Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
BookDojo
•
ติดตาม
6 เม.ย. 2020 เวลา 01:07 • สุขภาพ
มาตรการควบคุมป้องกันโรคของไต้หวัน
ด้วยข้อจำกัดทางการเมือง ทางการไทยต้องควบรวมไต้หวันเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจีน และจัดให้เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อไวรัส
ทั้งที่ความจริงแล้ว เกาะไต้หวันนั้นควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยพบว่าจนถึงปัจจุบัน ไต้หวันมีผู้ติดเชื้อไม่ถึง 400 คน เสียชีวิตเพียง 5 คน ทั้งที่มีประชากร 20 กว่าล้านคน
เพราะอะไรไต้หวันถึงประสบความสำเร็จ และไต้หวันใช้มาตรการอะไรบ้าง
เพราะอะไรถึงสำเร็จ
ไต้หวันเป็นที่ๆมีความเสี่ยงสูงเพราะประชากรทั้งไต้หวันหรือจีนมีการเดินทางไปมาหาสู่กันตลอดเวลา แต่ทำไมถึงยังป้องกันโรคได้ดี
เมื่อครั้งที่ซาร์สระบาดในฮ่องกง ไต้หวันเป็นหนึ่งในบริเวณที่มีผลกระทบมาก โดยมีผู้เสียชีวิต 35 คน ติดเชื้ออีกกว่า 300 คน ซาร์สเป็นไวรัสที่คล้ายโควิดโดยมีความรุนแรงมากกว่าแต่แพร่ระบาดน้อยกว่า เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นเมื่อปี 2003 หรือกว่า 16 ปีมาแล้ว
ไต้หวันได้เรียนรู้จากบทเรียนราคาแพงทำให้เตรียมพร้อมอยู่เสมอถ้าเกิดการระบาดระลอกใหม่ โดยไต้หวันได้เตรียมตัวตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว
หลักใหญ่ใจความอยู่ที่เครือข่ายสาธารณสุขที่ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (คิดถึง 30 บาทของไทย) งานวิจัยทางการแพทย์และอุตสาหกรรมยาที่รุดหน้า และการพัฒนาแนวทางควบคุมโรคติดเชื้อที่ดี
มาตรการควบคุมและป้องกันโรค
ตั้งแต่ก่อนปีใหม่ที่ทุกคนกำลังเตรียมงานฉลองกัน ไต้หวันได้ประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆทั้งผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ สาธารณสุข และห้องปฏิบัติการ ส่งผลให้ยกระดับคำแนะนำท่องเที่ยวเป็นระดับแรกสำหรับผู้ที่เดินทางมาจากอู่ฮั่น และแจ้งรายงานต่อบุคลากรทางการแพทย์ให้ระมัดระวังผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจที่มาจากอู่ฮั่น นอกจากนี้ยังจัดการคัดกรองบนเครื่องบินที่มาจากอู่ฮั่น ตั้งแต่สัปดาห์แรกของเดือนมกราคม
ห้องแล็บของสำนักงานควบคุมโรคได้จัดเตรียมชุดตรวจแล็บสำหรับปอดบวมไม่รู้สาเหตุให้ตรวจเสร็จภายใน 24 ชั่วโมง และร่นจนเหลือ 4 ชั่วโมงในวันถัดมา มีการเริ่มกักตุนอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ เช่น หน้ากาก ชุดกาวน์ ถุงมือ ภายในสัปดาห์ที่สองของเดือนมกราคม
กลางเดือนมกราคม การระบาดถูกยกระดับ เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ต้องรายงานการพบโรคภายใน 24 ชั่วโมง และสามารถกักกันและแยกผู้ป่วยได้ตามกฎหมาย การคัดกรองที่สนามบิน นอกจากมีการใช้ thermoscan ยังมีการสอบถามอาการ ตรวจแล็บ และให้เขียนใบระบุเรื่องสุขภาพและการสัมผัสโรค มีคำแนะนำสำหรับการกักตัวอยู่ที่บ้านและการสังเกตอาการ
ข้อมูลทั้งหมดของผู้ป่วยคัดกรองที่สนามบินจะถูกส่งไปที่ส่วนกลางสำนักงานควบคุมโรค และสถานพยาบาลหรือองค์กรเกี่ยวกับสาธารณสุขในพื้นที่นั้นๆ
ไต้หวันยังได้ห้ามการส่งออกหน้ากากอนามัย เอาหน้ากากไว้ส่วนกลางเพื่อการกระจายไปที่จุดสำคัญ และจำกัดการเดินทางจากประเทศจีน
การกักตัวอยู่ที่บ้าน รัฐบาลได้ใช้กล้องและ GPS ในสมาร์ทโฟนช่วยยืนยันการอยู่บ้านจริงๆเป็นเวลา 2 สัปดาห์ โดยมีคนกักตัวอยู่ที่บ้านหลายหมื่นคน
รัฐบาลช่วยเหลือคนที่กักตัวอยู่ที่บ้านด้วยการไปเยี่ยม (home visit) จัดหาอาหารและเครื่องใช้ที่สำคัญสำหรับคนที่อาศัยอยู่คนเดียว เพื่อช่วยให้การกักตัวเป็นไปได้ตามกำหนด (เพิ่ม Compliance) เปิดสายด่วนใหม่เพื่อการสอบถามและรายงาน 24 ชั่วโมง
ไต้หวันได้สร้างแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน Disease-Prevention Butler และมี เอไอแชทบ็อทเพื่อตอบคำถาม ให้ข้อมูลได้ทันท่วงที และเก็บความกังวลของผู้คนเพื่อนำมาวิเคราะห์เพื่อหาทางโต้ตอบ
กรุ๊ปทัวร์ทั้งหมดจากไต้หวันไปจีนถูกยกเลิก และห้ามทัวร์จากอู่ฮั่นและหูเป่ยทั้งหมด ต่อมาคนจีนทุกคนห้ามเข้าไต้หวัน ยกเว้นบางกลุ่มเท่านั้น สำหรับนักท่องเที่ยวที่ยังคงอยู่ในไต้หวัน ให้หัวหน้ากรุ๊ปทัวร์รายงานสถานะสุขภาพของลูกทัวร์แก่รัฐบาลทุกวัน สำหรับนักเรียนจีนที่มาเรียนที่ไต้หวันให้กักตัวในหอพัก
ทั้งหมดนี้ทำภายในเดือนมกราคม
30 มกราคม ไต้หวันมียอดสะสม 9 ราย จากทั้งโลกที่พบแล้วมากกว่า 7800 ราย
การใช้ Information Technology (IT) และการทำงานร่วมกันของหลายองค์กร
ศูนย์ควบคุมโรคไต้หวัน (ของไทยเรียกกรมควบคุมโรค) ขอให้เกิดการผนวกข้อมูลประวัติการเดินทางไปจีน จากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากรเพื่อสร้างระเบียนประวัติสุขภาพบนคลาวด์
สถาบันสุขภาพแห่งชาติ (ในไทยเรียกกระทรวงสาธารณสุข) ได้นำระเบียนเหล่านี้มาใช้ในโรงพยาบาลจริงๆ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์เห็นประวัติการเดินทางของผู้เข้ามารักษา (นอกจากจะช่วยในการวินิจฉัย ยังน่าจะช่วยลดการติดเชื้อในบุคลากร เพราะมีความระมัดระวังสูงขึ้นเมื่อต้องตรวจผู้ป่วยที่มีประวัติการเดินทางที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ)
ประวัติคนที่สัมผัส ประวัติยืนยันและสงสัยถูกส่งไปที่ศูนย์ควบคุมโรค และถูกอัพเดทบนฐานข้อมูลของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ
เนื่องจากการอัพเดทถูกบังคับให้ต้องทำภายใน 24 ชั่วโมง ข้อมูลในฐานข้อมูลจึงค่อนข้าง Real-time
ระเบียนผู้ป่วยประกอบไปด้วย ประวัติสุขภาพ โรคประจำตัว อาการที่เปลี่ยนแปลงไป การรักษา การนอนโรงพยาบาลที่เกี่ยวกับอาการทางเดินหายใจ
ประวัติเหล่านี้ช่วยระบุผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง ผู้ป่วยที่น่าจะเคยสัมผัสผู้ติดเชื้อ เมื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ สามารถเห็นรูปแบบของอาการ การพบผู้ป่วยเป็นกระจุกกลุ่ม และหาต้นตอและห่วงโซ่ของการแพร่ระบาดได้
การส่งผ่านข้อมูลเป็นแบบทางเดียวจากหน่วยงานอื่นสู่ฐานข้อมูลของสถานบันสุขภาพแห่งชาติ โดยไม่ให้ข้อมูลรั่วไหลไปสู่คนนอกระบบสุขภาพ
ฐานข้อมูลจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากร จะสามารถแจ้งเตือนประวัติการเดินทางไปอู่ฮั่นและจีนภายในระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา เพื่อให้การคัดกรองที่ด่านสนามบินนั้นเข้มข้นขึ้นไปอีก
Audrey Tang รัฐมนตรีกระทรวงดิจิตอล ที่เป็น LGBT และเป็นโปรแกรมเมอร์มาก่อน
รัฐมนตรีกระทรวงดิจิตัลไทย พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ลิ้งก์ที่ให้โหลดแอพลองกดดูยังขึ้นใน google play store ว่า Item not found (6/4/63)
การช่วยเหลือคนไต้หวันในอู่ฮั่นและบนเรือไดอะมอนด์ปริ๊นเซส
กระทรวงการต่างประเทศติดต่อกับคนไต้หวันที่ยังค้างอยู่ในอู่ฮั่นหลังจากปิดเมืองเมื่อวันที่ 23 มกราคม และติดต่อกับคนไต้หวันที่อยู่บนเรือ Diamond Princess
กระทรวงคมนาคมจัดการไฟลท์บิน
กระทรวงกลาโหมได้เกณฑ์หน่วยต่อต้านอาวุธชีวภาพเข้ามาฆ่าเชื้อบนเครื่องบินและบริเวณสนามบิน
ประชาชนไต้หวันบนเรือและที่อู่ฮั่นต้องผ่านการคัดกรองก่อนขึ้นเครื่องบิน และตรวจโควิดทุกคนเมื่อถึงไต้หวัน โดยพบคนติดเชื้อที่มาจากอู่ฮั่น 1 คน ที่เหลือถูกกักตัวในที่ๆรัฐจัดหาให้เป็นเวลา 14 วัน โดยได้รับการตรวจ 3 ครั้งต่อวัน โดยในที่สุดแล้ว ทุกคนไม่พบเชื้อ
ของไทยกระทรวงต่างประเทศได้รวบรวมรายชื่อ กระทรวงสาธารณสุขได้รับความช่วยเหลือจากสายการบินแอร์เอเชียนำโดยทีมสาธารณสุขไปรับคนไทยในอู่ฮั่น เมื่อกลับมาถึงไทย เครื่องบินถูกทำความสะอาดโดยทีมวิศวกรของแอร์เอเชีย คนไทยได้รับการตรวจร่างกายและกักตัวตามที่ๆรัฐจัดสรรไว้ให้ สำหรับเรือไดอะมอนด์ปริ๊นเซส หลังจากครบการกักตัว 14 วันแล้ว คนไทย 3 คนได้รับการรักษาในประเทศญี่ปุ่น
บรรทัดฐานของสังคม และการขาดแคลนหน้ากาก
หลังซาร์สระบาดปี 2003 ไต้หวันและญี่ปุ่นสวมหน้ากากอนามัยเป็นเรื่องปกติในฤดูไข้หวัดใหญ่ระบาดหรือในที่สาธารณะที่ผู้คนพลุกพ่าน
คนไต้หวันจะสวมหน้ากากถ้ามีอาการทางเดินหายใจ เช่น ไอ จาม น้ำมูกไหล เป็นปกติ คนในประเทศจึงมีหน้ากากติดบ้านอยู่เสมอ และสามารถไปหาซื้อได้ทันทีเมื่อการระบาดถูกประกาศ
เมื่อคนซื้อหน้ากากมากขึ้น นายกรัฐมนตรีได้ห้ามส่งออกหน้ากากช่วงปลายเดือนมกราคม รัฐบาลได้สั่งการผลิตหน้ากากภายในประเทศและขยายกำลังการผลิตอย่างเร่งด่วน
นอกจากนี้ยังได้สร้างระบบการแบ่งสันปันส่วนหน้ากากแก่คนทั้งประเทศ โดยคนไต้หวันจะมีบัตรสุขภาพ (คิดถึงบัตรทองในอดีตของบ้านเรา) ที่เชื่อมโยงกับร้านขายยาและโรงพยาบาลทั่วทั้งประเทศ เป็นตัวระบุตัวตนเพื่อการซื้อหน้ากากอนามัยที่ร้านค้าแถวบ้าน
อีกทั้งรัฐบาลยังได้สร้างแอพพลิเคชั่นหาหน้ากาก ขึ้นมาโดยร่วมกันสร้างกับภาคเอกชนเพื่อค้นหาจุดที่ยังมีหน้ากากขายอยู่
ข้อความส่งเสริมสุขภาพทั้งการสวมหน้ากากอนามัยและการล้างมือเป็นประจำถูกกระจายทั่วประเทศในทุกช่องทางสื่อ
ประเทศไทยไม่เคยพบการระบาดเฉกเช่นซาร์สมาก่อน การใส่หน้ากากไม่ได้พบกันทั่วไป และไม่ค่อยชอบสวมหน้ากากกันแม้จะป่วยก็ตาม หลังจากเหตุการณ์นี้บรรทัดฐานของสังคมจะเปลี่ยนไป ไม่ใช่แค่ที่ไทยแต่เป็นทั้งโลก
ปัญหาหน้ากากอนามัยสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และคนทั่วไปในไทยยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังจนถึงทุกวันนี้ หาหน้ากากอนามัยใกล้บ้านท่านได้ที่
https://maskmapthai.web.app/
mask.pdis.nat.gov.tw
口罩供需資訊平台
健保藥局哪裡有?口罩數量剩多少?歡迎您運用社群朋友開發的應用界面。
การตรวจแล็บ และการสอบสวนผู้ป่วย
เรารู้กันดีว่าการตรวจโควิดที่เป็นมาตรฐานในปัจจุบันคือ real-time reverse transcription PCR (RT-PCR) ไต้หวันได้สร้างแนวทางการตรวจตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม และได้พัฒนาชุดตรวจภายใน 4 ชั่วโมงขึ้นมาโดยย่นระยะเวลาจากเดิม 6 เท่า และสามารถตรวจได้มากกว่า 1,100 sample ต่อวัน และได้ขยายศักยภาพการตรวจเป็น 2,450 sample ต่อวันภายในเดือนกุมภาพันธ์ โดยมีทั้งแล็บเอกชนและของรัฐบาล
การคัดกรองผู้ป่วยนอกจากจะมองไปข้างหน้าแล้วยังมีการทบทวนประวัติย้อนหลัง เพราะมีองค์ความรู้เพิ่มขึ้นว่าผู้ที่ไม่มีอาการก็สามารถติดเชื้อได้ ทำให้พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น
เทียบการดำเนินการกับประเทศไทย (อาจไม่ถูกต้องทั้งหมด ให้เห็นภาพคร่าวๆ)
การตรวจคัดกรองที่สนามบิน ไต้หวัน 31 ธ.ค. ไทย 3 ม.ค.
ตรวจโควิด 4 ชั่วโมงรู้ผล ไต้หวัน 12 ม.ค. ไทย 27 ม.ค. (แถลงข่าวอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ บลัฟเล็กๆว่า 3 ชั่วโมงรู้ผล)
ห้ามส่งออกหน้ากากอนามัย ไต้หวัน 24 ม.ค. ไทย 4 ก.พ. (21 ก.พ. ส่งออกได้แต่ต้องขออนุญาต)
งดผู้ที่เดินทางมาจากจีน ไต้หวัน 26 ม.ค. ไทย ไม่มีมาตรการนี้ (จำนวนผู้เดินทางลดลงจากมาตรการปิดเมืองของจีน)
การผนวกข้อมูลของตม. ไต้หวัน 27 ม.ค. ไทย ต่างคนต่างทำข้อมูล ยังไม่ได้ผนวกข้อมูลรวมกัน
รัฐสนับสนุนการกักตัวอยู่บ้าน ไต้หวัน 29 ม.ค. ไทย ยังไม่ชัดเจน
รวบรวมหน้ากากไว้ที่ส่วนกลาง ไต้หวัน 31 ม.ค. ไทย 20 ก.พ.
เริ่มจัดสรรปันส่วนหน้ากากตามบัตร ไต้หวัน 6 ก.พ. ไทย 8 ก.พ. ขายที่กระทรวงพาณิชย์ 13 มี.ค. วิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายในบอกจะกระจายให้สถานพยาบาลต่างๆ
https://www.bangkokbiznews.com/
https://wwwnc.cdc.gov/eid/article/26/7/20-0574-f1
Ref.
https://wwwnc.cdc.gov/eid/article/26/7/20-0574_article
https://www.dit.go.th/Content.aspx?m=12&c=27793
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/870637
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/863944
https://www.efinancethai.com/LastestNews/LatestNewsMain.aspx?release=y&ref=M&id=NTRQcFNUbUFlaVU9
9 บันทึก
62
7
16
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
โรคระบาดโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19)
9
62
7
16
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย