4 เม.ย. 2020 เวลา 01:33 • ความคิดเห็น
บทเรียนเสียรู้บริษัทประกันโควิดเพราะความตื่นกลัว
หลังจากหายจากฝุ่นตลบตื่นตูม(ต้องใช้คำนี้เลยครับ)เรื่องประกันโควิด หายจากอาการตาหูเหลือก(แย่งกันซื้อประกันราวแจกฟรี)ก็ได้มีการจับเข่าสรุปบทเรียนค่าโง่กันมาในวงไลน์เล็กๆของผมเอง ก็อยากนำมาแบ่งปันกันครับ
ข้อมูลที่ได้ ไม่ได้ระบุนะครับว่ามาจากบ.ประกันอะไรบ้าง แต่เป็นประสบการณ์ที่พวกเราในไลน์กลุ่มพบเจอกันมาและเอามาโยนๆกองๆรวมๆกัน ดังนั้น ถ้าใครจะทำประกัน อยากให้ซักประเด็นเหล่านี้ให้สะอาดหมดจดก่อนจ่ายค่าเบี้ยประกัน ไม่งั้น เสียค่าโง่ ไม่รู้ด้วยนะครับ
1. ตระกูลเหมาจ่าย คือ ประกันแบบ คุ้มสุด ชัดเจนสุด ปัญหาน้อยที่สุด ผู้ซื้อประกันได้ประโยชน์สูงสุด แต่แน่นอนว่าบ.ประกันบางแห่งเลิกขาย เพราะผู้ซื้อคุ้ม ผู้ขายย่อมไม่คุ้ม มี 2 แบบใหญ่ๆ
1.1 เจอ จ่าย จบ ตรวจเจอ จ่ายไปเลยเป็นเงินก้อน แล้ว บ๊าย บาย ปิดจ๊อบ
1.2 ทดแทนรายได้ นอนรพ.กี่วัน วันล่ะเท่าไร สูงสุดกี่วันก็ว่าไป (แบบนี้มักไม่ขายเดี่ยว จะแทรกไปกับประกันค่ารักษาพยาบาลที่จะได้กล่าวในหัวข้อต่อไป)
ส่วนที่เบลอๆไม่ชัดเจนที่สุดคือหมวดลูกผสม หรือ เจอ จ่าย ไม่จบ มีคุ้มครองโน้นนี่ประกอบเข้ามาให้ตัดสินใจเทียบเบี้ยประกันลำบาก ซึ่งก็จะมี 2 หมวด ย่อย คือ ประกันชีวิต กับ ประกันค่ารักษาพยาบาล ไปดูกันว่า แต่ล่ะหมวดนี้มีประเด็ดให้ปวดตับกันตรงไหนบ้าง
2. ประกันแบบเสียชีวิตจ่าย มีประเด็นยุ่งยากดังนี้
2.1 จ่าย ถ้าโคม่าเกิน xx ชม. (ขึ้นกับแต่ล่ะบ.) ด้วยโควิด
2.1.1 ไม่ได้บอก ตายจ่ายไหม ในกรรมธรรม์ไม่มีคำว่าตายจะจ่าย (แต่มีตัวแทนฯบ.หนึ่งให้ข้อมูลว่าถ้าโคม่าก็คือตายนั่นแหละ แต่คำถามคือ แล้วทำไม่ไม่มีประโยคว่า เสียชีวิตแล้วจะจ่าย หรือ บางกรรมธรรม์เขียนว่า จ่ายในกรณีภาวะความเจ็บป่วยระยะสุดท้าย ก็แปลกดีว่าทำไมไม่เขียนคำว่าเสียชีวิตไปให้มันชัดเจน)
2.1.2 ถ้าโคม่าน้อยกว่า xx ชม. หายโคม่าแล้วพิการ หรือ เสียชีวิตหลังฟื้นจากโคม่า ไม่รู้ว่าจ่ายไหม ต้องไปฟ้องร้องกัน กรรมธรรม์บางบ.ไม่ได้เขียนชัดเจนครอบคลุมถึง
2.1.3 โคม่า หรือ ตายจากโรคแทรกซ้อน หรือ จากโรคที่เป็นมาก่อน โดยโควิดทำให้แย่ลงจนตาย หรือ โคม่า ไม่จ่าย (ปกติคนที่จะตาย หรือ โคม่า ก็เพราะโรคแทรก หรือ ปัญหาสุขภาพทั้งนั้นแหละ คนแข็งแรงๆดี โอกาสโคม่า หรือ ตายน้อยมากๆ)
2.2 เวลาแพทย์ลงความเห็นการเสียชีวิต หรือ โคม่า จะลงความเห็นไปที่เหตุโดยตรง เช่น ปอดอักเสบ น้ำท่วมปอด หัวใจทำงานล้มเหลวเฉียบพลัน ติดเชื้อในกระแสเลือด แต่จะไม่ระบุชัดไปว่า ปอดอักเสบเพราะเชื้ออะไร ติดเชื้ออะไรในกระแสเลือด ทำไมหัวใจถึงทำงานล้มเหลว แม้ผลการตรวจโควิคจะพบว่าติดเชื้อโควิดจริง แต่ทำให้เป็นประเด็นในเชิงกฏหมาย(ต้องไปตีความฟ้องร้องกันต่อ) เพราะติดเชื้อโควิดจริง แต่ที่เสียชีวิตนั้น เพราะร่างกายอ่อนแออยู่ก่อนแล้ว หรือ โรคแทรกซ้อน บ.ประกันมีหลักฐานเยอะกว่า (และเราก็รู้กันดี) ว่า คนที่ร่างกายแข็งแรงติดเชื้อโควิดแต่ไม่เป็นอะไร หายเองได้ถึง 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ นั่นแสดงว่าที่ตายหรือโคม่า ไม่ใช่เพราะโควิด แต่เพราะโรคแทรกซ้อน และ โรคที่เป็นก่อนหน้าต่างหาก งั้น บ.ประกันไม่จ่าย คือ บ.ประกันจะจ่ายถ้าตายหรือโคม่าต้องเป็นกรณีร่างกายแข็งแรงปกติๆไม่มีโรคแทรกไม่มีโรคเป็นมาก่อนติดเชื้อโควิดแล้วตาย (กรณีนี้น้อยมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ)
2.3 ตอนโฆษณาบอกว่ามีโรคประจำตัวมาก่อนก็ทำประกันได้ แต่พออ่านในกรรมธรรม์ที่ส่งมาให้หลังจ่ายเบี้ย กลับบอกว่า ไม่คุ้มครอง(เสียชีวิตหรือรักษาพยาบาล)โรคที่เป็นมาก่อน ซึ่งโดยหลักการนั้น ถูกต้อง ไม่มีประกันที่ไหนรับประกันโรคที่เป็นมาก่อน แต่ปัญหาคือโควิดมันทำให้โรคที่เป็นมาก่อนทรุดและเสียชีวิตหรือต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลโรคที่เป็นมาก่อนนั้น เช่น โรคที่เป็นมาก่อนคือ ความดันสูง พอติดเชื้อโควิด ทำให้ความดันสูงจนเส้นเลือดในสมองแตกตาย แบบนี้จะตีความว่าตายเพราะโรคที่เป็นมาก่อนหรือโควิด ผมไม่มีคำตอบ แต่พอจะมองเห็นข้อโต้แย้งที่จะไม่จ่าย
3. ประกันแบบค่ารักษาพยาบาล
3.1 ไม่จ่ายค่าอาหาร ค่าห้อง จ่ายแต่ค่ายาโควิด และ หัตถการอันเนื่องจากโควิด เท่านั้น
3.2 ไม่จ่ายค่ารักษาพยาบาล (ยาและอื่นๆ) อันเนื่องจาก รักษาตามอาการ โรคแทรกซ้อน และ โรคที่เป็นมาก่อน เป็นที่ทราบกันดีว่า โรคโควิดนั้นโดยมากจะรักษาให้ยาตามอาการ(ไม่จ่าย) รักษาโรคแทรกซ้อนที่โควิดทำให้แย่ลง(ไม่จ่าย) รักษาโรคที่เป็นมาก่อนแล้วโควิดทำให้แย่ลง(ไม่จ่าย)
3.3 จ่ายตามจริงนะ ... รัฐประกาศปาวๆว่ารักษาฟรี ทั้งยาโควิด รักษาตามอาการ โรคแทรกซ้อน และ โรคที่เป็นมาก่อน รพ.เอกชนก็ได้รับค่ารักษาจากรัฐ ดังนั้น ผู้ป่วยแทบไม่ต้องจ่ายอะไร นอกจากค่าอาหาร ค่าห้อง (ซึ่งประกันโควิดไม่จ่ายค่าอาหาร ค่าห้อง)
3.4 ค่ารักษาพยาบาล (ถ้าจ่าย) ก็จะจ่ายเป็นหมวดย่อยๆยุบยิบ แต่ล่ะหมวดก็มีเพดาน ไม่สามารถเอาวงเงินที่เหลือจากหมวดหนึ่งไปจ่ายอีกหมวดหนึ่งได้ (ปกติของระบบประกันครับ แค่มาย้ำให้ตระหนักเท่านั้น) เช่น ค่ายา xx บาท ค่าโน้น yy บาท ค่านี่ zz บาท ถ้าค่ายาเกิน xx บาท เราก็ต้องจ่ายส่วนเกิน ไม่สามารถเอาส่วน yy zz ที่ยังใช้ไม่หมดมาจ่ายค่ายาได้ แต่ตอนโฆษณาไม่ให้รายละเอียด บอกแต่ว่า xx + yy + zz = 500000 แต่เอาเข้าจริง จ่ายเองเพียบ เพราะ บ.ประกันซอย 500000 เป็นหมวดย่อยๆมากมาย
3.5 สรุปว่า ถ้าหวังจะเอาประกันค่ารักษาพยาบาลจากบ.ประกัน เราจะเสียค่าโง่ล้วนๆ บ.ประกันแทบไม่ต้องจ่ายอะไรเลยครับ รัฐออกให้หมดจ้าถ้าติดโควิดจริง
4. หลายๆบ.ประกันที่
4.1 โทรฯไปสอบถามรายละเอียด เงื่อนไข ข้อยกเว้นต่างๆ ไม่มีพนักงานรับสาย สายไม่ว่าง
4.2 สายว่าง มีพนักงานรับสาย แต่ขาดความรู้ ขาดข้อมูลที่จะให้ความกระจ่าง (อาจจะเป็นเป็นเพราะสินค้าใหม่ พนักงานไม่รู้รายละเอียด) ถามไปก็ตอบว่า ไม่ทราบ ไม่ชัดเจน ไม่แน่ใจ
4.3 สายว่าง มีพนักงานรับสาย แต่ไม่รับทำประกันทางโทรศัพท์ แนะนำให้ไปทำออนไลน์
5. ในการซื้อประกัน ไม่ว่าออนไลน์ หรือ ไม่ออนไลน์ เราไม่สามารถเห็นกรรมธรรม์ก่อนจ่ายค่าเบี้ยประกันได้ เป็นเรื่องตลก (แต่ปกติ เพราะเป็นแบบนี้มาชาตินึงแล้ว) เราไม่สามารถเห็นสินค้าก่อนจ่ายตังค์ แต่มีช่วงเวลาให้เรายกเลิกการซื้อได้ภายใน 15 วันหลังได้รับกรรมธรรม์ แต่ก็ไม่ได้บอกวิธีการว่ายกเลิกได้อย่างไรในกรณีซื้อออนไลน์ (ถ้าซื้อกับตัวแทนประกันนั้นยกเลิกได้ง่าย โดยโทรฯไปบอกยกเลิกกับตัวแทนแล้วให้มาเอาเล่มกรรมธรรม์คืนไปก็จบ)
6. คปภ. (คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย) ทำงานเชิงรับมากๆ ไล่ตามบ.ประกันไม่ทัน ไม่สามารถเข้ามาคุ้มครองดูแลความเป็นธรรมของกรมธรรม์แบบใหม่ๆที่ออกมาได้ ปัดความรับผิดชอบให้ผู้ซื้อประกัน โดยมักให้คำตอบว่า ผู้ซื้อประกันมีสิทธิ์คืนกรรมธรรม์ได้ภายใน 15 วัน โดยได้รับค่าเบี้ยที่ชำระไปคืนเต็มจำนวน (เพราะฉะนั้นไปอ่านทำความเข้าใจภาษากฏหมาย ภาษาประกันเอาเองนะจ๊ะ)
สุดท้าย ย้ำอีกทีว่า เป็นข้อสังเกตุจากหลายๆคน หลายๆบ.ประกัน หลายแบบกรรมธรรม์ ที่เจอมาในลักษณะคล้ายคลึงกัน ไม่ใช่ทุกบ.ประกัน ทุกกรรมธรรม์เป็นแบบนี้ แต่ก็อยากให้รู้ไว้เป็นรายการที่ต้องตรวจสอบทำความเข้าใจก็แล้วกันว่า ก่อนจะซื้อประกันโควิด ให้พิจารณาประเด็นเหล่านี้

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา