนี้มีหนังดี เรื่องผู้ติดเชื้อเป็นซอมบี้ ก็ยิ่งเพิ่มความกลัวเข้าไปอีก
จนบางทีกลายเป็นกลุ่มตามล่าคนติดเชื้อ ว่ามีใครเป็นอยู่ที่ไหน บ้านไหน ซอยไหน จนดูจะวุ่นวายใจ จึงเริ่มมีอาการขาดสติ..กลัวมากไปจนสติหลุด
@"กังวล...มากไป"
ด้วยความรู้สึกหวั่นวิตก เกรงว่าจะติดเชื้อ จนนอนไม่หลับ ชีวิตจึงมีแต่ความหวาดระแวง เพื่อนข้างบ้าน คนในที่ทำงาน คนนั่งใกล้จะนำเชื้อมา ไม่รู้จะจัดการคนอื่นอย่างไร
เฝ้าระวังคนอื่นจนลืมดู การจัดการตนเอง เหตุเพราะการขาดความรู้หรือ รับแต่สื่อที่ไม่จริง จนสับสนหวาดผวา จิตจึงหลอนไม่รู้ตัวจนทุ่มไปกักตุนจนเกินตัว
@"เก็บกด...ไม่รู้ตัว"
สิ่งที่เห็น สิ่งที่ได้ยิน เข้ามาในแต่ละวัน จนกลายเป็นการสั่งสมทางอารมณ์ที่มีอคติต่างๆ ทำให้บางทีก็ระเบิดออกมาใส่คนรอบข้างได้ง่าย
เพียงเพราะอัดแน่นจนหาทางระบายอารมณ์ออกมาในรูปแบบต่างๆอย่างไม่รู้ตัว....ชีวิตจึงขาดการปล่อยวาง..อยู่กับความเป็นจริงไม่ได้
อาการเหล่านี้ก็คงไม่ได้ผิดปกติอะไรมากมาย หากใครบริโภคเรื่องราวมากจนเกินขนาด ย่อมทำให้หน้าตาเคร่งเครียดทำให้แลดูสูงวัยก่อนเวลาได้ง่ายๆ
แต่ถ้าหากปล่อยไว้นานๆก็ย่อมจะบั่นทอนสุขภาพจิตของทั้งตนเองและคนรอบข้าง
ดังนั้นจึงต้องหันมาทบทวนตนเองเพื่อ"เสริมสร้างภูมิคุ้มใจ"..ไม่ให้เคร่งเครียดจนมากเกินไปกันบ้างคงจะดี
ทั้งนี้มีข้อเสนอแนวทางที่อาจลองนำไปปรับใช้กันดู ตามความถนัดของแต่ละคน โดยย่อๆ6ประการ ดังนี้คือ"6'บ"
(1)."บำบัดใจให้สงบ"
ความเครียดนั้นเกิดขึ้นที่ในใจ ดังนั้นเราจะลดและดับได้จึงต้องจัดการที่ใจตัวเราเองก่อนเป็นลำดับแรก
จากง่ายสุดด้วยการผ่อนลมหายใจ อยู่นิ่งๆคนเดียวเพื่อหาความสงบ นั่งสมาธิเป็นช่วงๆจนรู้สึกผ่อนคลาย ปล่อยวางเรื่องราวภายนอกทิ้งไปให้ได้บ้าง
ยามที่ใจคนเรามีความสงบ คนเราจะลดความเครียดคลายความวิตกกังวล และความกลัว ลงได้
(2)"บทสนทนาที่สร้างสรรค์"
การใช้ภาษาที่เป็นเรื่องราวทางบวก ช่วยให้เกิดสุนทรียภาพในการสนทนา ซึ่งจะช่วยให้คนเราพลอยลดความเครียด มีความสุขได้ในยามสังคมเป็นเช่นนี้
(3) "บรรยากาศที่ดีเปลี่ยนอารมณ์ได้"
สภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่อาจมีส่วนทำให้ต้องพบเจอแต่เรื่องต้องคิดวนไปวนมาจนเคร่งเครียดอย่างไม่รู้ตัว
ลองเปลี่ยนอิริยาบทไปทำสิ่งต่างๆแทนหรือเพิ่มจากชีวิตปกติประจำวันในช่วงเวลานี้บ้าง เช่น ทำงานอดิเรกที่ชื่นชอบ งานศิลป์ งานหัตถกรรมฯลฯ
แม้แต่การจัดสภาพแวดล้อมตกแต่งสวนในบ้าน เป็นต้น
(4) "บันเทิงผ่อนคลาย..บ้าง"
บางช่วงเวลาอาจลดระดับความกังวลลงด้วยการ เลือกดูหนังที่มีสาระ ที่สนุกสนาน มีอารมณ์ขบขัน หรือจะเลือกฟังเพลง และร้องเพลง
ชีวิตจะผ่อนคลายเมื่อ คนเราได้เปลี่ยนModeชีวิตไปทำในสิ่งอื่นๆ ทั้งใจและกายก็รับฟังและซึมซับแต่สิ่งดีๆ
(5) "บรรเทาทุกข์ให้เบาลง"
บางครั้งก็ควรมีคนพูดคุยปรึกษารับฟังแลกเปลี่ยนกันได้บ้าง จะช่วยผ่อนคลายความวิตกกังวล พร้อมให้กำลังใจกันได้
แต่ก็ต้องเลือกคุยให้ถูกคนหน่อยในช่วงนี้ มิฉะนั้นอาจยิ่งเพิ่มความเครียด
(6) "บำรุงรักษาตนเองทุกวัน"
ด้วยการบริโภคอาหารให้เหมาะสม พักผ่อนให้เพียงพอ ฟื้นฟูร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ จะช่วยให้ร่างกายสดชื่นผ่อนคลายความตึงเครียดลงได้
อย่างไรก็ดีไม่ว่าจะเกิดสิ่งใดขึ้นมา ย่อมต้องผ่านพ้นไปด้วยดีในที่สุด สถานการณ์ย่อมดีขึ้นเมื่อทุกคนดูแลเอาใจใส่ตนเองกันอยู่เสมอ...ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกๆคนนะครับ
ช่วงนี้คงต้องขอเปลี่ยนเรื่องเพื่อปล่อยวางไปผ่อนคลายความกังวลบ้างดีกว่า...
"LL&L19/3/63
โฆษณา