28 มี.ค. 2020 เวลา 00:09 • ความคิดเห็น
ความรู้สึกที่ได้รับหลังจากที่อ่าน Homo Deus จบลง
ศาสตราจารย์ ยูวัล โนอาห์ แฮรารี ยังคงไว้ซึ่งลีลาการเขียนที่ชวนให้ผู้อ่าน ติดตาม คล้อยตาม ไว้เช่นเดิมเหมือนคราวที่อ่านเซเปียนส์อย่างไม่มีผิด กล่าวแบบง่ายๆคืออ่านแล้วฟิน~
ประเด็นสำคัญๆในหนังสือเล่มนี้ มีหลากหลายมากยิ่งนัก ซึ่งในแต่ละเรื่องมักจะทำให้ผู้อ่านรู้สึกทึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอแนวคิดที่ว่า...
- การสิ้นอายุขัยของมนุษย์แบบตายตามธรรมชาตินั้นเป็นเพียงแค่ความผิดพลาดทางเทคนิค
- มนุษย์ในยุคสมัยนี้ไม่ได้เสียชีวิตเพราะอดยาก แต่เนื่องด้วยสาเหตุจากการกินมากจนเกินไป (สืบเนื่องจากสมัยนี้อาหารที่อุดมไปด้วยน้ำตาลและไขมันนั้นมีมาก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วคนทุกเพศทุกวันทุกชนชั้นก็สามารถเข้าถถึงได้ง่าย)
- จำนวนของผู้เสียชีวิตที่เกิดจากการฆ่าตัวตายนั้นมีมากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตที่ได้รับผลกระทบจากสงครามเสียอีก (ซึ่งนับว่าน้อยลงมากแล้วในยุคสมัยปัจจุบัน)
พูดถึงประเด็นที่ชื่นชอบซึ่งเป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นก็ได้หรือมิอาจเกิดขึ้นก็ได้ คือประเด็นเรื่องการถูกแทนที่ของแนวคิดมนุษยนิยม (humanism) โดยแนวคิดแบบข้อมูลนิยม (dataism)
ผู้เชื่อในแนวคิดแบบมนุษยนิยมต่างคิดเสมอว่าปัจเจกชนล้วนรู้จักตัวเองดีที่สุด จะทำอะไร จะเลือกหนทางใด ก็ขอให้จงสดับรับฟังเสียงที่เกิดขึ้นจากภายใน แล้วลงมือปฏิบัติตามมันซะ เนื่องด้วยแนวคิดนี้ต่างเชื่อว่า ทางเลือกที่ดีที่สุดย่อมมาจากเสียงภายในตัวเราเอง แต่คุณคิดเช่นนั้นจริงหรือ?
ในกาลสมัยปัจจุบันการเชื่อในคติแบบมนุษยนิยมอาจไม่ถูกต้องเสมอไป ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น? ลองนึกถึงตอนที่เราเลื่อน feed ใน facebook ดูสิครับ อัลกอริทึมต่างเสริ์ฟข้อมูลต่างๆนานามากมายที่ล้วนแล้วแต่เราถูกใจเกือบไปเสียทุกอย่าง นั้นก็เป็นเพราะมันได้เก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเราไปอาจจะด้วยการนับยอดไลค์ ยอดแชร์สิ่งที่เราชอบแชร์ ซึ่ง ณ ตรงนี้หลายๆท่านอาจจะยังไม่รู้ตัว
หรือแม้กระทั่งพวกนาฬิกาดังหลากหลายยี่ห้อที่เดี่ยวนี้ก็ล้วนมีความสามารถที่จะวัดความดันโลหิต วัดอัตราการเต้นของหัวใจ นับจำนวนก้าวที่เราเดินในแต่ละวันได้ ทุกอย่างที่กล่าวมาก็ล้วนเป็นข้อมูลที่ถูกเก็บไปโดยมัน ซึ่งมันสามารถที่จะประมวลผลข้อมูลที่เก็บไปแล้วมอบทางเลือกต่างๆนานาให้แก่เรา ไม่ว่าจะเป็นแนวทางปฏิบัติในการดูแลตัวเอง วิธีการออกกำลังกายที่เหมาะสม ตลอดจนถึงเมนูอาหารการกินที่คู่ควรเหมาะกับเรา ที่กล่าวไปคือตัวอย่างที่เห็นภาพได้ชัดเจนในแนวคิดแบบข้อมูลนิยม
ทีนี้เราคงต้องย้อนกลับมาถามตัวเองใหม่แล้วว่า “ใครกันแน่ที่รู้จักตัวเราเองดีกว่ากัน?” คุณจะเลือกเชื่อเสียงที่มาจากข้างในหรือความสามารถในการประมวลผลของปัญญาประดิษฐ์ที่ฉลาดล้ำ
ประเด็นการมาถึงของแนวคิดแบบข้อมูลนิยมทำให้แนวคิดแบบมนุษยนิยมต้องถูกสั่นคลอน
ส่วนแนวคิดในหนังสือเล่มนี้ที่ทำให้ผมถึงกับอึ้งชะงักงันก็คือ แนวคิดที่ผู้เขียนได้เสนอไว้ว่า...
ความรู้สึกนึกคิดต่างๆที่มนุษย์ต่างภูมิใจนักภูมิใจหนาจนทำให้เรารู้สึกว่าสูงทรงกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆแท้จริงแล้วก็เป็นเพียงแค่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการชีวเคมีในสมอง หากมองในหน่วยเชิงระบบหนึ่งแล้วเราก็เป็นเพียงแค่ชิปชิ้นเล็กๆที่ทำให้ระบบสามารถทำงานต่อไปได้
มนุษย์ก็เป็นเพียงแค่อัลกอริทึมที่มีเลือดเนื้อเชื้อไข ซึ่งมีทั้งสติสัมปะชัญญะและปัญญาที่หลักแหลม ต่างกับปัญญาประดิษฐ์แค่เพียงตรงที่มันไร้ซึ่งสติสัมปะชัญญะ แต่กลับมีปัญญาที่มากล้นซึ่งมันได้นำมาใช้ในการประมวลผลข้อมูลต่างๆนานาเพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์อันเป็นสิ่งที่นำมาใช้ในการตอบสนองความพึงใจของมนุษย์ มากกว่าที่มนุษย์จะสามารถสร้างความพึงพอใจให้แก่ตนเองเสียอีก
หากไม่ได้พิจารณาถึงความมีสติสัมปะชัญญะของมนุษย์ดังที่ได้กล่าวมา แต่เน้นพิจารณาไปที่ความสามารถในการสร้างความพึงพอใจและความสุขให้แก่ชีวิต “คุณจะเลือกใครให้เป็นผู้บันดาลความสุขแก่ชีวิต?”
...มนุษย์หรือปัญญาประดิษฐ์...
Homo Deus: A brief history of tomorrow
โฆษณา