Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ธรรม STORY
•
ติดตาม
21 มี.ค. 2020 เวลา 09:19 • ประวัติศาสตร์
พุทธประวัติ ตอนที่ 41
ท้าวมหาพรหมกราบทูลอาราธนา
ในตอนนั้นเอง...
ท้าวสหัมบดีพรหม ผู้เป็นใหญ่ในพรหมทั้งปวง ก็ได้ทราบข้อปริวิตกของพระพุทธองค์แล้ว จึงเกิดความรู้สึกไม่สบายพระทัยอย่างยิ่ง ท้าวสหัมบดีพรหมนั้นจึงได้มีพระดําริขึ้น...
ท้าวสหัมบดีพรหม :
***แย่แล้วหนอ... เห็นทีว่าโลกทั้งปวงจักถึงซึ่งความพินาศวิบัติก็ในครั้งนี้แล... ก็ด้วยเหตุที่ว่า (องค์พระชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ซึ่งบรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว จักมิปรารถนาที่จักตรัสพระสัทธรรมเทศนาเพื่อโปรดเวไนยสัตว์ ถ้าเรามิลงไปกราบทูลอาราธนาแล้วไซร้ สัตว์โลกทั้งหลายจักหาที่พึ่งมิได้ และสัตว์โลกที่บําเพ็ญบุญบารมีมาดี พร้อมแล้ว มีสติปัญญาสูง มีกิเลสเบาบางแล้ว ถ้าหากสัตว์เหล่านั้นมิได้ฟังพระสัทธรรม ก็ย่อมจักต้องเสื่อมสูญจากคุณวิเศษอันที่ตนควรพึ่งจักได้รับเป็นแน่แท้***
เมื่อท้าวสหัมบดีพรหม คิดไตร่ตรองดังนี้แล้ว จึงได้ชักชวนทวยเทพทั้งหลายทุกชั้นฟ้า แล้วพากันเหาะลงมาจากเทวโลก เพื่อมีประสงค์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับทันที...
ครั้นเมื่อเหล่าพรหมได้ลงมาสู่ สถานที่ๆ พระพุทธองค์ทรงประทับอยู่นั้น
ท้าวสหัมบดีพรหมผู้เป็นใหญ่ก็ได้กราบทูลอาราธนา พระพุทธองค์ว่า...
ท้าวสหัมบดีพรหมกราบทูล :
***ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระพุทธองค์ผู้ทรงพระมหากรุณาโปรดเมตตาประทานพระสัทธรรมเทศนาแก่เวไนยสัตว์ด้วยเถิด... เพราะในเหล่าหมู่สัตว์นั้น ย่อมมีผู้ที่มีกิเลสสันดานบาปที่เบาบางนั้น มีอยู่ในโลกนี้เป็นอันมาก หากมิได้สดับพระสัทธรรมของพระองค์แล้วก็จักเสื่อมสูญจากมรรคผลพระนิพพาน อันเป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวงพระพุทธเจ้าข้า...
อนึ่งนั้น...
ก็สัตว์ทั้งหลายที่ได้บําเพ็ญบุญบารมีมาบริบูรณ์เมื่อตั้งแต่ครั้งสมัยพระพุทธเจ้าในอดีต ที่มีอุปนิสัยประดุจดังดอกปทุมชาติ ที่โผล่พ้นน้ำ และแก่ใกล้จักบาน รอยคอยรับสัมผัสกับแสงพระอาทิตย์ก็จักเบ่งบานในทันที สัตว์ประเภทนี้ พอได้สดับรับฟังพระสัทธรรมเพียงแค่คาถาเดียว ก็จักบรรลุ เข้าสู่อริยภูมิสําเร็จมรรคผลได้ และมีมากกว่าหมื่นแสน
ซึ่งก็แม้แต่พระองค์เอง... ก็ยังทรงบําเพ็ญพระสมติงสบารมีมาสิ้นกาล 4 อสงไขยแสนกัป ก็เหตุเพื่อที่จักนําขนเหล่าหมู่สัตว์โลก ให้หลุดพ้นจากวัฏสงสารนี้มิใช่หรือพระพุทธเจ้าข้า...
ขอพระองค์ทรงโปรดพระกรุณาเมตตาประทาน *พระสัทธรรมเทศนา* แก่เหล่าเวไนยสัตว์ผู้บริบูรณ์ด้วยอุปนิสัยสมบัติทั้งหลาย ให้ได้ เข้าถึงการตรัสรู้พระโลกุตรธรรม ในพุทธศาสนานี้ด้วยเถิดพระพุทธเจ้าข้า***
พระบรมศาสดา...
ครั้นเมื่อได้ทรงสดับฟังคําอาราธนาของท้าวมหาพรหมแล้ว ก็ทรงมีพระทัยกรุณาในหมู่สัตว์ (ซึ่งเป็นปกติธรรมดาของพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ ย่อมทรงปรารถนาเมตตาที่จะประกาศพระสัทธรรมเทศนาโปรดเวไนยสัตว์ และพระองค์เอง เมื่อเวลาตอนรุ่งอรุณแห่งวันตรัสรู้นั้น พระองค์ได้บรรลุทิพยจักษุญาณ(ตาทิพย์)แล้ว ก็ทรงพิจารณาตรวจดู สัตว์โลกทั้งหลาย ก็ทรงทราบแน่ชัดอยู่แล้วว่า เหล่าหมู่สัตว์นั้นมีทั้งหมด 4 จําพวก ไล่ตามลําดับแห่งกองกิเลส ที่หนาและเบาบางต่างกัน ซึ่งก็เปรียบได้กับดอกบัว 4 ประเภท คือ
1. อุคคฏิตัญญ
(เปรียบดังดอกบัวที่พ้นน้ำแล้ว เมื่อถูกแสงอาทิตย์ยามเช้าก็เบ่งบานทันที)
กล่าวคือ บุคคลผู้มีอุปนิสัยวาสนาบารมีแก่กล้า สติปัญญาดีมาก ๆ และมีกิเลสเบาบาง เพียงแค่ได้ฟังพระธรรมเทศนาโดยย่อเพียงคาถา 4 บาท เท่านั้น ก็สามารถตรัสรู้มรรคผลบรรลุธรรมได้โดยฉับพลันรวดเร็ว
2. วิปจิตัญญู
(เปรียบดังดอกบัวที่อยู่เสมอน้ํา ซึ่งใกล้จะเบ่งบานในวันถัดไป)
กล่าวคือ บุคคลผู้มีอุปนิสัยวาสนาบารมีปานกลาง มีกิเลสและ ปัญญาปานกลาง เมื่อได้ฟังพระสัทธรรมโดยย่อไม่สามารถจะบรรลุได้ แต่ต่อเมื่อได้ฟังซ้ำ หรือได้ฟังอรรถาธิบายขยายเนื้อความ อีกทั้งได้รับคําแนะนําที่เป็นประโยชน์บ่อย ๆ เข้า ก็สามารถบรรลุมรรคผลได้
3. เนยยะ
(เปรียบดังดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ มีโอกาสที่จะบานในวันต่อ ๆ ไป)
กล่าวคือ บุคคลผู้มีวาสนาบารมีน้อย มีสติปัญญาน้อย อีกทั้งมี กิเลสหนาแน่น เมื่อได้ฟังพระสัทธรรมบ่อย ๆ ได้กัลยาณมิตรคอยแนะนําพร่ำสอน พยายามทําความเพียรไม่ขาดระยะ เจริญสมถวิปัสสนาสืบไป ก็สามารถ บรรลุมรรคผลได้เช่นกัน
4. ปทปรมะ
(ปรียบดังดอกบัวที่งอกขึ้นใหม่ ๆ ยังติดจมอยู่ในโคลนตม ยากนักที่จะ พ้นจากการตกเป็นเหยื่อ เป็นอาหารของเต่า และปลา)
กล่าวคือ บุคคลผู้มีวาสนาบารมียังไม่บริบูรณ์ถึงขั้นจะบรรลุธรรมได้ อีกทั้งหนาแน่นไปด้วยกิเลส เต็มไปด้วยความหลงผิด ยึดมั่นถือมั่น ไม่รู้จักฟังเหตุและผล ยากที่จะสั่งสอนได้ แม้จะได้ สดับพระสัทธรรม ทั้งโดยย่อและโดยพิศดาร อีกทั้งเพียรพยายามบําเพ็ญ สมถวิปัสสนา ก็ไม่สามารถจะตรัสรู้มรรคผลในชาตินี้ได้...
***แต่พระสัทธรรมพุทโธวาทที่ได้สดับนั้นก็ย่อมมิสูญเปล่า แต่จะติดตามตัวผู้นั้นไปเป็นอุปนิสัยวาสนาบารมี สืบต่อไปในอนาคตกาล***
ลําดับนั้นเอง...
พระพุทธองค์ก็ได้ทรงพิจารณา คํานวนนับประเภทของสรรพสัตว์ แต่ละประเภท ดังที่กล่าวมา พระองค์ก็ทรงทราบแจ่มแจ้งแทงตลอดในพระญาณว่า...
*** อุคฆฏิตัญญ - วิปจิตัญญ - เนยยะ - และปทปรมะ ***
มีจํานวนประเภทละเท่านั้น ๆ สัตว์ผู้มี (ราคจริต) (โทสจริต) (โมหจริต) (วิตกจริต) (ศรัทธาจริต) (พุทธิจริต) มีจํานวนประเภท ละเท่านั้น ๆ อีกทั้งสัตว์ที่เป็นพุทธเวไนย สาวกเวไนย และธาตุเวไนย มีจํานวน พวกละเท่านั้น ๆ พระองค์ทรงทราบในพระญาณจนหมดสิ้นแล้ว จึงได้ตรัสแก่ สหัมบดีพรหมว่า...
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสแก่สหัมบดีพรหม :
***ดูก่อน... ท่านท้าวมหาพรหม
อันปรมัตถสัทธรรมนั้น ตถาคตนั้นรู้แจ่มแจ้งแทงตลอดโดยชํานาญแล้ว แต่ที่ตถาคตดําริว่า
(จักมิเทศนาโปรดแก่เทวดาและมนุษย์ ทั้งปวงนั้น) ก็ด้วยสําคัญว่า จักลําบากเสียเวลาเปล่าหาประโยชน์มิได้ เพราะพระสัทธรรมนั้นสุขุมนุ่มลึกยากนักที่เหล่าสัตว์หรือมนุษย์ทั้งหลายจักเห็นจักรู้และเข้าใจตามได้...
ทว่าบัดนี้... เมื่อท่านได้มาอาราธนาแล้ว ตถาคตก็จักแสดงพระสัทธรรมเทศนานั้นแก่เหล่าสัตว์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายเธอจงตั้งจิตตั้งใจคอยสดับ รับรสพระสัทธรรมที่เราตถาคตได้ตรัสรู้นี้เถิด***
ท้าวสหัมบดีพรหม เมื่อได้สดับรับฟังพระดํารัสที่พระบรมศาสดาทรงตรัสแล้ว ก็มีจิตใจที่ผ่องแผ้วโสมนัสยินดีเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ประนมหัตถ์ยกขึ้นอภิวาท องค์พระศาสดา และกระทําประทักษิณพร้อมเหล่าทวยเทพจนครบถ้วนแล้ว จึงได้ขอลาพระพุทธองค์ และพาหมู่อมรพรหมเหาะกลับคืนสู่เทวสถานวิมานของตน ๆ ในเทวโลกนั้นแล...
เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้
***เจตนาเพื่อเป็นธรรมทานและต่อยอดสืบทอดพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไป***
หากมีข้อผิดพลาดประการใด ก็กราบขออภัย ท่านผู้อ่านไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
หากท่านผู้ใดชอบ ก็ขอฝากติดตามอ่านตอนต่อไปด้วยนะขอรับ ^-^
ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านผู้อ่านขอธรรมของพระพุทธองค์จงมีแด่ ท่าน สาธุครับ (ต้นธรรม)
***เอกสารอ้างอิง***
#หนังสือ.ปฐมสมโพธิกถา
#หนังสือพุทธประวัติตามแนวปฐมสมโพธิ (พระครูกัลยาณสิทธิวัฒน์)
#เพิ่มเติมเนื้อหาใหม่/ภาพประกอบ.ต้นธรรม
#ธรรมะ
#Facebook Page🔜 :
https://www.facebook.com/dhamstrory
6 บันทึก
49
11
12
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
พุทธประวัติ (ฉบับสมบูรณ์) *ยังไม่จบ
6
49
11
12
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย