Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
คนเล่าประวัติศาสตร์ (komkid)
•
ติดตาม
27 มี.ค. 2020 เวลา 13:34 • ประวัติศาสตร์
ขุนพลฝรั่งเศสแห่งอาณาจักรพม่า
จากนายทหารราชนาวีฝรั่งเศสที่ต้องตกเป็นเชลย กลายมาเป็นขุนศึกผิวขาว องครักษ์คู่พระทัยของจอมกษัตริย์แห่งแผ่นดินอิระวดี
1
ปิแอร์ เดอ มิลลาร์ด มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า เชอวาลิเอร์ เดอ มิลลาร์ด เขาเป็นชาวฝรั่งเศส เกิดในปี ค.ศ 1736 ประวัติในวัยเด็กไม่ปรากฏชัด มีแต่เพียงว่า เมื่อเข้าวัยรุ่น เขาได้เข้ารับราชการในกองทัพเรือของฝรั่งเศส จน ถึงปี ค.ศ.1756 ปิแอร์เป็นหนึ่งในกองทหาร ที่เดินทางไปกับเรือรบสามลำ ที่ฝรั่งเศสส่งไปประจำการยังเมืองสิเรียม ใกล้กับปากแม่น้ำพะโคที่ไหลลงทะเลอันดามัน เพื่อป้องกันสถานีการค้าของบริษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศส(French East India Company)
2
ทหารเรือฝรั่งเศส สมัยศตวรรษที่ 18 (ค.ศ.1700 - 1800)
บริษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศสได้เข้ามาตั้งสถานีการค้าและท่าเรือ ที่เมืองสิเรียมตั้งแต่ทศวรรษที่ 1740 โดยหลังจาก สมิงทอ ก่อกบฏต่อราชวงศ์ตองอู และฟื้นฟูอาณาจักรหงสาวดีขึ้นในปี ค.ศ.1740 ก็ได้ทำสนธิสัญญาการค้ากับฝรั่งเศสและยินยอมให้บริษัทอิน เดียตะวันออกของฝรั่งเศสเข้ามาตั้งสถานีการค้า
ในปี ค.ศ.1747 สมิงทอ ถูกพญาทะละ แม่ทัพใหญ่ยึดอำนาจและขึ้นครองราชย์แทน จากนั้นพญาทะละจึงส่งกองทัพไปโจมตีกรุงอังวะและทำลายราชวงศ์ตองอูได้ในปี ค.ศ.1752 ทว่าในปีเดียวกันนั้น อองไจยะ หัวหน้าหมู่บ้านมุกโชโบก็รวบรวมผู้คนและตั้งตนเป็นกษัตริย์ พระนาม อลองพญา สถาปนาราชวงศ์คองบอง จากนั้นจึงทำสงครามกับหงสาวดีและสามารถยึดดินแดนพม่าตอนบนได้ในปี ค.ศ.1754
หลังยึดดินแดนพม่าตอนบนได้ กษัตริย์อลองพญาทรงนำทัพลงใต้และเข้าโจมตีเมืองสิเรียมในปี ค.ศ.1756
กองทัพพม่าเผชิญการต่อต้านจากกองเรือฝรั่งเศสที่มาช่วยชาวมอญป้องกันเมืองสิเรียมและป้องกันสถานีการค้ากับท่าเรือของฝรั่งเศส ซึ่งสุดท้าย กองทัพพม่าก็ยึดเมืองสิเรียมได้ และจับเรือฝรั่งเศสสองลำพร้อมลูกเรือเป็นเชลย ส่วนอีกลำ หนีรอดไปได้
2
อนุสาวรีย์พระเจ้าอลองพญา
กษัตริย์อลองพญาได้สั่งประหาร เดอบรูโน ผู้บังคับการกองเรือฝรั่งเศสที่ไม่ยอมจำนน ทำให้ทหารและลูกเรือทั้งหมดรวมทั้งปิแอร์ ต้องยอมเข้าเป็นทหารในกองทัพพม่า
ชาวฝรั่งเศสทั้งหมดถูกตั้งเป็นกองทหารแม่นปืนและได้เข้าร่วมตีเมืองหงสาวดี ในปี ค.ศ.1757 ซึ่งกษัตริย์อลองพญาสามารถทำลายอาณาจักรมอญลงได้
หลังศึกพิชิตกรุงหงสาวดี กองทหารฝรั่งเศสถูกยกเป็นหน่วยทหารพิเศษและได้ติดตามกองทัพพม่า มาทำศึกกับอาณาจักรศรีอยุธยาของไทย ในปี ค.ศ.1759 ซึ่งจบลงหลัง กษัตริย์อลองพญาสวรรคตในระหว่างการศึก
การสวรรคตของ กษัตริย์อลองพญา ทำให้เกิดกบฏในหลายเมือง ปิแอร์และพวกฝรั่งเศสจึงต้องไปร่วมปราบกบฏด้วย จนมาถึงรัชกาลที่สามของราชวงศ์คองบอง คือ กษัตริย์ชินบูชิน หรือ พระเจ้ามังระ ปิแอร์ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าทหารฝรั่งเศสและเป็นราชองครักษ์ของพระเจ้ามังระ
ปี ค.ศ.1765 (พ.ศ.2308) พระเจ้ามังระ ทรงให้มังมหานรธาและเนเมียวสีหบดี นำทหารสองกองทัพ กำลังพลรวมหกหมื่นนาย ยกไปทำสงครามกับอาณาจักรอยุธยา เชอวาลิเอร์ เดอมิลลาร์ด ได้นำกองทหารอาสาฝรั่งเศสร่วมไปกับกองทัพพม่าโดยทำหน้าที่เป็นหน่วยแม่นปืนและทหารปืนใหญ่ ซึ่งได้สร้างผลงานสำคัญในการรบกับกองทัพไทยหลายครั้ง
หลังกองทัพพม่าทำลายกรุงศรีอยุธยาลงได้ ในปี ค.ศ.1767 อาณาจักรพม่าก็ต้องทำสงครามใหญ่กับกองทัพจักรวรรดิต้าชิงของจีน
ซึ่งสงครามกับจีนนี้ เริ่มขึ้นตั้งแต่ ปี ค.ศ.1766 ในช่วงที่พม่ายังทำสงครามกับไทย โดยต้าชิงได้ส่งกองทัพมา ตีพม่าหลายครั้ง แต่ก็ต้องพ่ายแพ้กลับไป จนกระทั่งใน ปี ค.ศ.1769จักรพรรดิเฉียนหลงของต้าชิงได้ส่งแม่ทัพฟู่เหิงคุมพลหกหมื่นยกมาตีกรุงอังวะ
1
ทหารชาวยุโรปในกองทัพพม่า
เชอวาลิเอร์ เดอ มิลลาร์ด ได้คุมกองทหารปืนใหญ่ ติด ตามกองทัพของอะแซหวุ่นกี้ไปทำศึกกับทัพจีนและได้สร้างผลงานในการรบทางเรือหลายครั้ง รวมถึงยุทธนาวีที่ซินเจีย ทางตะวันออกของลุ่มน้ำอิระวดี ซึ่งหลังจากสงครามสงบ กษัตริย์มังระจึงได้แต่งตั้งให้เขามียศเป็น สิริยาสะธูจอถิ่ง ครองเมืองทะเบ (ปัจจุบันอยู่ในตำบลสาเกียง มัณฑะเลย์)
เชอวาลิเอร์ เดอ มิลาร์ด เป็นที่โปรดปรานและไว้วางใจของพระเจ้ามังระมาก โดยพระองค์ทรงให้เขามานอนในห้องบรรทมด้วยหลายครั้ง เพื่อถวายการอารักขาให้พระองค์
นอกจากนี้ เขายังมีบทบาทในการทำให้พม่าฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการค้ากับฝรั่งเศส โดยจัดการให้ฝรั่งเศสได้ตั้งสถานีการค้าและท่าเรือที่เมืองร่างกุ้ง(ย่างกุ้ง) ซึ่งทำให้พม่าได้ประโยชน์ จากการค้าขายกับต่างประเทศ ทั้งยังสามารถหาซื้อปืนใหญ่และปืนไฟมาใช้ทำสงครามกับไทยและจีนด้วย
3
ผลงานอีกชิ้นของ เดอ มิลลาร์ด คือ การสร้างโรงเรียนและโบสถ์คริสต์ ซึ่งนอกจากเป็นการเผยแผ่ศาสนาแล้ว ยังช่วยส่งเสริมการศึกษาแบบตะวันตกในพม่าอีกด้วย
ปิแอร์ เดอ มิลลาร์ดล้มป่วยและเสียชีวิตในปี ค.ศ.1778 ขณะมีอายุได้ 42 ปี ศพของเขาถูกฝังไว้ใกล้กับหมู่บ้านงะยาพญา ในตำบลสาเกียง เมืองมัณฑะเลย์ ป้ายหลุมศพของเขาซึ่งจารึกด้วยอักษรละตินและอักษรพม่านั้น ภายหลังได้ถูกย้ายไปเก็บรักษาไว้ที่กรมธรณีวิทยาของพม่า ในปี ค.ศ.1924 ข้อความในป้ายหลุมศพจารึกไว้ว่า
"เขาผู้นี้ ได้สู้รบเพื่อพระเจ้าแผ่นดินพม่าในศึก หงสาวดี อยุธยา และมณีปุระ ในฐานะกัปตันแห่งเฟริงกีส(กัปตันแห่งฝรั่งเศส) ด้วยนาม สิริ ยาสะธู จอถิ่ง เมี้ยวสาแห่งทะเบ"
19 บันทึก
56
4
20
19
56
4
20
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย