11 เม.ย. 2020 เวลา 13:43 • สุขภาพ
อาหารที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่มีปัญหาตามอาการ วิธีแก้ไขอาการข้างเคียงเบื้องต้นจากการรักษามะเร็งและพยาธิสภาพของตัวโรค (Part : 2/5)
1. อาการเบื่ออาหาร หรือ ความอยากอาหารลดลง
ข้อควรปฏิบัติ : เลือกอาหารที่ผู้ป่วยชอบหรือพอกินได้ แนะนำเป็นอาหารที่มีพลังงานและโปรตีนสูง โดยให้ลดปริมาณในแต่ละมื้อให้น้อย แต่เพิ่มจำนวนมื้ออาหารให้บ่อยขึ้น (5-6 มื้อ/วัน) เมื่อรู้สึกว่ากินอาหารได้ดีขึ้น ค่อยๆปรับเพิ่มปริมาณอาหารในแต่ละมื้อ ในขณะที่ความอยากอาหารดี ให้เริ่มกินอาหารที่มีโปรตีนสูงก่อน เช่น ไข่ เนื้อสัตว์ นม (หากไปกินอย่างอื่นก่อนจะทำให้อิ่ม จนไม่สามารถกินอาหารโปรตีนสูงได้เพียงพอ การดื่มน้ำก็เช่นกัน ควรดื่มน้ำให้ห่างจากมื้ออาหาร 30-60 นาที เนื่องจากการดื่มน้ำจะทำให้รู้สึกอิ่มเร็วขึ้น) และควรวางอาหารหรือเครื่องดื่มที่ให้พลังงานสูงที่ชอบหรือกินได้ ไว้ใกล้มือ ให้ผู้ป่วยสามารถหยิบกินได้สะดวก
2. เจ็บช่องปากและลำคอ
ข้อควรปฏิบัติ : ต้องระวังอาหารและผลไม้ที่เป็นกรดหรือมีรสเปรี้ยว เช่น ส้ม มะเขือเทศ น้ำผลไม้ เครื่องเทศที่เผ้ดร้อน รสเค็ม อาหารหยาบหรือกรอบแข็ง ระวังการติดเชื้อในช่องปาก ควรกินอาหารอ่อนนุ่มที่เคี้ยวกลืนง่าย ได้แก่ ข้าวต้ม โจ๊กบดผสมเนื้อสัตว์ผัก กล้วย แตงโม โยเกิร์ต ถั่วเมล็ดแห้งต้มบดกรอง พุดดิ้ง วุ้น ไข่กวน อาหารปั่นผสมสูตรต่างๆ และเสิร์ฟอาหารอุณหภูมิห้อง ไม่ร้อน ไม่เย็น จนเกินไป
3. ปากแห้ง
ข้อควรปฏิบัติ : กินอาหารที่มีลักษณะอ่อนนุ่ม มีน้ำเป็นส่วนประกอบมากหรือพอขลุกขลิก เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ก๋วยเตี๋ยวน้ำ และควรใช้การอมน้ำแข็ง ลูกอม เคี้ยวหมากฝรั่ง กินอาหารว่างที่มีรสหวานหรือเปรี้ยว เพื่อเพิ่มการหลั่งน้ำลาย (แต่ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสเปรี้ยวในผู้ป่วยที่มีแผลในช่องปาก) และอย่าลืมจิบน้ำบ่อยๆ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นในช่องปาก
4. การรับรสและกลิ่นเปลี่ยนไป
ข้อควรปฏิบัติ : แบ่งอาหารเป็นมื้อเล็ก กลั้วคอหรือลิ้นก่อนกินอาหาร เลือกอาหารที่มีหน้าตาและสีสันน่ากิน เสิร์ฟอาหารที่ไม่ร้อนจัด เพราะ เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น กลิ่นและรสชาติจะลดลง ใช้สมุนไพรในการเพิ่มรสชาติและกลิ่นของอาหาร เช่น ใบโหระพา ใบมะกรูด ใบสะระแหน่ น้ำมะนาว ในส่วนของแหล่งของโปรตีนจำพวกเนื้อแดง มักจะมีการรับรสที่ไม่ค่อยดี ให้เปลี่ยนไปกินพวก ปลา ไก่ ไข่แทน หรือใช้เมนูอาหารมังสวิรัติโปรตีนสูงก็ได้ เช่น เต้าหู้ ถั่วชนิดต่างๆ อาหารมักจะมีรสขมหรือเค็มมากขึ้น ให้ลองเติมน้ำตาลลงไปในอาหารเล็กน้อย จะช่วยได้ และเลี่ยงภาชนะเสิร์ฟอาหารที่เป็นโลหะ เพราะจะทำให้การรับรสแย่เหมือนกับอาหารจำพวกเนื้อแดง ให้ใช้อุปกรณ์เป็นพลาสติกแทน
5. คลื่นไส้ อาเจียน
ข้อควรปฏิบัติ : ให้กินอาหารในปริมาณน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง เพราะอาหารปริมาณน้อยๆ จะเกิดอาการคลื่นไส้น้อยกว่า ให้งดอาหารไขมันสูง มันเลี่ยน หวานเลี่ยน หรือเผ็ด รวมถึงอาหารที่มีกลิ่นแรง เสิร์ฟอาหารหรือเครื่องดื่มที่อุณหภูมิห้องหรือเย็น พยายามนั่งกินอาหาร และเมื่อกินเสร็จแล้ว อย่าเพิ่งนอน ให้นั่งพัก ประมาณ 1 ชั่วโมง หลังกินอาหาร หากอาเจียนให้งดดิ่มและกินอะไร จนกว่าจะหยุดอาเจียน จากนั้นจิบของเหลวใสทุก 10-15 นาที เช่น น้ำซุปใส น้ำหวาน และอาจค่อยๆ กินอาหารรสจืด ไม่หวาน ไม่มันจัด เช่น แครกเกอร์ ข้าวพอง เพื่อช่วยบรรเทาอาการ
6. ท้องเสีย
ข้อควรปฏิบัติ : แนะนำดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อชดเชยน้ำที่ร่างกายสูญเสียไป เช่น น้ำสะอาด น้ำผลไม้ที่ไม่มีกาก ซุปใส น้ำเกลือแร่ แต่ควรงดการดื่มนมและผลิตภัณฑ์จากนมสักระยะหนึ่งจนกว่าจะหยุดถ่าย โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะแพ้น้ำตาลแลคโตส และควรกินอาหารอ่อนย่อยง่าย รสไม่จัด เช่น ข้าวสวยนุ่มๆ ขนมปัง ในปริมาณน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง รวมถึงเลี่ยงอาหารที่มีใยอาหารสูงและเกิดแก๊ว เช่น ผักดิบ บร็อคโคลี่ ข้าวโพด กะหล่ำปลี ถั่วลันเตา ดอกกะหล่ำ
7. ท้องผูก
ข้อควรปฏิบัติ : เพิ่มการกินอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ข้าวไม่ขัดสี ถั่ว เมล็ดพืช ผัก ผลไม้ หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดแก๊สมาก เช่น ผักตระกูลกะหล่ำ บร็อคโคลี่ แตงกวา ถั่วต่างๆ และดื่มน้ำให้มากขึ้น เพื่อกระตุ้นการทำงานของระบบย่อยอาหาร
8. น้ำหนักลด
ข้อควรปฏิบัติ : โดยมากเกิดจากการได้รับพลังงานและโปรตีนจากอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย จึงควรแก้ไขเบื้องต้นตามลักษณะอาการข้างเคียงที่มี แต่ถ้าโดยรวมก็จะแนะนำเป็นอาหาร Energy dense, Nutrient-dense food เช่น เพิ่มอาหารประเภทไขมัน แต่เลี่ยงไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานซ์ เติมน้ำตาลในเครื่องดื่ม หรือเสริมอาหารทางการแพทย์
9. ปริมาณเม็ดเลือดขาวต่ำ หรือ ภูมิคุ้มกันต่ำ
ข้อควรปฏิบัติ : แนะนำให้รับประทานอาหาร Low bacteria คือ อาหารที่มีการระมัดระวังการปนเปื้อนของเชื้อโรคหรือแบคทีเรียมากกว่าอาหารทั่วไป เช่น งดรับประทานอาหารดิบ อาหารทุกอย่างต้องผ่านความร้อนจนสุกทั่วถึงทั้งหมดทุกส่วนของอาหาร ระมัดระวังอาหารที่นิยมกินแบบไม่สุก เช่น ไข่ดาว ไข่ต้ม งดผักสด ผักดิบและผลไม้ รวมถึงถั่วและธัญพืชที่ไม่ได้ผ่านความร้อนหรือปรุงประกอบ ส่วนน้ำผักหรือน้ำผลไม้ ต้องอยู่ในบรรจุภัณฑ์ปิดสนิท และผ่านกระบวนการที่ทำให้ปราศจากเช้อ เช่น การพาสเจอร์ไรซ์ หลีกเลี่ยงการกินอาหารปรุงสำเร็จพร้อมเสิร์ฟ เนื่องจากถูกทำทิ้งไว้เป็นเวลานาน เช่น ร้านข้าวแกง ร้านFast-food ร้านบุฟเฟ่ต์ ควรกินเฉพาะอาหารที่ปรุงเสร็จใหม่ๆ หลีกเลี่ยงการจิ้มหรือเติมเครื่องปรุงในอาหาร รวมถึงผักโรย เนื่องจากไม่ผ่านความร้อนเพียงพอให้สุกปราศจากเชื้อ ซื้ออาหารที่บรรจุอยู่ในบรรจุภัณฑ์ปิดสนิท ไม่มีรอยแตกหรือบุบ กระป๋องไม่บวม ไม่เป็นสนิม เมื่อเปิดแล้วควรกินให้หมดในครั้งเดียว ไม่ควรเก็บไว้กินซ้ำ ตรวจเช็ควันหมดอายุทุกครั้งที่ซื้อสินค้า และควรซื้อสินค้าที่ระบุว่าผ่านกระบวนการทำให้ปราศจากเชื้อแล้ว และล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ทุกครั้ง ก่อนรับประทานอาหาร และก่อนปรุงประกอบอาหาร
ติดตาม "ความเชื่อเรื่องอาหารของผู้ป่วยมะเร็ง" ได้ที่โพสต่อไปครับ (Part : 3/5)
ฝากกดLike กดShare เพื่อเป็นกำลังใจกันด้วยนะครับ ขอบคุณครับ 🙏🙏🙏
โฆษณา