6 เม.ย. 2020 เวลา 12:17 • ธุรกิจ
ในช่วงนี้ธนาคารกลางทั่วโลกต่างประกาศเข้าซื้อพันธบัตรคืนเสริมสภาพคล่องกันถ้วนหน้า แต่คุณรู้หรือเปล่า? ว่าจริงๆ แล้วมันมีอะไรมากกว่านั้น….
หากเราดูตัวอย่างจากแบงก์ชาติของไทยเรา เราจะได้เห็นการเข้าไปควบคุมความผันผวน โดยการเข้าไปซื้อและกดอัตราผลตอบแทน (Yield) ให้คงที่เพื่อไม่ให้เกิดการเทขาย
แต่ประเทศที่น่าจับตามองที่สุดในตอนนี้คือทางสหรัฐอเมริกาหรือ Fed ที่ประกาศพร้อมปล่อยกู้แบบเต็มแรง รวมถึงเข้าซื้อตราสารหนี้ในหลายๆ รูปแบบอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน
ในมุมหนึ่งมันอาจจะหมายถึงการก่อหนี้อย่างมหาศาล แต่เมื่อวันก่อนผมได้อ่านสรุปบทวิเคราะห์ของ Ray Dalio ผู้ก่อตั้ง Bridgewater Associates หรือบริษัทกองทุนชื่อดังนั่นเอง
เขาได้นำเสนอแง่มุมที่น่าสนใจของการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลและควบคุมอัตราผลตอบแทนไม่ให้ผันผวน ว่ามันคล้ายๆ กับเป็นการทำความสะอาดระบบการเงินใหม่ทั้งหมด
ใช่แล้วครับ… มันเป็นการล้างเงินสำรองที่ค้างอยู่ในที่ต่างๆ ให้ไปอยู่ในพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวให้หมด โดยที่ผ่านมาเราจะได้เห็นทาง Fed ปล่อยกู้ให้แบงก์พาณิชย์ด้วยอัตราดอกเบี้ย 0% รวมถึงรับซื้อพวกพันธบัตรรัฐบาลต่างๆ คืน ซึ่งการทำเช่นนี้จะทำให้แบงก์พาณิชย์ได้เงินมาจำนวนมหาศาล และนำเงินไปใช้อย่างไม่บันยะบันยัง เพราะมีทาง Fed สนับสนุนอยู่นั่นเอง
แล้วแบงก์พาณิชย์เอาเงินไปทำอะไรต่อ?
จากบทวิเคราะห์มีการกล่าวไว้ว่า การควบคุมอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไม่ให้ผันผวน จะทำให้เกิดการเก็งกำไรในพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวขึ้น (ปกติตราสารหนี้ระยะสั้นจะให้ผลตอบแทนน้อยกว่าระยะยาว ดังนั้นการเข้าควบคุม yield ไม่ให้ผันผวน จะทำให้ภาวะเช่นนี้คงอยู่ไว้ได้ หรือไม่เกิด Inverted yield curve นั่นเอง)
ภาพแสดงการควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาวของ Fed ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
โดยเขายกตัวอย่างในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ช่วงท้ายหลัง Fed ทำการกระตุ้นเชิงการเงินอย่างการเข้าช่วยซื้อตราสารหนี้จนตลาดตึงตัว จนไม่สามารถทำต่อไปได้ บทสรุปส่งท้ายคือเงินจะไหลเข้าไปอยู่ในพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว
จากภาพจะเห็นได้ว่ามีการเข้าถือตัวพันธบัตรระยาว (สีแดง) เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
Fed ไม่เสียอะไรเลยและได้เงินฟรีๆ เข้าคลัง
ฟังไม่ผิดหรอกครับ อย่างที่เรารู้กันว่าเงินดอลลาร์จะพิมพ์ออกมาเท่าไรก็ได้ไม่ต้องมีสำรอง วิธีการที่ทาง Fed ใช้ควบคุมอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ก็คือการพิมพ์เงินออกมาซื้อนั่นเอง
ถ้าพูดง่ายๆก็คือต้นทุนของ Fed นั้นเป็น 0 ในขณะที่ธนาคารพาณิชย์และนักลงทุนระยะยาวต่างๆ แห่กันเข้าไปซื้อพันธบัตรระยะยาวจาก Fed จนเงินในคลังเพิ่มขึ้น
และจุดที่ผมอยากให้ทุกคนโฟกัสก็คือ “เงินที่ Fed ได้จะถูกนำไปใช้กับการกระตุ้นเชิงการคลังต่อไป”
เมื่อ Fed ได้เงินจากการที่นักลงทุนเข้าไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวแล้ว เงินที่ว่านี่แหละ จะถูกนำไปหนุนใช้เป็นงบทางการคลัง (Fiscal) อัดฉีดเข้าสู่เศรษฐกิจได้โดยตรง (Fiscal stimulus) และอาจทำให้เศรษฐกิจกลับคืนสู่สภาพปกติได้โดยเร็ว
สรุปโดยรวม
ทาง Fed พิมพ์เงินมาใช้สำหรับตรึงอัตราผลตอบแทน เพื่อให้พันธบัตรรัฐบาลระยะยาวน่าดึงดูดสำหรับนักเก็งกำไรให้เข้าซื้อ และการที่นักเก็งกำไรเหล่านั้นเข้ามาซื้อก็จะทำให้ Fed มีงบทางการคลังเพิ่มขึ้นนั่นเอง
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ สำหรับมุมมองในวันนี้ ส่วนตัวผมมองว่ามันน่าสนใจมากๆ เพราะเป็นอีกแง่มุมหนึ่งที่เราไม่เคยได้เห็นกันมาก่อน หลายๆ คนอาจจะคิดว่าการก่อหนี้มันไม่ดี และสถานการณ์ภาระหนี้ในหลายๆ ประเทศตอนนี้นั้นน่าเป็นห่วงเอามากๆ แต่อาจจะไม่ใช่สำหรับ Fed ครับ ที่ต้นทุนการปล่อยกู้เท่ากับ 0 เพราะเขาพิมพ์เงินเท่าไรก็ได้นั่นเอง
Source:
โฆษณา