Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
นิทาน,นิยาย,ตำนานสนุกๆ ได้ความรู้
•
ติดตาม
8 เม.ย. 2020 เวลา 16:21 • การศึกษา
นิทานพื้นบ้านไทย
เด็กไทยมี "มรดก" ทางวัฒนธรรมที่ปู่ย่าตาทวดของเรามอบไว้ให้อย่างหนึ่ง คือ นิทานพื้นบ้านหรือนิทานท้องถิ่นที่ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ลูกหลานฟังสืบทอดกันมานับร้อยปี นิทานพื้นบ้านมีหลายประเภทบางประเภทก็เป็นตำนานอธิบายปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น จันทรคราส สุริยคราส บางประเภทก็เป็นนิทานประจำถิ่น เช่น ที่จังหวัดนครปฐม มีนิทานเรื่อง พระยากง-พระยาพาน ซึ่งเชื่อกันว่า เป็นตำนานเกี่ยวกับพระปฐมเจดีย์
เรามีนิทานประจำถิ่นสนุก ๆ หลายเรื่อง เด็ก ๆ ที่เคยไปเที่ยวจังหวัดตราด จันทบุรี ชลบุรี เพชรบุรี คงเคยเห็นเกาะทะลุ เกาะสาก เขาแม่รำพึง แหลมงอบ ฯลฯ สภาพภูมิศาสตร์ที่แปลกตาเหล่านี้ มีประวัติความเป็นมาโดยเล่าเป็นนิทานเรื่องตาม่องล่าย
นิทานบางประเภทเป็นเรื่องผีที่เด็กรู้จักกันดี เช่น นางนาคพระโขนง บางประเภทเป็นนิทานมหัศจรรย์ที่มีของวิเศษ หรือสิ่งมหัศจรรย์ ที่มนุษย์ฝันอยากมี อยากได้ อยากเป็น เช่น แก้วสารพัดนึก รองเท้าที่ใส่แล้วเหาะได้ การแปลงตัวได้ การเหาะเหินเดินอากาศได้ นิทานมหัศจรรย์ของไทยมักเรียกว่า นิทานจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องที่เด็กๆ รู้จักกันดี ก็มีอยู่หลายเรื่อง เช่น สังข์ทอง ปลาบู่ทอง พระรถเมรี พระสุธน-มโนห์รา
นอกจากนั้นยังมีนิทานตลก เช่น ศรีธนญชัย นิทานอธิบายสาเหตุ เช่น ทำไมหมากับแมวจึงไม่ถูกกัน ทำไมควายจึงไม่มีฟันบน และยังมีนิทานเรื่องสัตว์ ที่อธิบายนิสัยสัตว์ต่าง ๆ อีก เด็ก ๆ น่าจะลองให้ผู้ใหญ่เล่าให้ฟังหรือหาอ่านจากหนังสือนิทานในห้องสมุดก็ได้
นิทานพื้นบ้าน คือ เรื่องที่เล่ากันต่อๆ มาจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่งโดยที่ไม่ทราบว่า ใครเป็นผู้แต่ง เช่น นิทานเรื่อง สังข์ทอง ปลาบู่ทอง หรือโสนน้อยเรือนงาม มีการเล่าสู่กันฟังจากปู่ย่าตายายของเรา พ่อแม่ของเรา รวมทั้งตัวเราเองไปจนถึงลูกหลานเหลนโหลนของเรา เป็นทอด ๆ กันไป รุ่นแล้วรุ่นเล่า บางครั้งก็แพร่กระจายจากท้องถิ่นหนึ่งไปสู่อีกท้องถิ่นหนึ่ง เช่น นิทานเรื่อง สังข์ทอง อาจมีหลายสำนวน แล้วแต่ความทรงจำความเชื่อ อารมณ์ของผู้เล่า และวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่น
นิทานพื้นบ้านไทยนั้นมีทั้งนิทานไทยที่เล่าสู่กันฟังในหมู่บ้านท้องถิ่นต่าง ๆ และนิทานที่มาจากต่างชาติ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม แต่คนไทยก็รับเข้ามาไว้ในวัฒนธรรมไทยอย่างกลมกลืนสนิทสนม เช่น มหากาพย์รามายณะของอินเดีย ได้กลายมาเป็นนิทานพื้นบ้านไทยหลายเรื่อง เช่น พระลัก-พระลาม ทางภาคอีสาน หรือ พรหมจักร-หรมาน ทางภาคเหนือ เป็นต้น
นักคติชนวิทยาแบ่งนิทานไทยออกเป็นประเภทต่าง ๆ ๑๑ ประเภท คือ
(๑) นิทานเทวปกรณ์ หรือ ตำนานปรัมปรา
(๒) นิทานมหัศจรรย์
(๓) นิทานชีวิต
(๔) นิทานประจำถิ่น
(๕) นิทานคติสอนใจ
(๖) นิทานอธิบายสาเหตุ
(๗) นิทานเรื่องสัตว์
(๘) นิทานเรื่องผี
(๙) นิทานมุขตลก
(๑๐) นิทานเรื่องโม้
(๑๑) นิทานเข้าแบบ
๑. นิทานเทวปกรณ์หรือตำนานปรัมปรา
นิทานประเภทนี้มักเป็นเรื่องเล่าถึงกำเนิดจักรวาล โลก มนุษย์ สัตว์ และพืช เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติ เช่น ลม ฝน จันทรคราส สุริยคราส ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฯลฯ หรือเล่าตำนานสร้างโลก เช่น เรื่องปู่สังกะสาย่าสังกะสีหรือปู่สางสีและย่าสางไส้ กล่าวว่าผู้มีอำนาจมากเป็นผู้สร้างมนุษย์คู่แรกนี้ขึ้น มนุษย์ทั้งหลายล้วนเป็นลูกหลานของปู่สางสีและย่าสางไส้ทั้งสิ้น บางตำนานกล่าวถึงกำเนิดโลกและมนุษย์ในสมัยปฐมกัลป์ว่าเกิดไฟไหม้โลกแล้วยังมีฝนตกใหญ่จนน้ำท่วมโลก เมื่อน้ำแห้งดินมีกลิ่นหอมขึ้นไปถึงสวรรค์จนเทวดาต้องเหาะลงมากินก้อนดินเมื่อกินแล้วเหาะกลับสวรรค์ไม่ได้จึงต้องอยู่ในโลกแล้วเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์สืบมา นอกจากนั้นนิทานประเภทนี้ยังใช้อธิบายที่มาของพิธีกรรม เช่น ตำนานข้าว ตำนานขอฝน
๒. นิทานมหัศจรรย์
เป็นนิทานเกี่ยวกับของวิเศษสิ่งมหัศจรรย์และสิ่งต่าง ๆ ที่มนุษย์ใฝ่ฝัน อยากได้ อยากเป็น เช่น การแปลงตัว การเหาะเหินเดินอากาศและการเนรมิตของวิเศษ เป็นต้น นิทานไทยที่เข้าข่ายนิทานมหัศจรรย์ คือ นิทานจักร ๆ วงศ์ ๆ มีเจ้าหญิงเจ้าชายมีของวิเศษหรือสัตว์เป็นผู้คอยช่วยเหลือ พระเอกในบางเรื่องสามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ เช่น เรื่องสังข์ทอง ปลาบู่ทอง โสนน้อยเรือนงาม นางสิบสอง พระสุธน-มโนห์รา เป็นต้น
๓. นิทานชีวิต
มีลักษณะเป็นเรื่องที่เชื่อว่าเกิดขึ้นจริงมีบุคคลและสถานที่ที่เกิดเหตุการณ์ นิทานชีวิตของไทยบางเรื่องมีลักษณะเป็นนิทานประจำถิ่นด้วย เช่น ไกรทอง เป็นนิทานประจำจังหวัดพิจิตร เรื่องขุนช้างขุนแผน เป็นนิทานประจำถิ่นจังหวัดสุพรรณบุรีและจังหวัดกาญจนบุรี เป็นต้น
๔. นิทานประจำถิ่น
เป็นนิทานที่เล่าสืบทองกันมาในท้องถิ่นต่าง ๆ และเชื่อกันว่าเคยเกิดขึ้นจริง ๆ เนื้อเรื่องมักเกี่ยวข้องหรืออธิบายความเป็นมาของสิ่งต่าง ๆ หรือสถานที่ที่มีอยู่ในท้องถิ่น ๒ ประการ คือ สิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เช่น ภูเขา เกาะ หิน ถ้ำ ลำธาร ฯลฯ และสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น สถูปเจดีย์ เป็นต้น เช่น นิทานเรื่อง พระร่วง ที่เชื่อกันว่าเป็นผู้สร้างสวนขวัญสระอโนดาตในสุโขทัยหรือเรื่อง ท้าวแสนปม และเรื่อง พระยากง-พระยาพาน นิทานประจำถิ่นของจังหวัดนครปฐมที่เล่าเรื่องปฐมเหตุแห่งการสร้างพระปฐมเจดีย์และเรื่องตาม่องล่าย นิทานประจำถิ่นแถบชายทะเลตะวันออกของอ่าวไทย ตั้งแต่จังหวัดตราด จันทบุรี เพชรบุรี ไปจนถึงประจวบคีรีขันธ์ซึ่งอยู่ทางชายฝั่งตะวันตกโดยเล่าตำนานของเกาะสาก เขาแม่รำพึง หอยพลูมวน ฯลฯ
๕. นิทานคติสอนใจ
นิทานประเภทนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณค่าของจริยธรรมและผลแห่งกรรม หากทำกรรมดีย่อมได้ดีทำกรรมชั่วย่อมได้ชั่ว กรรมดี ได้แก่ ความกตัญญู ความเมตตากรุณา ความซื่อสัตย์ และความเลื่อมใสศรัทธราในพระศาสนา ส่วนกรรมชั่ว ได้แก่ ความอกตัญญู ความใจร้ายโหดเหี้ยม ความทุจริต และความไม่เลื่อมใสศรัทธาในพระศาสนา เช่น นิทานเรื่องลูกกตัญญูของหมู่บ้านบ้าน ในตำบลนาป่า อำเภอเมืองฯ จังหวัดชลบุรี เป็นต้น
๖. นิทานอธิบายสาเหตุ
เป็นนิทานที่เล่าถึงสาเหตุที่มนุษย์ สัตว์ และพืช มีลักษณะรูปร่าง สีสัน ความประพฤติต่าง ๆ กัน เช่น เหตุที่งูเหลือมไม่มีพิษ เหตุที่เต่ามีกระดองเป็นลวดลาย ทำไมกาจึงมีขนสีดำ ส่วนนกยูงมีขนสีเหลือบสวยงาม เป็นต้น
๗. นิทานเรื่องสัตว์
เป็นเรื่องเกี่ยวกับลักษณะอุปนิสัยของสัตว์ เช่น แมวชอบกินหนู สัตว์โง่ สัตว์ฉลาด สัตว์เจ้าเล่ห์ เช่น ลิง กระต่าย เต่า หอย จระเข้ นก
๘. นิทานเรื่องผี
ผีในนิทานไทยมีหลายประเภท เช่น ผีคนตาย ผีบ้านผีเรือน ผีประจำต้นไม้ ผีป่า ผีที่สิงอยู่ในร่างของคนและผีเบ็ดเตล็ด ผีคนตายมักเป็นเรื่องเล่าที่เกี่ยวกับผีตายโหง คือ ผีคนตาย เนื่องจากอุบัติเหตุหรือถูกฆาตกรรม การตายด้วยเหตุสองประการนี้ผู้ตายมักไม่ทันรู้ตัวเราจึงเชื่อว่าวิญญาณมักเที่ยวหลอกหลอนหรือสิงอยู่ ณ สถานที่ที่ตาย เช่น ถนน สะพาน แม่น้ำ เป็นต้น ผีตายทั้งกลม ก็มีผู้คนกลัวกันมาก ผีประเภทนี้คือ ผีผู้หญิงซึ่งตายขณะที่กำลังตั้งครรภ์หรือกำลังคลอดลูก เช่นเรื่อง ผีนางนาคพระโขนง
ผีบ้านผีเรือน คือ ผีที่อยู่ประจำรักษาบ้านเรือนบางคนเชื่อว่าเป็นผีบรรพบุรุษที่คอยคุ้มครองผู้อยู่ในบ้านเรือนและทรัพย์สมบัติให้ปลอดภัย ที่ต้นไม้ใหญ่ ๆ เช่น ต้นตะเคียน มักเชื่อกันว่า มีผีประจำ ส่วนผีป่า แสดงให้เห็นว่าตามป่าเขาลำเนาไพรนั้นมีผีป่าคอยคุ้มครอง หลอกหลอน หรือทำร้าย แล้วแต่พฤติกรรมของมนุษย์ที่เข้าไปในป่า ส่วนผีที่ชอบสิงอยู่ในร่างของคน ได้แก่ ผีปอบ ผีกระสือ และผีโพง ผีพวกนี้ชอบกินของสกปรก ของสด และของคาว เช่น กบ หรือเขียดเป็น ๆ
๙. นิทานมุขตลก
มี ๒ ประเภท คือ มุขตลกหยาบโลน และมุขตลกไม่หยาบโลน
มุขตลกหยาบโลน ส่วนใหญ่ล้อเลียนผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ได้แก่ พระ ชี ล้อเลียนเครือญาติ เช่น ลูกเขยกับแม่ยาย พี่เขยกับน้อยเมีย หรือพ่อผัวกับลูกสะใภ้
มุขตลกไม่หยาบโลน มักมีแนวคิดเกี่ยวกับความฉลาด ความโง่ หรือความเปิ่น ความเกียจคร้าน บางครั้งก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับคนต่างชาติต่างถิ่นด้วย
เด็กๆ
๑๐. นิทานเรื่องโม้
เป็นเรื่องเหลือเชื่อเกี่ยวกับสิ่งใหญ่โต เช่น เรื่องอ้ายง้มฟ้าของภาคเหนือมีรูปร่างสูงใหญ่เกือบจรดฟ้า หรือเรื่องตะขาบใหญ่กินช้างของบ้านในจังหวัดชลบุรี เรื่องโม้อีกประเภทหนึ่งเกี่ยวกับความสามารถพิเศษหรือมีพลังมหาศาล เช่น เรื่องอ้ายเจ็ดไหของภาคเหนือ ซึ่งกินข้าวทีเดียวหมดไปเจ็ดไห ทั้ง ๆ ที่เป็นทารกเพิ่งเกิดเขาเป็นคนที่กำลังวังชามากจนสามารถยกเรือสำเภาได้
เรื่องโม้ประเภทที่สาม เป็นเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์อันผิดวิสัยหรือเหตุบังเอิญอย่างเหลือเชื่อ เช่น เรื่องนกสองฝูง จากตำบลโรงช้าง อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง นกทั้งสองฝูงต่างบินมาคนละทิศขณะแดดกำลังร้อนจัดจึงพากันอ้าปากบินและรีบบินอย่างรวดเร็ว เมื่อสวนทางกันนกทั้งสองฝูงจึงชนกันตกลงมาตายหมด
๑๑. นิทานเข้าแบบ
เท่าที่มีผู้รวบรวมไว้ นิทานเข้าแบบของไทย มี ๒ ประเภท คือ นิทานไม่รู้จบ และนิทานลูกโซ่
นิทานไม่รู้จบ คือ นิทานที่เล่าไปได้เรื่อย ๆ ไม่มีวันจบ เช่น เรื่องชาวประมงทอดแหได้ปลาเป็นจำนวนมาก ขณะที่ดึงแหขึ้นมาแหก็ขาดไปรูหนึ่งปลาตัวหนึ่งก็ลอดออกไปเมื่อเล่าถึงตอนนี้ผู้เล่าก็หยุด ผู้ฟังก็ถามด้วยความสนใจว่าแล้วอย่างไรต่อไป ผู้เล่าก็เล่าต่อว่าแล้วตัวที่สองก็หลุดลอดไป (หยุด) แล้วตัวที่สามก็หลุดไป (หยุด) แล้วตัวที่สี่ก็หลุดลอดออกไป... เป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ส่วนนิทานลูกโซ่ เล่าถึงพฤติกรรมของตัวละคร ที่เกี่ยวข้องกับเป็นลูกโซ่ เช่น เรื่องยายกับตา
นิทานพื้นบ้านของไทยเป็น "มรดก" ทางวัฒนธรรมที่ชาวบ้านบอกเล่า ถ่ายทอดสู่ลูกหลาน มีทั้งนิทานเก่าและนิทานใหม่เป็นวิธีหนึ่งที่จะปลูกฝังให้ลูกหลานรับรู้และตระหนักว่า ปู่ย่าตายายมีวิถีชีวิต มีศรัทธา และมีจริยธรรมอย่างไร แม้ปัจจุบันสังคมจะเปลี่ยนไป แต่นิทานพื้นบ้านก็ยังเป็น "รากเหง้า" ที่ลูกหลานไทยควรจะรู้จักรักษาและเล่าสืบทอดต่อไปตราบชั่วกาลนาน
แหล่งข้อมูล
ข้อมูลจากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 26 เรื่องที่ 1 ลิขสิทธิ์เป็นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
1 บันทึก
9
16
2
1
9
16
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย