24 มี.ค. 2020 เวลา 15:18 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
พบ พายุไซโคลนบนดาวพฤหัสบดี ขนาดเท่ารัฐเท็กซัส!
3 พฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2562 นักวิทยาศาสตร์ค้นพบพายุไซโคลนขนาดใหญ่ลูกใหม่ทางขั้วใต้ของดาวพฤหัสบดี ข้อมูลนี้ได้จาก ยานอวกาศจูโน ขององค์การนาซาที่ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อปี พ.ศ. 2554 มีภารกิจหลักคือทำความเข้าใจว่าดาวพฤหัสบดีก่อตัวและมีวิวัฒนาการอย่างไร
ยานอวกาศจูโน ใช้กล้องอินฟราเรดศึกษาใต้ชั้นบรรยากาศของดาวพฤหัสบดี ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ติดตามความเคลื่อนไหวของแก๊สที่อยู่ใต้เมฆของดาวพฤหัสบดี และงานวิจัยล่าสุดได้แสดงให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวที่ซับซ้อนในเมฆที่ไม่เคยพบมาก่อน โดยในปี พ.ศ. 2559 จูโนค้นพบพายุไซโคลนขนาดมหึมาที่เรียงตัวกันเป็นรูปห้าเหลี่ยม ล้อมรอบพายุกลางขั้วใต้ของดาวพฤหัสบดี
ล่าสุดยานอวกาศจูโนค้นพบพายุไซโคลนเพิ่มอีกหนึ่งลูก ในขณะที่ยานกำลังบินเฉียดที่ระดับความสูงประมาณ 3,500 กิโลเมตร ข้อมูลจากอุปกรณ์ทำแผนที่ออโรราในย่านรังสีอินฟราเรดบนดาวพฤหัสบดี (JIRAM) แสดงให้เห็นว่าพายุไซโคลนลูกใหม่ที่พบมีความเร็วลมเฉลี่ยใกล้เคียงกับอีก 5 ลูกที่เหลือคือประมาณ 362 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้ที่ขั้วใต้ของดาวมีพายุ 6 ลูกล้อมรอบพายุตรงกลางจากเดิมที่มีแค่ 5 ลูก ซึ่งพายุตรงกลางมีขนาดใกล้เคียงกับทั้งประเทศสหรัฐอเมริกา ขณะที่พายุลูกใหม่ล่าสุดมีขนาดประมาณรัฐเท็กซัส
การเรียงตัวของพายุที่ขั้วของดาวเคราะห์แก๊สดวงนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์ประหลาดใจอย่างมาก เนื่องจากแบบจำลองที่พวกเขาสร้างขึ้น พบว่า พายุลูกใหม่ที่กำลังผุดขึ้นมาอาจส่งผลให้พายุหลาย ๆ ลูกรวมตัวกัน ก่อตัวเป็นกระแสลมขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตามนักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าอะไรทำให้พายุบนดาวพฤหัสบดีเรียงตัวกันในลักษณะนี้ ข้อมูลจากการสำรวจในอนาคตจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สร้างแบบจำลองที่แม่นยำและอธิบายความลับของพายุที่ขั้วของดาวพฤหัสบดีได้
เรียบเรียง : นายกฤษณะ ล่ามสมบัติ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา