5 เม.ย. 2020 เวลา 05:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
5 โรค
ปลาทองยอดฮิต
การที่เราจะเลี้ยงปลาทองให้เติบโต สมบูรณ์ แข็งแรงและมีคุณภาพนั้นจำเป็นต้องมีการดูแลเอาใจใส่ที่ดี แต่ในบางครั้งเมื่อเราเจอสภาพอากาศที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน
ซึ่งพบว่า... ช่วงต้นฤดูฝนปลาที่เราเลี้ยงไว้กลางแจ้งมักจะเกิดการล้มป่วยและตายโดยไม่รู้สาเหตุ สาเหตุอาจเป็นเพราะอุณภูมิที่ลดลงมาอย่างรวดเร็ว เนื่องจากก่อนฝนตกอากาศจะร้อนอบอ้าว แต่พอฝนตกลงมาแล้วทำให้อากาศเย็นลงเฉียบพลัน ประกอบกับคุณสมบัติของน้ำก็เปลี่ยนไปอีกด้วย จนทำให้ปลาปรับสภาพไม่ทันทำให้ปลาทองที่เราเลี้ยงเกิดการล้มป่วยเกิดขึ้น
1. โรคตกเลือด
อาการ : มีอาการเป็นจํ้าแดง ๆ ตามลำตัว ปลาจะมีอาการตกเลือดทั้งภายนอกและภายใน บางครั้งจะพบว่ามีอาการบวมบริเวณท้องและตา มีน้ำเหลืองในช่องท้องเป็นแผลเน่าบริเวณลำตัวเป็นแห่ง ๆ บางตัวอาจถึงกับเหงือกเน่าและไตอักเสบร่วมด้วย พบมากในปลาเลี้ยงทั่วไปทุกชนิดทุกสายพันธุ์ ไม่เพียงแต่ปลาทอง
2
สาเหตุ : เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า Aeromonus hygrophila และ Pseudomonas spp. ซึ่งมาจากนํ้าที่ใช้เลี้ยงนั้นสกปรกนั้นเอง
การรักษา : ถ่ายน้ำเก่าออกประมาณ 60-80% ของปริมาณน้ำทั้งหมด ใส่เกลือแกง 1 ถุง/นํ้า 40 ลิตร รอดูอาการปลาประมาณ 3-5 วัน เมื่อรู้สึกว่าปลากลับมาว่ายน้ำ แข็งแรงเป็นปกติ ให้เปลี่ยนถ่ายน้ำเป็นประจำสม่ำเสมอ โดยถ่ายน้ำออกประมาณ 30-50% ของปริมาณน้ำทั้งหมดก็เพียงพอ ในกรณีอาการหนักอาจจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะเข้ามาช่วยด้วย
2. โรคครีบเปื่อย / หางเปื่อย / หางเน่า
อาการ : บริเวณครีบและหางจะมีลักษณะขาดวิ่น เป็นขุยสีขาว ๆ ครีบและปลายหางจะมีสีคล้าย ๆ สีขาวขุ่น แล้วจะค่อย ๆ ลามไปยังบริเวณอื่น ๆ เมื่อมีอาการหนักมากยิ่งขึ้นเนื้อบริเวณหางจะหลุดหายไป ส่งผลให้ปลาทองไม่สามารถว่ายน้ำเองได้และตายลงในที่สุด
สาเหตุ : เกิดจากเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดที่เกิดจากการหมักหมมและความสกปรกของน้ำที่ใช้เลี้ยงปลาทองเป็นระยะเวลายาวนาน โดยที่ไม่มีการเปลี่ยนน้ำหรือล้างตู้ปลาและบ่อปลาเลยนั้นเอง (อาหารและขี้ปลาจำนวนมาก)
1
การรักษา : ควรเปลี่ยนน้ำเก่าออกประมาณ 30-50% ของน้ำทั้งหมด และใส่เกลือแกง 1 ถุง/นํ้า 40 ลิตร แล้วรอดูอาการประมาณ 3-5 วัน เมื่ออาการเริ่มดีขึ้นควรเปลี่ยนนํ้าใหม่ทันที 50-90% และใส่เกลือแกงลงไปอีกเล็กน้อยเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำของเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย พยายามเปลี่ยนถ่ายน้ำและทำความสะอาดตู้ปลาอยู่เสมอ (ล้างทำความสะอาดตู้ปลาหรือเปลี่ยนน้ำอย่างน้อย 3-5 วัน/ครั้ง)
1
3. โรคเห็บ
อาการ : ปลาทองจะมีอาการคันและพยายามที่จะเอาตัวถูกับพื้นตู้ตลอดเวลา ถ้าเราสังเกตุที่บริเวณตัวปลาจะเห็นเม็ดขาวใส ๆ เกาะอยู่ นั่นแหละที่เรียกว่า “เห็บ” ซึ่งเห็บมีลักษณะกลมแบนคล้ายรูปจานใส ๆ ขนาดยาว 3-5 มิลลิเมตร มีขา 8 ขา แต่ละขายังแยกเป็นขาละ 2 คู่ เกาะอยู่ตามลำตัวของปลาทอง ปลาทองที่มีเห็บเกาะอยู่จะว่ายน้ำผิดปกติ ชอบถูตัวไปมากับพื้นตู้ ก้อนหินหรือไม้น้ำตลอดเวลาเมื่อมีอาการคัน
1
บางตัวการกินอาหารก็น้อยลง การที่ปลาทองเอาตัวถูไปมากับตู้นั้นเพื่อที่จะให้เห็บหลุดนั้นเอง ซึ่งสิ่งที่น่ากลัวตามมาก็คือ “เกล็ดปลาจะหลุดเป็นแผลแทน” แล้วถ้าอาการหนักมากขึ้นปลาทองจะไม่ยอมว่ายน้ำเลย หลบอยู่ตามมุมตู้หรือมุมบ่อต่าง ๆ
สาเหตุ : เกิดจากเชื้อ Argulus sp. ทำให้ลำตัวปลาทองจะมีรอยแดง เมื่อตรวจดูจะเห็นเห็บตัวเล็ก ๆ เกาะแน่นตามบริเวณลำตัวปลาทอง ลักษณะจะคล้ายจานแบน ๆ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-10 มิลลิเมตร มีสีเขียวอ่อนหรือสีเหลืองอ่อนแกมเขียวและน้ำตาล มีอวัยวะคล้ายเหล็กใน(Sting) แทงเข้าไปในใต้ผิวหนังของปลาเพื่อดูดเลือดหรือของเหลวในเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังปลาทองเป็นอาหาร บริเวณปากจะมีต่อมพิษเพื่อปล่อยสารพิษมาทำอันตรายต่อปลาทอง
การรักษา : ควรแยกปลาที่เป็นโรคนี้ออกมารักษาต่างหาก เตรียมน้ำสะอาดที่ปราศจากคลอรีนผสมใส่ด่างทับทิมหรือดิพเทอเร็กซ์ในอัตราส่วน 0.25-0.5 กรัม/น้ำ 1,000 ลิตร (โดยผสมกับนํ้าให้เป็นสีบานเย็น) สังเกตอาการเป็นเวลา 3-7 วัน ถ้างดอาหารได้ในช่วงรักษาก็จะยิ่งดี เพราะเชื้อโรคนั้นสามารถแอบแฝงมากับน้ำหรืออาหารปลาที่เราให้ก็ได้
4. โรคหนอนสมอ
อาการ : ปลาที่พบหนอนสมอจะมีอาการซึม ผอมแห้งกระพุ้งแก้มเปิดอ้า ไม่กินอาหาร ว่ายถูตัวไปมากับขอบตู้หรือบ่อ มีรอยแดงช้ำเป็นจ้ำตามตัว เนื่องจากปลาระคายเคืองเป็นอย่างมาก
สาเหตุ : เกิดจากเชื้อ Lernaea sp. รูปร่างเพรียวยาวขนาด 6-12 มิลลิเมตร กว้าง 0.5-1.2 มิลลิเมตร โรคนี้จะเกิดกับปลาน้ำจืดทุกชนิด ไม่ใช่แค่ปลาทอง หนอนสมอจะใช้ส่วนหัวและอกฝังลงไปในเนื้อเยื่อตามผิวหนังของปลาและจะยื่นส่วนท้ายของลำตัวที่เป็นทรงกระบอกออกมานอกผิวหนังของปลา ทำให้เห็นเหมือนมีเส้นด้ายเกาะติดอยู่ที่ตัวปลา ถ้าเราดึงหนอนสมอออกมา ส่วนที่เป็นสมอมักจะขาดติดอยู่ใต้ผิวหนังของตัวปลาทำให้เกิดแผลขนาดใหญ่ จะส่งผลเป็นทางให้แบคทีเรียเข้าสู่ตัวปลาได้ง่ายยิ่งขึ้นและจะทำให้เกิดโรคอื่นตามมาภายหลัง
การรักษา : ควรแยกปลาที่เป็นโรคนี้ออกมารักษาแยกต่างหาก เพราะโรคหนอนสมอเป็นโรคติดต่อแต่ไม่ร้ายแรงนัก เตรียมน้ำสะอาดปราศจากคลอรีนผสมด่างทับทิมหรือดิพเทอเร็กซ์ 0.25-0.5 กรัม/น้ำ 1,000 ลิตร (โดยผสมกับนํ้าให้เป็นสีบานเย็น) ดูแลเอาใจใส่ติดต่อกันเป็นเวลา 3-5 วัน อาการของปลาก็จะเริ่มดีขึ้น ในช่วงรักษาตามอาการปลาควงงดให้อาหาร เพราะหนอนสมออาจแอบแฝงมากับน้ำที่สกปรกหรืออาหารที่เราจะให้ปลาทองก็ได้เช่นกัน
1
5. โรคจุดขาว
อาการ : เมื่อเป็นแล้วจะรักษาให้หายเป็นปกตินั้นเป็นไปได้ยากมาก แต่ถ้าเรารู้ตัวเร็วก็สามารถรักษาให้หายได้ โรคจุดขาวของปลาทองจะมีจุดขาวขนาดเล็กประมาณ 0.5-1 มิลลิเมตร ปรากฎขึ้นตามลำตัว ครีบและเหงือก แล้วจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเห็นได้อย่างชัดเจน
3
เมื่อเป็นแล้วจะลุกลามและทำให้ปลาตายได้ในเวลาอันสั้น ลักษณะการว่ายน้ำจะแกว่งลำตัวไปมาและพยายามจะถูลำตัวกับพื้นก้อนหินหรือต้นไม้น้ำ เพื่อให้จุดขาวเหล่านี้หลุดออกไป และต่อมาจะไม่ค่อยยอมกินอาหาร แล้วจะลอยคอขึ้นมาอยู่บนผิวน้ำหรือบางตัวอาจจะซุกตัวอยู่ตามมุมนิ่ง ๆ ของตู้ปลาหรือบ่อปลา
อาการ : เกิดจากเชื้อจุลินทรีย์ในน้ำชนิดหนึ่งชื่อ lchthyophthirius sp. และโปรโตซัวขนาดใหญ่ที่มีรูปร่างเป็นรูปไข่ Ichthyophthirius multifilis
โดยจะฝังอยู่ที่ผิวและเหงือกของปลา ปลาจะสร้างเซลล์ผิวหนังชั้นนอกเพิ่มขึ้นจนหุ้มปรสิตหมด ทำให้บริเวณนั้นกลายเป็นจุดขาว ๆ ระคายเคือง ผิวหนังและจะมีอาการคันตามมา ปรสิตจะขยายพันธุ์และเจริญเติบโตเต็มที่แล้วหลุดออกจากตัวปลา ว่ายน้ำเป็นอิสระ ปรสิตส่วนหนึ่งจะสร้างเกราะหุ้มตัวให้ตัวอ่อน
เมื่อสภาพเหมาะสมเกราะก็จะแตกออก ตัวอ่อนก็จะว่ายเข้าไปติดตัวปลาทองต่อไป (ถ้าเกาะไม่แตกก็ส่งผลให้ตัวอ่อนตายได้ภายใน 3-4 วัน) โรคจุดขาวจะลามภายใน 7-8 ชั่วโมงเท่านั้น ส่วนมากมักเกิดขึ้นในช่วงหน้าฝน เมื่อปลากระทบน้ำฝนหรืออุณหภูมิในน้ำเปลี่ยนแปลงจนหนาวเย็นจัดหรือแกว่งไปแกว่งมา ปลาจะมีอาการเซื่องซึม ครีบเปื่อย สุขภาพเริ่มอ่อนแอลง เคลื่อนไหวได้น้อยลง เชื้อจุลินทรีย์จะเข้ามาเกาะที่ตัวปลาได้ง่ายขึ้น
การรักษา : พยายามรักษาระดับอุณหภูมิของน้ำให้สม่ำเสมอ อย่าให้อุณหภูมิน้ำแกว่งหรือเปลี่ยนแปลงโดยฉับพลัน และเมื่อมีจุดขาวเกิดขึ้นควรแยกปลาออกมากักโรคได้ก็จะเป็นการดี(รู้เร็ว รักษาได้เร็วก็มีโอกาสหายได้เร็ว) ซึ่งการรักษามีด้วยกันทั้งหมด 3 วิธี (เลือกตามความถนัดของเจ้าของได้เลย)
1
วิธีที่ 1 : เตรียมน้ำสะอาดที่ปราศจากคลอรีน อุณภูมิของน้ำอยู่ประมาณ 25-28 องศา ใส่เกลือแกงลงไปหยิบมือ แยกปลาทองที่เป็นโรคออกมากักตัวรักษาเป็นเวลา 7-14 วัน โดยเปลี่ยนถ่ายน้ำทุก ๆ 3 วัน ครั้งละ 20-40% ของน้ำทั้งหมด
วิธีที่ 2 : เตรียมน้ำสะอาดปราศจากคลอรีนผสมมาลาไคท์กรีน 0.1-0.2 กรัม/น้ำ 1,000 ลิตร แยกปลาทองที่เป็นโรคออกมากักตัวรักษาเป็นเวลา 7-14 วัน หรือผสมมาลาไคท์กรีนร่วมกับฟอร์มาลิน อัตรา 4 ซีซี : 1 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร
วิธีที่ 3 : กรณีร้ายแรงสุดเมื่อเห็นหนอนสมอตัวใหญ่มากแล้ว ให้เตรียมน้ำสะอาดปราศจากคลอรีนผสมฟอร์มารีน 3-5 cc ลงในนํ้า 40 ลิตร ดูแลรักษาเป็นเวลาติดต่อกัน 2-3 วัน (ข้อควรระวัง : ไม่ควรใส่ฟอร์มารีนมากไป เพราะจะทำให้ปลาตายพร้อมเชื้อโรคได้)
สิ่งที่ผมอยากแนะนำสำหรับทุกคนที่เลี้ยงปลาทองเลยก็คือ หมั่นดูแลรักษาคุณภาพน้ำให้สะอาดอยู่เสมอ เปลี่ยนถ่ายน้ำประมาณสัปดาห์ละครั้งก็ยังดี(เปลี่ยนน้ำประมาณ 30-50% ของปริมาณน้ำทั้งหมด) และควรจัดระบบกรองให้ดีทั้งกรองหยาบ กรองละเอียดและกรองชีวภาพ ยิ่งระบบกรองดีก็ยิ่งทำให้คุณภาพน้ำดี ส่งผลให้ปลาทองมีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรง โตวันโตคืน
แหล่งอ้างอิง 1 : www.kritsadajaipadcha.wordpress.com
แหล่งอ้างอิง 2 : www.fisheries.go.th
พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำออนไลน์
fishway
Website : ...coming soon...
Youtube : ...coming soon...
Tiktok : ...coming soon...
Line VOOM : ...coming soon...

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา