4 เม.ย. 2020 เวลา 06:15 • การเมือง
EP2. เงื่อนไขขั้นต่ำของประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง
เมื่อกล่าวถึงองค์ประกอบพื้นฐานของประชาธิปไตย นักรัฐศาสตร์มีมุมมองในการอธิบายและวางเงื่อนไขในการพิจารณาไว้ค่อนข้างหลากหลายทั้งในมุมมองที่พิจารณาจากเงื่อนไขขั้นต่ำสุด (minimalist perspective) ไปจนถึงเงื่อนไขขั้นสูงสุด (maximalist perspective)
นักรัฐศาสตร์บางกลุ่มให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งในฐานะองค์ประกอบพื้นฐานที่สุดและกลไกสำคัญในการผลักดันกระบวนการประชาธิปไตย ดังที่ โจเซฟ ชุมปีเตอร์ (Joseph Schumpeter) มีมุมมองต่อประชาธิปไตยว่ามิใช่อะไรอื่นนอกจากการแข่งขันระหว่างพรรคการเมืองผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นวิธีการทางการเมืองสำหรับการเลือกผู้นำทางการเมืองจากผู้ที่เสนอตัวเข้ามา และในการเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไป ประชาชนก็สามารถเปลี่ยนผู้นำของเขาได้
มุมมองดังกล่าวนับว่ามีความสอดคล้องกับนักวิชาการคนอื่นๆ เช่น จิโอวานี ซาโตริ (Giovanni Sartori) แอดัม ชวอร์สกี้ (Adam Przeworski) และริชาร์ด พอสเนอร์ (Richard Posner) ที่ให้ความสำคัญกับการแข่งขันทางการเมืองภายใต้กระบวนการเลือกตั้งที่สุจริต เที่ยงธรรม สม่ำเสมอ และเป็นกระบวนการที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกคนมีเสรีภาพในการแข่งขันเพื่อการได้รับเลือกตั้งจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
ประชาธิปไตยในมุมมองเช่นนี้จึงเป็นสภาพทางการเมืองที่อย่างน้อยที่สุดต้องมีการเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมผ่านกระบวนการเลือกตั้ง
EP2. เงื่อนไขขั้นต่ำของประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง
โฆษณา