27 มี.ค. 2020 เวลา 11:55 • การศึกษา
เคยสงสัยมั้ยครับว่ามนุษย์มี “ฟันน้ำนม” ไปทำไม และเพราะอะไรมันถึงหลุดเมื่อเราโตขึ้น คำถามเหล่านี้หลาย ๆ คนอาจจะไม่เคยสงสัยมาก่อน แต่เมื่อได้อ่านแล้วกลับรู้สึกสนใจขึ้นมาทันทีว่าเป็นเพราะอะไรและมีไปเพื่ออะไรกันแน่
พวกเราน่าจะรู้กันอยู่แล้วว่า เด็ก ๆ จะเกิดมาโดยที่ยังไม่มีฟัน แต่หลังจากนั้นไม่นานฟันน้ำนมจะเริ่มงอกขึ้นมาเมื่ออายุประมาณ 6-12 เดือน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แพทย์แนะให้เด็กดื่มนมแม่เพียงอย่างเดียวพอดี
จากจุดนี้เพื่อน ๆ น่าจะเริ่มเห็นความสัมพันธ์บางอย่างแล้วใช่มั้ยครับ นั่นก็เพราะหลัง 6 เดือน เด็กทารกจะเริ่มอยู่ในระยะหย่านมแล้ว และต้องเริ่มเรียนรู้ที่จะกินอาหารบางประเภท เรียนรู้การเคี้ยวอาหาร และเรียนรู้การออกเสียงและพูด
เนื่องจากการออกเสียงของมนุษย์ในทุก ๆ ภาษา จะมีการออกเสียงด้วยโดยใช้ฟันเป็นส่วนประกอบเสมอ นอกจากนั้นฟันยังช่วยกำหนดโครงสร้างของใบหน้าให้เจริญอย่างถูกต้องด้วย
อย่างไรก็ตาม ฟันน้ำนมที่งอกออกมาจะอยู่ได้ไม่นานนัก มันจะค่อย ๆ หลุดออกไปเมื่อโตขึ้น และถูกแทนที่ด้วย ฟันแท้ ทีละเล็กละน้อย เหตุผลก็คือฟันน้ำนมเป็นชิ้นส่วนกระดูกที่ไม่ค่อยแข็งแรงมากนัก นอกจากนั้นฟันน้ำนมยังมีเพียงแค่ 20 ซี่ ในขณะที่ฟันแท้ที่งอกออกมาในภายหลังมี 32 ซี่
เมื่อร่างกายโตขึ้น มีขนาดกรามใหญ่ขึ้น ฟันน้ำนมซี่เล็ก ๆ เปราะบางเหล่านี้ก็ไม่เพียงพอต่อการใช้งานอีกต่อไป มันต้องการฟันที่มีขนาดใหญ่ขึ้น แข็งแรงขึ้นและมีจำนวนมากขึ้น
หากจะให้เปรียบเทียบอย่างง่าย ๆ ฟันน้ำนมก็เปรียบเสมือนเครื่องมือเริ่มต้นสำหรับฝึกซ้อม ไม่ได้เอาไว้ใช้งานจริงในระยะยาวนั่นเองครับ
ภาพสแกนเอกซเรย์ของฟันน้ำนม และฟันแท้ที่กำลังก่อตัว
โดยในกระบวนนี้ ฟันแท้ที่ถูกสร้างใหม่ในช่วงอายุประมาณ 6-7 ปี จะค่อย ๆ ดันรากของฟันน้ำนมขึ้นมาเรื่อย ๆ จนหลวม และหลุดออกไปในที่สุด ซึ่งอาจจะมีเลือดออกได้เพราะเหงือกที่เคยฟันน้ำยึดติดอยู่นั้นเกิดความเสียหาย แต่ใช้เวลาแค่ไม่นานก็เลือดก็จะหยุดไหล แต่ทั้งนี้ก็มีบางคนที่ฟันน้ำนมบางซี่ไม่ยอมหลุดและอยู่อย่างนั้นจนโตด้วยเช่นเหมือนกันครับ
สรุป – ฟันน้ำนมเปรียบได้กับเครื่องมือที่ร่างกายให้มาใช้ฝึกซ้อมใช้งานก่อนในช่วงแรก และจะเปลี่ยนเป็นฟันแท้ที่แข็งแรงกว่าในภายหลังนั่นเองครับ
Fact – อีนาเมล (enamel) ซึ่งเป็นส่วนนอกสุดที่เคลือบฟันเอาไว้ คือชิ้นส่วนที่แข็งที่สุดในร่างกายมนุษย์ หากว่าอีนาเมลเกิดความเสียหายก็จะทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพฟันตามมา เช่นฟันผุ เสียวฟัน และอื่น ๆ ซึ่งสารฟลูออไรด์ในยาสีฟันจะช่วยเคลือบและปกป้องชั้นอีนาเมลเอาไว้อีกที
โฆษณา