22 มี.ค. 2020 เวลา 04:16 • ความคิดเห็น
มีคนถามผู้เขียนว่ารูปแบบนี้บาปไหม?
เราจึงอยากให้ลองพิจารณากันดู
ก็ให้พิจารณากันที่เจตนาเป็นหลัก หากเขามีจิตที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นต่อรูปและวัตถุต่างๆ เขาจะมองเป็นเพียงแค่การปรุงแต่งของทางทางโลกเท่านั้น และไม่ถือว่าสิ่งนั้นคือพุทธะ เช่นนั้นแล้วเขาก็ไม่บาปในแง่ของการลบหลู่ดูหมิ่นพระพุทธองค์ คนเหล่านี้มักจะยึดมั่นในคำสอนที่ว่า"ไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นต่อสิ่งต่างๆ"จนบางครั้งก็หลงผิดอยู่บ่อยๆ(แต่คุณรู้ไหมว่า...เขากำลังยึดมั่นถือมั่นในอีกรูปแบบหนึ่งโดยที่เขาไม่รู้ตัว)
และถ้าในแง่อื่นๆเขาบาปไหม? ก็ต้องพิจารณาต่อไปอีกว่าสิ่งที่เขาทำก่อทุกข์ให้กับผู้อื่นหรือไม่ ก่อเวรก่อกรรมให้กับผู้อื่นหรือเปล่า? คำตอบก็คือแน่นอนเขาย่อมก่อทุกข์และก่อเวรก่อกรรมให้กับผู้อื่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเมื่อมีการกระทำเช่นนี้เกิดขึ้นก็อาจทำให้ผู้อื่นรู้สึกขุ่นข้องหมองใจ หรือเป็นการเหยียบย่ำความรู้สึกของผู้อื่นได้ จนเป็นเหตุให้สร้างเวรสร้างกรรมต่อกันไม่ว่าจะเป็นทาง มโนกรรมก็ดี วจีกรรมก็ดี หรือกายกรรมก็ดี ต่างฝ่ายต่างก็พากันหลงผิดไปตามๆกัน
ผู้ที่ไม่ยึดมั่นต่อรูปและวัตถุต่างๆ...หลายคนยังเข้าใจผิดคิดว่าตนเองพ้นแล้วทำถูกแล้ว คนเหล่านี้มีมากในสังคมสมัยนี้(สมัยที่วิทยาศาสตร์เฟื่องฟู) เขาคิดว่าตัวเขาเป็นผู้ที่ไม่ยึดติด เป็นผู้รู้จริง แต่เเท้ที่จริงแล้วเขายังมีอาการยึดมั่นถือมั่นอยู่ เขายึดมั่นว่าหลักการที่ถูกต้องนั้น...จะต้องไม่ยึดติดต่อรูปและวัตถุต่างๆ(นี่ก็เป็นการยึดติดอีกรูปแบบหนึ่งที่พระท่านชอบเรียกว่า"ติดดี"นั่นแหละ) เขาจึงปฏิเสธและตัดสินคนที่มีศรัทธาไปต่างๆนาๆ ทั้งๆที่ใจความสำคัญของศาสนาจะต้องอาศัย"ศรัทธาและปัญญา"เสมอ
เขาไม่ได้ใช้ปัญญาพิจารณาให้มากพอ ยังไม่เข้าใจในสิ่งที่พระพุทธองค์สอน ยังเข้าไม่ถึงแก่นที่ลึกลงไปกว่านั้น จึงปฏิเสธความแตกต่างที่มีอยู่ในโลก ปฏิเสธในสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ และปฏิเสธความแตกต่างทางภูมิจิตภูมิธรรม เช่นนั้นแล้วเขาย่อมเป็นคนหลงมากกว่าเป็นคนมีปัญญา?
ผู้ที่มีปัญญาจริงจะต้องยอมรับความจริงของโลกและรู้จักปล่อยวางให้เป็น และผู้ที่มีปัญญานั้นจะหลีกเลี่ยงการก่อเวรก่อกรรมต่อกันในทุกรูปแบบ เปรียบเปรยเหมือนกับต้นแอปเปิ้ล แอปเปิ้ลหนึ่งต้นต้องประกอบไปด้วย ราก ลำต้น กิ่งไม้ ใบไม้ เปลือก และผล ถึงจะรวมกันเป็นต้นแอปเปิ้ลได้ ถ้าขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปจะเรียกว่าเป็นต้นแอปเปิ้ลได้หรือไม่?
การปฏิบัติธรรมนั้นมีลำดับเป็นขั้นๆ จะใช้ธรรมแบบไหนกับใครต้องเลือกให้ถูก แต่หากเลือกใช้ผิด เช่นเอาธรรมขั้นสูงไปใช้กับคนที่ภูมิจิตภูมิธรรมยังไม่ถึง ก็จะทำให้เขาหลงผิดได้ อย่างในกรณีนี้ เช่นนั้นแล้วในบ้านเมืองของเราจะต้องอาศัยพระนักปฏิบัติเก่งๆ เพื่อจะได้แยกภูมิจิตภูมิธรรมของแต่ละคนได้ว่าคนไหนควรสอนแบบไหน
แม้แต่บทความนี้ก็เป็นเพียงการใช้ถ้อยคำมาบรรยายให้เห็นถึงสภาวะธรรมต่างๆที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ของผู้เขียน มิใช่สิ่งที่จะยึดมั่นถือมั่นอะไรได้ นอกจากผู้อ่านจะทำให้สภาวะธรรมเหล่านั้นปรากฏขึ้นด้วยตัวเอง เหมือนที่พระพุทธองค์บอกเราเอาไว้ว่า "ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน" และ "พึงรู้ได้ด้วยตนเอง"
โฆษณา