23 มี.ค. 2020 เวลา 06:47 • ไลฟ์สไตล์
พลาสติก จะเป็นตัวร้าย หรือ พระเอก ขึ้นอยู่กับคนใช้
เป็นเรื่องจริงที่พลาสติกมีประโยชน์มากมายมหาศาล ถ้าพลาสติกไม่มีประโยชน์มันจะล้นโลกได้อย่างไร?
พลาสติกเข้ามามีบทบาทแทบจะในทุกอุตสาหกรรม ทุกบริบท ทุกกิจกรรม ทุกหนทุกแห่ง รอบตัวเราเต็มไปด้วยพลาสติก ซึ่งพลาสติกเองก็มีหลายเกรด หลายประเภท เราไม่สามารถจะยกเลิกการใช้พลาสติกให้เท่ากับ 0 ได้ ไม่มีทาง เพราะบางอุตสาหกรรม บางธุรกิจ พลาสติกยังเป็นสิ่งจำเป็น
โดยเฉพาะในโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อหรือในห้องแล็บ แต่สำหรับประเทศไทยที่งบวิจัยไม่เยอะ บางแล็บอาจมีการล้างแล้วใช้ใหม่ แต่ในต่างประเทศที่ทุนทำวิจัยเยอะ เขาใช้แล้วทิ้งแทบทุกอย่างที่เป็นพลาสติก จะล้างก็แค่ภาชนะแก้วเท่านั้น แต่มันคือสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะงานวิจัยเหล่านั้นจำเป็นและมีประโยชน์
สิ่งที่นักสิ่งแวดล้อมพยายามรณรงค์คือการ “overuse พลาสติก” ใช้พลาสติกมากเกินไป ทั้งที่บางครั้ง บางสถานการณ์ ไม่ได้จำเป็นต้องใช้พลาสติกเลยด้วยซ้ำ แค่ใช้ชีวิตลำบากขึ้นมานิดนึง ก็แน่ละ พลาสติกทำให้มนุษย์สะดวกสบายมากขึ้น จนลืมไปว่ามันกำลังทำร้ายโลกของเราอยู่
โดยเฉพาะพวก single-use plastic หรือพวกใช้แล้วทิ้งเลย ที่เห็นภาพง่ายสุดก็คือถุงหูหิ้วนี่แหละ บางทีเดินเข้าเซเว่น ซื้อขนมสองถุง ลูกอมสองห่อ ใส่ถุงพลาสติก ผ่านไปไม่นาน หยิบขนมกิน หยิบลูกอมฉีกกิน ถุงพลาสติกก็ทิ้ง พอเห็นภาพไหมคะ?
ไม่ใช่ว่าการใช้พลาสติกไม่ดี ถ้าคุณนำกลับมาใช้ใหม่ Reduce Reuse Recycle ตอบทุกอย่าง พยายามลดการใช้ก่อน ถ้าไม่จำเป็น นำกลับมาใช้ซ้ำเท่าที่ทำได้ สุดท้ายค่อยนำไปรีไซเคิล พลาสติกบางประเภทรีไซเคิลได้ ไม่ใช่ทุกประเภท แต่ขั้นตอนรีไซเคิลก็ทำให้เกิดมลภาวะและเปลืองงบประมาณ เพราะฉะนั้นควรใช้เป็นทางเลือกสุดท้าย
ในช่วงที่มีโรคระบาด การใช้พลาสติกเพิ่มขึ้นเนื่องจากเน้น take home หรือ delivery เพราะไม่ต้องการให้คนไปรวมตัวกันเยอะๆตามร้านอาหาร การใช้ mask เพิ่มขึ้น ย่อมทำให้ขยะเพิ่มขึ้นเป็นสิ่งที่เข้าใจได้
หรือเรื่องการงดการใช้แก้วส่วนตัวมาซื้อน้ำ พอพยายามทำความเข้าใจ เลยคิดว่าอย่างสตาบัค คนมักจะกินกาแฟหลายครั้งต่อหนึ่งวัน จึงมักนำแก้วที่กินหมดแล้วยื่นให้พนักงานแล้วบอกว่าล้างให้หน่อย พนักงานก็จะแค่กลั้วๆน้ำ ไม่ได้ใช้นำยาล้างจานล้างจริงจัง ก่อนจะทำเครื่องดื่มใหม่ให้ ซึ่งแบบนี้จะเป็นการแพร่เชื้อโรค เพราะเหมือนเราส่งต่อแก้วเปื้อนน้ำลายให้คนอื่น แต่ถ้าแก้วที่ยื่นให้ร้านค้า เป็นแก้วที่ล้างสะอาด ตากแห้ง แล้วถึงนำไปซื้อเครื่องดื่ม นอกจากจะไม่แพร่เชื้อและยังสามารถลดขยะได้ กลับกัน ถ้าบอกให้ใช้แก้วของทางร้าน แล้วมือพนักงานเปื้อนเชื้อ มาจับแก้ว ทำเครื่องดื่มให้ เราก็มีโอกาสติดเชื้ออยู่ดี ดังนั้นถ้ามั่นใจว่าแก้วสะอาด ไม่ว่าจะใช้แก้วส่วนตัวหรือแก้วร้าน ยังคงต้องดูแลมือให้สะอาดทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย
หรือจะเป็นเรื่องที่บอกว่าถุงผ้าใช้หลายครั้งเป็นแหล่งสะสมแบคทีเรีย ก็ซักสิคะ ทำความสะอาดบ้าง ถุงผ้าก็ไม่ต่างอะไรกับเสื้อผ้าที่เราใส่ออกไปข้างนอก ถ้าบอกว่าถุงผ้าเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค เสื้อผ้าที่เราใส่ก็เหมือนกัน เราซักเสื้อผ้า ก็ซักถุงผ้าไปด้วย ใน podcast ตอนล่าสุดกรีนบอกแล้วว่าในช่วงโรคระบาดแบบนี้สิ่งที่จำเป็นที่สุดคือเราต้องรักษาความสะอาด
ทุกๆอย่างไม่สามารถบอกได้แค่ให้ ‘ใช้’ หรือ ‘ไม่ใช้’ มันอยู่ที่ว่าเรามีความรู้ ความเข้าใจ สาเหตุของการกระทำนั้นๆจริงหรือไม่
ยกตัวอย่างเช่น การเดลิเวอรี่ เราอยู่ในบ้านก็จริง ถ้าถุงมือคนส่งอาหารมีเชื้อ แล้วจับถุงส่งให้เรา เราจับถุงมา มือเรามีเชื้อ เราแกะกล่องออก ถ้าไม่ล้างมือก่อนกิน เราก็มีโอกาสติดเชื้อ กลับกัน ถึงแม้จะไปที่ร้านข้าวแถวบ้าน นำกล่องที่ล้างสะอาดใส่อาหารกลับมากินบ้าน หรือจะกินที่ร้าน เลือกร้านที่อากาศถ่ายเท คนน้อย นั่งโต๊ะให้ห่างกัน เอาช้อนส้อมส่วนตัวไป ฉีดแอลกอฮอล์ที่มือก่อนกิน รีบกินรีบกลับ กลับบ้านล้างมืออีกที ก็แทบจะไม่มีปัจจัยที่ทำให้ติดเชื้อได้
ในกรณีนี้กรีนนึกไปถึงเรื่องแอลกอฮอล์ ที่มีเพจหนึ่งบอกว่า Ethanol = eat กินได้ Methanol = met กินไม่ได้ จริงๆแล้วจะจำว่า Ethanol = eat กินได้ ก็ไม่ผิด 100% เพียงแต่ว่าไม่ใช่ Ethanol ทุกอันที่กินได้ ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นและความบริสุทธิ์ด้วย ก็แค่ต้องสื่อสารเรื่องนี้ให้มากขึ้น ให้ความรู้คนอื่นให้รอบด้าน
ความรู้และความเข้าใจจะทำให้เรารู้ว่าเราควร ทำ หรือ ไม่ทำ อะไร
เพราะฉะนั้น ในช่วงโรคระบาด พลาสติกที่จำเป็นต้องใช้ก็ช่วยไม่ได้ แต่พลาสติกที่ไม่จำเป็น เราก็ไม่ต้องใช้ ไม่ใช่จะมองว่าพลาสติกมาช่วยลดการติดเชื้อไปซะหมด ต้องใช้พลาสติกพวกใช้แล้วทิ้งให้มากขึ้น ทิ้งไปก็ไม่เสียดาย ถ้าคิดแบบนี้ พลาสติกติดเชื้อพวกนั้นที่ทิ้งไป มันไปไหนเหรอ? มันก็ไม่ได้หายไปไหนหรอก ก็กลายเป็นขยะติดเชื้อที่ย่อยสลายยากวนเวียนไปมานี่แหละ มนุษย์ก็เป็นแบบนี้มาตั้งนานแล้ว ทิ้งให้พ้นตัว แต่จริงๆมันไม่เคยไปไหน อ้อมกลับมาทำร้ายโลก ทำร้ายเราอีกที
การจัดการที่ดี ก็มีส่วนช่วยให้ขยะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม แต่ถ้าไม่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุด้วย ไม่ลดการใช้ ก็คงช่วยอะไรไม่ได้มาก ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่เกี่ยวโยงหลายเรื่อง การแก้ปัญหาทางเดียว ไม่สามารถเห็นผลได้
ภาวะโลกร้อนมีผลทำให้ไฟไหม้ป่าในออสเตรเลียรุนแรงถึง 30% ปัญหาความแห้งแล้งที่ประเทศไทยกำลังจะต้องเผชิญ ถ้าไม่ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมตอนนี้ อีกห้าสิบปีข้างหน้า ถ้าเกิดภัยแล้งรุนแรง น้ำไม่มี แล้วยังเกิดโรคระบาดแบบนี้ขึ้นอีก จะเอาน้ำที่ไหนมาล้างมือบ่อยๆ? ถ้าไม่มีน้ำมารักษาความสะอาด เปิดก๊อกมาน้ำไม่ไหล ตอนนั้นคงโทษใครไม่ได้เลย นอกจากโทษตัวเอง
References/อ้างอิง >>
โฆษณา