Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ชีวิทย์
•
ติดตาม
9 เม.ย. 2020 เวลา 13:15 • สุขภาพ
"ฮีทสโตรค" พัก-ร้อน ก่อนไม่ได้พัก
สวัสดีครับ
.
.
ลองทายกันเล่น ๆครับ นอกจากเรื่องโรคโควิด-19 ที่เป็นข่าวดังระดับโลกแล้วเนี่ย ยังมีอีกสิ่งที่ฮอตไม่แพ้โควิดเลยครับ....
ถูกต้องครับ!
ก็สภาพอากาศไงครับที่ฮอตเสียเหลือเกิน
1
จากสถิติข้อมูลแสดงอุณหภูมิอากาศของประเทศไทยของกรมอุตุนิยมวิทยาได้บันทึกข้อมูลอุณหภูมิสูงสุดในประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501 ถึง 2562 เป็นดังนี้ครับ
ที่มา : https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/101844
มีปัจจัยหลายประการครับที่ทำให้อุณภูมิของอากาศเพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม หรือปัจจัยทางสภาพภูมิอากาศของโลกเอง และถึงแม้ว่าคนไทยส่วนใหญ่ จะสามารถปรับตัวรับสภาพอันร้อนระอุนี้ได้และดำรงชีพอย่างปกติ แต่ก็นั่นแหละครับ ไม่ใช่ว่าจะรอดเสมอไป เพราะนอกจากความร้อนที่แผดเผาจนเหงื่อไหลไคลย้อย ทำลายผิวพรรณให้หมดสวยหมดหล่อแล้ว ยังมีภัยเงียบที่แอบมากับความร้อนตับแตกนี้ด้วย
ฮีทสโตรค (heatstroke) ภัยความร้อนที่ซ่อนแอบ
ฮีทสโตรค หรือ โรคลมแดด เป็นภาวะวิกฤตของร่างกายที่ไม่สามารถควบคุมความร้อนได้ ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป และไม่สามารถระบายความร้อนออกได้ทันท่วงที
โดยปกติเมื่อเราอยู่กลางแดดนาน ๆ อุณหภูมิร่างกายจะเพิ่มสูงขึ้น เพื่อให้กลับสู่ภาวะที่ไม่ให้ร้อนจนพัง ร่างกายจะเริ่มเข้าสู่ระบบรักษาสมดุลปรับอุณหภูมิจากภายในสู่ภายนอก เริ่มจากหลอดเลือดขยายตัวออกเพื่อระบายความร้อน ร่างกายสามารถแผ่รังสีความร้อนผ่านการเคลื่อนที่ของกล้ามเนื้อ และที่ชัดคือร่างกายขับน้ำในรูปของเหงื่อเพื่อนำความร้อนออกมา ระบบกลไกนี้สำคัญมากเพราะช่วยให้ระดับความร้อนในร่างกายลดลงครับ
กลไกการรักษาสมดุลร่างกายเมื่ออุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น (ที่มา: http://www.ikramhamyd.com/2012/01/thermoregulation-during-exercise.html)
การเล่นกีฬากลางแจ้ง ที่มีอุณหภูมิสูงมาก ๆ อาจก่อให้เกิดภาวะฮีทสโตรค (ที่มา: https://pixabay.com/)
แต่หากวันนั้นสภาพอากาศมีความร้อนชื้นที่สูงมาก ๆ และวันนั้น นาย ก นึกฟิตอยากเล่นกีฬากลางแจ้งขึ้นมา 10 นาที 20 นาที 30 นาที....ร่างกายสะสมอุณภูมิสูงขึ้นเรื่อย ๆ ร่างกายที่ร้อนจัดมากๆ ไม่สามารถระบายความร้อนออกมาได้เต็มที่เนื่องจากความชื้นในอากาศที่ต้านการเกิดเหงื่อเอาไว้ เมื่อไม่มีเหงื่อออกความร้อนจึงไม่ถูกนำออกมา ร่างกายจึงเริ่มมีอาการ
• ผิวหนังแห้ง และร้อน ตัวร้อนขึ้นเรื่อย ๆ แต่ไม่มีเหงื่อออก
• เพ้อ หรือหมดสติ ระดับความรู้สึกตัวลดลง
• ชีพจรเต้นเร็ว
• ความดันเลือดลดลง
• กระสับกระส่าย
• การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ล้มเหลว
• วิงเวียน คลื่นไส้อาเจียน
• กระหายน้ำมาก
• หายใจเร็ว
หากพบแบบนี้ ให้นำ นาย ก นอนราบในที่ร่ม ยกเท้าสูง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ถอดเสื้อผ้าออก ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น หรือน้ำแข็งประคบตามซอกตัว คอ รักแร้ เชิงกราน ศีรษะ ร่วมกับใช้พัดลมช่วยเป่า หรือเทน้ำเย็นราดลงบนตัวเพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำลงโดยเร็วที่สุด และรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที เพื่อป้องกันการเกิดการช็อกและเสียชีวิตได้ แต่ในกรณีที่ นาย ก มีอาการไม่มากแบบข้างต้น ก็ให้ดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ เพื่อระบายความร้อนออกจากร่างกายครับ
การปฐมพยาบาลผู้ป่วยภาวะฮีทสโตรค (ที่มา :https://sites.google.com/site/vocationalhygieneandsafety/home)
จากข้อมูลภาวะฮีทสโตรคนี้ ไม่ได้เกิดเฉพ่าะคนที่อยู่กลางแดดเท่านั้นนะครับ พบว่าแม้แต่พนักงานออฟฟิศ ก็มีการเกิดของโรคนี้เช่นเดียวกัน และพบว่ามีโอกาสสูงที่จะเกิดในผู้สูงอายุอีกด้วย
เมื่อมีความจำเป็นต้องอยู่กลางแดดจัดนานๆ ลองสำรวจตัวเองดูนะครับ หากเริ่มมีอาการดังกล่าวข้างต้นก็ให้ "พัก-ร้อน" ก่อนนะครับ คือรีบจัดการระบายความร้อนออกจากร่างกายให้เร็วที่สุด เพราะถ้าชักช้าเกรงว่าจะได้พักยาวครับ...
อ้างอิง
http://reo06.mnre.go.th/home/images/upload/file/report/aree070610.pdf
https://www.gedgoodlife.com/health/3214-%E0%B8%AE%E0%B8%B5%E0%B8%97%E0%B8%AA%E0%B9%82%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%81/
https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/101844
https://sites.google.com/site/vocationalhygieneandsafety/home
บันทึก
2
4
2
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย