30 มี.ค. 2020 เวลา 03:29
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) ควรจัดการอย่างไรเมื่อออกจากงานก่อนเกษียณ
เมื่อเราออกจากบริษัท ไม่ว่าด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม จากที่ได้เห็นมาคือบริษัทส่วนใหญ่จะจัดการปิดสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของเรา พร้อมโอนเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของเราเข้าบัญชีเงินเดือนให้เราเป็นที่เรียบร้อย
บางคนอาจไม่ทราบว่าการนำเงินออกจากกองทุนก่อนกำหนดแบบนี้คือการทำให้เราอาจมีภาษีที่ต้องชำระเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น มาดูกันครับว่าเราจะมีภาษีที่ต้องชำระเพิ่มขึ้นหรือเปล่า
Credit : Pexels.com
เงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ
- เงินสะสมที่สมาชิกจ่ายเข้ากองทุน
- เงินสมทบที่นายจ้างจ่ายสมทบให้พนักงาน
- ผลประโยชน์เงินสะสม และ
- ผลประโยชน์เงินสมทบ
เงินสะสม คือเงินที่เป็นสิทธิของสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมถึงผลประโยชน์ของเงินสะสม ในขณะที่เงินสมทบ และ ผลประโยชน์ของเงินสมทบ เราจะได้รับตามเงื่อนไขของกองทุน เช่น เมื่อมีอายุงานถึงเกณฑ์ที่กำหนด เป็นต้น
เมื่อออกจากงานมีวิธีในการจัดการกับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 2 แนวทางหลัก คือ
1) ขอรับเงินกองทุนทั้งก้อน และถือว่าเป็นการลาออกจากระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (นายจ้างส่วนมากจะดำเนินการในแนวทางนี้ให้เรา หากไม่มีการแจ้งแนวทางอื่นที่ต้องการ)
2) ขอคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก่อน โดยยังไม่ประสงค์ที่จะรับเงินก้อนนี้
1) ขอรับเงินกองทุนทั้งก้อน
เมื่อขอรับเงินกองทุนทั้งก้อน เงินกองทุนส่วนที่เป็นเงินสะสมของเราไม่มีภาระภาษีใดๆ แต่สำหรับ เงินสมทบ ผลประโยชน์ของเงินสะสม ผลประโยชน์ของเงินสมทบ จะมีเงื่อนไขการได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ 2 ข้อประกอบกัน คือ
- ต้องเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่น้อยกว่า 5 ปีเต็ม และ
- ต้องมีอายุ 55 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
หากเป็นตามเงื่อนไขทั้งสองข้อ เงินกองทุนทั้ง 3 ส่วนนี้ก็ไม่ต้องนำไปเสียภาษีเงินได้
จะเห็นได้ว่า เงื่อนไขการยกเว้นภาษีของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คล้ายกับเงื่อนไขของ RMF เพราะทั้งสองกองทุนมีวัตถุประสงค์ให้เป็นการออมเพื่อการเกษียณอายุนั่นเอง ดังนั้นสิทธิลดหย่อนสูงสุด 500,000 บาท จึงต้องนำทั้งสองกองทุนไปคำนวณรวมกัน
หากลาออกจากกองทุนโดยที่ยังไม่เข้าเงื่อนไขการได้รับการยกเว้นภาษี เงินที่ได้รับจากกองทุนในส่วนของเงินสมทบ ผลประโยชน์ของเงินสะสมและเงินสมทบ (เงินในส่วนของ B+C+D ในภาพด้านล่าง) ทั้งสามส่วนนี้จะต้องถูกหักภาษี สำหรับเงินสะสม (A ในภาพ) ไม่เสียภาษี
ในการคำนวณภาษีเงินกองทุนทั้งสามส่วน (B+C+D) ที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขได้รับยกเว้น มีวิธีการคำนวณและเสียภาษีตามอายุการเป็นสมาชิกกองทุนฯ คือ
- กรณีลาออกจากกองทุนโดยมีอายุสมาชิกตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป (ไม่ใช่อายุงาน) แต่ออกก่อนอายุ 55 ปีบริบูรณ์ เงินกองทุนทั้งสามส่วนสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 2 ลักษณะ คือ
A. หักค่าใช้จ่าย 7,000 x จำนวนปีที่ทำงาน (เศษของปีถ้าจำนวนวันมากกว่า 183 วัน ให้ปัดเป็น 1 ปี ถ้าไม่เกินให้ตัดออก)
B. ส่วนที่เหลือหักค่าใช้จ่ายได้ครึ่งหนึ่ง
และสามารถนำไปแยกยื่นภาษีโดยไม่ต้องนำไปรวมกับรายได้อื่นเพื่อคำนวณภาษี (เงินได้ส่วน 150,000 บาทแรกจะไม่ได้รับการยกเว้นภาษี) การแยกยื่นหากมีเงินชดเชยหรือเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวต้องนำไปยื่นรวมกันนะครับ
- กรณีมีอายุสมาชิกกองทุนน้อยกว่า 5 ปี กรณีนี้ไม่ต้องดูอายุ เพราะจะต้องนำเงินทั้ง 3 ส่วนนั้นไปรวมกับรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตอนสิ้นปี ซึ่งอาจทำให้ต้องเสียภาษีขั้นสูงสุดของเงินได้
ตัวอย่างในภาพข้างล่างนี้ ทดลองทำจากจำนวนเงินในกองทุนตามภาพข้างบน โดยระยะเวลาทำงานคือ 15 ปี การยื่นรวม และ แยกยื่น มีผลต่อจำนวนภาษีที่เราต้องจ่ายในปีนั้นพอสมควร ขอใช้ตัวอย่างนี้ให้เห็นผลของภาษีในกรณีอายุงานน้อยกว่า 5 ปีไปด้วยครับ
กรณีตัวอย่าง
- หากเป็นการออกจากกองทุนตามเงื่อนไขการได้สิทธิลดหย่อน (อายุตั้งแต่ 55 ปี และเป็นสมาชิก 5 ปีขึ้นไป ภาษีที่ชำระในปีคือ 2,050 บาท
- หากไม่เป็นตามเงื่อนไข และ ไม่แยกยื่นภาษีจะมีภาษีรวม 264,000 บาท
- หากแยกยื่นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะมีภาษีเท่ากับ 59,550 บาท ต่ำกว่าการรวมยื่น ถึง 204,450 บาท แต่ก็ยังมีภาษีมากกว่ากรณีเป็นตามเงื่อนไข 57,500 บาท
ใครที่กำลังอยู่ระหว่างทางเลือกเหล่านี้ คงต้องคำนวณภาษีและเลือกแนวทางการเสียภาษีให้ดีครับ และหากไม่อยากเสียภาษีเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงิน โดยต้องการออมเป็นเงินเพื่อเกษียณต่อไป ก็คือเรายังไม่ประสงค์ที่จะรับเงินก้อนนี้ ก็คงต้องไปใช้ทางเลือกที่ 2 ในการ ”คงเงิน” ไว้ในระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
2) ขอคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
หากต้องการ"คงเงิน" เราต้องรีบลงมือก่อนที่บริษัทจะดำเนินการให้เราออกจากกองทุนครับ
การคงเงินเป็นการออมอย่างต่อเนื่องโดยไม่ขาดช่วงแม้มีการเปลี่ยนงาน และสามารถนับอายุการใช้สิทธิยกเว้นภาษีได้ต่อเนื่อง และในสภาวะที่การลงทุนไม่มีผลตอบแทนที่ดีในระยะสั้นก็จะไม่เสียประโยชน์จากการขายหน่วยลงทุนในราคาที่ต่ำด้วย
ปกติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะกำหนดระยะเวลาทึ่ให้เราคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยอาจมีค่าใช้จ่า่ยในการคงเงินบ้าง สามารถดูได้จากข้อบังคับกองทุนครับ เช่น ข้อบังคับกำหนดเวลาไว้ไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับแต่วันที่ออกจากงาน (ปัจจุบันน่าจะคงไว้ได้ประมาณ 1 ปี) และมีค่าธรรมเนียมในการคงเงินอยู่ที่ 500 บาทต่อปี เป็นต้น การคงเงิน มีประโยชน์ ต่อไปนี้
1
- อายุสมาชิกต่อเนื่องเมื่อมีการย้ายงาน
เมื่อได้งานใหม่กับนายจ้างที่มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภายในก่อนสิ้นระยะเวลาการคงเงิน สามารถโอนเงินจากกองทุนเดิมไปเข้ากองทุนใหม่ได้โดยไม่ต้องรับเงินออกจากกองทุน ช่วยให้สมาชิกไม่มีภาระภาษี
- คงเงินไว้เพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษี
การคงเงินต่อเพื่อรออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และเป็นสมาชิกกองทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี ตามเงื่อนไขของทางกรมสรรพากร จะได้รับการยกเว้นภาษีสำหรับเงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
นอกจากนี้ หากในปีหน้าเราคาดว่าจะไม่มีรายได้ที่ต้องเสียภาษีมากนัก การคงเงินเพื่อไปเสียภาษีในปีถัดไป ถือเป็นกลยุทธในการบริหารภาษีด้วย
- เพื่อรอตลาดปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น
การคงเงินเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถให้เงินในกองทุนยังคงลงทุนต่อเพื่อให้ตลาดมีการปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นและค่อยนำเงินออกจากกองทุนต่อไป
อีกทางเลือกในการคงเงินของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หากเราไม่ได้ทำงานต่อไป หรือนายจ้างใหม่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เราสามารถย้ายเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไปยังกองทุน RMF ที่ให้สิทธิทางภาษีสำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ย้ายมา โดยไม่เป็นการนับรวมกับ RMF ปกติ และคุณยังสามารถได้สิทธิทางภาษีตามหลักเกณฑ์ต่อไป ที่สำคัญยังเป็นการดำเนินการตามแผนการออมเพี่อเกษียณอายุได้ต่อไปด้วย และข้อดีของ RMF คือมีนโยบายการลงทุนที่สอดคล้องกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เราจึงสามารถเลือกย้ายไปยังกอง RMF ที่มีนโยบายไม่แตกต่างจากเดิมนัก
Credit : KAsset
บทความนี้ตั้งใจเขียนสำหรับผู้ที่อาจประสบปัญหาจากวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อให้รู้ว่าเรามีสิทธิอะไรบ้าง จะได้ไม่ต้องเสียภาษีโดยไม่จำเป็น
แต่อย่างไรก็ตาม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพถือเป็นแหล่งเงินสำรองในยามนี้ได้เช่นเดียวกัน เพียงแต่อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก จึงต้องพิจารณาทางเลือกต่างๆ ให้ดีๆ
สำหรับใครที่ไม่ต้องเผชิญกับทางเลือกเหล่านี้ และชาว BD ที่ทราบเรื่องนี้อยู่แล้วและมีความเห็นเพิ่มเติมสามารถแชร์เป็นความรู้ได้ครับ
ขอบคุณที่อ่านมาถึงตอนท้ายของบทความ และขอเป็นกำลังใจให้กับทุกๆ คนครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา