29 มี.ค. 2020 เวลา 01:21 • ประวัติศาสตร์
‘เสือ’ ที่คนจีนมีแทบทุกบ้าน
ถ้าพูดถึง ‘เสือ’ ที่คนจีนโดยเฉพาะชาวจีนโพ้นทะเลมีติดบ้านกันแทบทุกครัวเรือน
.
เป็นเสือลายพาดกลอนที่ทำท่ากระโจนไปข้างหน้าอย่างมีชีวิตชีวา
.
เป็นเสือที่ปรากฏอยู่บนฉลากข้างขวด
.
เป็นเสือที่ผู้คนมักหยิบออกมาทาถู
.
เพราะนี่คือ ยาหม่องตราเสือหรือไทเกอร์บาล์ม ที่อยู่คู่คนจีนมาเกือบร้อยปี
.
และผู้ที่ทำให้เสือตัวนี้ผงาดขึ้นมาเป็นที่รู้จัก คือหมอยามหาเศรษฐีในตำนานที่มีชื่อว่า หูเหวินหู่ (胡文虎 หรือออกเสียงแบบแต้จิ๋วว่า โอ้วบุ้นโฮ้ว) เขาและน้องชาย หูเหวินเป้า (胡文豹 โอ้วบุ้นป่า) ช่วยกันพัฒนายาหม่องตราเสือจนขายดิบขายดีแล้วยังขยับขยายไปผลิตยาตราเสืออีกหลายขนาน จนมีอาณาจักรทางธุรกิจที่ยิ่งใหญ่มาแล้ว แต่ความสำเร็จของโอ้วบุ้นโฮ้วและโอ้วบุ้นป่าสองพี่น้องไม่ได้มาเพราะโชคช่วย
.
.
กำเนิดเสือ
.
ย้อนกลับไปที่เมืองหย่งติ้ง มณฑลฝูเจี้ยน ที่นี่ชาวเมืองส่วนใหญ่เป็นจีนฮากกาหรือจีนแคะ หนึ่งในนั้นคือ แพทย์แผนจีนโบราณที่ชื่อว่า หูจื่อชิน (โอ้วจื่อคิ้ม) ในปี 1868 (ตรงกับปีที่ 7 ของรัชสมัยถงจื้อฮ่องเต้) เขาเดินทางออกจากบ้านเกิดไปแสวงโชคที่เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า เพียงสองปี โอ้วจื่อคิ้มก็สามารถเปิดร้านขายยาเล็กๆ ชื่อ หย่งอานถาง แล้วแต่งงานกับหญิงจีนเชื้อสายแต้จิ๋ว ทั้งคู่ให้กำเนิดลูกชายสามคน ได้แก่ หูเหวินหลง (โอ้วบุ้นเล้ง) โอ้วบุ้นโฮ้ว และโอ้วบุ้นป่า เป็นมังกร (เล้ง) เสือ (โฮ้ว) และเสือดาว (ป่า) สกุลโอ้วที่โอ้วจื่อคิ้มภาคภูมิใจ
.
แต่โชคร้ายที่ลูกชายคนโต โอ้วบุ้นเล้ง อายุสั้น เพียง 18 ปีก็ลาโลกไป เมื่อหมดมังกร ความหวังของบ้านก็ตกอยู่กับเสือและเสือดาว โอ้วบุ้นโฮ้วเกิดและโตที่ย่างกุ้ง พม่า พอถึงวัยเรียน พ่อของเขาก็ส่งกลับไปเรียนที่เมืองจีน เพื่อไม่ให้ลืมรากเหง้า เด็กชายโอ้วบุ้นโฮ้วไม่ค่อยชอบเรียนเท่าไรนัก เรียนอยู่ได้สี่ปี สุดท้ายเมื่ออายุได้ 14 ปี ใน ค.ศ. 1905 ก็กลับมาย่างกุ้งช่วยกิจการของพ่อ เขาพบว่าตัวเองสนใจในเรื่องค้าขายเรื่องของยาสมุนไพรมากกว่า
.
ค.ศ. 1908 โอ้วจื่อคิ้มเสียชีวิตลงกะทันหัน ทิ้งธุรกิจร้านขายยาที่ยอบแยบเต็มไปด้วยหนี้สินไว้ให้กับลูกชายทั้งสอง โอ้วบุ้นโฮ้วตัดสินใจเดินทางจากย่างกุ้งไปฮ่องกงเพื่อหาทางกอบกู้ธุรกิจ และที่นั่นโอ้วบุ้นโฮ้วก็ได้รับความไว้วางใจให้เครดิตจากร้านขายส่งสมุนไพรทำให้ลดภาระลงไปได้
.
ในหนังสือ Hongkong Apothecary ของ Simon Go เล่าไว้ว่าโอ้วบุ้นโฮ้วยังเดินทางไปที่มาเลเซียและสิงคโปร์ และที่สิงคโปร์นี่เอง ที่โอ้วบุ้นโฮ้วได้พบกับผู้เฒ่าแซ่เดียวกันที่เรียนมาทางด้านแพทย์แผนปัจจุบัน แต่ก็เชี่ยวชาญสมุนไพรจีน แม้อายุจะห่างกัน แต่ทั้งคู่ก็ถูกชะตากัน โอ้วบุ้นโฮ้วได้สูตรยาหม่องตราเสือมาจากผู้เฒ่าแซ่โอ้วท่านนี้นี่เอง เมื่อโอ้วบุ้นโฮ้วกลับมาที่ย่างกุ้ง เขาและโอ้วบุ้นป่าน้องชายก็ร่วมมือกันพัฒนาสูตรยาหม่องที่ได้มาให้ดียิ่งขึ้น แถมออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สะดุดตาน่าใช้
.
มาถึงตรงนี้คงต้องเล่าถึงที่มาของคำว่า ‘ยาหม่อง’ กันเสียก่อน คนไทยเรียกน้ำมันนวด Balm แบบนี้ว่า ยาหม่อง
.
.
ที่มาของยาหม่อง
.
‘หม่อง’ เป็นภาษาพม่าแปลว่า ‘น้องชาย’ หรือ ‘นาย’ ที่ยังหนุ่มชื่อ ไทยเอามาเรียกหมายถึงผู้ชายพม่า แล้วต่อมาก็กลายเป็นคำที่สื่อแทนอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับพม่า ยาที่มาจากพม่า ไม่ว่าจะเป็นยาอะไรเลยเรียกว่ายาหม่อง แต่สาเหตุที่ยาหม่องกลายเป็นชื่อสามัญแทนที่น้ำมันขี้ผึ้งทาถูนวดนั้น บ้างว่ามีที่มาจากยาหม่องตราเสือที่ส่งมาขายในไทยนี่เอง แต่นักเขียนรุ่นครู ลาวัณย์ โชตามระ เคยเขียนเล่าว่าต้นตอมาจาก ‘น้ำมันหม่องตะหยก’ จากน้ำมันหม่องกลายเป็นยาหม่องในที่สุด
.
ไทยเรียกยาหม่อง แต่จีนเรียกว่า ‘ว่านจินโหยว’ 万金油 ยาว่านจินโหยวนี้แทบจะเรียกได้ว่าเป็นยารักษาสารพัด ปวดเมื่อย วิงเวียนศีรษะ แมลงสัตว์กัดต่อย ฯลฯ ทำให้ต่อมาคำว่า ว่านจินโหยว กลายเป็นศัพท์แสลงภาษาจีนที่ใช้เรียกคนที่ทำได้ทุกอย่างแต่ไม่เก่งสักอย่าง
.
ว่านจินโหยวหรือยาหม่องตราเสือของสองพี่น้องตระกูลโอ้วขายดิบขายดีกลายเป็นที่รู้จักของชาวจีนโพ้นทะเลทั้งในพม่าและทั่วอุษาคเนย์ นอกจากยาหม่องตราเสือ โอ้วบุ้นโฮ้วและโอ้วบุ้นป่ายังผลิตยาออกมาอีกหลายตัว เช่น ลูกอม (八卦丹)ยาผงแก้ปวดหัว (头痛粉) และยาน้ำ (清快水) แต่ทั้งหมดอยู่ใต้แนวคิดการทำยาแพทย์แผนโบราณให้สะดวกใช้ ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่คนไข้ต้องเจียดยาไปปรุงไปต้มกินเอง และนี่คือกลยุทธ์ที่ทำให้ร้านขายยาหย่งอานถางของพวกเขาเจริญเติบโตและสร้างรายได้มหาศาล
.
.
เสือทะยาน
.
ถึงตอนนี้เมืองย่างกุ้งเล็กเกินไปแล้วสำหรับพวกเขา ค.ศ. 1923 พวกเขาตัดสินใจย้ายฐานไปสร้างอาณาจักรทางธุรกิจใหม่ที่สิงคโปร์ จากสิงคโปร์ธุรกิจของสองพี่น้องสยายปีกออกไปสู่มาเลเซีย ฮ่องกง มนิลา ไทย และเมืองใหญ่ทางตอนใต้ของจีนอย่าง กว่างโจว ซัวเถา ฝูโจว และเซียะเหมิน
.
โอ้วบุ้นโฮ้วนั้นนอกจากมีหัวการค้ายังมีหัวทางการโฆษณาอีกด้วย ที่สิงคโปร์เขาทำโฆษณาหนักมาก และถือว่าเป็นอะไรที่ใหม่มากสำหรับยุคนั้น โอ้วบุ้นโฮ้วซื้อรถเยอรมันมาดัดแปลงให้กลายเป็นรถหัวเสือที่สะดุดตาแห่ไปทั่วเมือง แล้วยังให้คณะดนตรีแต่งตัวเป็นเสือเล่นแตรวงไปตามชุมชน เขายังซื้อสื่อโฆษณาทางหน้าหนังสือพิมพ์ทำโฆษณาเป็นการ์ตูนที่ขบขันแต่โดนใจคน และโฆษณาทางหนังสือพิมพ์นี่เอง ที่ทำให้พ่อค้ายาหม่องผู้นี้กระโดดเข้าไปเป็นเจ้าพ่อแห่งวงการหนังสือพิมพ์ของอุษาคเนย์
.
.
เสือสิ่งพิมพ์
.
โอ้วบุ้นโฮ้วเคยเป็นคดีความกับเจ้าสัวเฉินเจียเกิง (陈嘉庚 คหบดีรักชาติแห่งสิงคโปร์) ในเรื่องลิขสิทธิ์ตราเสือ ซี่งที่สุดโอ้วบุ้นโฮ้วเป็นฝ่ายชนะคดี ในทางธุรกิจทั้งคู่ถือเป็นคู่แข่งกัน เวลานั้นเฉินเจียเกิงเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์หนานหยางซางเป้า (南洋商报) โอ้วบุ้นโฮ้วไม่อยากซื้อโฆษณายาหม่องตราเสือของตัวบนหนังสือพิมพ์ของคู่แข่ง เขาจึงตัดสินใจทำหนังสือพิมพ์ของตัวเองขึ้นมาในปี 1929 ให้ชื่อว่าหนังสือพิมพ์ ซิงโจวรื่อเป้า (星洲日報) และนับจากนั้นเขาก็กลายเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวม 24 ฉบับ
.
เอกลักษณ์หนึ่งของหนังสือพิมพ์ในสังกัดของโอ้วบุ้นโฮ้วคือทุกฉบับชื่อต้องขึ้นต้นด้วยคำว่า ซิง (星) ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ซิงเสียนเยอะเป้า (星暹日报) ก่อตั้งขึ้นในวันที่ 1 เดือน 1 ค.ศ. 1950 เป็นหนังสือพิมพ์รายวันภาษาจีนในไทยที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี จะเรียกว่าเป็น ‘ไทยรัฐเวอร์ชั่นจีน’ ก็ว่าได้
.
.
ทางของเสือ
.
ในปี 1942 เมื่อสิงคโปร์ถูกญี่ปุ่นยึด โอ้วบุ้นโฮ้วไปอยู่ที่ฮ่องกง ส่วนโอ้วบุ้นป่าหอบหิ้วครอบครัวหนีกลับไปอยู่ที่พม่า แล้วเสียชีวิตในอีกสองปีต่อมาที่ย่างกุ้งนั่นเอง
.
เสือดาวสิ้นแล้ว สกุลโอ้วเหลือเพียงเสือลายพาดกลอน
.
แต่เสือลายพาดกลอนอย่างโอ้วบุ้นโฮ้วก็ยังคงทะยานต่อไปในโลกธุรกิจ ในด้านชีวิตส่วนตัวเขามีภรรยาสี่คน มีบุตร-ธิดารวมทั้งหมด 9 คน ที่บ้าน เขาให้ลูกทุกคนพูดภาษาจีนแคะ เพื่อจะได้ไม่ลืมรากเหง้าบรรพชน โอ้วบุ้นโฮ้วเมื่อร่ำรวยเป็น
เถ้าแก่แล้วก็ทำสาธารณกุศลให้สังคมมากมาย และที่สิงคโปร์ยังคงมี โฮ้วป่าวิลล่า ซึ่งเป็นเหมือนสวนสนุกของชาวบ้าน มีรูปปั้นเทพเจ้า จำลองนรก-สวรรค์ตามคติจีน (อารมณ์เดียวกับวัดไผ่โรงวัวบ้านเรา) ส่วนที่ฮ่องกงก็เคยมีไทเกอร์บาล์ม การ์เด้น ที่ถูกเปรียบให้เป็นดิสนีย์แลนด์ของโลกตะวันออก
.
วันที่ 8 เดือนมีนาคม ค.ศ. 1953 เขาจัดงานวันเกิด แล้วเชิญผู้สูงอายุทั้งยากดีมีจนมาร่วมฉลองจำนวนถึง 7,000 คน
.
ค.ศ. 1954 โอ้วบุ้นโฮ้ว เดินทางไปรักษาตัวที่สหรัฐอเมริกา แล้วเสียชีวิตลงที่โฮโนลูลู ฮาวาย สิริอายุรวม 72 ปี
.
เสืออย่างโอ้วบุ้นโฮ้วอำลาโลกไปแล้ว แต่หวังว่ายาหม่องตราเสือของเขาจะยังคงอยู่ไม่รู้สูญหาย.
.
.
เรื่อง : สมชาย จิว
ภาพประกอบ : เพ็ญนภา บุปผาเจริญสุข
.
/////////////
โฆษณา