30 เม.ย. 2020 เวลา 04:42 • การศึกษา
" ชายหนุ่ม กับ ตะเกียงวิเศษ "
กาลครั้งหนึ่งมีชายหนุ่มคนหนึ่งขุดพบตะเกียงเก่าแก่อันหนึ่ง
ในขณะที่เขากำลังทำสวนอยู่ พอเขาเอามือถูตะเกียง
ก็ปรากฏว่ามีควันออกมาจากตะเกียง แล้วกลายเป็นยักษ์ตัวใหญ่
ยักษ์ตนนั้นพูดกับชายหนุ่มว่า
“ขอบใจที่ได้ช่วยให้ฉันเป็นอิสระ ฉันจะตอบแทนท่านโดยรับใช้ท่าน
ท่านจะใช้อะไรฉันก็ได้ แต่มีข้อแม้ว่า เมื่อไรที่ท่านหยุดใช้ฉัน ฉันก็จะกินท่าน”
ชายหนุ่มก็ตกลงเพราะเขาเห็นว่าการมีคนรับใช้เป็นเรื่องที่ดี
และเขาก็มั่นใจว่าเขาจะใช้ยักษ์ตนนี้ให้ยุ่งอยู่ตลอดเวลาได้
ดังนั้นเขาจึงตอบตกลง ยักษ์นั้นจึงถามว่า
“นายต้องการให้ฉันรับใช้เรื่องใดบ้าง แต่อย่าลืมนะ…
ถ้านายหยุดใช้ฉันเมื่อใด…ฉันก็จะกินนาย”
ชายหนุ่มคนนั้นตอบว่า “ฉันต้องการวังหลังหนึ่งเพื่อฉันจะได้เข้าไปอยู่”
ทันใดนั้นยักษ์ก็เนรมิตวังหลังหนึ่งได้ ชายหนุ่มตกใจ…
เพราะเขานึกว่า ยักษ์คงใช้เวลาสักปีกว่าจะสร้างวังเสร็จ
ทีนี้เขาต้องคิดอย่างรวดเร็วว่าจะขอให้ยักษ์ทำอะไรต่อไปดี
เขาบอกยักษ์ให้ “สร้างถนนกว้างๆ ไปถึงหน้าวัง”
ทันใดนั้นถนนก็ปรากฏอยู่ต่อสายตาเขา
“ฉันต้องการสวนล้อมรอบวัง” เขาสั่งต่อไป
ทันทีความต้องการของเขาก็ปรากฏต่อหน้าเขา “ฉันต้องการ…..”
เขาก็ขอไปเรื่อยๆ แต่เขาเริ่มต้น วิตกว่าอีกไม่ช้าเขาก็จะขอจนหมดแล้ว
และอีกอย่างเขาคงเข้าไปอยู่ในวังอย่างผาสุกไม่ได้…
เพราะเขาต้องคอยมานั่งสั่งยักษ์ให้ทำงานตลอดเวลา
ในที่สุดเขาก็คิดหาทางออกได้
เขาขอให้ยักษ์สร้างเสาต้นหนึ่งให้สูงสุด ซึ่งยักษ์ก็เนรมิตให้ทันทีทันใด
เขาพูดกับยักษ์ว่า “ข้าขอให้เจ้ายักษ์ปีนเสาต้นนี้ช้าๆ ไปถึงยอดแล้ว…
ให้ปีนลงมาช้าๆ เช่นกัน พอถึงพื้นก็ให้ปีนขึ้นไปบนยอดใหม่
อีกครั้งแล้วให้ปีนขึ้นปีนลงเช่นนี้ตลอดเวลาไม่ให้หยุดเลย”
ยักษ์ตนนั้นก็เลยต้องปีนขึ้นปีนลงตลอดเวลาตามคำสั่งของนาย
ชายหนุ่มจึงเริ่มหายใจได้ทั่วท้อง ขณะนี้เขาปลอดภัยแล้ว
ชายหนุ่มมีเวลาที่จะเข้าไปอยู่ในวังอย่างมีความสุข ตั้งแต่นั้นมา
ยักษ์ตนนี้เปรียบเสมือน “ความคิด” และ “จิตใจ” ของเรา
ถ้าเรารู้จักใช้ความคิดของเรา และควบคุมความคิดของเราให้ดี
เราจะได้รับผลดีจากความคิดของเรา
“ถ้าเราต้องการจะทำอะไร…ให้ดีให้ถูกต้อง”
“เราต้องควบคุมจิตใจของเราให้สงบ”…เหมือนกับชายหนุ่มในนิทาน
ที่สามารถควบคุมยักษ์ตนนั้นได้ และสามารถทำให้ความต้องการของเขาลุล่วงสำเร็จได้
ข้อคิดจากนิทาน :
“ผู้มีปัญญาย่อมรู้จัก…ที่จะใช้ความคิดของตนเอง”
เราจะเห็นได้ว่า แม้แต่ความคิดก็เปรียบได้กับเหรียญสองด้านที่มีทั้งแง่ดีก่อให้เกิดประโยชน์ และแง่ลบที่สามารถบั่นทอนทำลายเราได้ ดังนั้น เราจึงควรรู้จักฝึกพัฒนาความคิดของเราให้ดี
Credit : คัดมาจากหนังสือวิทยาศาสตร์ของการฝึกจิตของ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา
โฆษณา