8 เม.ย. 2020 เวลา 09:33
Ouya ตำนานเครื่องเกมขายฝันสู่ตำนานเครื่องเกมลวงโลก EP 1
" โฆษณาคือการโกหกที่ถูกกฎหมาย "
เป็นคำพูดที่เสียดสีสังคมอย่างเจ็บแสบ และคงไม่ได้กล่าวเกินกว่าเป็นความจริงมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการตลาด การสร้างแบรนด์ ด้วยคำโกหกอันสวยหรูที่เรียกว่า โฆษณา ที่มันได้แปรเปลี่ยนบริษัท Start up เล็กๆไร้ชื่อแห่งหนึ่ง นามว่า Boxer 8 (ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น Ouya) ซึ่งก่อตั้งในเวลาเพียงไม่ถึงปี ให้กลายมาเป็น วีรบุรุษผู้ลุกขึ้นสู้ต่อกร 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ได้ผูกขาดอุตสาหกรรมเกมมาโดยตลอดกว่าช่วง 1 ทศวรรษที่ผ่านมา อย่าง Sony, Microsoft และ Nintendo และในขณะเดียวกันคำโกหกอันสวยหรูเหล่านี้ก็ได้ย้อนกลับมาทำลายบริษัทในที่สุด นับจากนี้เป็นต้นไปทุกท่านจะได้รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับการสร้างตัวของบริษัทแห่งนี้ที่สร้างขึ้นมาจากคำโกหกได้อย่างไร และในขณะเดียวกันผลกระทบที่ตามมาหลังจากที่ความจริงได้ถูกเปิดเผยนั้นจะเป็นเช่นไร
จุดกำเนิดของบริษัทกับคำโกหก
เครื่องเกมอู้ยา (Ouya) ถือกำเนิดมาจากความคิดของจูลี่ เออร์แมน (Juile Uhrman) อดีตผู้บริหารระดับสูงของบริษัทข่าวสารยักษ์ใหญ่ทางด้านอุตสาหกรรมวิดีโอเกมอย่าง IGN เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2012 (พ.ศ.2555) โดยเธอได้รับแรงบันดาลใจมาจากการที่เธอสังเกตเห็นถึงปัญหาในวงการอุตสาหกรรมเกมในปัจจุบัน นั่นก็คือต้นทุนในการพัฒนาเกมลงบนคอนโซลให้กับ 3 บริษัทยักษ์ใหญ่นั้นสูงมากจนเกินไป ทำให้มันเป็นเรื่องยากที่นักพัฒนาจะกล้าลงทุนแบกรับความเสี่ยงนั้น ผลที่ตามมาก็คือการเกิดการสมองไหลในอุตสาหกรรมเกมขึ้น นักพัฒนาเกมจำนวนมากเริ่มหันไปทำเกมลงในมือถือแทน ทำให้ในมือถือมีเกมดีๆที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์จำนวนมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Angry Bird , Minecraft , Candy Crush และ Temple run เป็นต้น เนื่องด้วยต้นทุนในการทำเกมที่ถูกกว่าและระบบ Android กับ iOS มีขั้นตอนในการพัฒนาที่ง่ายกว่า ผลที่ตามมาก็คือเกมในเครื่องเกมคอนโซลนั้นมักจะขาดความคิดสร้างสรรค์ มีแต่รูปแบบการเล่นแบบเดิมๆที่นักพัฒนาคิดว่าขายได้ แต่ว่าในขณะเดียวกันเธอมองว่าประสบการณ์การเล่นเกมคอนโซลที่ต่อผ่านจอทีวีนั้นให้ความรู้สึกที่ดีกว่าเล่นบนจอเล็กๆแคบๆบนมือถือ เพราะผู้เล่นสามารถแชร์ความรู้สึกดีๆเหล่านั้นให้กับคนรอบๆข้างได้ ด้วยเหตุนี้เธอจึงสร้างเครื่องเกม Ouya ขึ้นมาเพื่อนำความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างเกมกับความรู้สึกดีๆจากการเล่นผ่านจอทีวีกลับมาสู่วงการเกมอีกครั้ง แต่ว่าการที่จะทำให้ฝันของเธอเป็นจริง จำเป็นจะต้องมีเงินมากถึง $950,000 (ประมาณ 31 ล้านบาท) และนี่เองก็เป็นจุดเริ่มต้นของคำโกหก
เรื่องราวของคำโกหกหลอกลวงได้เริ่มต้นขึ้นจากการโฆษณาบนเว็บไซต์ระดมทุน Kickstarter Ouyaได้สร้างเรื่องราวและภาพลักษณ์ของบริษัทในฐานะวีรบุรุษผู้กล้า ผู้ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับ 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ ด้วยการชูจุดเด่นในเรื่องคำมั่นสัญญาที่ 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ไม่กล้าแม้แต่จะคิดทำ แต่ Ouya จะทำมันให้จงได้
สิ่งแรกที่บริษัทชูขึ้นมานั่นก็คือการให้สำคัญในเรื่องความเป็นมิตรกับนักพัฒนาแบบสุดๆ โดยต้นทุนในการสร้างเกมลงบน Ouya จะมีราคาที่ถูกกว่าเครื่องเกมคอนโซลจาก 3 บริษัทยักษ์ใหญ่เป็นอย่างมาก ซึ่งนั่นก็คือ การไม่มีการเก็บค่า License เพื่อขออนุญาตในการพัฒนาเกมลง และค่า SDK (ชุดเครื่องมือพัฒนาซอฟต์แวร์)ที่ต้องใช้ในการสร้างเกมในเครื่องเกมในแต่ละยี่ห้ออีกด้วย ยิ่งลงมากเท่าไรต้นทุนก็ยิ่งสูงขึ้นมากเท่านั้น นอกเหนือไปกว่านั้นนี่ยังไม่รวมต้นทุนค่าเสียเวลาในการทำความเข้าใจของระบบเครื่องเกมคอนโซลในแต่ละยี่ห้ออีก ผลที่ตามก็มาก็คือต้นทุนที่บานปลาย ทำให้นักพัฒนาไม่กล้าทำเกมที่แหกกรอบทางความคิด ทำแต่เกมเดิมที่คิดว่าขายได้เท่านั้น แต่จากการที่ทาง Ouya ใช้ระบบปฏิบัติ Android ได้ทำให้ปัญหาเหล่านี้ถูกขจัดไปจนหมดสิ้น
และยิ่งไปกว่านั้นทาง Ouya ยังใจป้ำ กล้าทำในสิ่งที่บริษัทยักษ์ใหญ่ไม่กล้าทำ นั่นก็คือการเอาใจนักพัฒนาเกมค่ายเล็ก โดยทางค่ายจะแจกเงินให้เท่ากับจำนวนเงินที่นักพัฒนานั้นระดมทุนได้สำเร็จจาก Kickstarter โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องทำเกมลงแบบ Exclusive ให้กับ Ouya เป็นเวลา 6 เดือน ดั่งเช่นถ้าเกม Lobodestroyo สามารถระดมทุนได้ $35,000 (ประมาณ1ล้าน1แสนบาท) ทางค่ายนั้นก็จะได้รับเงินจาก Ouya เป็นจำนวน $35,000เท่ากับที่สามารถระดมทุนได้ แต่ Ouya ก็มีการจำกัดจำนวนเงินที่ทางค่ายเกมได้รับอีกด้วย นั่นก็คือจะต้องไม่เกิน $ 250,000 นอกเหนือไปกว่านั้นทางค่ายเกมก็มีสิทธิได้รับจำนวนเงิน Bonus พิเศษเพิ่มเติมอีก $100,000 ถ้าหากทางค่ายเกมไหนสามารถระดมทุนได้มากที่สุดภายในระยะเวลา1ปีนับตั้งแต่เครื่องเกมเริ่มจัดจำหน่าย
ต่อมาในเรื่องความเป็นมิตรกับผู้บริโภค Ouya ก็ใส่ใจไม่แพ้นักพัฒนา โดยทาง Ouya ได้ใส่ใจรายละเอียดในการออกแบบตั้งแต่ภายนอกไปจนถึง Software ภายใน เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้เล่น
เริ่มจาก Ouyaได้โฆษณาไว้ว่า Ouya เป็นเครื่องเล่นเกมที่ออกแบบมาเพื่อสายงัดแงะ ผู้เล่นสามารถงัดแงะตัวเครื่องมาใส่อะไหล่ได้ตามใจชอบตามที่ใจต้องการ โดยที่ประกันไม่ขาดอีกด้วย
ส่วนจอยเกม ทาง Ouya ก็ใส่ใจในรายละเอียดไม่แพ้บริษัทยักษ์ใหญ่ ถึงขั้นเชิญ อีฟส์ บีฮาร์ (Yues Behar) นักออกแบบมือทองที่คว้ารางวัลต่าง ๆนานามากมาย มาออกแบบให้ โดยชูจุดเด่นเรื่อง ความสบายในการจับถือด้วยระยะเวลายาวนาน มีปุ่มกดที่เหล่าเกมเมอร์คุ้นเคยในเครื่องเกมคอนโซลจาก 3 ยักษ์ใหญ่ครบถ้วนสมบูรณ์ และปุ่ม Touchpad ที่ทำให้ผู้เล่นสามารถลากถูไปๆมาๆเหมือนเล่นเกมด้วยระบบสัมผัสในมือถือจริงๆ ซึ่งหาไม่ได้ในเครื่องเกมของ 3 ค่ายยักษ์ใหญ่
ถัดมา เรื่องที่ Ouyaใช้ระบบปฏิบัติการ Android ระบบเดียวกับ Smartphone ทำให้เครื่องเล่นเกมนี้มีความสามารถในการติดตั้ง App อื่นๆนอกจากเกมได้ ทำให้เครื่องเกมนี้เป็นมากกว่าแค่เครื่องเกม นอกจากนี้ราคาเกมก็ถูกกว่าคอนโซลอีกด้วย โดยราคาเกมคอนโซลขายเฉลี่ยอยู่ประมาณ $ 49.99-59.99 (ประมาณ 1600-1900 บาท) ส่วนเกมมือถือราคาถูกสุดจะเริ่มต้นที่การแจกฟรีไปจนถึงราคา 500-600 บาท (หมายเหตุนี้คือราคาเกมในช่วงปี 2013) นอกเหนือจากนี้ทางเครื่องเกม Ouya นี้ก็มีเกมฟอร์มยักษ์ คุณภาพระดับน้องๆเกมคอนโซลลงอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น Shadow Chronicle , Dead trigger และ Sonic The Hedgehog 4 เป็นต้น แถมทุกเกมที่ลงในเครื่องนี้ก็มีให้ทดลองเล่นฟรีทุกเกมอีกด้วย ซึ่งแม้แต่เครื่องเกมยักษ์ใหญ่ 3 ค่ายยังไม่คิดที่จะทำเลย
สุดท้าย ก็คือเรื่องราคา เนื่องจาก Ouya ต้องการให้เครื่องเกมนี้เข้าถึงผู้เล่นให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพราะราคาเครื่องเกมของ 3 ค่ายยักษ์ใหญ่นั้นราคาแพงมากเฉลี่ยแล้วขายในราคาหลักหมื่นบาท แล้วนี่ก็เป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้เครื่องเกมของ 3 ค่ายยักษ์ใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงผู้คนจำนวนมากได้ Ouya จึงวางขายราคาเครื่องเล่นเกมพร้อมจอยเกมในราคาเพียงแค่ $99 (ประมาณ3,000บาท) ถูกกว่าเครื่องเกม PS4 กว่า 4 เท่าตัว(ราคา PS4 ความจุเริ่มต้น 500GB ในปี 2013 คือ $499)
จากโฆษณาเรื่องคำมั่นสัญญาที่เน้นเชิดชูเรื่องราวความเป็นวีรบุรุษผู้ต่อต้านบริษัทยักษ์ใหญ่ ด้วยการมอบสิ่งที่บริษัทยักษ์ใหญ่ให้ไม่ได้ ซึ่งมันโดนใจชาวอเมริกากลุ่มที่เป็นพวกขบถต่อต้านการผูกขาดบริษัทใหญ่พอดี ทำให้การระดมทุนนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยเพียงแค่ในระยะเวลา 1ชั่วโมงทางบริษัทก็ได้ยอดตามเป้าแล้ว กลายเป็นการระดมทุนที่ล้านแตกเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ของ Kickstarter อีกด้วย แถมยิ่งไปกว่านั้นจำนวนเงินก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้นมันก็ได้พุ่งทะยานขึ้นมาเรื่อยๆจนมาหยุดอยู่ที่ จำนวนเงิน $8ล้าน 5แสน 9 หมื่นเหรียญ (ประมาณ281ล้านบาท) มากกว่าที่ตั้งเป้าไว้ถึง 9เท่าตัว กลายเป็นการระดมทุน Kickstarter ที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก ณ ขณะนั้น (ปี2013) หลังจากนั้นจึงส่งผลให้ตอนนี้ Ouyaไม่ใช่บริษัทเล็กๆไร้ชื่อธรรมดาทั่วๆไปอีกต่อไปแล้ว แต่ Ouyaได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของเหล่าเกมเมอร์กับผู้พัฒนารายเล็กๆในการต่อกรกับ 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมเกมซึ่ง Ouya ต้องแบกรับแรงกดดันและความคาดหวังของผู้คนมหาศาลจากคำมั่นสัญญาที่เคยโม้ไว้ในเว็บระดมทุน ซึ่งมันได้กลายมาเป็นพันธะกิจที่ผูกมัดตัว Ouya ที่จะต้องทำให้สำเร็จโดยห้ามขาดตกบกพร่องหรือบิดพลิ้วทุกข้อ มิฉะนั้นจากคำสัญญามันจะกลายมาเป็นคำโกหกที่ย้อนมาทำลาย Ouya จนพังพินาศแทน
โฆษณา