31 มี.ค. 2020 เวลา 05:32 • สุขภาพ
“นักเทคนิคการแพทย์” อาชีพที่มีมานาน แต่ไม่ถูกพูดถึง ?
ท่ามกลางกระแสการช่วยเหลือผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ในปัจจุบัน นอกจากหมอและพยาบาลแล้ว อีกหนึ่งบุคลากรทางการแพทย์ที่สำคัญมาก คือ “นักเทคนิคการแพทย์” อาชีพที่มีหน้าที่เก็บและตรวจวิเคราะห์สิ่งส่งตรวจ เช่น เลือดหรือสารคัดหลั่งต่าง ๆ จากร่างกายของผู้ป่วย ผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ทั้งยังรายงานผลการตรวจ เพื่อการวินิจฉัย ติดตามและพยากรณ์โรค รวมถึงการรักษาอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังเป็นผู้มีส่วนในการวิจัยความรู้ต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาด้านการแพทย์อีกด้วย
สำหรับการเรียนการสอนด้านเทคนิคการแพทย์ในประเทศไทย เริ่มต้นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2499 เมื่อมีการก่อตั้ง “โรงเรียนเทคนิคการแพทย์” ขึ้น ภายใต้สังกัดมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ตามดำริของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยสมัยนั้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตบุคลากรทางวิทยาศาสตร์สำหรับตรวจทดสอบทางห้องปฏิบัติการที่ตรงกับสายวิชาชีพ ให้แก่ผู้ป่วยของโรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ทดแทนพยาบาลที่ทำหน้าที่ตรวจวิเคราะห์อยู่เดิม ซึ่งแรกเริ่มการก่อตั้งได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากองค์การบริหารวิเทศกิจแห่งสหรัฐอเมริกา โดยมี ศ. นพ.วีกูล วีรานุวัตติ์ เป็นผู้ผลักดันและเป็นคณบดีคนแรก กระทั่งปี พ.ศ. 2500 ได้มีการจัดตั้ง “คณะเทคนิคการแพทย์” ขึ้น อย่างเป็นทางการ
นอกจากนี้ ปี พ.ศ. 2505 ได้มีการจัดตั้งสมาคมเทคนิคการแพทย์แห่งประเทศไทย (ส.ท.พ.ท.) เพื่อกำกับดูแลและช่วยเหลือผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ ที่จะมีเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
จากจุดเริ่มต้นในวันนั้น เป็นระยะเวลามากกว่า 60 ปี ที่เทคนิคการแพทย์ในประเทศไทยเจริญก้าวหน้า และมีบทบาทอย่างมากต่อการสาธารณสุข แม้การทำหน้าที่ของนักเทคนิคการแพทย์ จะไม่ถูกพูดถึงเทียบเท่ากับหมอหรือพยาบาล แต่นักเทคนิคการแพทย์ก็มีบทบาทสำคัญไม่แพ้กัน และคาดหวังว่าคนทั่วไปจะรู้จักพวกเขามากยิ่งขึ้น
อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เพิ่มเติมได้ที่
โฆษณา