2 เม.ย. 2020 เวลา 08:44 • สุขภาพ
หมอ..แล้วค่าไขมันปกติมันต้องเท่าไหร่?? อยากรู้ลองอ่านดูค่ะ
ไขมันที่ตรวจทั่วไปในรพ.จะแบ่งย่อยสี่ชนิดต่อไปนี้ คือ ไขมันเลว(LDL) ,ไขมันดี(HDL), คลอเรสเตอรอลรวม และไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งมันจะมีเกณฑ์ค่าที่ผิดปกติต่างกันในแต่ละตัว
(มีแค่ไขมันดีตัวเดียวที่ยิ่งสูงยิ่งดี และหากไขมันเลวสูงจะบ่งบอกว่าค่าคลอเรสเตอรอลรวมก็จะสูงไปด้วย)
ในระดับความเสี่ยงของผู้ป่วยที่ต่างกัน เกณฑ์วินิจฉัยว่าไขมันสูงก็จะต่างกัน วันนี้จะขอหยิบยกเกณฑ์รักษาระดับไขมันในเลือดสูงจากคำแนะนำของ ESC อันล่าสุด ปี2019 ซึ่งมีผลต่อการพิจารณาปรับยามาพูดคร่าวๆ (เผื่อใครอยากรู้ จะพยายามเล่าให้ง่ายที่สุดนะคะ ลองค่อยๆอ่านดูค่ะ)
เกณฑ์คร่าวๆ
หากมีภาวะไขมันในเลือดสูงจะมีการประเมินระดับความเสี่ยงก่อนการให้ยาลดไขมันดังนี้
1)กลุ่มความเสี่ยงสูงมาก ได้แก่ เคยเป็นโรคหัวใจขาดเลือด, โรคหลอดเลือดในสมองตีบ ,เบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อน โรคไตระยะที่สี่ขึ้นไป
-> เป้าหมาย : ต่ำกว่าครึ่งนึงของเดิม หรืออีกอย่างคือไขมันเลวต่ำกว่า 55 (ความเสี่ยงสูงอยู่แล้วจึงต้องคุมไขมันให้ดีๆยิ่งน้อยยิ่งดี)
2)กลุ่มความเสี่ยงสูง ได้แก่ ไตรกลีเซอไรด์มากกว่า310 ,ไขมันเลวมากกว่า190 ,ความดันโลหิตมากกว่า180/110 ,เบาหวานนาน10ปีup, โรคไตระยะ3
-> เป้าหมาย : กลุ่มนี้เหมือนกันคือต่ำกว่าครึ่งนึงของเดิมหรือคุมไขมันเลวให้ต่ำกว่า 70
3)กลุ่มความเสี่ยงปานกลาง ได้แก่ เบาหวานชนิดที่1ที่อายุน้อยกว่า35ปี หรือ เบาหวานชนิดที่2 ที่อายุน้อยกว่า50 ปี โดยทั้งหมดจะต้องเป็นระยะเวลาน้อยกว่า10ปีโดยไม่มีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ
-> เป้าหมาย : คุมไขมันเลวให้ต่ำกว่า 100
4)กลุ่มความเสี่ยงต่ำ
-> เป้าหมาย : คุมไขมันเลวให้ต่ำกว่า 116
ในทางปฏิบัติที่เห็นกันในรพ แพทย์มักจะติดตามประเมินหลังให้ยาประมาณ6-12เดือน เช็คว่าระดับไขมันอยู่ในเป้าหมายหรือไม่ รวมถึงการติดตามผลข้างเคียงจากยาไขมันคือเช็คค่าการทำงานของตับร่วมด้วย
ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นการประเมินแค่ภาวะไขมันเลวสูงเนื่องจากเจอได้บ่อยเท่านั้น ยังมีภาวะไขมันในเลือดสูงอีกตัวคือไตรกลีเซอไรด์ ตัวนี้ถ้าสูงนี้เกิดจากอาหารที่กินหลักๆเลย จึงใช้วิธีคุมอาหารเป็นหลัก ทั้งนี้ทั้งนั้นจะมีเกณฑ์ให้ยาลดไขมันอีกชนิดที่ต่างไปอีก(ไม่ได้กล่าวถึงเพราะเดี๋ยวจะยาวเกินไปนะคะ)
ถามว่าคุมกันได้ขนาดนี้เลยมั้ย ขอบอกเลยว่าที่เจอมามีน้อยที่ทำได้ขนาดนี้(แต่ยังเยอะกว่าคุมน้ำตาลในเบาหวานนะ55)
ถึงแม้ว่าโรคนี้จะไม่แสดงอาการใดๆให้เห็นแต่เป็นปัจจัยที่นำไปสู่โรคอื่นๆ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดในสมองตีบ และอื่นๆในอนาคตอีกมาก
ฉะนั้นอย่าชะล่าใจไป สิ่งสำคัญนอกเหนือจากยา การปรับพฤติกรรมมีผลอย่างยิ่งในโรคกลุ่มนี้ กินอาหารที่มีประโยชน์ ลดอาหารมัน หมั่นดูแลสุขภาพออกกำลังกายกันเพื่อสุขภาพของตัวท่านเองนะคะ:)
ปล.คำแนะนำเกณฑ์วินิจฉัยอาจมีการเปลี่ยนแปลงอัพเดทอยู่เรื่อยๆ
ถ้ากังวลแนะนำในผู้ที่อายุมากกว่า35ปี ตรวจสุขภาพประจำปีเช็คค่าไขมันดูได้ค่ะ
ref. 2019 ESC/EAS Guidelines for the management of dyslipidaemias
โฆษณา