1 เม.ย. 2020 เวลา 10:13 • การศึกษา
เราจะนำปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำมาอ้างเพื่อไม่ชำระหนี้ได้หรือไม่?
ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจก่อนว่า บทความนี้จะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง
ช่วงที่ 1 จะเป็นส่วนที่อ้างอิงข้อกฎหมายที่มีคำพิพากษาฎีกาสนับสนุน (คดีที่เกิดขึ้นจริงและต่อสู้กันมาถึงชั้นศาลฎีกา ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นบรรทัดฐานได้)
ส่วนช่วงที่ 2 จะเป็นความเห็นบางส่วนของผู้เขียนที่ไม่มีคำพิพากษาฎีกาใด ๆ รองรับ จึงควรใช้วิจารณญาณในการอ่าน
Cr. pixabay
ช่วงที่ 1 การเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจของประเทศ จะถือเป็นการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยได้หรือไม่?
ก่อนอื่นต้องอธิบายก่อนว่า คำว่า “การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย” หมายถึงอะไร
การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย ได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 218 และ 219 โดยในบทความนี้จะพูดถึงเฉพาะมาตรา 219 วรรคแรก เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรง
การชำระหนี้เป็นพ้นวิสัย คือ เหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นภายหลังได้ก่อหนี้และลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ ซึ่งกฎหมายถือว่าลูกหนี้หลุดพ้นจากหนี้นั้น
ยกตัวอย่าง นาย A ต้องการซื้อภาพวาดสีน้ำมันรูปหญิงสาวซึ่งนาย B เป็นคนวาดเพื่อนำไปขายต่อให้เพื่อนชาวต่างชาติ ซึ่งทั้งคู่ได้ตกลงราคาเรียบร้อยแล้วและนาย A จะไปรับภาพวาดที่บ้านของนาย B ในวันพรุ่งนี้
แต่ในเวลากลางคืนได้เกิดไฟไหม้โดยต้นเพลิงมาจากบ้านหลังอื่นแต่ไฟได้ลุกลามมาจนถึงบ้านของนาย B และได้เผาทำลายภาพสีน้ำมันดังกล่าวไป
กรณีอย่างนี้ ถือว่าการชำระหนี้ของนาย B คือการส่งมอบรูปภาพให้แก่นาย A ตกเป็นพ้นวิสัยโดยเหตุการณ์ที่นาย B ไม่ต้องรับผิดชอบ
กลับมาประเด็นที่ว่า วิกฤตเศรษฐกิจจะนำมาเป็นข้ออ้างเพื่อให้การชำระหนี้เป็นพ้นวิสัย ได้หรือไม่
เคยมีคดีขึ้นสู่ศาลฎีกา ที่เจ้าหนี้เป็นโจทก์ฟ้องลูกหนี้เป็นจำเลยให้ชำระหนี้เงินที่ได้กู้ยืมไป โดยลูกหนี้ได้นำที่ดินมาจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ไว้
จำเลยต่อสู้ว่า ภายหลังที่ได้ก่อหนี้ประเทศไทยเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ไม่มีการชำระหนี้ และจำเลยไม่ต้องรับผิดชอบ จำเลยจึงไม่ได้ตกเป็นผู้ผิดนัดและได้หลุดพ้นจากการชำระหนี้
ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่า การที่ประเทศไทยเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้จำเลยหลุดพ้นจากการชำระหนี้และหลุดพ้นจากการบังคับคดีหรือไม่ เห็นว่า...
จำเลยจะหลุดพ้นจากการชำระหนี้ก็ต่อเมื่อการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้และซึ่งจำเลยไม่ต้องรับผิดชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 219 วรรคหนึ่ง
ส่วนการเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอาจมีผลกระทบต่อลูกหนี้บางคนทำให้ไม่สามารถชำระหนี้สินที่ตนมีต่อสถาบันการเงินได้เหมือนเช่นปกติ แต่จะถือเป็นพฤติการณ์ที่ทำให้การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเสียทีเดียวไม่ได้ “ต้องพิจารณาเป็นกรณีไป”
จำเลยได้จำนองที่ดินเป็นประกันเงินกู้ยืมไว้กับโจทก์ ซึ่งโจทก์มีสิทธิร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับชำระหนี้ได้ การชำระหนี้ของจำเลยจึงอยู่ในวิสัยที่พึงปฏิบัติได้ จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์ต่อไป
จะอ้างวิกฤตทางเศรษฐกิจของประเทศมาปลดเปลื้องเพื่อให้ตนหลุดพ้นจากการบังคับคดีไม่ได้
(อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 3506/2546)
ซึ่งนี่คือเหตุผลที่ศาลฎีกาได้ให้ไว้ และประโยคที่เชื่อมโยงมายังช่วงที่สองของบทความ ก็คือถ้อยคำว่า “ต้องพิจารณาเป็นกรณีไป” แต่สำหรับกรณีนี้ จำเลยยังอยู่ในสถานะที่ชำระหนี้ได้ จึงไม่อาจอ้างวิกฤตทางเศรษฐกิจได้
ช่วงที่ 2 คำว่า “ต้องพิจารณาเป็นกรณีไป” ตามที่ศาลฎีกาได้ให้เหตุผลไว้หมายถึงกรณีใดบ้างนั้น? จึงขอยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในขณะนี้ ที่วิกฤตทางเศรษฐกิจนั้นเกิดขึ้นจากเหตุการณ์เชื้อไวรัส COVID-19 ได้แพร่กระจายไปทั่วโลกและส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างหนักหนาสาหัสในปัจจุบัน
[ความเห็นส่วนตัวผู้เขียน] กรณีที่วิกฤตเกิดขึ้นจากไวรัสระบาด และส่งผลให้ทางการใช้อำนาจรัฐสั่งปิดกิจการของนายจ้างชั่วคราว และไม่สามารถทราบได้ว่าจะเป็นเวลายาวนานเท่าใด แต่แน่นอนว่านายจ้างอาจอ้างว่าเป็นเหตุสุดวิสัยเพื่องดการจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง
หากลูกจ้างได้ก่อหนี้ขึ้นก่อนหน้าเกิดการระบาดและก่อนที่ทางการจะสั่งปิดสถานประกอบการ เช่น กรณีที่มนุษย์เงินเดือนได้กู้เงินซื้อบ้านไว้ ต่อมานายจ้างได้ถูกทางการสั่งปิดงานชั่วคราวเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส และไม่จ่ายค่าจ้างตลอดระยะเวลาที่ถูกสั่งปิดงาน
เมื่อไม่ได้รับค่าจ้างจึงไม่มีเงินไปชำระหนี้ให้แก่ธนาคาร และอาจทำให้ถูกฟ้องร้องและยึดทรัพย์สินในที่สุด
แต่เมื่อพิจารณาถึงเหตุผลของการไม่ชำระหนี้ซึ่งเกิดขึ้นเพราะนายจ้างถูกทางการสั่งปิดงานชั่วคราว จึงทำให้ลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้างเพื่อนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน รวมถึงการชำระหนี้
และเมื่อพิจารณาลึกลงไปถึงเหตุผลของการปล่อยเงินกู้ของธนาคารหรือสถาบันการเงินต่าง ๆ ที่พิจารณาจาก อาชีพของผู้กู้ ความมั่นคงของงาน รายได้ อายุ วงเงินของสินเชื่อ รวมถึงหลักประกัน มาประกอบการปล่อยสินเชื่อ
เมื่ออาชีพและแหล่งรายได้ของผู้กู้ซึ่งก็คือนายจ้างเหล่านั้นถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อ (กรณีมนุษย์เงินเดือน) และนายจ้างได้ถูกอำนาจรัฐสั่งปิดงานชั่วคราวเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส
จึงน่าพิจารณาเป็นอย่างยิ่งว่า เหตุการณ์ดังกล่าวจะถือว่าเป็นกรณีที่การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยได้หรือไม่ หากต้องพิจารณาเป็นกรณีไป ตามที่ศาลฎีกาได้เคยให้ความเห็นไว้
ซึ่งผู้เขียนมองว่า การชำระหนี้เป็นพ้นวิสัยจะต้องถึงขนาดที่ทำให้การชำระหนี้นั้นไม่สามารถทำได้อีกต่อไป
การที่นายจ้างถูกสั่งปิดงานชั่วคราว และไม่จ่ายค่าจ้างนั้น น่าจะถือว่าเป็นเหตุการณ์เพียงชั่วครั้งชั่วคราว และเมื่อเหตุการณ์นั้นสิ้นสุดลงลูกจ้างก็จะกลับมามีรายได้อีกครั้ง
จึงไม่น่าจะถือว่าเป็นการชําระหนี้พ้นวิสัยได้เช่นเดียวกัน
แต่อย่างไรก็ตามเหตุการณ์นี้น่าจะถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัย ที่ลูกหนี้สามารถขอระงับการชำระหนี้ไว้ชั่วคราวได้
ความจริงอยากยกตัวอย่างที่สุดโต่งขึ้นไปอีก อย่างเช่น กรณีเกิดสงครามโลกและบางส่วนของประเทศได้รับความเสียหาย กรณีอย่างนี้จะถือว่าการชำระหนี้พ้นวิสัยได้หรือไม่ (ซึ่งแน่นอนอาจต้องประกาศปิดงานเช่นเดียวกัน)
ขอย้ำอีกครั้งว่า ในส่วนที่ 2 นี้เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเอง ไม่ควรนำไปใช้อ้างอิงใด ๆ ทั้งสิ้น
และอย่างไรก็ตามก่อนจะถึงขั้นตอนการฟ้องร้องนั้น ทางธนาคาร หรือทางรัฐบาลก็น่าจะออกมาตรการขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในปัจจุบันก็พอมีให้เห็นบ้างแล้ว
ซึ่งการให้ลูกหนี้ได้ทยอยชำระหนี้ หรือหยุดพักชำระนั้น ก็เหมือนเป็นการให้อากาศหายใจ ต่ออายุไปด้วยกันในทุก ๆ ฝ่าย
เพราะหากปล่อยให้ลูกหนี้จมน้ำตายไป อีกไม่นานก็คงเป็นเจ้าหนี้เองที่จะถูกฉุดรั้งให้จมไปตามกัน
เหมือนดังที่เราได้เคยเห็นกันมาแล้วในอดีตที่ผ่านมา
โฆษณา