5 เม.ย. 2020 เวลา 01:14 • สุขภาพ
Covid-19 กับตำราพิชัยสงคราม
“Hundreds of thousands of people in China did not get COVID-19 because of this aggressive response,” นี่คือคำพูดของ Bruce Aylward นักระบาดวิทยาชาวแคนนาดา ผู้ที่เป็นหัวหน้าทีมจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ในการลงพื้นที่เมืองอู่ฮั่นในครั้งนี้ จากรายงานของการลงพื้นที่ได้ชมเชยถึงกลยุทธ์การจัดการของประเทศจีนที่มีประสิทธิภาพเเละบูรณาการร่วมถึงการใช้เทคโนโลยีชั้นสูงเข้ามาช่วยในการต่อสู้กับไวรัส
หากย้อนกลับไปเมื่อ 1 เดือนที่ผ่านมา ทุกคนคงจำได้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศจีนที่สะสมและเกิดขึ้นใหม่ในแต่ละวันมีจำนวนเยอะมาก ติดเชื้อเพิ่มหลายพันคนต่อวันและจำนวนผู้เสียชีวิตก็หลายร้อยคนต่อวันเช่นกัน ในขณะที่ปัจจุบันตอนนี้เตียงเริ่มว่าง รพ. สนามเริ่มปิดตัวลง ร่วมถึงจำนวนผู้ป่วยที่เหลือน้อย (eligible patient) จนทางแพทย์ไม่สามารถทดสอบวัคซีนได้อย่างมีประสิทธิภาพเนื่องจากกลุ่มตัวอย่างนั้นลดลง
ทางทีมระบาดวิทยาของ WHO ได้ลงพื้นที่ 5 เมืองที่สำคัญได้แก่ อู่ฮั่น กวางโจว เซินเจิ่น เชิงตู เเละปักกิ่ง ต้องประหลาดใจกับกลยุทธ์และมาตราการที่ทางการจีนใช้เพื่อควบคุม หากอุปมาอุปมัยไวรัสคือข้าศึกที่กำลังโจมตีเมืองหลวง มาดูสิว่าแม่ทัพนายกองและเสนาธิการของจีนมีกลยุทธ์พิชัยสงครามอย่างไรในการรับมือข้าศึกครั้งนี้ การบริหารจัดการภาวะวิกฤต (Crisis management) เป็นอย่างไร จะเห็นภาพมากขึ้นว่าประเทศจีนได้ดำเนินการหลักการดังกล่าวอย่างเป็นขั้นเป็นตอน จึงทำให้เกิดประสิทธิภาพและนำไปสู่ประสิทธิผลตามเป้าหมาย
#1 ประเมินศึก...!
การประเมินศึกเป็นตำราพิชัยสงครามบทแรกของซุนวู ซุนวูกล่าวไว้ว่าการศิลปะแห่งสงครามเป็นเรื่องสำคัญยิ่งเป็นเรื่องแห่งความเป็นความตาย การประเมินสถานการณ์จึงสำคัญยิ่งยวด
ก่อนอื่นเราควรเข้าใจถึงความสำคัญของเมืองอู่ฮั่นเสียก่อน อู่ฮั่นเป็นเมืองศูนย์กลางการคมนาคมที่สำคัญของประเทศ (transportation hub) เป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางจากฟากหนึ่งของประเทศจีนไปสู่อีกฟากหนึ่ง โดยประมาณการว่าในช่วงตรุษจีนจะมีผู้คนสัญจรผ่านเมืองอู่ฮั่นประมาณ 15 ล้านคน นั่นหมายความว่า หากเกิดการระบาดจะทำให้เชื้อไวรัสดังกล่าวแพร่กระจายไปทั่วประเทศได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้เมืองอู่ฮั่นเองยังเป็นเมืองเศรษฐกิจที่มีขนาด GDP ติดอันดับ 9 ของประเทศ และมีการเติบโต 7.8% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่ 6.1%(ข้อมูลปี 2019) อู่ฮั่นยังเป็นเมืองศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์และอุตสาหกรรมไฮเทค โดยมีบริษัทระดับโลกที่อยู่ใน Top 500 จำนวน 300 บริษัทเข้ามาตั้งสำนักงานและดำเนินกิจการ หากเราพิจารณาความสำคัญของเมืองอู่ฮั่นและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ประกอบกับการแพร่กระจายของไวรัสอย่างรวดเร็วในช่วงเริ่มต้น จะเห็นได้ว่าจีนคงไม่ยอมเสียเมืองนี้ให้กับไวรัสอย่างแน่นอน
#2 ยิงขาตัวเอง ก่อนที่จะโดนยิงหัว
คงปฎิเสธไม่ได้ว่าทางการจีนมีการตัดสินใจที่รวดเร็ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะด้วยโครงสร้างการปกครองที่เอื้ออำนวยให้สามารถสั่งการได้อย่างเด็ดขาด รัฐบาลทำการปิดเมืองหรือที่เรียกว่า lockdown เมืองอู่ฮั่นเเละเมืองใกล้เคียง ประชากรจำนวนประมาณ 50 ล้านคนโดนกักกัน (mandatory quarantine) ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม ถึงแม้มาตราการดังกล่าวจะสร้างความลำบากให้กับประชาชนและมีผลกระทบทางเศรษฐกิจ แต่ดูเหมือนเมื่อเหตุการณ์เริ่มคลี่คลาย กลยุทธ์ดังกล่าวมีประสิทธิภาพสูงมากในการป้องกันการระบาดลุกลาม เปรียบเสมือนการตัดไฟตั้งแต่ต้นลม เจ็บแต่จบและไม่บานปลาย
#3 มีกำลังน้อยกว่าข้าศึก พึงสร้างป้อมปราการ ป้องกันอย่างเข้มแข็ง
ทุกท่านคงจำกันได้ว่า ในช่วงเกิดการระบาดของไวรัสอย่างรุนแรง ทางการจีนได้ออกคำสั่งให้สร้าง รพ. สนามหั่วเสินซาน ภายในระยะเวลาประมาณ 10 วัน เพื่อใช้รักษาผู้ที่ติดเชื้อไวรัส รวมถึงมีการระดมทรัพยากรทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขจากเมืองอื่นๆเข้ามาในอู่ฮั่น เปรียบเสมือนการเสริมคานเหล็กให้กับป้อมปราการเมืองอู่ฮั่น สร้างความมั่นใจให้ประชาชน ลดการตื่นกลัว (panic) ซึ่งช่วยบรรเทาความอลหม่านและนำไปสู่การบริหารจัดการได้ง่ายขึ้น
#4 การทำสงครามสำคัญที่รวดเร็ว ใช่สำคัญที่ยืดเยื้อ
ทางการจีนมีมาตราการตอบสนองอย่างรวดเร็วกับเหตุการณ์ โดยประกาศใช้นโยบาย social distancing ทั้งประเทศ ป้องปรามการจัดงานกิจกรรมที่มีการรวมตัวของผู้คนเพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่กระจาย เช่น การปิดโรงหนัง โรงเรียน งานกิจกรรมทั้งหลาย รวมถึงได้รับความร่วมมือจากบริษัท tech ชั้นนำ เช่น AliPay และ WeChat ในการติดตามการเคลื่อนไหวของประชากร ผู้ป่วย ในการเดินทาง โดยทุกๆคนจะมี color code ของตัวเองในมือถือ เหลือง เขียว แดง เพื่อแสดงให้เจ้าหน้าทีภาครัฐตรวจสอบและกักกัน หากกรณีลักลอบเดินทางไปในที่สาธารณะ นอกจากนี้ทางการจีนยังมีกล้องวงจรปิดที่จับความเคลื่อนไหวและมีระบบ social credit ที่ค่อยป้องปราม
บทสรุป
ด้วยกลยุทธ์หลักๆดังกล่าว จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างมีนัยสำคัญ การแพร่เชื้อค่อยๆถูกตัดตอน โดยปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันลดลงจากหลักหลายพันเหลือหลักร้อยต้นๆและกลับเข้าสู่ภาวะปกติในเวลาต่อมา
บทความนี้ไม่ได้อนุมานว่าทุกประเทศจะประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับไวรัสหากใช้แนวทางการดำเนินการเหมือนประเทศจีน ในแต่ละประเทศมีบริบทที่แตกต่างกันทั้งทางสังคม การเมืองและวัฒนธรรม การฉีดยาแรงเหมือนจีนก็อาจส่งผลเชิงลบหากประชาชนในประเทศนั้นมีความเป็นประชาธิปไตยสูงก็ได้ อย่างไรก็ตามการเรียนรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้น ก็มีคุณค่าในตัวมันเอง หากวันหนึ่งนำไปปรับใช้กับสถานการณ์การบริหารธุรกิจหรือชีวิตประจำวัน
Sources:
South China Post
#thestrategist
#covid-19 #อู่ฮั่น
#กลยุทธ์
#ซุนวู
#โควิด
โฆษณา