2 เม.ย. 2020 เวลา 02:40 • ธุรกิจ
AIRBNB เป็นยังไงบ้าง? ในวิกฤติ COVID-19
การระบาดของโควิด-19 สร้างผลกระทบไปทั่วโลก โดยเฉพาะกับธุรกิจโรงแรม
โดยตั้งแต่ต้นปี 2020 ราคาหุ้นของบริษัทในอุตสาหกรรมนี้ ตกลงไปเกือบครึ่ง
มูลค่าหุ้นของเชนโรงแรมใหญ่ของโลก
หุ้น MAR เครือ Marriott หายไป 45%
หุ้น HLT เครือ Hilton หายไป 34%
มูลค่าหุ้นของเชนโรงแรมในประเทศไทย
หุ้น CENTEL เครือเซ็นทรัล หายไป 41%
หุ้น MINT เครือไมเนอร์ หายไป 56%
และอีกหนึ่งบริษัทที่มองข้ามไม่ได้ นั่นก็คือ Airbnb
แพลตฟอร์มที่ให้คนทั่วไปสามารถปล่อยเช่าห้องพักของตัวเองได้
แล้ววันนี้ Airbnb เป็นอย่างไร? ในวันที่ทุกคนไม่เดินทาง
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ปัจจุบัน Airbnb มีห้องพักที่มาปล่อยเช่าบนแพลตฟอร์มมากกว่า 7 ล้านแห่ง
กระจายอยู่ในกว่า 220 ประเทศทั่วโลก
และมีผู้เข้าพักเฉลี่ยต่อคืนกว่า 2 ล้านคน
ถ้ามองว่า Airbnb เป็นเชนโรงแรมหนึ่ง ก็น่าจะเป็นเชนโรงแรมที่ใหญ่สุดในโลก
Airbnb เติบโตอย่างรวดเร็ว ใช้เวลาเพียง 12 ปี ในการสร้างอาณาจักร
โดยที่ตัวเองแทบไม่ต้องลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เองเลย
แต่เรื่องนี้ก็เป็นประเด็นที่อาจทำให้ Airbnb มีความรับผิดชอบมากกว่าเครือโรงแรมอื่นทั่วไป..
ตอนนี้บริษัทต้องรับศึกหนักจาก 2 ด้าน ทั้งผลกระทบจากการท่องเที่ยว
และฝั่งผู้นำห้องพักมาปล่อยเช่า ซึ่งถือเป็นเหมือนกระดูกสันหลังของธุรกิจ
โดยก่อนหน้านี้มีรายงานออกมาว่า ยอดจองห้องพักใน Airbnb ลดลงอย่างหนักเมื่อเทียบกับปีก่อน
ห้องพักในเอเชีย ลดลง 95%
ห้องพักในยุโรป ลดลง 75%
ห้องพักในสหรัฐอเมริกา ลดลง 50%
Cr. New York Times
ซึ่งจากสถานการณ์ตอนนี้ ก็น่าจะคาดได้ว่าตัวเลขทางประเทศฝั่งตะวันตก น่าจะยิ่งตกลงไปอีก
เพราะความรุนแรงของโรคระบาดที่เคยเกิดขึ้นในเอเชีย กำลังย้ายไปยังยุโรปและสหรัฐอเมริกา และมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ กว่าเอเชียเสียอีก
แปลว่า แม้ Airbnb จะไม่ได้เป็นเจ้าของห้องเช่าเอง
แต่ก็จะไม่ได้รับค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากการเช่า ซึ่งเป็นรายได้หลักของบริษัท
และล่าสุด Airbnb ได้ประกาศให้สามารถยกเลิกห้องพักได้ฟรี ถ้าการจองอยู่ในช่วงเวลาตามเงื่อนไข
ซึ่งจริงๆ แล้วนโยบายนี้ออกมาสำหรับทั้ง “ผู้เช่า” และ “ผู้ให้เช่า”
ผู้เช่า สามารถยกเลิกการจองได้โดยไม่เสียค่าปรับ
ผู้ให้เช่า ที่ไม่อยากเสี่ยงติดเชื้อ ก็สามารถยกเลิกการจองได้โดยไม่เสียค่าปรับเช่นกัน
รวมถึงไม่โดนลดเรตติ้ง และจะได้ค่าบริการที่ Airbnb เรียกเก็บคืนทั้งหมด
1
Cr. The Verge
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องนี้ก็สร้างผลกระทบให้กับผู้ให้เช่าของ Airbnb โดยตรง
เนื่องจากบางรายพึ่งพารายได้จากการปล่อยเช่าใน Airbnb เป็นหลัก
บางคนกู้ยืมเงินมาเพื่อลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และปล่อยเช่า
และบางคนก็เช่ามา แล้วปล่อยเช่าใน Airbnb ต่ออีกที เพื่อกินส่วนต่าง
ทำให้ผู้ให้เช่าบางส่วน เริ่มหันไปหาแพลตฟอร์มอื่น
และเน้นไปที่การให้เช่าระยะยาวแทน
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด Airbnb ได้ออกมาประกาศแล้วว่าจะมาเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนนี้
โดยจะนำเงินกว่า 8 พันล้านบาท มาจ่ายให้กับผู้ให้เช่าที่ได้รับผลกระทบ
ตามอัตราเดิมที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขการยกเลิกการจอง
นอกจากนั้น Airbnb ยังมีศึกอีกด้านที่รออยู่ ซึ่งก็คือ “พนักงาน” ของตัวเอง
โดยเมื่อช่วงปลายปี 2019 Airbnb มีแผนที่จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปีนี้
และถูกมองว่าจะเป็นหนึ่งในหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด
ซึ่งเมื่อดูสถานการณ์ตอนนี้แล้ว แผนการนี้ก็อาจจะต้องเลื่อนออกไป
อย่างน้อยก็ต้องรอสถานการณ์ไวรัสจบลงก่อน และให้สภาวะตลาดกลับมาเป็นปกติ
รวมถึงรอเวลาให้ธุรกิจของบริษัทกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง
Cr. Harvard Business Review
แต่ปัญหาก็คือ แรงกดดันจากพนักงาน เพราะถ้า Airbnb ไม่สามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดได้
สิทธิ์ในการซื้อหุ้น ที่พนักงาน Airbnb ถืออยู่ จะหมดอายุ และกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีค่าในที่สุด
แม้ว่าตอนนี้ Airbnb ยังยืนยันว่า จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดภายในปีนี้ให้ได้ตามแผนเดิม
แต่พนักงานส่วนใหญ่ก็ไม่มีความมั่นใจ และถึงจะทำได้จริง ราคาหุ้นก็อาจไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง
โชคยังดีที่ตอนนี้บริษัทยังมีสภาพคล่องอยู่ในมือถึง 1.3 แสนล้านบาท
เป็นเงินสดประมาณ 3 ส่วน และเป็นวงเงินกู้อีก 1 ส่วน
ซึ่ง Airbnb กำลังอยู่ในขั้นตอนวางแผนว่าจะสามารถช่วยเหลือทุกส่วนที่ได้รับผลกระทบอย่างไร
อย่างไรก็ตาม Airbnb ก็กำลังเตรียมระดมเงินจากนักลงทุนเพิ่มอีกครั้ง
ซึ่งความท้าทายก็กลับมาที่มูลค่ากิจการในตอนนี้
ก่อนหน้านี้ราคาหุ้นของ Airbnb ที่ซื้อขายกันนอกตลาดเคยขึ้นไปอยู่ที่ 140-150 ดอลลาร์สหรัฐ
แต่ตอนนี้ราคากลับตกลงเหลือประมาณ 105 ดอลลาร์สหรัฐ
ซึ่งใกล้เคียงกับราคาเมื่อ 2 ปีก่อน ที่ Airbnb ระดมเงินทุนไปรอบล่าสุดในปี 2017
ดังนั้นถ้าถามว่า Airbnb ตอนนี้สบายดีหรือไม่?
ก็อาจตอบได้ว่า ติดเชื้อไวรัสไปแล้ว เริ่มมีอาการ และกำลังรักษาอยู่..
1
โฆษณา