31 มี.ค. 2020 เวลา 04:45 • ข่าว
Oil Insight Update : เจาะลึกประเด็นสำคัญของสถานการณ์น้ำมันล่าสุด ผู้เชี่ยวชาญคาดเศรษฐกิจอาจชะลอตัวรุนแรงกว่าวิกฤตเมื่อปี 2551 ถึง 6 เท่า!
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (30 มี.ค. 2563) ราคาน้ำมันดิบสหรัฐ (WTI) และน้ำมันดิบ Brent ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 18 ปี เนื่องจาก Demand ยังคงลดลง รวมถึงซาอุดิอาระเบียและ OPEC+ เตรียมเพิ่มกำลังการผลิต
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการเพิ่ม Supply น้ำมันให้แก่โลก ซึ่งแน่นอนว่ามันกำลังสวนทางกับ Demand อย่างรุนแรง เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกยังจำเป็นต้องปิดกั้นการเดินทาง ทั้งภายในและนอกประเทศ เสริมกับความวิตกกังวลของผู้คนที่มีต่อ Coronavirus
ราคาน้ำมันดิบ WTI ลดลง 1.42 $/บาร์เรล ปิดตลาดที่ราคา 20.09 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2545 โดยจุดต่ำสุดในระหว่างวันคือ 19.27 $/บาร์เรล ที่เป็นการลดลงกว่า 9% จากราคาเปิดตลาด
ราคาน้ำมันดิบ Brent ลดลง 8.7% ปิดที่ระดับ 22.76 $/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2545 โดยลดลงสูงสุดในระหว่างวันประมาณ 13% ที่ระดับ 21.65 $/บาร์เรล
ความเคลื่อนไหวล่าสุดที่มีรายงานออกมาก็คือ OPEC+ เตรียม "เพิ่มกำลังการผลิตอย่างเต็มที่" โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 เป็นต้นไป สมาชิกของกลุ่ม OPEC+ จะสามารถผลิตได้มันได้มากเท่าที่ต้องการอย่างไม่มีข้อบังคับใด ๆ ! (นี่แหละครับที่เขาเรียกว่า สาดน้ำมันลงกองไฟ)
และแน่นอนว่ายักษ์ใหญ่อย่างซาอุฯ ยังคงยืนกรานอย่างแน่วแน่ที่จะเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นไปอีกเท่าที่จะทำได้ ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญประมาณการณ์ว่า Demand น้ำมันทั่วโลกจะลดลงถึง 12 ล้านบาร์เรล/วัน หรือ 12% ในไตรมาสนี้ ซึ่งเป็นการลดลงอย่างรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เคยมีการบันทึกสถิติไว้บนโลก (อ้างอิงจากสถิติของ Bank of America)
อัพเดทที่น่าสนใจของผลกระทบและการคาดการณ์ในปัจจุบัน
1. ราคาน้ำมันดิบ WTI ลดลงอย่างรุนแรงตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา โดยปัจจุบันลดลงประมาณ 68% จากระดับสูงสุด 63.27 $/บาร์เรล ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมกราคมของปี 2563 เช่นเดียวกับน้ำมันดิบ Brent ที่ลดลงด้วยอัตราใกล้ ๆ กัน
2. การคาดการณ์โดย John Freeman จากบริษัท Raymond James Financial Inc. กล่าวว่า "ผลกระทบที่รุนแรงที่สุดจากสงครามน้ำมันและ Coronavirus อาจทำให้ราคาน้ำมันดิบทั่วโลกร่วงลงไปถึงระดับ 10 $/บาร์เรล"
3. Francisco Blanch หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญระดับอาวุโสจาก Bank of America กล่าวว่า "ในแต่ละไตรมาส เราคาดว่าจะเห็นการลดลงของ Demand น้ำมันทั่วโลกที่รุนแรงที่สุดตั้งแต่เคยมีการบันทึกสถิติไว้”
4. IHS Markit ประมาณการว่า Demand น้ำมันเบนซินของสหรัฐอาจลดลงมากถึง 4.1 ล้านบาร์เรล/วัน หรือมากกว่า 50% ในช่วงที่ยังมีการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งรุนแรงกว่ามาก เมื่อเทียบกับการลดลงของ Demand ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ที่เคยเกิดขึ้นบนโลกก่อนหน้านี้ และอีกประการก็คือ น้ำมันเบนซินของสหรัฐฯ ถือเป็นปัจจัยสำคัญอันดับแรก ที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันทั่วโลกเกิดความผันผวน
5. Daniel Yergin รองประธานของ IHS Markit ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำมันกล่าวว่า "อุปสงค์น้ำมันอาจลดลงมากถึง 20 ล้านบาร์เรล/วัน ในเดือนเมษายน 2563...รถยนต์ไม่ได้อยู่บนท้องถนน เครื่องบินที่ไม่อยู่ในอากาศ และโรงงานที่ไม่มีคนไปทำงาน" นอกจากนี้เขายังกล่าวอีกว่า วิกฤตครั้งนี้จะกลายเป็นประวัติการณ์ และจะรุนแรงกว่าการชะลอตัวครั้ง(ที่เคย)ใหญ่ที่สุดในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินเมือปี 2551 ถึง 6 เท่า !!!
6. Bjornar Tonhaugen หัวหน้าฝ่ายตลาดน้ำมันของบริษัท Rystad Energy กล่าวว่า "ตอนนี้ Supply Chain ของตลาดน้ำมันถูกทำลายเนื่องจาก Demand ที่ลดลงอย่างไม่น่าเชื่อ โดยผู้เชี่ยวชาญของบริษัทคาดการณ์ว่า Demand น้ำมันอาจลดลงกว่า 16 ล้านบาร์เรล/วัน ในช่วงเดือนเมษายน 2563
7. Jeffrey Currie หัวหน้าฝ่ายโภคภัณฑ์ของ Goldman Sachs กล่าวว่านี่คือ "การหยุดชะงักของเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดในช่วงชีวิตของพวกเรา" และเขายังเตือนอีกว่า วิกฤตครั้งนี้จะส่งผลลบอย่าง "มหาศาล" ต่อราคาน้ำมัน
ตอนนี้คำถามสำคัญของ Jeffrey ก็คือ สหรัฐฯ และพันธมิตรอย่าง OPEC+ จะสามารถพยุงตลาดไว้ได้หรือไม่? ในขณะที่การลดลงของ Demand นั้นรุนแรงเกินกว่าที่ลำพังพวกเขาจะรับมือไหว (แต่ล่าสุด OPEC+ ประกาศเพิ่มกำลังการผลิตนี่นา ??? ยังไงต่อดีละทีนี้)
Jeffrey กล่าวเสริมอีกว่า "ถึงแม้ตอนนี้ทั่วโลกจะลดกำลังการผลิตลง(ซึ่งค่อนข้างเป็นไปได้ยาก) แต่นั่นก็สายเกินไปแล้วที่จะหยุดการเกินดุลของ Supply น้ำมันทั่วโลก มีเพียงจุดสิ้นสุดของวิกฤต Coronavrius เท่านั้นที่จะสามารถแก้ไขปัญหาในปัจจุบันได้"
สรุปแล้วก็คือ...ผู้เชี่ยวชาญจากหลายประเทศทั่วโลกยังคงคาดการณ์ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายกว่านี้อีกมาก แม้ว่าในปัจจุบันราคาน้ำมันดิบทั่วโลกจะลดลงกว่า 60% แล้วก็ตาม
สหรัฐฯ ได้พยายามแทรกแซงเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง
อย่างที่ World Maker ย้ำอยู่เสมอว่ามันไม่ใช่สงครามระหว่างรัสเซียและซาอุฯ และผู้ที่เดือดร้อนที่สุดก็คือสหรัฐฯ โดยเฉพาะอุตสาหกรรม Shale Oil (ตรงนี้ไม่ขอลงรายละเอียดแล้วนะครับ ย้อนอ่านได้ที่ https://www.blockdit.com/articles/5e65f6063dda560c96671e3a)
หลักฐานในปัจจุบันที่แสดงให้เห็นก็คือ ในวันจันทร์ที่ผ่านมา ทรัมป์ได้ขอเจรจากับปูติน ซึ่งทั้งสองตกลงที่จะจัดการเจรจาเรื่องตลาดน้ำมันในระดับรัฐมนตรี ตามรายงานจาก Reuters
สิ่งหนึ่งที่น่าสังเกตคือทรัมป์กล่าวว่าตอนนี้ทั้งรัสเซียและซาอุฯ กำลังทำสงครามกันอย่าง "บ้าคลั่ง"
นอกจากนี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วารัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ Mike Pompeo ได้พยายามขอเจรจากับเจ้าชาย Mohammed bin Salman ของซาอุฯ แต่ผลปรากฎว่าไม่มีความคืบหน้าใด ๆ เกิดขึ้นยิ่งไปกว่านั้นซาอุฯ ยังยืนกรานจะเพิ่มกำลังผลิตขึ้นไปอีก ตามที่กล่าวไปแล้วตอนต้น
ข้อสังเกต : ตรงนี้ผู้อ่านควรตั้งข้อสงสัยในความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ และซาอุฯ ว่ายังเป็นพันธมิตรกันเหมือนเดิมหรือไม่ โดยช่วงที่ Wolrd Maker อยากให้ Focus ก็คือเมื่อไม่ถึง 2 เดือนที่ผ่านมานี้ หลังจากที่มีข่าวออกมาว่าซาอุฯ ได้ทำการจับตัวเจ้าชาย 3 พระองค์ เนื่องจากพยายามทำรัฐประหาร
สหรัฐฯ กำลังจะสูญเสียตำแหน่งผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก
ข่าวจาก CNBC ล่าสุดรายงานว่าสหรัฐฯ กำลังจะสูญเสียตำแหน่งผู้ผลิตน้ำมันอันดับ 1 ของโลก และสหรัฐฯ ไม่มีทางเลือกมากนักนอกจากการเจรจาต่อรองกับประเทศอื่น ๆ
ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา อุตสาหกรรม Shale Oil ของสหรัฐฯ ถูกลดมูลค่าลงอย่างมาก ทั้งการตัดงบประมาณ ระงับการลงทุน และการปลดพนักงานจำนวนมาก รวมถึงการปิดแท่นขุดเจาะน้ำมัน 59 แท่น โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในรัฐ Texas ซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรม Shale Oil ที่สำคัญที่สุดในสหรัฐฯ
* เกล็ดความรู้ : เหตุผลที่ Shale Oil มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมน้ำมันในสหรัฐฯ อย่างมากก็เพราะเจ้าเทคโนโลยีตัวนี้แหละที่ทำให้สหรัฐฯ ก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ในการผลิตน้ำมันดิบทั่วโลก แต่ด้วยความที่มันเป็นเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานนัก ทำให้ศักยภาพของมันยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ และต้องใช้ต้นทุนในการผลิตสูง ทำให้ราคาคุ้มทุนสำหรับอุตสาหกรรม Shale Oil ของสหรัฐอยู่ในช่วงระหว่าง 39-48 $/บาร์เรล อ้างอิงจากข้อมูลที่รวบรวมโดย Reuters
ย้อนไปก่อนหน้านั้นอีกนิด ก็คือในช่วงปลายปีที่แล้ว สหรัฐฯ ได้ทำการคว่ำบาตรโครงการท่อก๊าช Nord Stream 2 ระหว่างรัสเซียและเยอรมัน ในช่วงเพียง "ไม่กี่สัปดาห์" ก่อนที่โครงการจะแล้วเสร็จ ทำให้รัสเซียและเยอรมันไม่พอใจอย่างมาก และต่อต้านการกระทำดังกล่าว โดยยืนยันว่าจะเดินหน้าโครงการต่อไปให้แล้วเสร็จ
Heiko Maas รัฐมนตรีต่างประเทศของเยอรมันกล่าวว่า เรื่องจะซื้อก๊าซจากรัสเซียหรือไม่นั้นเป็นเรื่องของ EU ประเทศอื่นไม่มีสิทธิแทรกแซงใด ๆ ทั้งนั้น และไม่กี่วันต่อมารัฐบาลเยอรมันออกมาแถลงการณ์ว่าจะไม่ยอมจำนนต่ออำนาจของสหรัฐฯ และย้ำว่านี่เป็นเรื่องของอธิปไตย เยอรมันจะไม่ละทิ้งนโยบายซื้อก๊าซจากรัสเซียเด็ดขาด
เรื่องนี้เกี่ยวกับการเจรจาครั้งล่าสุดที่จะเกิดขึ้นระหว่างทรัมป์และปูติน โดยหลังจากการพูดคุยกันเบื้องต้นในวันจันทร์ที่ผ่านมา ทรัมได้กล่าวประโยคที่ไม่คาดฝันออกมาว่า "ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาปูตินได้ร้องขอให้สหรัฐฯ ยกเลิกการคว่ำบาตร และเรื่องนี้อาจเป็นไปได้ หลังจากเราได้คุยกันครั้งนี้" (สุด ๆ ไปเลยครับประธานาธิปดีคนนี้)
สิ่งที่น่าจับตามองต่อไปคือท่าทีในระยะกลางและยาวของเหล่ามหาอำนาจทั้งหลาย โดยเฉพาะรัสเซีย และซาอุฯ รวมถึงตัวแปรสำคัญที่ 3 อย่างกลุ่ม OPEC+ ซึ่งหากต่อไปมีข่าวออกมายืนยันว่า OPEC+ ได้เพิ่มกำลังการผลิตขึ้นไปอีกละก็...มดตัวน้อย ๆ อย่างเราอาจเจอความรุนแรงแบบ 2 3 4 5 เด้งเลยทีเดียว
วิเคราะห์โดย World Maker
หากจะมองให้ลึกลงไปอีกขั้น เราจะเห็นได้ว่าปัญหาที่แท้จริงในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องของ Coronavirus แต่ตอนนี้มันลุกลามไปถึงปัญหาด้านความมั่นคงทางการเมืองในระดับนานาประเทศแล้ว เมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย ในอดีตมันหมายความว่าเรากำลัง "เสี่ยง" ที่จะตกอยู่ในสงคราม "เต็มรูปแบบ"
ซึ่งหากจะวิเคราะห์โดยสภาพในปัจจุบันแล้ว เราต้องยอมรับว่าความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามอย่างเต็มรูปแบบมีไม่เท่าเมื่อก่อน แต่อนึ่งที่เป็นความจริงเช่นกันก็คือ ตลอดระยะเวลาไม่นานที่ผ่านมานี้ ชนวนสำคัญของสงครามเต็มรูปแบบได้อุบัติขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้รวมถึง การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ สงครามการค้า การสังหารผู้นำทหารระดับสูง วิกฤตด้านสุขภาพ และสงครามน้ำมัน
ดังนั้นหากจะบอกว่า "เราไม่มีความเสี่ยงต่อครามเต็มรูปแบบเลย" ก็คงไม่ตรงกับความเป็นจริงสักเท่าไรนัก แต่หากจะกล่าวให้ถูกต้องมากขึ้นนั้น ควรจะเป็น "เรามีความเสี่ยงในระดับเล็กน้อยถึงปานกลางต่อการเกิดสงครามเต็มรูปแบบ"
สังเกตได้จากความเคลื่อนไหวทางการทหารของหลาย ๆ ประเทศที่ดูเหมือนจะยกระดับความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในสหรัฐฯ ยุโรป ตะวันออกกลาง เกาหลีเหนือ และรัสเซีย
แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ "คนส่วนมาก" ไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่เราก็ต้องยอมรับว่าสิ่งเหล่ามักจะเกิดขึ้นจาก "คนส่วนน้อยที่มีอำนาจมาก"
สิ่งที่ World Maker เห็นว่าพอจะเป็นไปได้ในการประนีประนอมและแก้ไขปัญหาเหล่านี้ก็คือ "การถ่วงดุลอำนาจของโลกเสียใหม่" ซึ่งหมายถึงการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงระบบอำนาจต่าง ๆ ร่วมกันของเหล่าผู้นำทั่วโลก เพื่อให้เกิด "สมดุลของอำนาจ" ประเทศใดได้ประโยชน์มากไป ก็ต้องลดอำนาจตัวเองลง ส่วนประเทศใดเสียประโยชน์มากไป ก็ควรมอบอำนาจให้ประเทศเหล่านั้นมากขึ้น
โดยอำนาจที่ว่านี้ รวมทั้งเรื่องการค้า การเจรจาต่อรอง กฎหมาย สิทธิและเสรีภาพ ศักยภาพทางการทหาร ความปลอดภัยด้านสุขภาพ และเรื่องอื่น ๆ ที่จำเป็นทั้งหมด ซึ่งหากผู้นำของเหล่ามหาอำนาจทั้งหลายมีจุดยืนร่วมกันในเรื่องนี้ World Maker มั่นใจว่าการแก้ปัญหาต่าง ๆ จะสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
การกดไลค์ กดแชร์ กดติดตาม และการติชมในเชิงสร้างสรรค์ของคุณ เป็นกำลังใจให้เราและเหล่าอาชีพนักเขียนทุกคนในการพัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป ขอเชิญทุกท่านร่วมสร้างสังคมการเรียนรู้ที่ดีด้วยกันกับเรา
World Maker
สามารถติดตาม World Maker ผ่านทาง Facebook ได้แล้ววันนี้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา