25 เม.ย. 2020 เวลา 11:27 • ธุรกิจ
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และ กลยุทธ์อวตาร ( Avatar Strategy )
กลยุทธ์ เตรียมตัวเดินทางกลางพายุ จนถึงวันฟ้าเปิด
( The Strategies in the turbulent time )
“ร่มไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อให้ฝนหยุดตก
แต่ถูกสร้างมาเพื่อ ให้เดินต่อไปได้ท่ามกลางสายฝน”
3
โดย Savvy Investor (แซฟวี่ อินเวสเตอร์)
“Slow Life แต่ไม่ Slow Rich”
Cr. Avatar and Pinterest
หลังจากหยุดเขียนบทความไปหลายสัปดาห์ เพราะกำลังรวบรวมข้อมูลต่างๆ และแนวความคิดของกูรู ท่านต่างๆทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อตอบกับตัวเอง ว่าในวิกฤติโควิด19 นี่ ในมุมมองของ นักธุรกิจ นักลงทุน ผู้นำหรือแม้กระทั่งพนักงานคนนึง เราจะต้องเตรียมตัวอย่างไร กับโลกใบเดิม แต่กติกาใหม่ (New Normal)
ก่อนอื่นขอมาเล่าคร่าวๆ กับ สิ่งที่อ่านมาว่า กูรูหลายๆท่าน ได้คาดการณ์ ว่าโลกเราและระบบเศรษฐกิจจะเปลี่ยนเป็นอย่างไรหลังวิกฤติ Covid19 ?
1. World after Covid19 : โลกหลังวิกฤติโควิด19 “เปลี่ยน” แน่นอน ทั้งเรื่อง พฤติกรรมผู้บริโภค และ พฤติกรรมของ บริษัทเล็ก-ใหญ่ต่างๆ
หลายสำนัก ต่างคาดการณ์ไปต่างๆนานา ถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่ทุกคนต้องเผชิญหน้า และถูกบังคับให้เปลี่ยน อย่างหลักเลี่ยงไม่ได้
2. Birth, Rebirth or Close down: จะมีธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่ท่ามกลางบริบทใหม่ๆ(New Normal) / มีธุรกิจที่บาดเจ็บแล้วปรับตัวได้ดี เหมือนเกิดใหม่ / และมีธุรกิจที่ปิดกิจการลงไป อันนี้ สุดท้ายแล้วก็ จะสะท้อนกลับมาที่ตัวเรา ไม่ว่าคุณจะอยู่ในฐานะ นายจ้างหรือลูกจ้าง ก็ตาม
3. Faster Disruptions!! : เกิดการดิสรัป ธุรกิจหลายๆประเภท เร็วขึ้นไปอีก อะไรที่เราคิดว่าจะเกิดใน 5-10ปี ข้างหน้า ล้วนถูกเร่งให้มาเกิดวันนี้ หรือเดือนหน้า เต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็น Cashless society, Online Education, Lazy economy, virtual office , online markets เป็นต้น
4.Up side down economy: เศรษฐกิจกลับหัว อะไรที่เคยเป็นเทรนด์ แต่พอมาเจอ โรคระบาด ก็กลับกลายเป็นจุดอ่อนทันที เช่น พวก Sharing Economy บางตัวอาจจะแย่ลง จากเมื่อก่อนเราคิดว่า เราจะแชร์รถยนต์กันนั้ง หรือ นั่งรถสาธารณะร่วมกัน /ราคาน้ำมันโลกที่ย้อยยุคไปเกือบ 20 ปีก่อน / ใช้ Co-working space/ ซื้อคอนโด ที่ติดสถานีรถไฟฟ้า BTS สิ่งเหล่านี้อาจจะไม่น่าพิสมัย อีกต่อไป สักระยะนึง (หรืออาจจะตลอดไป) จนกว่าเราจะจัดการปัญหาได้เบ็ดเสร็จ
5. Hyper Unemployment Rate: อัตราการว่างงานสูงปรี๊ด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคืออัตราการว่างงานในสหรัฐอเมริกาที่มี ตัวเลขแสดงชัดเจน และบางส่วนแม้ยังไม่ว่างงาน รายได้ของคนส่วนใหญ่ก็น่าจะลดลง ทำให้เกิดภาวะ กินน้อยใช้น้อย เศรษฐกิจหดตัวลง อย่างรุนแรง
6. Recession : เกิดเศรษฐกิจถดถอย ที่มาเป็นคลื่นยักษ์ละลอก ที่2 ตาม Covid19 มาติดๆ เพราะว่า GDP โลกลดลงแน่นอน เนื่องจากหลายๆกิจกรรม ถูกหยุดไว้ ตามเพลง “พักก่อน” 555
7. Unexpected Storms : พายุลูกถัดๆไปที่เราไม่คาดคิดมาก่อน (อาจมาซ้ำอีกเรื่อยๆ) เปรียบกับคลื่นยักษ์ ที่เราไม่คาดคิด หรือไม่ได้ทำนายไว้ ในเรื่องใหม่ๆ ที่เราไม่คาดว่า อะไรจะเกิดขึ้นมาติดๆกันขนาดนี้ แบบ 3ซ (ซวยซ้ำซ้อน) ให้คิดเสมอเลยครับ ในโลกที่หมุนเร็วขึ้น ดังนั้น การวางแผนต้องมีการเผื่อเหลือเผื่อขาดด้วยครับ
1
8. Political unrest: ความไม่สงบทางการเมืองระหว่างประเทศ เช่น อเมริกา กับ จีน (Trade War ) , การเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกจากยุโรปมาเอเซีย หรือแม้กระทั่งระเบิดเวลาความขัดแย้งทางการเมืองในไทย ที่อาจรอปะทุขึ้น เมื่อวิกฤติผ่านไป หลังจากเราทุกคนสามัคคีร่วมกันต่อสู้กับไวรัสสำเร็จ มีความเป็นไปได้ ที่ชนชั้นปกครอง นักการเมือง อาจจะเริ่มมาเสี้ยมให้เราทะเลาะกันเองต่อไปเพื่อ อำนาจของพวกเขา (อันนี้ไม่ฟันธง นะครับ แค่บอกว่ามีโอกาส)
9. Unstable Major Currency : ความไม่มีเสถียรภาพของสกุลเงินหลักของโลก การพิมพ์เงินแบบไม่จำกัดวงเงิน ( QE) ของประเทศมหาอำนาจ อย่างสหรัฐอเมริกา อันนี้ นักเศรษศาสตร์ของอเมริกา เข้าใจดีว่า มันคือการแก้ปัญหาการล่มสลายของเศรษฐกิจอเมริกา “ระยะสั้นๆ” แต่ นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลก เริ่มวิตกกังวล ต่อการเสื่อมค่าลง ของ เงินดอลล่าร์สหรัฐฯ (อย่าแปลกใจที่ราคาทองคำพุ่งกระฉูดในช่วงที่ประกาศว่าจะพิมพ์แบงค์เพิ่มมหาศาล)
1
สรุป...
จากตัวอย่าง 9 ข้อข้างบน (ซึ่งอาจจะมีมากกว่านี้อีกมากมาย) จึงสรุปได้ว่า โลกเรามีความเป็น Perfect V.U.C.A. World มากยิ้งขึ้น : นั่นคือโลกเราต่อจากนี้ จะเป็นแบบ VUCA อย่างสมบูรณ์แบบมากขึ้น ซึ่ง VUCA World ย่อมาจากอักษร 4 คำได้แก่ ...
Cr. Leadingwithtrust.com
V : Volatility โลกที่ผันผวน จะมีเหตุการณ์ที่ทำให้ชีวิตผู้คนผันผวน ขึ้นลง เกิดขึ้นบ่อยมากขึ้น เปรียบดังทะเลที่มีคลื่นลมแรง ที่เราต้องเล่นเซฟบอร์ดให้เป็น เพื่อเหยียบคลื่นให้ได้
U : Uncertainty โลกแห่งความไม่แน่นอน การคาดการณ์เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากขึ้น มีตัวเปลี่ยนเกมส์ (Game Changers) เกิดขึ้นมากมาย ดังนั้น เหตุการณ์หักปากกาเซียน เป็นเรื่องปกติ การฟันธงของกูรู ต่าง
C : Complexity โลกที่สลับซับซ้อนมากขึ้น จาก ปัจจัยต่างๆ ที่มีมากขึ้น ทั้งเศรษฐกิจ สังคม ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และการเมืองโลก ที่ทำให้ทุกอย่างเข้าใจตรงๆไม่ได้ ยังไม่รวมถึง การจงใจปิดบังซ่อนเร้น หรือการชักใยอยู่เบื้องหลัง ของหลายประเทศมหาอำนาจในโลกใบนี้อีกด้วย
A : Ambiguity โลกที่มีแต่ความเบลอ ไม่ชัดเจน ว่าอะไรคือเทรนด์ระยะยาว อะไรคือเทรนด์ชั่วคราว เพราะปัจจัยในโลกนี้ ล้วนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นี่ยังไม่รวม การสร้างข่าวลวง เพื่อการทำให้คนส่วนหนึ่งเข้าใจผิด เป็นอีกเรื่องนึงเลยก็มีครับ ตัวอย่างง่ายๆ ว่าเราไม่สามารถบอกได้ว่า รถยนต์ที่ไม่ต้องมีคนขับ จะเกิดขึ้นในประเทศไทยใน 5-8 ปี หรือไม่ ? หรือธุรกิจสายการบินใน 10 ปีข้างหน้าจะเป็นเช่นไร (แม้Covid19จะจบ)? ภาพมันจะเบลอๆ ในหลายๆเรื่องเช่นเดียวกันครับ จนกว่าใกล้จะเกิดขึ้นจริงๆเราถึงจะเห็นชัดเจน
บทสรุปทั้งหมดของโลกที่ แปรปรวน ไม่แน่นอน สลับซับซ้อน และคลุมเครือเหล่านี้ (เป็น “อนิจจัง”ตามหลักไตรลักษณ์จริงๆ) หากเราไม่เตรียมตัวใดๆเลยไว้ล่วงหน้ามากพอ เราอาจจะเหมือนเรือไททานิค ที่เคลื่อนไปด้วยความเร็ว ในยามที่หมอกลงจัด กว่าจะเห็นภูเขาน้ำแข็ง ก็ช้าไปแล้วที่จะปรับหางเสือให้เรือผ่านพ้นจากภยันตราย ดังนั้นการวางแผน แต่เนิ่นๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ
3
แต่......แล้วเราจะวางแผนอย่างไรล่ะในเมื่อทุกอย่างมันไม่แน่นอน ผันผวนคลุมเครือ และเปลี่ยนแปลง ตลอดเวลา ?!?
ภาพแสดงถึงว่า ไม่ใช่เพียงแค่ Covid19 เท่านั้น ที่เป็นคลื่นลูกเดียวที่กำลังถ่าโถมเข้ามา
ในสมัยทำงานเป็นนักวางแผนกลยุทธ์ เขาส่งให้ไปเรียนกับอาจารย์ฝรั่ง (คอร์สละหลายแสนเลยครับ)เรื่องการวางแผนเชิงกลยุทธ์ ในมุมมองของฝั่งตะวันตก เขาเรียกกันว่า “Scenarios Planning” (ซีนาริโอ แพลนนิ่ง) หรือการวางแผนที่มีการสมมติว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์ นู่นนี่นั่น แล้วเราจะรับมือยังไง หรือเกิดเหตุการณ์ ซ้ำซ้อนจะต้องเตรียมตัวอย่างไร และมีการพยายามทำนาย Worst Case Scenario ไว้ด้วย ว่า ถ้ามีเหตุการณ์เลวร้ายที่สุด(ที่เราจินตนาการได้ในขณะนั้น) แล้วเราจะต้อง เตรียมตัวหรือทำอย่างไร (Prepare for the worst )
2
ฟังดูดีใช่ไหมครับ? ดูเหมือนจะเป็นคำตอบที่ใช่ ?
.... แต่ถึงกระนั้น สถานการณ์จริงๆนั้นอาจจะแย่กว่าที่คิดก็เป็นไปได้ อย่างเรื่อง COVID19 ก็เป็นตัวอย่างที่ดีว่า แทบไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น (ขนาดอเมริกา ยังคิดว่าCOVID19 เป็นแค่วิกฤติของประเทศจีนเท่านั้นเหมือน Sar จึงมีสถานการณ์เช่นทุกวันนี้ ) หรืออีกตัวอย่างคือ ราคาน้ำมันที่ร่วงอย่างรุนแรง ทำให้บริษัทค้าน้ำมันขนาดใหญ่ในสิงคโปร์กำลังล้มละลาย ที่เข้าไปเก็งกำไรราคาน้ำมันในช่วงแรกโดยคิดว่าเดี๋ยวก็คงจะขึ้น ทั้งๆที่บริษัทเหล่านี้มีคนเก่งระดับโลกมากมาย ดังนั้นจากเหตุการณ์แบบนี้ ทำให้ผมไม่สามารถเชื่อเรื่อง Scenario Planning ได้ 100% เหมือนเดิมอีกต่อไป
ดังนั้นจึงเป็น สาเหตุในการค้นคว้า หากลยุทธ์ ที่จะพาเรา ยืนเซิร์ฟบนยอดคลื่นได้ (Surf the waves) โดยไม่จมน้ำไปเสียก่อน ในแทบจะทุกกรณี ที่มิใช่เรื่องของการคาดเดา หรือแม้กระทั่งการหารายได้เยอะๆ อย่างเดียว ...
ยืนเซิร์ฟบนยอดคลื่นได้ ต้องมีกลยุทธ์. Cr.Pinterest
ซึ่งคำตอบ หลังจากผมค้นหาจากบทความและหนังสือหลายๆเล่ม แต่เล่มที่ผมว่าดีมากๆคือหนังสือพระมหาชนก และ หนังสือ The Visionary ที่สะท้อนถึงมุมมองของในหลวงรัชกาลที่๙ ที่ท่านได้ทรงสั่งสอนเราไว้ล่วงหน้ามานานนับสิบๆปี รวมถึงหนังสือเศรษฐกิจโลก 1000ปี ของลงทุนแมนที่ทำให้เราได้เห็นภาพรวมของอดีตที่ยาวนานของโลก ทำให้ผมได้พบว่า กลยุทธ์ที่ผสมผสานระหว่าง “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ของในหลวงรัชกาลที่๙ บวกกับ ศาสตร์แห่งการอวตาร หรือการสร้างตัวตันตัวเองขึ้นมาใหม่ (Reinvent yourself) คือคำตอบที่สำคัญของผมครับ
1
ถอดรหัสเรื่องพระมหาชนก ผ่านหนังสือตามรอยพระมหาชนก ตามรอยพ่อ และ The Visionary ที่พยายามเรียนรู้แนวคิดของพระองค์ ผ่านโครงการในพระราชดำริ และเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจ จากหนังสือเศรษฐกิจ 1,000 ปี ของลงทุนแมน
ในวันที่มืดมิดที่สุด ทำให้เราเห็น ดวงดาวชัดเจนที่สุด เช่นเดียวกับ ขณะนี้ ที่วิกฤติสุดๆ ทำให้เราเห็นจุดแข็งและจุดอ่อน ของตัวเราเองมากที่สุด (ซึ่งจะทำให้เราเตรียมตัวหรือปรับปรุงตัวเองได้ดีขึ้นในวิกฤติคราวถัดๆไป) และที่สำคัญ ได้เห็นถึงจิตใจ ผู้คนได้ดีที่สุด (อันนี้ ในเวลาปกติเราจะไม่มีทางรู้ง่ายๆ )
ซึ่งในช่วงสงกรานต์ 13-15 เมย. 2563 นี้เป็น วันสงกรานต์ ที่เงียบเหงาของคนส่วนใหญ่ แต่เป็นวันที่ทำให้ความคิดตกผลึกออกมาเป็นแผนภาพด้านล่างนี้ครับ
แผนภาพจำลองเหตุการณ์และกลยุทธ์ต่างๆในแต่ละช่วงของโลกและฤดูกาล เขียนโดย Savvy Investor 15/4/63
แผนภาพนี้ผมพยายามสเก็ตขึ้นมา เพื่อสรุปสิ่งที่ได้ค้นคว้าและเรียนรู้ จากประสบการณ์ของตนเองและอาจารย์หลายๆท่าน เพื่อนำมาใช้เอง และเป็นแนวทางดำเนินชีวิตและธุรกิจ ต่อไปทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งผมเชื่อว่าการคิดสิ่งเหล่านี้ ในช่วงวิกฤตหนักๆแบบนี้ จะทำให้แผนที่นี้ รัดกุมมากเป็นพิเศษ
แผนภาพนี้ เทียบกับวงจรเศรษฐกิจ ที่เมื่อมีขึ้นก็มีลง (คล้าย Sine Curve ในรูป) กับการดำเนินชีวิตและธุรกิจ ในช่วงเวลาต่างๆ ของโลก ที่มีเช้า กลางวัน เย็น กลางคืน และฤดูกาลต่างๆที่แปรผัน เปลี่ยนไป บางครั้งก็เจอวันที่สดใส บางครั้งก็เจอพายุกระหน่ำในเวลาที่มืดมิดที่สุด หรือฝนตกยามหน้าแล้ง ซึ่งบางครั้งก็เป็นเรื่องที่เราไม่สามารถคาดเดาได้ทุกเรื่อง
แผนภูมินี้ แบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ ส่วนที่ 1. วงจรธุรกิจเทียบกับ รายได้-รายจ่าย ของเรา และ ส่วนที่2. กลยุทธ์ต่างๆที่ควรนำมาใช้ในช่วงเวลาต่างๆ โดยอธิบายย่อๆได้ดังนี้
ส่วนที่ 1 : วงจรธุรกิจเทียบกับ รายได้-รายจ่าย ของเรา ( รูปด้านล่าง)
ส่วนที่ 1 : วงจรธุรกิจเทียบกับ รายได้-รายจ่าย ของเรา (by Savvy Investor)
กราฟแรก แสดงวงจรธุรกิจ ที่มีขึ้น และมีลง (แกนตั้งเป็นการขยายตัวของ GDP และแกนนอน คือ เวลา) ซึ่งแบ่งเป็นท3 ส่วนใหญ่ๆ เศรษฐกิจดี เริ่มไม่ดี และ แย่สุดๆ
แผนภูมิแท่งทั้ง 2 แถว...
แถวที่ 1 แสดง รายได้ ของคนที่มีรายได้เพียงทางเดียว (รายได้A) และ
แถวที่ 2 คือคนที่มีรายได้หลายทาง ที่นอกเหนือจากรายได้ประจำ (มีรายได้ B และ Cเพิ่มมาด้วยทุกเดือน)
เส้นประทั้ง 3 เส้น
เส้นประ บนสุดสีแดง คือค่าใช้จ่ายรายเดือนยามปกติ (ขอตัดเรื่องเงินเฟ้อออกเพื่อความเข้าใจที่ง่ายขึ้น)
เส้นประ สีม่วงต่ำลงมา คือ ค่าใช้จ่ายรายเดือนเมื่อประหยัด (ลงมานิดหน่อย)
เส้นประสีน้ำเงิน คือค่าใช้จ่ายรายเดือน เมื่อเราใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ของในหลวงรัชกาลที่9 (ลดลงมาได้เยอะมาก)
จะเห็นว่า คนที่มีรายได้ทางเดียว ยามเศรษฐกิจดีๆ ก็จะไม่มีปัญหาอะไร เพราะมีรายได้ มากกว่ารายจ่ายปกติ ทำให้มีเงินเก็บ บ้าง แต่พอเศรษฐกิจเริ่มแย่ รายได้จะลดลง ซึ่งอาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่า คชจ. ปกติ ทำให้ต้องอยู่อย่างประหยัดลงเป็นเส้นสีม่วง ถึงจะมีเงินเหลือเก็บบ้าง หรือมีเงินพอใช้จ่าย แต่เมื่อเศรษฐกิจแย่สุดๆ (เช่นตอน Covid19 นี้) รายได้บางคนอาจจะเหลือน้อยมาก บางคนตกงานไม่มีรายได้เลยก็มี ซึ่งหากไม่เตรียมตัวไว้ ก็จะต้องเดือดร้อนไปก่อหนี้เพิ่ม แต่หากได้ทำตามทฤษฎีใหม่ ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ แล้ว ชีวิตก็คงดำเนินต่อไปได้ เพราะ คชจ. ลดลงอย่างมากจนแทบไม่มี
ส่วนคนที่มีรายได้หลายทาง เมื่อ เศรษฐกิจแย่สุดๆ ก็อาจจะพอเอาตัวรอดได้ ยิ่งหากมีรายได้ที่สวนกระแสกับเศรษฐกิจ (จะเขียนในส่วนที่2) ก็จะช่วยได้มาก (รายได้ C ในกราฟ) และหากได้ทำตามทฤษฎีใหม่ ของในหลวงรัชกาลที่๙ แล้ว ชีวิตก็คงดำเนินต่อไปได้แบบ สบายๆครับ
ดังนั้น ปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ จึงเป็นกลยุทธ์พื้นฐานสำคัญมากๆ ที่สามารถช่วยเราได้แทบทุกกรณี ทั้งช่วงที่ เศรษฐกิจดี และ แย่สุดๆ
ส่วนที่ 2 : กลยุทธ์ต่างๆที่ควรนำมาใช้ในช่วงเวลาต่างๆ ของวงจรเศรษฐกิจ ซึ่ง ในหลายๆข้อในบทความก่อนหน้านี้ของผมได้อธิบายไว้บ้างแล้ว ดังนั้นบทความนี้จึงขออธิบาย เฉพาะที่เห็นว่าสำคัญมากๆ ในยุคนี้ นั่นคือเรื่อง...ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และ กลยุทธ์อวตาร ( Avatar Strategy )
ส่วนที่2 ผังกลยุทธ์ที่ควรใช้ ในช่วงเวลาต่างๆ ( By Savvy Investor)
ส่วนที่ 2.1 กลยุทธ์ที่สอดคล้อง กับ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
อ้างอิงจาก ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
2. Never Depend on Single Income : อย่าพึ่งพารายได้ทางเดียว แม้ว่ารายได้จากทางนั้น จะดีแล้วสร้างฐานะของคุณมาจนถึงวันนี้แล้วก็ตาม เพราะหากเกิดอะไรขึ้นมา ที่ทำให้กิจการ หรือบริษัทของคุณต้องหยุดชงัก นั่นแปลว่า รายได้ทั้ง 100% ของคุณจะหายไปทันที ซึ่งอาจจะทำให้คุณเดือดร้อน ( เช่น ถ้าคุณเป็นเจ้าของโรงแรม คลีนิคหมอฟัน หรือร้านอาหาร หรือร้านสปา ในตอนนี้ ที่ถูกรัฐฯสั่งปิด รายได้ของคุณก็จะหายไปข้ามคืนเลยทีเดียว และหากคุณเป็นพนักงานในธุรกิจดังกล่าว เงินเดือนคุณอาจจะถูกลดลง หรือถึงขั้นตกงานเลยทีเดียวครับ) คล้ายกับที่ทรงเคยสอนพวกเราว่า เวลาปลูกสวนที่บ้าน ให้ปลูกในสิ่งที่กิน มีเหลือถึงเอามาแบ่งปันแล้วจึงขายสร้างรายได้ คือทรงสอนให้เอาตัวรอดไว้ก่อน อย่าโลภมาก เช่นหากคุณปลูกแต่มะนาว หากมะนาวราคาขึ้นก็ดีไป ได้เงินมาซื้อของกิน แต่ถ้ามะนาวราคาตกเมื่อไหร่ ก็แทบจะไม่มีอะไรกินเลยครับ นั่นคือรายได้ทางเดียวที่มีความเสี่ยงนั่นเอง
3
และอีกรูปแบบนึง ของลักษณะรายได้คือ ยามเศรษฐกิจปกติ รายได้จะธรรมดา กลางๆ แต่เมื่อไหร่ที่เศรษฐกิจแย่เมื่อไหร่ รายได้จะเริ่มมากขึ้น (รายได้C ในกราฟ ส่วนที่ 1 ) ต้องลองไปคิดๆดูครับ ว่ามีอาชีพหรือการลงทุนประเภทไหนบ้าง ที่เศรษฐกิจแย่แต่ธุรกิจนั้น ดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ตอนเศรษฐกิจไม่ดี แบบนี้ ธุรกิจอินเตอร์เน็ตดีมาก , โค๊ชออนไลน์ก็ดี , ตลาดสดก็ดีมาก เพราะมีคนมาขายของที่ตลาดมากขึ้น , เป็นต้น
6. Invest in Right Assets: ลงทุนในสิ่งที่สำคัญที่สุด จัดพอร์ตทรัพย์สิน และพอร์ตรายได้ให้เหมาะสม นี่ก็เป็นสิ่งสำคัญ ในหลวงทรงสอนให้รู้จัก พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันในตัว ดังนั้น ทรัพย์สินเงินทองที่หามาได้ ไม่ควรเก็บเป็นเงินสดอยู่ในธนาคารอย่างเดียว เพราะถ้าเงินบาทมูลค่าตกต่ำ (เช่นปี คศ 1997-2000) หรือเกิดเงินเฟ้อรุนแรง (Hyper Inflation ) คล้ายประเทศ เวเนซุเอลา เงินเราเองจะกลายเป็นแค่กระดาษทันที ถึงมีคำพูดที่ว่า “เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาสิของจริง”
ในที่นี้ หากท่านเริ่มมีเงินทองพอสมควรแล้ว ผมขอแนะนำ ให้แบ่งเก็บอยู่ในรูปอื่นๆบ้างเพื่อกระจายความเสี่ยง เช่นทองคำ ที่ดินทำกินสร้างเป็นปัจจัย4 และเพื่อให้เงินทำงานแทนเราบ้าง เช่น อสังหาริมทรัพย์ที่สร้างรายได้ให้เรา , ออมเงินผ่าน ไม้ป่าเศรษฐกิจบ้าง(Green Asstes ปลูกต้นละ 10บาท รอไป 20 ปี เกษียณ แบบสบายๆได้เลย ) , หุ้นปันผลดีๆ , หรือแม้กระทั่งสร้างทรัพย์สินทางปัญญาขึ้นมาเองด้วยครับ
อสังหาริมทรัพย์ดีๆ เปรียบเสมือนห่านทองคำ ที่ให้ไข่ทองคำเราทุกๆเดือน
แนวคิดการปลูกป่าให้เป็น Green Assets ลงทุนต้นละไม่กี่บาท ผ่านไป 20 ปี ขายได้ต้นละไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท ปลูก 1000-2000 ต้น ก็เกษียณสบายๆครับ
7. Strategic Alliances and Outsourcing: การหาผู้ช่วยหรือพันธมิตรทางธุรกิจ ที่เราเองไม่จำเป็นต้องครอบครองปัจจัยการผลิตไว้เองทั้งหมด เพราะมันจะทำให้เราต้องลงทุนมหาศาล หรือจ้างคนมากมาย เพื่อผลิตสินค้าบางอย่างที่ อาจยังเป็นที่ต้องการในปัจจุบัน...แต่ไม่รู้ว่า อนาคตอีกกี่วัน จะล้าสมัยหรือคนไม่ต้องการอีกต่อไป
ตัวอย่างที่เบสิคสุดๆ คือการลงแขกเกี่ยวข้าวของไทยสมัยก่อน คือเจ้าของนาข้าว ไม่ต้องจ้างพนักงานประจำมาคอยเกี่ยวข้าว แต่เป็นการใช้เพื่อนบ้าน(คล้ายๆ Outsourcing) มาช่วยเกี่ยวข้าวแทน ทำให้ลดภาระไม่ต้องมีลูกจ้างประจำ ก็ลด คชจ. ไปได้ แล้วเราก็จ่ายเพื่อนบ้านเป็นแรงกายตนเองคืนเป็นการตอบแทน
2
8. น้อมนำ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง : เมื่อก่อนในฐานะเด็กจบบริหารสมัยใหม่ ผมฟังแล้วไม่ค่อยเกทหรืออิน กับสิ่งที่ท่านบอกว่า ต้อง พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันในตัว และยังมีประโยคทำนองว่า ไม่ต้องการความเจริญแบบยิ่งยวด
1
มาวันนี้ เจอ COVID19 เข้าไป เห็นชัดเลยว่าประเทศที่เจริญแบบยิ่งยวดส่วนใหญ่(ที่ขาดความสมดุลระหว่างความมั่งคั่งในชาติ กับการผลิตปัจจัยสี่ที่ต้องพึ่งพาจากนอกประเทศ) ประชาชนจะเดือดร้อนกว่าประเทศที่มีการเกษตรเยอะๆ และคำว่าพอประมาณหรือมีภูมิคุ้มกันในตัว มันช่างเป็นภาพที่ชัดเจน มากๆสำหรับคนต่างจังหวัด ที่เมื่อมีวิกฤต ชีวิตจะไม่ได้ยากลำบากเหมือนกับชีวิตในเมืองกรุง หรือเจ้าของธุรกิจไหนที่กำลังทำธุรกิจอยู่รุ่งๆ เทหมดหน้าตักยังไม่พอ ยังกู้มาลงทุนเพิ่มเพื่อขยายกิจการ เพื่อเติบโต”อย่างยิ่งยวด” แบบกะรวยคนเดียว แต่พอโชคร้ายเจอพายุโควิด19 เข้าไปตอนนี้ก็จะหนักเลย ต่างกับคนที่กระจายความเสี่ยงออกไปบ้างไม่ถึงกับถูกน็อค วันนี้ผมได้แต่นึกขอบคุณพระองค์ ที่ทรงสอนไว้หลายๆโอกาส แม้ไม่เข้าใจมากในตอนนั้น แต่ก็ทำให้ผมยั้งมือ “มีความพอประมาณ” อยู่บ้างครับ
9. “มีเหตุผล” : ใช้สติ และ ปัญญา ให้ดีในการแก้ไขปัญหา : ( แยก Facts and Fears ออกจากกัน )ในสถานการณ์ที่ไม่ดี บางครั้งคนเราก็เมาหมัด แยกความจริงกับความกลัวไม่ออก ให้ถามตัวเองเสมอว่า “เราตัดสินใจช่วงเมาหมัดรึเปล่า? “ เพราะหากตัดสินใจพลาด สถานการณ์ก็จะเลวร้ายมากขึ้น หรือ ช่วงเมาหมัด อาจจะไม่ตัดสินใจอะไรบางอย่างทำให้พลาดโอกาส อย่างน่าเสียดาย
16. “หยิบยื่นฟืนไฟ ท่ามกลางหิมะ” : จริงๆคำพูดนี้เป็นภาษิตจีน หมายถึง การช่วยเหลือผู้อื่น ในยามที่เขายากลำบาก ซึ่งตรงกับคำสอนของพ่อหลวง ที่ให้คนไทยเรารักกัน แล้วช่วยเหลือกัน โดยเฉพาะในยามยากลำบาก หากไม่เกินความสามารถเรา สิ่งเหล่านี้เอง มันจะกลับมาช่วยเราไม่ทางตรงก็ทางอ้อมในสักวัน แต่ที่แน่ๆ จะทำให้สังคมน่าอยู่มากขึ้นครับ
1
ส่วนที่ 2.2 กลยุทธ์อวตาร (Avatar Strategy )
Cr. Avatar & Pinterest
ในยุคที่อะไรๆก็เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เอาแน่ไม่ได้ การปรับตัว หรือสร้างตัวตันขึ้นมาใหม่ จึงเป็นสิ่งสำคัญมากๆ เพื่อให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เชี่ยวกราด เราต้องพัฒนาตัวเองอย่างรวดเร็ว คล้ายๆกับการ
อวตาร เป็นอีกร่างหนึ่ง อย่างทันท่วงที ซึ่ง กลยุทธ์ ดังต่อไปนี้จะสอดคล้องกับกลยุทธ์อวตาร
1.Endless Learning : เรียนรู้ตลอดชีวิต หมายถึงการไม่หยุดที่จะเรียนรู้ เพื่อให้เท่าทันโลก เพราะโลกเราหมุนเร็วขึ้นจากการพัฒนาของเทคโนโลยีและการเกิดเทคโนโลยีใหม่ๆมากมาย ทำให้ความรู้วิทยาการใหม่ๆเกิดขึ้นในทุกๆวัน อาจารย์คณะวิศวฯ จุฬาฯ สอนผมและเพื่อนในวันเรียนจบว่า ตำรา(Text Book) ที่เราใช้เรียนในมหาวิทยาลัย จริงๆแล้ว มันแทบล้าสมัยตั้งแต่พิมพ์เสร็จ ดังนั้นพวกเราต้องหมั่นอ่านความรู้ในบทความหรือนิตยสาร ที่ยังถูกรวมเล่มกลายเป็นตำรา และต้องเรียนรู้เสมอแม้เรียนจบไปแล้ว ผมถือว่านี่คือคำสอนที่ดีที่สุดคำสอนนึงในชีวิต ที่ทำให้ผมมีทุกวันนี้
17. Stay connected and Updated: คล้ายๆข้อ1. แต่เน้นไปที่การเชื่อมต่อผู้คน และอัพเดตความรู้ เพื่อหา “จิตวิญญาณแห่งยุคสมัย” หรือ “เทรนด์ของอนาคต” นั่นเอง เพราะความรู้เกิดขึ้นทุกวันเราไม่มีทางเรียนรู้หมด ... แต่ความรู้จากผู้คนมากมายนั่น ทำให้เราสามารถค้นพบ “จิตวิญญาณแห่งยุคสมัย” ได้ง่ายยิ่งขึ้นครับ
1
( หมายเหตุ 1 :คำว่า “Stay Connected” ผมได้ไอเดียคำนี้จากหนังสือ The Visionary ที่พระองค์ท่าน พยายามติดต่อสื่อสารกับผู้คน ผ่านวิทยุสื่อสารเครื่องเล็กๆ เพื่อให้ทรงรับรู้ถึงสถานการณ์ ความเป็นอยู่จริงๆ ของพสกนิกรของพระองค์ / 2 : คำว่า “จิตวิญญาณแห่งยุคสมัย” เป็นคำที่ผมชอบมากกว่าคำว่า “เทรนด์ หรือ Trend “ เพราะมันสื่อไปถึงจิตใจของมนุษย์แต่ละยุคได้ดีครับ คำนี้ผมได้ยินครั้งแรกจาก หนังสือ Future ปัญญาอนาคต ของคุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ครับ จึงขอให้เครดิตหนังสือทั้ง 2 เล่มที่ดีมากๆนี้ด้วยครับ )
2
18. Think Big , Start small : เมื่อเราค้นพบว่าอะไรคือ “จิตวิญญาณแห่งยุคสมัย” หรือ เราควรพัฒนาตัวเองในทางไหน ก็ควรคิดให้ใหญ่ คิดให้ไกล แต่ ค่อยๆเริ่มต้นแบบเล็กๆครับ รอเมื่อวันฟ้าเปิด โอกาสเป็นใจ
1
ก่อนในหลวงรัชกาลที่๙ ท่านจะทำโครงการใหญ่ๆอะไร ท่านมักจะให้ทดลองเล็กๆ ก่อนเสมอ เมื่อมีข้อปรับปรุงอะไร ก็ทรงแก้ไขแล้ว จึงขยายผลไปใน พื้นที่อื่นๆ เช่นกันกับการริเริ่มอะไรใหม่ๆ เราควรค่อยๆทดลองในกลุ่มเล็กๆไปก่อน เมื่อข้อสมมติฐานถูกต้อง จึงขยายกิจการเดินหน้าต่อ อันนี้ลองไปดูหนังเกาหลีเรื่อง อิแทวอน คลาส (Itaewon Class ใน Netflix) ก็เป็นประมาณนั้นครับ
19. Reinvent Yourself : สร้างตัวตนขึ้นมาใหม่ ตามกติกาโลกใหม่ พูดง่ายๆคือเหมือนเราอวตาร ตัวตนของเราขึ้นมาใหม่ อันนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ยากที่สุด เพราะมันคือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของเรา ดังนั้นทั้งปัญญา ทักษะการเรียนรู้ใหม่ๆ คอนเนคชั่น และสรรพกำลัง ทั้งหลายต้องนำมาใช้ให้เต็มที่เพื่อที่จะได้ Rebirth หรือ เกิดใหม่อีกครั้ง
อย่างที่ ชาร์ลส ดาร์วิน พูดไว้ว่า “ไม่ใช่ผู้ที่แข็งแกร่งหรือฉลาดที่สุด ที่จะอยู่รอด แต่คือผู้ที่รู้จักปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่สุด “
บทความชิ้นนี้ ใช้เวลาเขียนนานมากตั้งแต่เริ่มเขียนมา ผมไม่ได้คาดหวังสิ่งใด นอกจากจะช่วยเหลือผู้คนที่บังเอิญได้เข้ามาอ่านครับ หากมีประโยชน์ก็ขออุทิศบุญให้กับท่านเจ้าของศาสตร์ความรู้ต่างๆที่ผมได้เรียนรู้มาครับ
1
"เป็นการง่ายยิ้มได้ไม่ต้องฝืน
เมื่อชีพชื่นเหมือนบรรเลงเพลงสวรรค์
แต่คนที่ควรชมนิยมกัน
ย่อมใจมั่นยิ้มได้เมื่อภัยมา"
จากหนังสือ เพชรพระอุมา ครับ
ถ้าอยากให้เพื่อนๆ ญาติพี่น้อง ของท่านได้อ่านบทความนี้ด้วย อย่างลืมช่วยแชร์ให้เขาเหล่านั้นด้วยนะครับ
สวัสดีวันสงกรานต์ย้อนหลังครับ
๑๓-๒๕ เมษายน ๒๕๖๓
อ่านหนังสือ The Visionary ตามลิงค์นี้ได้เลยครับ
โฆษณา