24 มี.ค. 2020 เวลา 06:47 • ประวัติศาสตร์
โรคระบาดอันโทนิน หายนะแห่งจักรวรรดิโรมัน
โรคระบาดนี้ มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า โรคระบาดกาเลน ซึ่งมีที่มาจากชื่อของแพทย์ชาวกรีกผู้หนึ่งของจักรวรรดิโรมัน ที่ได้เขียนบรรยายถึงโรคนี้ ไว้ในบันทึกของเขา
โรคระบาดอันโทนินปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรก ในภูมิภาคตะวันออกใกล้ ซึ่งประกอบด้วยดินแดนเอเชียตะวันตก ตุรกีและอียิปต์
ชื่ออันโทนิน ได้มาจากชื่อ ราชวงศ์เนอวาร์ - อันโทนิอุส
ซึ่งในช่วงที่ราชวงศ์นี้ปกครองจักรวรรดิโรมัน ได้มีโรคดังกล่าวระบาดขึ้น อีกทั้งโรคนี้ ยังอาจเป็นสาเหตุการสวรรคตของ จักรพรรดิ ลูเชียส เวรุส ในปี ค.ศ.169 ซึ่ง เป็นผู้ครองราชย์ร่วมกับ จักรพรรดิ มาคัส ออเรลิอุส
บันทึกโบราณหลายฉบับได้ลงความเห็นตรงกันว่า โรคระบาดอันโทนินเกิดขึ้นครั้งแรก ระหว่างที่กองทัพโรมันล้อมเมืองเซลิวเซียในฤดูหนาว ปี ค.ศ.165 - ค.ศ.166 โดยเมืองนี้ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำไทกริส และเป็นเมืองใหญ่ในลุ่มน้ำไทกริส -ยูเฟรติส
การล้อมเมืองของทัพโรมัน
นายทหารและนักประวัติศาสตร์ชาวโรมัน ชื่อ แอมมิอานุส มาเซลลินุส รายงานว่า กองทัพโรมันที่กลับจากทำศึกที่เซลิวเซียได้นำโรคนี้เข้ามาในแคว้นกอลและแพร่ระบาดไปทั่ว จนถึงกองพลโรมันที่ประจำการอยู่ตลอดแนวแม่น้ำไรน์ ที่อยู่ทางตอนเหนือของแคว้นกอล ทั้งยังแพร่ระบาดลงไปทางใต้ เข้าสู่คาบสมุทรอิตาลีจนมาถึงกรุงโรม
นักประวัติศาสตร์ชาวโรมัน ชื่อ ยูโทรพิอุส ได้บันทึกไว้ว่า โรคระบาดอันโทนินได้ทำให้ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมากทั่วทั้งจักรวรรดิโรมัน ซึ่งในช่วงที่โรคกำลังระบาดอยู่นั้น เฉพาะแค่ในกรุงโรม ก็มีคนตายมากกว่าสองพันคน ทุกวัน
 
กาเลน นายแพทย์ชาวกรีกที่ได้ร่วมรักษาผู้ป่วย บันทึกไว้ว่า ผู้ป่วยมีอาการ ไข้ขึ้นสูง ท้องร่วงและเจ็บคอ โดยหลังป่วยได้เก้าวัน ผิวหนังจะปะทุเป็นตุ่มพอง ซึ่งมีทั้งเป็นตุ่มแห้งและตุ่มหนอง
แม้จากข้อมูลของกาเลน จะไม่อาจระบุได้แน่ชัดว่าโรคระบาดอันโทนินนั้นเป็นโรคใด แต่นักวิชาการส่วนใหญ่ก็สันนิษฐานจาก ลักษณะอาการว่า อาจจะเป็นไข้ทรพิษ หรือไม่ก็โรคหัด
โรคระบาดในกรุงโรม
โรคระบาดอันโทนิน ทำให้ประชาชนจำนวนมากหันไปพึ่งเวทมนต์คาถาลี้ลับแทนการบูชาเทพเจ้า เพื่อหวังให้คุ้มครองพวกเขาจากโรคระบาด ส่งผลให้มีการเปลี่ยน แปลงในงานเขียนและงานศิลปะต่างๆ ทำให้แนวคิดยุคโบราณ ที่ยึดโยงกับความเชื่อเรื่องเทพเจ้าเริ่มหายไป กลายเป็นจุดเริ่มของความเชื่อในเวทมนต์อำนาจเหนือธรรมชาติ นอกจากนี้ การที่โรคนี้เริ่มแพร่ระบาดขึ้นก่อนในกองทัพ ส่งผลให้กำลังพลของโรมอ่อนแอลง เนื่อง จากมีทหารล้มป่วยเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก
ริชาร์ด ราเฟ เดอเครสพิกนี นักประวัติศาสตร์ ชาวออส เตรเลียและผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีน ได้พบว่า มีโรคระบาด ขึ้นที่จีน ในปี ค.ศ.151,ค.ศ.161, ค.ศ.171, ค.ศ.173, ค.ศ.179, ค.ศ.182 และ ค.ศ.185 ซึ่งเป็นช่วงปลายยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (ค.ศ.25 - ค.ศ.220) ทั้งนี้ โรมันกับจีน มีการติดต่อค้าขายผ่านเส้นทางสายไหม มาตั้ง แต่สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (202 ปี ก่อน ค.ศ.- ค.ศ.9)
โดยโรคระบาดที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ.182 ได้กลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดกบฏโพกผ้าเหลือง ในรัชสมัยจักรพรรดิฮั่นหลิงตี้ ซึ่ง เครสพิกนี ได้สันนิษฐานว่า โรคระบาดที่เกิดในจีน อาจจะเกี่ยวข้องโรคระบาดอันโทนิน อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อสรุปชัดในเรื่องนี้
นักประวัติศาสตร์บางกลุ่ม คิดว่า โรคระบาดอันโทนิน ที่ยังไม่แน่ชัดว่า เป็นโรคหัดหรือไข้ทรพิษ อาจเริ่มแพร่ระบาดในชุมชนขนาดเล็กของเอเชียกลาง ก่อนจะเข้าสู่ดินแดนจีนและแพร่กลับไปตามเส้นทางสายไหมจนเข้าสู่จักรวรรดิโรมันในเวลาต่อมา
โรคระบาดอันโทนิน มีการแพร่ระบาดสองรอบ โดยรอบแรก เกิดขึ้นระหว่าง ปี ค.ศ.165 จนถึง ปี ค.ศ.169 จากนั้นอีกเก้าปีต่อมา ก็กลับมาระบาดอีกครั้งในปี ค.ศ.178 จนสิ้นสุด ในปี ค.ศ.180
นักประวัติศาสตร์ ได้ประมาณการไว้ว่า การระบาดทั้งสองรอบ ได้คร่าชีวิตประชากรทั่วทั้งจักรวรรดิโรมันไปกว่าห้าล้านคน คิดเป็นหนึ่งในสิบของพลเมืองจักรวรรดิโรมันทั้งหมด และคิดเป็นสองเปอร์เซนต์ของประชากรโลกในวลานั้น ถือเป็นหนึ่งในหายนะครั้งใหญ่ที่สุด ครั้งหนึ่งของโลกยุคโบราณ
#โรคระบาด #โรมัน
โฆษณา