2 เม.ย. 2020 เวลา 09:22 • ความคิดเห็น
ผู้นำแบบไหนที่ผู้คนต้องการในภาวะวิกฤตโควิด 19
เมื่อเชื้อโควิด 19 แพร่ระบาดอย่างหนักทั่วโลก ล่าสุดจนถึงวันที่ 1 เมษายน 2563 มีผู้ติดเชื้อทั่วโลก 853,200 ราย และมีผู้เสียชีวิต 41,887 ราย ผู้นำของทุกชาติต่างเผชิญโจทย์ท้าทายที่ไม่เคยเจอมาก่อน นั่นคือ การพยายามลดจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ให้น้อยลงจนสามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อได้ แต่ดูเหมือนอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้ก้าวกระโดดไปไกลกว่าที่คาดการณ์ไว้ (ยกเว้นประเทศจีนที่สามารถควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้เรียบร้อยแล้ว)
ในสถานการณ์ปัจจุบันไม่มีผู้นำชาติไหนไม่โดนตำหนิเมื่อนโยบายที่ใช้ต่อสู้กับเชื้อโควิด 19 นั้นไม่สามารถควบคุมอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อโควิด 19 ได้ ไม่ว่านโยบายใดๆที่รัฐบาลแต่ละชาติทำออกมาย่อมมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในชาติ การมุ่งเน้นควบคุมโรคโดยใช้มาตรการเข้มงวด ปิดเมือง ปิดร้านค้า ปิดสถานบริการต่างๆ คนกลุ่มหนึ่งว่างงาน ต้องเดินทางกลับบ้านในต่างจังหวัด เกิดการแพร่เชื้อจากเมืองหลวงสู่พื้นที่ต่างจังหวัด การไม่มีมาตรการปิดเมือง แต่ตรวจคัดกรองเฉพาะบุคคลที่มีความเสี่ยงเท่านั้นอย่างที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น นโยบายแจกผ้าอนามัยปิดปากให้ประชาชนทั้งประเทศญี่ปุ่นหลังคาเรือนละ 2 แผ่น ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากคนในสังคมถึงความเหมาะสมของนโยบายนี้ ความไม่รับผิดชอบของคนญี่ปุ่นบางคนที่ยังไปสังสรรค์ เลี้ยงฉลอง ตามปกติ จนมีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง นโยบายควบคุมโรคนี้จึงไม่ได้ผลนักเมื่อคนในชาติไม่ร่วมมือป้องกันการแพร่ระบาด
นโยบายของโดนัลด์ ทรัมพ์ที่ชะล่าใจตั้งแต่ต้น ไม่มีการคัดกรองและควบคุมผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด 19 อย่างจริงจัง ทำให้ตอนนี้อเมริกากลายเป็นศูนย์กลางการแพร่เชื้อโควิดแห่งใหม่ของโลก ประเทศอเมริกามีผู้ติดเชื้อสูงถึง 189,618 คน และมีผู้เสียชีวิตสูงถึง 4,079 คน นโยบายผิดพลาดในการบริหารจัดการควบคุมโรคโควิด 19 ของทรัมพ์ได้รับการตำหนิติเตียนจากคนในชาติและในต่างประเทศเช่นเดียวกัน
นโยบายในการควบคุมสถานการณ์โควิด 19 ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาที่ทดลองใช้มาตรการเข้มงวดในรูปแบบต่างๆเพิ่มมากขึ้นตามคำแนะนำของทีมแพทย์ ก็ได้รับคำติเตียนจากกลุ่มคนที่ไม่พอใจรัฐบาลเป็นการส่วนตัว การสั่งปิดกิจการในเขตกรุงเทพฯ มีผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของพนักงานของกิจการเหล่านั้นซึ่งยังไม่เตรียมพร้อมรับมือกับคำสั่งที่มากะทันหัน พวกเขาชั่งน้ำหนักที่จะใช้ชีวิตในต่างจังหวัดแทนการอยู่แบบต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในกรุงเทพฯต่อไป นโยบายเยียวยาแรงงานถูกประกาศใช้ภายหลังแรงงานจำนวนมากเดินทางกลับต่างจังหวัด อาจจะช้าไปแต่การอพยพกลับต่างจังหวัดส่งผลต่อการแพร่กระจายของเชื้อโควิด 19 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มาตรการปิดเมืองแต่ไม่ทุกจังหวัดพร้อมกันอาจจะทำให้การควบคุมการแพร่ระบาดไม่ได้ผลเต็มที่ การขอความร่วมมือจากประชาชนทุกคนให้ร่วมกันป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ซึ่งผลตอบรับยังไม่ถึง 80% ผลตามมาอัตราการแพร่ระบาดของไทยยังไม่น้อยลงอย่างน่าพอใจ ผู้นำของไทยยังคงเป็นเป้าหมายถูกโจมตีของคนไม่พอใจต่อไป
ในจังหวัดที่ยังไม่มีผู้ติดเชื้อโรคโควิด 19 อย่างลำปาง ได้รับการกล่าวถึงบทบาทของผู้นำอย่างคุณ ณรงศักดิ์ โอสถธนากร ที่วางแผนรับมือก่อนที่โรคโควิด 19 จะแพร่ระบาดในอัตราที่สูงขึ้นในไทย ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางมีการวิเคราะห์ความพร้อมของจังหวัดในการรับมือถ้าสถานการณ์เข้าสู่วิกฤต แล้วพบว่าเตียงผู้ป่วย เครื่องช่วยหายใจ ทั้งจังหวัดมีไม่เพียงพอ ท่านมีคำสั่งให้จัดหามาเพิ่ม และมีการคัดกรองประชาชนที่เดินทางเข้าออกจังหวัดลำปางอย่างจริงจัง ในขณะที่หลายๆจังหวัดมาตรการต่างๆพึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากมีคนติดเชื้อโควิด 19 ไปเรียบร้อยแล้ว
ความแตกต่างของภาวะผู้นำในภาวะวิกฤตโควิด 19 สะท้อนมุมมองของการจัดการวิกฤต (Crisis Management) ที่แตกต่างกัน การจัดการวิกฤตที่มีประสิทธิภาพควรเป็นไปในลักษณะบูรณาการ (Integrated Crisis Management) แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นเริ่มจากทัศนคติ วิเคราะห์และการวินิจฉัยประเด็นวิกฤตโควิด 19 ถูกต้องหรือไม่ และเลือกวิธีการป้องกันที่เหมาะสมก่อนเหตุการณ์ลุกลามกลายเป็นวิกฤต
สำหรับสถานการณ์ตอนนี้ที่ทุกชาติกำลังเผชิญภาวะวิกฤตโควิด 19 อยู่ ดูเหมือนไม่มีผู้นำชาติไหนที่ออกมาตรการรับมือโควิท 19 แล้วสร้างความถูกใจให้แก่คนในชาติทั้งหมด ทุกมาตรการต่างมีทั้งคนถูกใจและคนไม่พอใจ คำว่าเจ็บเพื่อจบ.... อาจจะไม่จบง่ายๆ โดยเฉพาะเมื่อคนในชาติไม่ยอมร่วมมืออย่างจริงจัง ยังคงดื้อดึง ทำอะไรตามใจตัวเอง ขาดความรับผิดชอบ และคิดถึงแต่เสรีภาพของตัวเองสำคัญกว่าการร่วมมือกันควบคุมโรคนี้ให้หยุดเสียที
โฆษณา