Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ความรู้รอบตัว
•
ติดตาม
8 เม.ย. 2020 เวลา 11:35 • การศึกษา
แอดคาดว่า ปัญหาตู้เย็นที่พอใช้ไปนานๆแล้วจะมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ มักจะเป็นปัญหาที่หนักอกของหลายๆบ้านที่ใช้งานตู้เย็น โดยเฉพาะใน “ช่องแช่แข็ง” นั้น ยิ่งบ้านไหนที่มักจะทำน้ำแข็งทานเองก็จะสังเกตรับรู้ได้ชัดเจน ด้วยความว่ากลิ่นที่ฝังในตู้เย็นนั้นสามารถซึมซาบเข้าสู่ก้อนน้ำแข็งของเรา และพาลจะทำให้เครื่องดื่มที่เราใส่น้ำแข็งน้ันมีกลิ่นเพี้ยนตามไปด้วย
📕 วันนี้แอดก็จะมาเล่าถึง #เกร็ดความรู้ที่ไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้ ถึงเรื่อง #วิทยาศาสตร์ของกลิ่นไม่พึงประสงค์ในตู้เย็น รวมไปถึงวิธีการแก้ไขกลิ่นที่เกิดขึ้นให้ฟังกันนะครับ
📕 ปกติกลิ่น (smells) จะเกิดจากสารที่สามารถระเหยได้ (Volatile compounds) ที่สามารถกระตุ้นตัวรับสัญญาณในจมูกของเรานะครับ ดังนั้นสารแต่ละชนิดที่มีโครงสร้างทางเคมีแตกต่างกันก็จะมีความสามารถในการกระตุ้นที่แตกต่างกันไป และทำให้เราสามารถจำแนกชนิดของสารเคมีได้จากกลิ่นด้วยประสบการณ์การเรียนรู้ด้วยนะครับ
📕 “กลิ่นไม่พึงประสงค์ที่เกิดในตู้เย็นที่ใช้งานมานานๆ” นั้นมักจะเป็นกลิ่นที่ติดในตู้เย็นค่อนข้างถาวร และค่อนข้างกำจัดยาก เนื่องจากว่าตู้เย็นนั้นเป็นอุปกรณ์ที่แทบจะไม่มีการถ่ายเทของอากาศ แถมยังเป็นอุปกรณ์ที่ทำความสะอาดค่อนข้างยุ่งยาก จึงเป็นที่สะสมของเชื้อจุลินทรีย์ทนเย็นมากมาย อีกทั้งค่านิยมของหลายๆคน โดยเฉพาะเหล่าคุณแม่ที่มักมองการณ์ไกลว่า “สักวันมันต้องถูกนำมาใช้” จนตู้เย็นปกตินั้นแปรสภาพเป็น “ป่าช้าที่ใช้เก็บซากอาหาร” ไปเลย จนทำให้เวลารื้อของในตู้เย็นออกมาเพื่อทำความสะอาดนั้นเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมากๆสำหรับหลายครอบครัว 😂😂
Note : แต่ถ้าคุณได้กลิ่นอึนๆ “คล้ายน้ำยาล้างเล็บ” หรือกลิ่นคล้ายอาซีโตน (Acetone) อ่อนๆ แล้วแถมตู้เย็นเปิดยังไงก็เย็นไม่พอ หรือไม่เย็นเลย ทั้งๆที่ยังได้ยินเสียงคอมเพรสเซอร์ทำงานอยู่ นั่นคือ “ความฉิบหาย” ได้บังเกิดกับตู้เย็นเราแล้วครับ เพราะมันเป็นกลิ่นของ “ฟรีออน” (Freon) ที่ใช้เป็นน้ำยาทำความเย็นนั้นได้รั่วออกมาแล้ว โปรดปรึกษาผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์บริการของตู้เย็นเหล่านั้นว่าจะ “ไปต่อหรือพอแค่นี้” เพื่อการส่งซ่อม/ หรือเปลี่ยนเครื่องใหม่แล้ว 😂😂
📕 สาเหตุหลักๆที่ทำให้เกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ของตู้เย็นนั้น ก็จะมีดังนี้
⛳️ 1.) อาหารที่นำมาเก็บในตู้เย็น : ทั้งในรูปของอาหารสดใหม่ อาหารหมดอายุ อาหารที่ไม่ได้ปิดภาชนะอย่างมิดชิด เครื่องเทศ และสารพัดสมุนไพรที่ที่สามารถส่งสารมีกลิ่นให้กระจายทั่วในตู้เย็นได้ดี
⛳️ 2.) เชื้อจุลินทรีย์ : บ่อยครั้งที่เวลาเราไม่ได้ทำความสะอาดบ่อยเท่าที่ควร และมีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดฝัน เช่น อาหารหกเลอะเทอะ ที่ทำให้มีอาหารเลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์ได้
รวมไปถึง ปรากฏการณ์ไม่คาดฝันอย่าง “การไฟดับชั่วคราว”, “การใส่ของในตู้เย็นที่มากเกินไป”, “การปรับระดับความเย็นที่ไม่เหมาะสม” ก็จะทำให้ความเย็นนั้นไม่เพียงพอต่อการควบคุมเชื้อจุลินทรีย์ในตู้เย็น ปล่อยให้มันกำเริบเสิบสานยึดครองอาณาจักรตู้เย็น
จุลินทรีย์สามารถสร้างสารที่ระเหยได้อย่าง MVOCs (Microbial volatile organic compounds) ที่มีกลิ่นรุนแรงมาก จนเรียกว่าค่าความเข้มข้นที่ทำให้เรารับรู้กลิ่น (Threshold amount) นั้นอาจจะมีค่าเพียงแค่หนึ่งส่วนในพันล้านส่วน (ppb) เท่านั้นเอง
📕 สารมีกลิ่นที่มักจะพบในตู้เย็นจากอาหาร มักจะเป็นสารประกอบที่เกิดจากการรวมตัวจากการเสื่อมสลายของอาหาร และกระบวนการชีวสังเคราะห์ (biosynthesis) จากเชื้อจุลินทรีย์รวมกัน โดยแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆได้ดังนี้
⛳️ 1.) กลุ่มของกรดไขมัน : เกิดจากการหืนและการย่อยสลายไขมัน เช่น กรดบิวไทริก (butyric aicd) เป็นต้น กลุ่มนี้สามารถเกาะที่ผนังตู้เย็นที่เป็นชิ้นส่วนพลาสติกได้ดี แต่ยังดีที่สามารถทำลายล้างด้วยสาร “ด่างอ่อน” อย่างเจ้า Baking soda (NaHCO₃) ให้เกิดเป็นเกลือที่ละลายน้ำได้ง่าย และไม่ระเหยส่งกลิ่นได้อีกต่อไป (เห็นมั้ยว่าเคล็ดลับหลายๆที่ก็เลยบอกว่า สามารถใช้ Baking soda ดับกลิ่นในตู้เย็นได้ดี ว่าสามารถพรูฟได้ด้วยวิทยาศาสตร์นะจ๊ะ!!)
⛳️ 2.) กลุ่มของสารประกอบกำมะถัน : เกิดจากพืชผักพวกหอม กระเทียม ทุเรียน กลิ่นพวกนี้มักเป็นกลิ่นจำเพาะ และสามารถหายไปได้เองตามกาลเวลา เพราะสารประกอบกำมะถันเหล่านี้สามารถถูกออกซิไดซ์ (oxidized) ด้วยแก๊สออกซิเจนในอากาศได้ (แม้ว่าบางทีอาจจะต้องใช้เวลาร่วม 1-2 เดือนก็ตาม)
⛳️ 3.) กลุ่มของสารประกอบไนโตรเจน : เกิดจากอาหารพวกเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อสัตว์น้ำ เช่น ปลาแช่แข็ง อาหารทะเลต่างๆ ทั้งสดและตากแห้ง กลิ่นพวกนี้มักจะตัองทำลายด้วยกรดอ่อน หรือสารออกซิไดซ์ เพราะการรออกซิเดชันในอากาศนั้นไม่เพียงพอต่อการกำจัดสารพวกนี้
⛳️ 4.) สารประกอบฮาโลฟีนอล และสารประกอบอินทรีย์อื่นๆ : เกิดจากการชีวสังเคราะห์ของเชื้อจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในตู้เย็น เนื่องจากมันฉวยโอกาสตอนที่เราพลั้งเผลอ โดยสารกลุ่มนี้มักจะมีกลิ่นอึนๆ และมักจะเป็นกลิ่นเฉพาะของตู้เย็นทุกๆบ้านที่ไม่ค่อยได้ล้างตู้เย็น หรือไม่ก็มักจะมีเด็กซุ่มซ่ามทำอาหารหกเลอะเทอะในตู้เย็นบ่อยๆ
📕 ดังนั้นกลิ่นจากสารประกอบฮาโลฟีนอล และสารประกอบอินทรีย์อื่นๆที่เกิดจากเชื้อจุลินทรีย์นั้นจึงมักจะเป็นกลิ่นประจำถิ่นของตู้เย็น โดยเฉพาะในช่องแช่แข็งที่มีกลิ่นที่บอกไม่ถูก แต่พอไปดมบ้านไหนก็จะมีโทนกลิ่นคล้ายๆกันหมด แล้วแต่ว่าบ้านใครจะมีระดับของกลิ่นที่รุนแรงกว่ากันเท่านั้นเอง แต่โชคดีที่ว่าสารกลุ่มนี้สามารถล้างด้วยสารลดแรงตึงผิวธรรมดาอย่างน้ำยาล้างจานก็ได้ 🤣🤣
📕 ปกติการเช็ดล้างตู้เย็นก็สามารถทำได้อย่างถอนรากถอนโคนนั้น จำเป็นต้องวางกลยุทธ์ 3 ขั้นตอนนะครับ
⛳️ ขั้นตอนแรก : เป็นขั้นตอน “ชำระกลิ่นเก่า” โดยการใช้น้ำยาล้างจานละลายน้ำ และผสม Baking soda ลงไปเล็กน้อย เพื่อที่ทำให้เกิดชำระล้างสารส่งกลิ่นในตู้เย็นออกจากพื้นผิวพลาสติก รวมไปถึงละลายเอากรดไขมันที่มีกลิ่นออกมาด้วย
อัตราส่วนที่แอดแนะนำนะครับ คือ Baking soda 1 ช้อนชา : น้ำยาล้างจาน 1 ช้อนชา : น้ำเปล่า 1 ถ้วยตวง เช็ดให้ทั่วตู้เย็น โดยการถอดเอาแต่ละชิ้นส่วนออกมาเช็ดจนถ้วนทั่ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่รองน้ำทิ้งหลังตู้เย็น ประตูตู้เย็น และซีลยางที่มักจะเป็นตำแหน่งที่เชื้อจุลินทรีย์มาสะสมกันมากกว่าตำแหน่งอื่น แล้วตามด้วยเช็ดน้ำจนสะอาด
⛳️ ขั้นตอนที่สอง : เป็นขั้นตอน “กำจัดเชื้อจุลินทรีย์ตกค้าง” นะครับ ซึ่งตู้เย็นนั้นจัดว่าเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สัมผัสกับอาหารโดยตรง ดังนั้นการเลือกใช้สารฆ่าเชื้อในกรณีนี้ควรต้องเป็น “สารที่ไม่ตกค้าง” อย่างเช่น สารฟอกขาวเปอร์ออกไซด์อย่าง “ไฮเตอร์สูตรผ้าสี” แล้วเจือจางด้วยน้ำสะอาด 10 เท่า แล้วเช็ดลูบให้ถ้วนทั่ว ทิ้งไว้นาน 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำประปาจนสะอาดอีกครั้ง
Note : ในขั้นตอนนี้ ผู้เชี่ยวชาญบางท่านได้แนะนำการใช้สารฟอกขาวคลอรีนอย่าง “ไฮเตอร์สูตรผ้าขาว” ละลายน้ำ 10 เท่าเช็ดถูผนัง ทิ้งไว้นาน 10 นาที เพื่อความเด็ดขาดยิ่งขึ้น แต่เนื่องด้วยคลอรีนนั้นเป็นอันตรายต่อพลาสติกหลายๆชนิด จึงควรทำการล้างคลอรีน (antichlor) ออกก่อนที่จะล้างน้ำออกอีกครั้งนะครับ โดยวิธีการเหล่านี้
การใช้สารฟอกขาวเปอร์ออกไซด์อย่าง “ไฮเตอร์สูตรผ้าสี” แล้วเจือจางด้วยน้ำสะอาด 10 เท่า ทิ้งต่อไว้นาน 10 นาที แล้วเช็ดลูบให้ถ้วนทั่วตาม ก่อนที่จะเช็ดตามด้วยน้ำประปาซ้ำอีกครั้ง หรือจะใช้
สาร “ไฮโป” (Sodium thiosulfate : Na₂S₂O₃) ที่ขายเป็นเกล็ดเหลี่ยมสีสวยใสตามร้านขายปลาตู้ แล้วเจือจางด้วยน้ำสะอาด 50 เท่า (1 ช้อนชาต่อน้ำลิตรครึ่ง : ก็ขนาดเท่าน้ำขวดบรรจุพลาสติกใสสำเร็จขนาดมาตรฐานที่ขายใน 7-11 ขนาด 12-15 บาทนั้นแหละ) ทิ้งต่อไว้นาน 10 นาที แล้วเช็ดลูบให้ถ้วนทั่ว ก่อนที่จะเช็ดตามด้วยน้ำประปาซ้ำอีกครั้ง
⛳️ ขั้นตอนที่สาม : เป็นขั้นตอน “ควบคุมกลิ่นที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” ซึ่งก็มีวิธีการที่ควรทำเผื่อในอนาคต
โดยอาจจะใช้ “สารดูดซับ” เช่น Baking soda ผง / หรือ Activated carbon แบบอัดเม็ดที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป ใส่กระปุกพริกไทยเล็กๆ แล้ววางในตู้เย็น
หรืออาจจะใช้ “กลิ่นบังกลิ่น” โดยการใช้ฝักวนิลา / หรือ กาแฟคั่วบดเป็นตัวให้กลิ่นก็ได้นะครับ
#วิชาพ่อบ้าน_101
#การล้างตู้เย็นเป็นเรื่องใหญ่ #เพราะอาจจะเป็นการเช็คสต็อคครั้งยิ่งใหญ่เลยก็ได้
#ตอนรื้อกับล้างน่ะไม่เท่าไร #แต่ตอนตัดสินใจว่าจะเก็บต่อหรือเนียนทิ้งนี่สิเรื่องใหญ่
#เพราะอย่าลืมว่าผู้ที่มีอำนาจควบคุมอย่างแท้จริงคือคุณแม่บ้านในบ้าน
#คราวนี้ก็จะเป็นบทพิสูจน์ว่าแม่รักของในตู้เย็นหรือเรามากกว่ากันแน่
#หลังจากที่หัวเน่าจากน้องหมากับน้องแมวที่บ้านไปแล้ว 😂😂😂
1
สุดท้ายนี้แอดก็ขอขอบคุณรูปประกอบบทความจาก #Pixabay ด้วยนะครับ
😁😁
บันทึก
2
6
2
6
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย