19 มี.ค. 2020 เวลา 07:29 • การศึกษา
หน้ากากอนามัยป้องกันเชื้อโรคได้จริงหรือไม่
หน้ากากอนามัย ผลิตขึ้นจากผ้าหรือพอลิโพรไพลีนซึ่งเป็นพลาสติกชนิดหนึ่งที่มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้ โดยหน้ากากอนามัยที่มีคุณภาพจะต้องมีชั้นกรองอย่างน้อย 3 ชั้น เพื่อช่วยในการป้องกันเชื้อโรค มลพิษหรือของเหลวจากภายนอก และช่วยดูดซับสารคัดหลั่งหรือความชื้นที่มาจากผู้ใช้ ป้องกันเชื้อโรคแพร่กระจายสู่ผู้อื่น
ประเภทของหน้ากากอนามัย
หน้ากากอนามัยที่วางขายทั่วไป แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ตามลักษณะของหน้ากาก และประสิทธิภาพของการกรองอากาศ ดังนี้
หน้ากากอนามัยแบบทั่วไป หน้ากากอนามัยประเภทนี้จะค่อนข้างกระชับกับใบหน้า โดยแนบไปกับใบหน้า ซึ่งในวงการแพทย์เป็นส่วนใหญ่ และมักใช้เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคผ่านทางการไอ หรือจามได้ ทว่าข้อเสียของหน้ากากอนามัยชนิดนี้คือ บริเวณด้านล่างของหน้ากากอนามัยจะไม่สามารถป้องกันการได้รับสารปนเปื้อนจาการสูดดมได้
หน้ากากอนามัยแบบ N95 เป็นหน้ากากอนามัยชนิดที่ช่วยป้องกันการเชื้อโรคที่มีขนาดเล็กมาก ๆ ได้ โดยประสิทธิภาพในการป้องกันจะสูงกว่าหน้ากากอนามัยแบบทั่วไป เนื่องจากลักษณะของหน้ากากอนามัยชนิดนี้จะมีลักษณะครอบลงไปที่บริเวณหน้าปากและจมูกอย่างมิดชิดทำให้เชื้อไวรัสหรือสารปนเปื้อนไม่สามารถลอดผ่านได้ หน้ากากอนามัยชนิดนี้มักใช้ทั้งในวงการแพทย์ที่ต้องการความปลอดภัยจากการติดเชื้อสูง ได้แก่ การป้องกันเชื้อวัณโรค หรือเชื้อแอนแทร็กซ์ ที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ อีกทั้งมักใช้ระหว่างการทำงาน เช่น การทำงานกับสารเคมีหรือการใช้สีที่อาจทำให้ได้กลิ่นไม่พึงประสงค์ ทว่าในการใช้หน้ากากอนามัยแบบ N95 จะต้องเลือกใช้ให้เหมาะสม เพราะขนาดและยี่ห้อที่แตกต่างกันอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพในการกรองอากาศได้
ประโยชน์ของหน้ากากอนามัย
ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดของหน้ากากอนามัยคือ หน้ากากอนามัยช่วยป้องกันมลพิษและเชื้อโรคจากสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเชื้อโรคจากผู้อื่น และป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคไปยังผู้อื่นได้เป็นอย่างดี จึงทำให้วงการแพทย์ส่วนใหญ่แนะนำให้คนทั่วไปใช้หน้ากากอนามัยเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรค เพราะลดความเสี่ยงการติดเชื้อระหว่างคนสู่คนได้ โดยมีการศึกษาพบว่าหน้ากากอนามัยนั้นช่วยกรองเชื้อโรคออกได้ถึง 80% ทว่าก็ยังคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อประสิทธิภาพที่ดีขึ้น
ข้อจำกัดของหน้ากากอนามัย
แม้หน้ากากอนามัยจะมีประโยชน์ในด้านการป้องกันสุขภาพ แต่ยังมีข้อจำกัดบางประการ ดังนี้
ไม่สามารถป้องกันได้ 100% หน้ากากอนามัยส่วนใหญ่มีประสิทธิภาพในการป้องกันเพียงประมาณ 80% ขึ้นอยู่กับคุณภาพของวัสดุ หากเป็นหน้ากากอนามัยชนิด N95 ป้องกันได้ 95% ดังนั้น ผู้ใช้จึงยังอาจมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อได้
ไม่สามารถป้องกันเชื้อโรคได้ทุกชนิด แม้จะช่วยป้องกันเชื้อโรคได้ในระดับหนึ่งแต่ยังไม่มีการทดสอบว่าสามารถป้องกันเชื้อโรคชนิดใดชนิดหนึ่งได้อย่างเจาะจง ดังนั้น หน้ากากอนามัยจึงไม่สามารถใช้เพื่อป้องกันโรคใดโรคหนึ่งโดยเฉพาะได้
ใช้ได้ครั้งเดียว หน้ากากอนามัยเกือบทุกชนิดจะเป็นชนิดใช้แล้วทิ้ง และไม่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ หรือทำความสะอาดได้ เนื่องจากเมื่อใช้แล้วเชื้อโรคจะติดอยู่บนหน้ากากอนามัย หากใช้ซ้ำก็อาจทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้
ไม่มีผลวิจัยชัดเจนว่าช่วยป้องกันได้ แม้วงการแพทย์จะแนะนำให้ใช้หน้ากากอนามัยป้องกันมลพิษหรือการติดเชื้อโรคระบบทางเดินหายใจ แต่ยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนว่าหน้ากากอนามัยมีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโรคระบบทางเดินหายใจหรือมลพิษมากเพียงใด จึงทำให้ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อผลลัพธ์ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
ใครควรใส่หน้ากากอนามัย ?
หน้ากากอนามัยนั้นใช้ได้กับคนทุกเพศทุกวัย กลุ่มคนที่ควรใช้หน้ากากอนามัยเป็นอย่างยิ่งเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อจากตัวเองไปยังผู้อื่น หรือป้องกันไม่ให้ตัวเองติดเชื้อจากผู้ป่วยคนอื่น ๆ ได้แก่
ผู้ที่ต้องอยู่ใกล้หรือมีการสัมผัสอย่างใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ
ผู้ที่มีอาการป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจซึ่งต้องใกล้ชิดกับคนปกติ หรือต้องออกไปนอกบ้าน
ผู้ที่ต้องเข้าไปยังบริเวณเสี่ยงติดเชื้อ หรือสถานที่ที่มีผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรงพยาบาล หรือสถานที่ที่มีคนแออัด เป็นต้น
วิธีใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกต้อง
การใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธีจะช่วยให้ผู้ใช้ป้องกันเชื้อโรคและมลพิษได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งควรปฏิบัติดังนี้
วิธีการใส่หน้ากากอนามัยแบบทั่วไป
ล้างมือทำความสะอาดเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่ติดอยู่บริเวณมือ
เลือกขนาดของหน้ากากอนามัยให้เหมาะสม หากเป็นเด็กควรเลือกขนาดเฉพาะเพื่อไม่ให้หน้ากากอนามัยใหญ่เกินไป
ใส่หน้ากากอนามัยให้พอดีกับใบหน้า โดยหันด้านที่มีสีออก และให้ด้านที่มีลวดอยู่ด้านบน หากเป็นหน้ากากอนามัยชนิดไม่มีสี ให้สังเกตรอยพับของหน้ากากอนามัย หากมุมของรอยพับชี้ลงด้านล่างด้านนั้นจะเป็นด้านนอกของหน้ากากอนามัย
โฆษณา