8 เม.ย. 2020 เวลา 08:13 • ความคิดเห็น
เชื้อโควิด-19 อยู่บนธนบัตรได้ 4 วัน แล้วอยู่ในร่างกายคนได้นานแค่ไหน
เชื้อโควิด-19 จะอยู่บนทิชชู่หรือกระดาษหนังสือพิมพ์ได้นาน 3 ชั่วโมง แผ่นไม้และเสื้อผ้าได้นาน 2 วัน ในขณะที่ถ้าเป็นวัสดุที่มีพื้นผิวเรียบ เช่น แก้วและธนบัตรได้นาน 4 วัน สเตนเลสและพลาสติกได้นาน 7 วัน และน่าสนใจว่าเชื้อจะอยู่บนพื้นผิวชั้นนอกของหน้ากากทางการแพทย์ (Surgical Mask) ซึ่งเคลือบสารกันน้ำไว้ได้นาน 7 วันเช่นกัน
แต่ถ้าร่างกายคนติดเชื้อ SARS-CoV-2 มันจะเข้าไปอยู่ได้นานแค่ไหน
ไวรัส SARS-CoV-2 ส่วนใหญ่จะถูกกำจัดโดยภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยผู้ป่วยโควิด-19 ประมาณ 80% มีอาการเพียงเล็กน้อยและสามารถหายได้เองโดยไม่ต้องกินยาต้านไวรัส ซึ่งจากงานวิจัยในเมืองอู่ฮั่นพบว่า ระยะเวลาตั้งแต่วันเริ่มมีอาการจนถึงวันที่ตรวจไม่พบเชื้อ มีค่ามัธยฐานเท่ากับ 20 วัน (IQR 17-24 วัน) หรืออีกวันเดียวก็จะครบ 3 สัปดาห์แล้ว!
1 วัน บนกระดาษแข็ง
2 วัน บนสเตนเลส
และ 3 วัน บนพลาสติก
ไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นเชื้อที่ทำให้เกิดโควิด-19 สามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานเป็นวัน ขึ้นกับลักษณะของพื้นผิวและอุณหภูมิ ข้อค้นพบข้างต้นมาจากงานวิจัยเรื่อง ‘Aerosol and Surface Stability of SARS-CoV-2 as Compared with SARS-CoV-1’ ที่ตีพิมพ์ในวารสาร NEJM เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 โดยนักวิจัยอเมริกาทดลองในสภาพแวดล้อมที่มีความชื้นสัมพัทธ์ 40% และอุณหภูมิ 21-23 องศาเซลเซียส (อุณหภูมิห้อง เทียบกับห้องแอร์บ้านเรา)
ส่วนอีกงานวิจัยหนึ่ง ‘Stability of SARS-CoV-2 in different environmental conditions’ ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Lancet เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563 นักวิจัยชาวฮ่องกงทดลองเพาะเลี้ยงเชื้อในอาหารเลี้ยงเชื้อที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส (เย็น) พบว่าเชื้อมีชีวิตได้นานถึง 14 วัน ในขณะที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส (ร้อน) เชื้อจะมีชีวิตอยู่ได้เพียง 5 นาทีเท่านั้น นอกจากนี้เขายังทดสอบในสภาพแวดล้อมที่มีความชื้นสัมพัทธ์ 65% และอุณหภูมิ 23 องศาเซลเซียส
เชื้อจะอยู่บนทิชชู่หรือกระดาษหนังสือพิมพ์ได้นาน 3 ชั่วโมง แผ่นไม้และเสื้อผ้าได้นาน 2 วัน
ในขณะที่ถ้าเป็นวัสดุที่มีพื้นผิวเรียบ เช่น แก้วและธนบัตรได้นาน 4 วัน สเตนเลสและพลาสติกได้นาน 7 วัน และน่าสนใจว่าเชื้อจะอยู่บนพื้นผิวชั้นนอกของหน้ากากทางการแพทย์ (Surgical Mask) ซึ่งเคลือบสารกันน้ำไว้ได้นาน 7 วันเช่นกัน
แต่ถึงไวรัสจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานขนาดนี้ เมื่อนักวิจัยทดสอบกับน้ำยาทำความสะอาด เช่น น้ำยาฟอกผ้าขาว (เช่น ไฮเตอร์) แอลกอฮอล์ 70% Chloroxylenol (เช่น เดทตอล) สามารถทำลายเชื้อได้ทั้งหมด
ดังนั้นเราจึงต้องล้างมือหลังถอดหน้ากาก และทำความสะอาดตามพื้นผิวต่างๆ เป็นประจำ
ว่าแต่ถ้าร่างกายคนติดเชื้อ SARS-CoV-2 มันจะเข้าไปอยู่ได้นานแค่ไหน
เชื้อพบได้ในเสมหะและอุจจาระ
ไวรัส SARS-CoV-2 จะเข้าสู่เซลล์ร่างกายของเราด้วยการใช้หนามโปรตีน (Protein Spike) บนผิวที่เปิดประตูบนผิวเซลล์ ซึ่งมีแม่กุญแจที่ชื่อ ACE2 (Angiotensin-converting Enzyme 2) สอดรับกันได้พอดี
ขั้นตอนต่อไปไวรัสจะส่งสารพันธุกรรมของตัวเองให้กับสายพานการผลิต เป็นต้นแบบในการเพิ่มจำนวน และบางส่วนก็ถูกนำไปแปลงเป็นโปรตีนต่อ จากนั้นถึงจะนำสองส่วนนี้มาประกอบกันเป็นไวรัส ก่อนที่จะทำลายเซลล์เพื่อแพร่กระจายเชื้อต่อ
เราตรวจพบเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ด้วยการตรวจ RT-PCR (Transcription Polymerase Chain Reaction) จากตัวอย่างที่เก็บมาส่งตรวจ เนื่องจากตัวอย่างที่แพทย์เก็บมีสารพันธุกรรมของไวรัสไม่มาก เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการก็จะนำตัวอย่างเหล่านี้ไปเพิ่มจำนวนสารพันธุกรรมก่อน (คล้ายกับตอนที่ไวรัสเข้าไปในเซลล์) แล้วจึงตรวจหาไวรัสตามรอบของการเพิ่มจำนวน หากมีค่าเกินเกณฑ์ที่กำหนดก็จะถือว่าป่วยเป็นโควิด-19
ด้วยวิธีการตรวจแบบนี้ ทำให้นักวิจัยชาวจีนตีพิมพ์ ‘Detection of SARS-CoV-2 in Different Types of Clinical Specimens’ ในวารสาร JAMA เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563 พบว่า สามารถตรวจพบไวรัสได้จากหลายวิธีการเก็บตัวอย่าง ได้แก่
การสวนล้างหลอดลม 93%
เสมหะ 72%
การป้ายจมูก 63%
และอุจจาระ 29% ซึ่งสอดคล้องกับตำแหน่งที่พบแม่กุญแจ ACE2 ในระบบทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร ส่วนในปัสสาวะนั้นตรวจไม่พบเชื้อเลย
เชื้ออยู่ในร่างกาย 20 วัน (สั้นสุด 8 วัน-ยาวสุด 37 วัน)
ไวรัส SARS-CoV-2 ส่วนใหญ่จะถูกกำจัดโดยภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยผู้ป่วยโควิด-19 ประมาณ 80% มีอาการเพียงเล็กน้อย และสามารถหายได้เองโดยไม่ต้องกินยาต้านไวรัส ซึ่งจากงานวิจัยในเมืองอู่ฮั่น เรื่อง ‘Clinical course and risk factors for mortality of adult inpatients with COVID-19 in Wuhan, China: a retrospective cohort study’ ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Lancet เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563 พบว่า ระยะเวลาตั้งแต่วันเริ่มมีอาการจนถึงวันที่ตรวจไม่พบเชื้อ มีค่ามัธยฐานเท่ากับ 20 วัน (IQR 17-24 วัน) หรืออีกวันเดียวก็จะครบ 3 สัปดาห์แล้ว!
ซึ่งถ้านึกภาพว่าเราติดเชื้อ (ความจริงคือเราต้องชนะ) แล้วต้องนอนรักษาตัวในห้องแยกโรคที่โรงพยาบาล โดยไม่สามารถออกไปไหนได้นานขนาดนี้ เราคงอึดอัดมาก แต่เราอาจเป็นคนโชคดีที่มีระยะเวลาตรวจไม่พบเชื้อสั้นที่สุดคือ 8 วันก็เป็นได้ ส่วนใครที่โชคร้าย ระยะเวลาที่นานที่สุดในขณะนี้อยู่ที่ 37 วัน (ถึงวันนั้นคงจะไม่อยากออกจากห้องแล้ว) โดยระยะเวลานี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค
สำหรับแพทย์ก็จะใช้การตรวจพบ-ไม่พบเชื้อเป็นเกณฑ์ในการอนุญาตให้ผู้ป่วยกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้าน ซึ่งที่ผ่านมากำหนดให้ต้องมีผลการตรวจเป็น ‘ลบ’ คือไม่พบเชื้อ ติดต่อกัน 2 ครั้ง ห่างกัน 48 ชั่วโมงก่อน
แต่เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 กรมการแพทย์ได้มีการปรับปรุงแนวทางใหม่ว่า ไม่ต้องตรวจหาเชื้อซ้ำ หากอาการดีขึ้นและผลเอกซเรย์ปอดไม่แย่ลง สามารถให้ไปพักต่อที่โรงพยาบาลเฉพาะอย่างน้อย 14 วัน นับจากวันเริ่มป่วย และแยกตัวต่อจนครบ 1 เดือน
ตัวอย่างของ แพรวา และ แมทธิว-ลิเดีย
ยกตัวอย่าง แพรวา-ณิชาภัทร ฉัตรชัยพลรัตน์ นักแสดงและนักร้องเพลง รักติดไซเรน ที่เริ่มป่วยเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2563 และตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ในวันที่ 20 มีนาคม 2563 เธอได้แจ้งความคืบหน้าอาการของตัวเองผ่านอินสตาแกรม nichaphatc เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563 ว่า ผลการตรวจในวันที่ 24 และ 28 มีนาคม 2563 ออกมาเป็น Undetectable (ไม่พบเชื้อ) ทั้ง 2 ครั้งแล้ว ซึ่งเท่ากับว่าพบเชื้อในร่างกายเป็นเวลาเกือบ 1-2 สัปดาห์
และแพทย์ได้ให้แพรวาแยกตัวต่ออีกระยะเวลาหนึ่งด้วย ถึงแม้จะตรวจไม่พบเชื้อแล้วก็ตาม
ส่วนกรณีของ แมทธิว ดีน ที่เริ่มป่วยก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2563 และเข้ารับการรักษาในวันที่ 13 มีนาคม 2563 และ ลิเดีย ภรรยาที่ผลการตรวจเป็นบวกตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2563 ล่าสุดวันที่ 3 เมษายน 2563 แมทธิวได้แจ้งผ่านอินสตาแกรม matthew.deane1 ว่าทั้งคู่ยังตรวจพบเชื้อในร่างกายอยู่ (เท่ากับ 22 และ 18 วันตามลำดับ) ซึ่งกรณีที่ตรวจพบเชื้อนานเช่นนี้มักจะมีคำถามตามมาว่า ‘เป็นเชื้อเป็น หรือซากเชื้อที่ตายแล้วกันแน่’
เนื่องจากเราตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสด้วยวิธี RT-PCR การที่ผลเป็น ‘บวก’ จึงหมายถึงการ ‘พบ’ สารพันธุกรรม ซึ่งไม่สามารถแยกได้ว่าเชื้อยังมีชีวิตอยู่ เทียบได้กับการตรวจดีเอ็นเอเพื่อพิสูจน์ความเป็นพ่อแม่ลูก อาจตรวจได้ทั้งตอนที่ยังมีชีวิตอยู่หรือตอนชันสูตรศพที่ถูกทำลายไปแล้วก็ได้ โดยถ้าต้องการพิสูจน์ความมีชีวิตอยู่ของเชื้อ ก็จะต้องเพาะเลี้ยงไวรัส ซึ่งทำได้ยากและใช้เวลานาน
โดยสถิติแล้วเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 อยู่ในร่างกายนาน 20 วัน และส่วนใหญ่ (50%) จะอยู่ระหว่าง 17-24 วัน ดังนั้นถึงแม้ผู้ป่วยจะไม่มีอาการแล้ว เช่น ไม่มีไข้ ไม่ไอ แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยที่ได้รับอนุญาตให้กลับบ้านไปยังต้องแยกตัวต่อจนครบ 1 เดือนนับจากวันที่มีอาการ แต่ความสามารถในการติดต่อของเชื้อและความสามารถในการแพร่เชื้อของผู้ป่วยน่าจะลดลงเยอะแล้วตั้งแต่ช่วงที่อาการดีขึ้น
วันที่ 7 เมษายน 2563 ประเทศไทยมีผู้ป่วยกลับบ้านได้แล้ว 824 ราย (เพิ่มขึ้น 31 ราย) แต่เขายังต้องพักฟื้นต่อที่บ้าน คอนโดฯ หรือชุมชนที่มีผู้ป่วยกลับเข้าไป สามารถช่วยเหลือด้วยการดูแลให้เขาสามารถแยกพักกับสมาชิกคนอื่นในครอบครัวอย่างเป็นสัดส่วน หรือช่วยจัดส่งอาหารให้ผู้ป่วยโดยไม่ต้องออกมาซื้อเองนอกบ้านจนครบเวลาที่แพทย์กำหนด เพราะเมื่อการระบาดของไวรัสสิ้นสุดลง สิ่งที่เหลืออยู่คือความเป็นมนุษย์ของเรา
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
Aerosol and Surface Stability of SARS-CoV-2 as Compared with SARS-CoV-1 https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMc2004973
Stability of SARS-CoV-2 in different environmental conditions https://www.thelancet.com/journals/lanmic/article/PIIS2666-5247(20)30003-3/
Detection of SARS-CoV-2 in Different Types of Clinical Specimens https://jamanetwork.com/journals/jama/fullarticle/2762997
Clinical course and risk factors for mortality of adult inpatients with COVID-19 in Wuhan, China: a retrospective cohort study https://www.thelancet.com/journals/lancet/article/PIIS0140-6736(20)30566-3/
แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลกรณีโควิด-19 http://covid19.dms.go.th/backend///Content/Content_FIle/Bandner_(Big)/Attach/25630330113842AM_CPG%20COVID-19_30032020_v1@11.pdf
เรื่อง: ชนาธิป ไชยเหล็ก
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ thestandard.co
โฆษณา