โฮโมแฮบิลิส (Homo habilis) อายุราว ๒ - ๑.๘ ล้านปีมาแล้ว พบที่ประเทศแทนซาเนีย เคนยา และแอฟริกาใต้ มีใบหน้าใหญ่ และฟันขนาดใหญ่
โฮโมรูดอล์ฟเฟนซิส (Homo rudolfensis) อายุราว ๑.๙ - ๑.๗ ล้านปีมาแล้ว มีรูปร่างใหญ่กว่า หน้าค่อนข้างแบน มีฟันขนาดใหญ่และกว้าง พบในประเทศเคนยา และมาลาวี
โฮโมเออร์แกสเตอร์ (Homo ergaster) อายุราว ๑.๘ - ๑.๕ ล้านปีมาแล้ว สายพันธุ์นี้คล้ายมนุษย์มากขึ้น เช่น แขนสั้นกว่าขา โพรงจมูกคล้ายมนุษย์ปัจจุบัน พบที่ประเทศเคนยา ในแอฟริกาตะวันออก และประเทศแอฟริกาใต้
โฮโมอีเรกตัส (Homo erectus) อายุราว ๑.๔ - ๓๐๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว เป็นสายพันธุ์ ที่แพร่กระจายอย่างกว้างขวาง ทั้งในทวีปแอฟริกา เอเชีย และยุโรป ความจุสมองใหญ่ขึ้นเฉลี่ยประมาณ ๑,๐๐๐ ลูกบาศก์เซนติเมตร หรือประมาณ ๓ ใน ๔ ของสมองมนุษย์ปัจจุบัน
โฮโมแอนติเซสเซอร์ (Homo antecesser) อายุราว ๗๘๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว พบที่ประเทศสเปน จัดเป็นสายพันธุ์ของโฮโมที่เก่าแก่ที่สุดที่พบในทวีปยุโรป
โฮโมโรดีเซียนซิส (Homo rhodesiensis) อายุราว ๕๐๐,๐๐๐ - ๓๐๐,๐๐๐ ปี พบที่ทวีปแอฟริกา นักวิชาการบางคนเรียกว่าเป็น "โฮโมไฮเดลเบอร์เกนซิส แห่งแอฟริกา" เนื่องจากมีลักษณะทางกายวิภาคคล้ายกับ โฮโมไฮเดลเบอร์เกนซิส
โฮโมไฮเดลเบอร์เกนซิส (Homo heildelbergensis) กำหนดอายุราว ๕๐๐,๐๐๐ - ๒๐๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว พบที่ประเทศฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และกรีซ สันนิษฐานว่า เป็นสายพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นมาแทนที่ โฮโมแอนติเซสเซอร์
โฮโมนีแอนเดอร์ธาลเอนซิส (Homo neanderthalensis) อายุราว ๓๐๐,๐๐๐ - ๒๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว มักเรียกกันว่า "มนุษย์นีแอนเดอร์ธาล" จัดเป็นโฮโมรุ่นหลังที่พบหลักฐานมากที่สุด และค่อนข้างสมบูรณ์ พบทั้งในทวีปยุโรป และพื้นที่ทางตะวันตกของทวีปเอเชีย
โฮโมเซเปียนส์ (Homo sapiens) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่เป็นบรรพบุรุษสายตรงของมนุษย์ปัจจุบัน และมีลักษณะแตกต่างจากสายพันธุ์อื่นๆ