9 เม.ย. 2020 เวลา 09:33
EP. 4 คุณภาพของประชาธิปไตย
หลักการสำคัญที่นักประชาธิปไตยทุกยุคทุกสมัยและทุกหนแห่งต่อสู้เรียกร้อง คือ การควบคุมโดยประชาชน (popular control) และความเท่าเทียมกันทางการเมือง (political equality) เพื่อให้การตัดสินใจสาธารณะต่างๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิผลและสามารถหลอมรวมเอาความต้องการอันหลากหลายของประชาชนเข้าด้วยกัน ไม่ให้ความคิดอันผูกขาดของชนชั้นนำเข้าครอบงำกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะและครอบครองผลประโยชน์จากกระบวนการดังกล่าวเพียงฝ่ายเดียว รวมถึงเพื่อมิให้เหตุผลเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา เพศ ภาษา และสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมใดๆ กลายเป็นอุปสรรคต่อการใช้สิทธิอันชอบธรรมของประชาชน
นักรัฐศาสตร์ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาได้หันมาให้ความสำคัญกับองค์ประกอบของประชาธิปไตยที่มีความจำเป็นต่อการยกระดับคุณภาพสังคมและการพัฒนามนุษย์ (social equality and human development) ตลอดจนการสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนของรัฐประชาธิปไตย (democratic state) มากขึ้น รูปแบบประชาธิปไตยที่แม้จะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่สิทธิพลเมือง (civil liberties) ของประชาชนถูกจำกัด ถูกละเมิด หรือไม่ได้รับความคุ้มครอง เช่น มีการปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร สื่อมวลชนถูกควบคุมอย่างเข้มงวด และการแสดงความคิดเห็นของประชาชนอยู่ภายใต้การจับตาเฝ้าระวังจากรัฐบาล รูปแบบประชาธิปไตยดังกล่าวก็มิอาจนับว่าเป็นประชาธิปไตยแบบเสรี (liberal democracy)
นับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา การศึกษาประชาธิปไตยเปรียบเทียบของนักรัฐศาสตร์ชั้นนำกลุ่มหนึ่งได้พัฒนาและนำเสนอกรอบในการพิจารณาองค์ประกอบของประชาธิปไตยที่เรียกว่า “คุณภาพของประชาธิปไตย (quality of democracy)” ขึ้นมา โดยกรอบแนวคิดดังกล่าวนอกจากการยอมรับในหลักการเสียงข้างมาก (majority rule) และเคารพในเสียงข้างน้อย (minority rights) ภายใต้การเลือกตั้งที่มีเสรีภาพในการแข่งขันอย่างเท่าเทียมแล้ว การยึดหลักนิติธรรม (rule of law) ในการบริหารจัดการบ้านเมือง การมีรัฐบาลที่มีความสามารถในการตอบสนองความต้องการของประชาชน (responsive government) การสร้างกลไกการตรวจสอบอำนาจรัฐ (accountability) ที่มีประสิทธิภาพ การพิทักษ์รักษาสิทธิเสรีภาพ (freedom) และความเท่าเทียมกัน (equality) ของพลเมือง ล้วนเป็นองค์ประกอบที่ทำให้ประชาธิปไตยในแต่ละประเทศมีคุณภาพที่แตกต่างกัน
โฆษณา