Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
หมอเด็กนอกคอก
•
ติดตาม
31 มี.ค. 2020 เวลา 04:24 • สุขภาพ
ทฤษฎี BCG: หรือว่าวัคซีนเจ้าคุณปู่ จะกู้วิกฤตโคโรน่า?
***ข้อมูลต่อไปนี้ เป็นสมมติฐาน ยังอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย ไม่สามารถนำไปใช้เพื่ออ้างอิงในการดูแลรักษาคนไข้ได้นะคะ
ตั้งชื่อเรื่องหวือหวามาก แต่อยากเล่า + วิเคราะห์ ข่าวน่าสนใจที่เพิ่งอ่านมาค่ะ เป็นบทความจากวารสาร Science วันที่ 23 มีนาคม 2563 โดย Job de Vrieze
ขณะนี้ มีทีมวิจัยจาก 4 ประเทศ กำลังเริ่มศึกษาการให้วัคซีน BCG เพื่อหวังผลกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย เพื่อลดความรุนแรงและอัตราเสียชีวิตจาก COVID-19
โดยประเทศแรกที่เริ่มคือ เนเธอร์แลนด์ จะศึกษาใน บุคลากรทางการแพทย์ 1,000 คน ใน 8 โรงพยาบาล โดยให้ BCG เทียบกับ placebo (ยาหลอก)
นอกจากนี้ ก็ที่ประเทศอื่นที่เริ่มศึกษาประเด็นนี้ โดยกลุ่มตัวอย่างใหญ่ที่สุดคือ ออสเตรเลีย (University of Melbourne) จะเริ่มทดสอบฉีด BCG เทียบกับยาหลอกในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 4,000 คนในสัปดาห์หน้า ส่วนที่ประเทศอังกฤษ (University of Exeter) และเยอรมนี (Max Planck Institute for Infection Biology) ก็กำลังจะเริ่มงานวิจัยรูปแบบใกล้เคียงกัน โดยเน้นไปที่กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และผู้สูงอายุ
☆.。.:* แล้ววัคซีนบีซีจี (BCG) คืออะไร? .。.:*☆
BCG ย่อมาจาก Bacillus Calmette-Guérin เป็นวัคซีนเชื้อเป็นที่หวังผลป้องกันวัณโรค ทำมาจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium bovis ที่ทำให้อ่อนกำลังลง
เมื่อฉีดเข้าไป ก็จะกระตุ้นร่างกายให้มีภูมิกับ Mycobacterium tuberculosis (ญาติๆ กัน แต่นิสัยต่างกันราวมุนินทร์มุตตา ตัวนี้เธอร้ายยย ทำให้เป็นวัณโรค)
BCG เป็นวัคซีนที่มีมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1921 ถ้าคิดอายุเป็นคน ก็เป็นคุณปู่วัย 99 ปีแล้ว แต่ก็ยังใช้อยู่จนถึงทุกวันนี้ เรียกว่าเก่า แต่เก๋ามาก
สำหรับเด็กไทย ทุกคนจะได้รับวัคซีนนี้ตั้งแต่แรกเกิด ฉีดที่ไหล่ซ้าย โดย BCG coverage สูงถึง 99% เลยทีเดียว
*ขออนุญาตแก้ไขข้อมูลปีที่เริ่มใช้วัคซีนในไทยนะคะ ตอนแรกใช้ข้อมูลจาก Global world database of BCG แต่ถ้าอิงจากเว็บของกรมควบคุมโรค จะกล่าวไว้ดังนี้ค่ะ
"พ.ศ.2496-2499 กระทรวงสาธารณสุข จัดทำ โครงการชำนัญพิเศษ เพื่อรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG) ในเด็ก ซึ่งเป็นผลสำเร็จ"
แปลว่า คือคนรุ่น 64-67 ปีค่ะ
.・。.・゜✭・.・✫・゜・。.
แล้ววัคซีนคุณปู่มาเกี่ยวอะไรกับเด็กใหม่โคโรน่าด้วย?
2
วัคซีนโดยทั่วไปจะสร้างภูมิต้านทานให้กับโรคนั้นๆ เช่นวัคซีนไข้หวัดใหญ่ก็ป้องกันไข้หวัดใหญ่
แต่ว่า วัคซีน BCG นั้น แม้ว่าจะสร้างเพื่อต่อต้านวัณโรค แต่จากงานวิจัยหลายชิ้นที่ผ่านมาพบว่า อาจจะมีผลต่อภูมิคุ้มกันของร่างกายแบบไม่เจาะจง (non-specific immunity) ต่อโรคอื่นๆ รวมถึงเชื้อไวรัสด้วย เช่น ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากเชื้อไวรัส herpes (เชื้อเริม) และไข้หวัดใหญ่ ในสัตว์ทดลอง และลดปริมาณเชื้อไวรัสในเลือด (viremia) จากเชื้อไข้เหลือง (yellow fever) ในมนุษย์
ซึ่งเรายังไม่ทราบกลไกแน่ชัด แต่อาจเกิดจากการเหนี่ยวนำให้ มีการเหนี่ยวนำภูมิคุ้มกันให้หลั่งสารต่างๆ โดยเฉพาะ cytokine IL1β ซึ่งอาจเกี่ยวกับ epigenetic
และจากการรีวิวงานวิจัย ขององค์การอนามัยโลก ในปี 2014 และ 2016 พบว่า การได้วัคซีน BCG ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตโดยรวมของเด็ก ในโรคที่ไม่ใช่ TB ด้วย
[relative risk 0.70, 95%CI 0.49-1.01 จาก 5 งานวิจัย และ 0.47 (0.32-0.69) ในงานวิจัย 9 ชิ้นที่เสี่ยงต่อ bias] แต่ก็ระบุไว้ว่า ยังต้องมีการศึกษาต่อไป
☆.。.:* ข้อสันนิษฐาน 1 .。.:*☆
นโยบายการฉีด BCG นั้นแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ขึ้นกับอัตราผู้ป่วยวัณโรค หลายประเทศไม่ฉีด BCG ต่อ เพราะช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ในแถบยุโรปมีผู้ป่วยวัณโรคน้อยมาก ทำให้หลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศร่ำรวยทั้งหลาย พากันเลิกนโยบายฉีด BCG ไป
พอมาดูในแผนที่
- สีเขียวมิ้นต์ คือประเทศที่ฉีด BCG ให้ทุกคน
- สีบานเย็น คือประเทศที่เคยฉีด BCG ให้ประชากรทั้งหมด แต่ปัจจุบันเลิกแล้ว
- สีเขียวเข้ม คือประเทศที่ไม่เคยมีนโยบายฉีด BCG (เลือกฉีดเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้อพยพ)
แผนที่การฉีดวัคซีน BCG ทั่วโลก
จะเห็นว่า ประเทศที่ไม่ฉีด BCG (สีบานเย็นและสีเขียวเข้ม) เช่น เป็นโซนที่ COVID-19 กำลังระบาดรุนแรง และยอดผู้เสียชีวิตสูงมาก
ส่วนไทยนั้น นอกจากจะอยู่ในกลุ่มที่ฉีด BCG แล้ว ยังมีอัตราการฉีดครอบคลุมถึง 99% ในรูปต่อมาจะเห็นเป็นสีน้ำเงินเข้มอยู่กลางวงอาเซียน คู่มากับเวียดนาม ซึ่งยอดผู้เสียชีวิตต่ำในแก๊งค์อาเซียนเหมือนกัน
เปอร์เซ็นต์การฉีดวัคซีน BCG ในแต่ละประเทศ
นอกจากนี้ ข้อสังเกตของประเทศอื่น ก็เช่น
- อิหร่าน เริ่ม BCG program ในปี 1984 มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 19.7 รายต่อประชากรหนึ่งล้านคน ในขณะที่ญี่ปุ่น ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 1947 มีอัตราการเสียชีวิต 0.28 ต่อประชากรหนึ่งล้านคน (*อาจมีปัจจัยเรื่อง hygiene ความพร้อมทางการแพทย์)
- ส่วนบราซิล ที่เริ่ม BCG ก่อนหน้านั้นอีก คือที่ปี 1920 ยิ่งมีอัตราเสียชีวิตต่ำถึง 0.0573 ต่อประชากรหนึ่งล้านคน
- ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่าง โปรตุเกส (ฉีด BCG) ที่ถูกโอบรอบด้วยสเปน (ไม่ฉีด BCG) อัตราการเสียชีวิตต่อประชากรหนึ่งล้านคน ต่างกันมากกว่าสิบเท่า (13.61 vs 165.37)
เป็นต้นค่ะ
✧・゚: *✧・゚:* ข้อสันนิษฐาน 2 *:・゚✧*:・゚✧
วัคซีน BCG แต่ละชนิด อาจมีผลต่อภูมิคุ้มกันแตกต่างกัน?
ข้อสันนิษฐานนี้มาจากบทความของญี่ปุ่น ดังนั้นเขาก็เลยโฟกัสไปที่วัคซีนญี่ปุ่นนะคะ
นี่เป็นแผนที่ชนิด BCG ของแต่ละประเทศ จะเห็นว่า สายพันธ์ญี่ปุ่น (สีฟ้า) หนึ่งในนั้นคือประเทศไทยเราด้วยค่ะ
ชนิดของ BCG ที่ใช้ในแต่ละประเทศ
อิรัก vs อิหร่าน
1. อิหร่านมีเปอร์เซ็นต์ได้ BCG เยอะกว่าอิรัก แต่เป็น BCG ผลิตเอง ส่วนอิรักเป็นบีซีจีจากญี่ปุ่น
ทั้งที่ประเทศติดกัน ทว่ายอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตกลับต่างกันมาก
*หมายเหตุ: แต่ต้องพิจารณาด้วยว่า การสนับสนุนทางสาธารณสุขต่างกัน เพราะอิหร่านมีปัญหากับสหรัฐอเมริกา ทำให้เวชภัณฑ์ต่างๆ ขาดแคลนมากกว่า อาจมีผลต่อยอดผู้เสียชีวิตด้วยนะคะ
1
2. ข้อมูลในญี่ปุ่น ที่ศึกษาผู้เสียชีวิตจากโควิด จำนวน 45 ราย (ยอดในขณะนั้น) พบว่า 44 รายเกิดก่อนปี ค.ศ.1951 (อายุ 69 ปีขึ้นไป) ซึ่งเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นใช้วัคซีนบีซีจีรุ่นเก่าอยู่
*หมายเหตุ: แต่อาจจะเป็นปัจจัยเรื่องอายุก็เป็นได้
3. อันนี้เติมเอง คือ ไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่ใช้วัคซีน BCG สายพันธุ์ญี่ปุ่นเหมือนกัน อาจจะมีส่วนช่วยด้วยหรือไม่? (นอกเหนือจากการเข้าถึงสาธารณสุขได้ง่าย และปัจจัยบวกอื่นๆ)
♥*♡∞:。.。 สรุป 。.。:∞♡*♥
วัคซีน BCG ไม่ใช่วัคซีนที่ตรงเป๊ะกับเชื้อ COVID-19 เราจึงอาจจะหวังผลไม่ได้เต็มที่นัก
แต่เนื่องจากการทดสอบวัคซีนใหม่ ต้องผ่านการทดสอบหลายขั้นตอน เพื่อดูทั้งประสิทธิภาพรวมถึงความปลอดภัยในสัตว์ทดลองและมนุษย์ จึงพัฒนาได้ช้า
ในขณะที่คุณปู่บีซีจี นั้นผ่านเรื่องความปลอดภัยค่อนข้างแน่นอน เพราะเป็นวัคซีนที่ใช้มายาวนาน ในคนจำนวนมากทั่วโลก อีกทั้งราคาก็ถูก ผลข้างเคียงน้อย ทำให้การวิจัยทำได้ง่ายและรวดเร็ว สามารถข้ามไปศึกษาในคนได้ทันที เพราะจะลองฉีดไปก็ไม่เสียหาย
สำหรับประเทศไทยที่ได้รับบีซีจีกันทุกคนตั้งแต่แรกเกิด ถ้าหากข้อมูลนี้เป็นจริงขึ้นมา ก็น่าดีใจอยู่ นอกจากนี้ เราอาจจะวิจัยเรื่องของการฉีด BCG กระตุ้นภูมิ หรือการทดสอบ PPD skin test เพื่อบอกความเสี่ยงเสียชีวิตจาก COVID-19 ได้หรือไม่ ก็อาจจะเป็นแง่มุมที่ต้องศึกษาต่อไปนะคะ
#หมอเด็กนอกคอก
FB:
https://www.facebook.com/109194834049153/posts/120089702959666/
References
Heterologous Effects of Infant BCG Vaccination: Potential Mechanisms of Immunity
Egle Butkeviciute et al. Future Microbiol. Aug 2018
https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/30117744/?from_term=Bcg+immune&from_pos=1
Non-specific Effects of BCG Vaccine on Viral Infections
S J C F M Moorlag et al. Clin Microbiol Infect. Dec 2019
https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/31055165/
The BCG World Atlas: A Database of Global BCG Vaccination Policies and Practices
https://journals.plos.org/plosmedicine/article?id=10.1371/journal.pmed.1001012
The Influence of BCG on Vaccine Responses - A Systematic Review
Petra Zimmermann et al. Expert Rev Vaccines. Jun 2018
https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/29882438/?from_term=Bcg+immune&from_pos=3
【さらに追記しました】新型コロナウイルスとBCG
https://lite.blogos.com/article/446483/
Association of BCG, DTP, and measles containing vaccines with childhood mortality: systematic review.
Higgins JP1, Soares-Weiser K2, López-López JA3, Kakourou A4, Chaplin K3, Christensen H3, Martin NK5, Sterne JA3, Reingold AL6.
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/27737834
BCG Vaccination Protects against Experimental Viral Infection in Humans through the Induction of Cytokines Associated with Trained Immunity
https://www.cell.com/cell-host-microbe/fulltext/S1931-3128(17)30546-2?_returnURL=https://linkinghub.elsevier.com/retrieve/pii/S1931312817305462?showall=true
TB Vaccine Could Be a Valuable Weapon in COVID-19 Fight
https://www.nyit.edu/box/features/tb_vaccine_could_be_a_valuable_weapon_in_covid_19_fight
88 บันทึก
250
90
211
88
250
90
211
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย