10 เม.ย. 2020 เวลา 04:10 • การศึกษา
## จากรั้วสามพราน จนสอบผ่านข้อเขียนผู้พิพากษา (ตอนที่ 1) ##
.
ประสบการณ์การสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาสนามใหญ่ ครั้งแรกและครั้งเดียวของอาจารย์เบนซ์
.
#อารัมภบท
.
บทความนี้อาจมีเนื้อหาที่ยาว แต่เชื่อว่าคงไม่ยาวเท่ากับฎีกาและหนังสือกฎหมายที่หลาย ๆ ท่านต้องอ่านเพื่อเตรียมตัวสอบ เดิมทีผมตั้งใจจะแบ่งปันประสบการณ์นี้ หลังจากประกาศผลสอบรอบสุดท้ายแล้ว ซึ่งจะถือได้ว่าเป็นผู้สอบผ่านอย่างครบถ้วนทุกขั้นตอน เนื่องจากขณะนี้เป็นเพียงการสอบผ่านข้อเขียนเท่านั้น ยังเหลือการสอบทัศนคติ และการสอบปากเปล่า (การสอบปากเปล่าไม่ใช่การสอบสัมภาษณ์เหมือนการเข้าทำงานอื่น ๆ แต่เป็นการเอากฎหมายมาถามแบบปากเปล่า ซึ่งมีคะแนนสอบเช่นเดียวกับสอบข้อเขียน) แต่ด้วยสถานการณ์โรคโควิด – 19 ที่ระบาดทุกท้องที่ กำหนดการหลาย ๆ อย่างจึงเลื่อนออกไป รวมถึงการสอบสายกฎหมายในหลาย ๆ สนาม ทั้งเนติบัณฑิต และอัยการผู้ช่วย ประกอบกับมีหลายท่านทักเข้ามาสอบถาม เกี่ยวกับเทคนิค การเตรียมตัวสอบ เพื่อจะได้นำไปประยุกต์ใช้ระหว่างที่เก็บตัวอยู่บ้าน และระหว่างเลื่อนสอบสนามต่าง ๆ ออกไป ซึ่งผมเห็นว่าเป็นช่วงเวลาที่พอเหมาะพอควร และน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าจึงตัดสินใจเขียนบทความนี้ขึ้นมา
.
อนึ่ง เพื่อไม่ให้ดูโอเวอร์จนเกินไป ผมต้องอธิบายก่อนว่า ที่บอกว่าสอบครั้งแรกและครั้งเดียวนั้น หมายถึงเฉพาะสนามผู้ช่วยผู้พิพากษาเท่านั้น ซึ่งก่อนหน้านี้ผมก็เคยสอบกฎหมายในสนามต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับปริญญาตรี เนติบัณฑิต จนถึงอัยการผู้ช่วยมาแล้วหลายครั้ง มีทั้งสอบได้ สอบตก ปะปนกันไป ซึ่งจะได้อธิบายต่อไปในบทความนี้ และที่ผมจะกล่าวต่อว่าใช้เวลาอ่านหนังสือเพียง 1 – 2 เดือนนั้น หมายถึงเฉพาะการอ่านเพื่อเตรียมตัวสอบแบบจริงจัง ซึ่งระหว่างนี้ผมได้สะสมความรู้เอาไว้อยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ว่ามาอ่านเอาแค่ 1-2 เดือน แล้วจะสอบผ่าน เปรียบเสมือนการสะสมทุนความรู้เอาไว้ใช้อย่างสม่ำเสมอ
.
1.เสบียงทุนจุดเริ่มต้น
.
คำว่าทุนในที่นี้ไม่ใช่หมายถึงเงินหรือทุนทรัพย์ แต่คือทุนความรู้ที่ผมสะสมมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน หากจะย้อนไปก็คงตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ ชั้นปีที่ 1 ตามชื่อบทความว่า “จากรั้วสามพราน” นั่นเป็นครั้งแรกที่เราได้เริ่มเรียนกฎหมาย เพราะเมื่อครั้งเป็นนักเรียนเตรียมทหาร เราศึกษามาทางสายวิทย์ – คณิต ไม่เคยรู้จักอาชีพอัยการ หรือผู้พิพากษา เลย จนกระทั่งเริ่มเข้ามาเรียนปี 1 หากน้อง ๆ ที่อ่านบทความนี้ เพิ่งเริ่มเรียนปริญญาตรี ก็ถือว่าโชคดีแล้วที่เราจะพยายามเก็บเกี่ยวความรู้เอาไว้ตั้งแต่ชั้นนี้ มิใช่เพิ่งมาศึกษาเมื่อจะสอบ
.
ในหลักสูตรของนักเรียนนายร้อยตำรวจ ซึ่งต่อไปนี้ผมขอเรียกย่อ ๆ ว่า นรต. จะเน้นเรียนศาสตร์ต่าง ๆ เยอะมาก เราเรียน 4 ปี มีกว่า 160 หน่วยกิต ยังไม่รวมวิชาอื่นๆ ที่ไม่นับเป็นหน่วยกิต เช่น พลศึกษา ยิงปืน ต่อสู้ป้องกันตัว ยุทธวิธี ฯลฯ ซึ่งนับว่าเยอะมาก ๆ หนึ่งในนั้นคือวิชากฎหมาย แต่เราไม่ได้วุฒินิติศาสตร์ เมื่อจบออกมาจะได้ปริญญาตรี รัฐประศาสนศาสตร์ ทั้งที่เราเรียนกฎหมายเยอะมาก ๆ และเอามาใช้งานจริงในฐานะเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย เพิ่งมีน้องรุ่นหลัง ๆ ที่เริ่มจะได้รับ 2 ปริญญา รวมนิติศาสตร์ด้วย ถือว่าเป็นการพัฒนาที่ดีขึ้นครับ
.
สมัยนั้น หากใครต้องการไปเรียนต่อเนติบัณฑิต จึงต้องเรียนปริญญาตรีเพิ่มอีก 1 ใบ เพื่อให้ได้รับวุฒินิติศาสตร์ ซึ่งส่วนมากเราจะเลือกเรียนมหาวิทยาลัยเปิด คือ ราม และ มสธ. เพราะเราไม่สามารถออกไปเรียนที่อื่นได้ เนื่องจากต้องอยู่ประจำที่ รร.นรต. ปีหนึ่งเทอมแรก เราได้รับการฝึกอย่างหนัก ไม่มีเวลาทบทวน เอาแค่เนื้อหาของ รร.นรต. ก็เยอะแล้ว ผมจึงยังไม่ได้ลงเรียนนิติศาสตร์เพิ่ม จนกระทั่งเทอม 2 มีเจ้าหน้าที่ มสธ. เพชรบุรี มารับสมัครที่หอสมุดของ รร.นรต. ผมจึงตัดสินใจลงเรียนของ มสธ. เพราะ รร.นรต. เป็นหนึ่งในศูนย์สอบ ไม่ต้องทำเรื่องลาไปสอบข้างนอก นี่คือจุดเริ่มต้นของการเรียนกฎหมาย
.
มาตราแรกที่ท่องได้คือ ป.อาญา มาตรา 59 ตอนแรกไม่เคยเข้าใจความหมายหรอกครับ ว่ามาตรานี้คืออะไร ที่ท่องเพราะกลัวโดนกักบริเวณ (การต้องอยู่โรงเรียนไม่ได้กลับบ้านในวันหยุด) เพราะก่อนปล่อยพักบ้านในปี 1 ผู้ช่วยฯ (นักเรียนปกครองปี 4) และผู้หมวด ผู้กอง จะมาสอบถาม ใครท่องไม่ได้ ก็จะโดนกักบริเวณ ที่เราเรียกกันว่า “ตกม้า”
.
หลังจากได้เรียนกฎหมายอย่างจริงจัง ก็รู้สึกว่าเราเหมาะกับสายนี้ ผลการสอบในปี 1 ได้ลำดับที่ 13 ของรุ่น แต่เกรดผมมาตกช่วงปี 3 เนื่องจากได้รับคัดเลือกเป็นทำการแทนผู้ช่วยผู้บังคับหมวด หรือนักเรียนปกครอง ต้องมาฝึกพี่ ๆ นักเรียนอบรมที่กองร้อยที่ 5 จำได้ว่าตอนนั้นวันรุ่งขึ้นมีสอบปลายภาคกฎหมายปกครอง ของอาจารย์เผด็จ ซึ่งกองร้อยอื่น ๆ จะงดการออกกำลังกาย หรือทำโทษในช่วงนี้ แต่กองร้อยที่ 5 เป็นหน่วยฝึกบุคคลภายนอก ที่สอบนายตำรวจได้เข้ามาอบรม ดังนั้น ช่วงเวลาอบรมแต่ละปีจะไม่ตรงกัน บังเอิญช่วงนั้นมีพี่ ๆ กอส. กอน. เข้ามาอบรมช่วงผมสอบพอดี จึงต้องทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ โดยการปลุกพี่ ๆ มาออกกำลังกายเล็กน้อย ช่วงกลางคืน ซึ่งภาษาตำรวจเราเรียกว่า “การขุด” ผลจากเกรดร่วงตอนปี 3 ทำให้ผมจบการศึกษาปี 4 ด้วยลำดับที่ 16 ของรุ่น เกรดเฉลี่ย 3.67 จริง ๆ ต้องได้เกียรตินิยมอันดับสอง แต่เพราะมาติดเกรดรายวิชา ในวิชาสอบสวนของอาจารย์จรัส จึงพลาดไป
.
การเลือกตำแหน่งของ นรต. จะเลือกตามลำดับที่จบของรุ่น โดยมีบัญชีตำแหน่งมาให้ ผมเลือกรับราชการครั้งแรก เป็นพนักงานสอบสวน สภ.สำโรงเหนือ จ.สมุทรปราการ เป็นโรงพักที่คดีเยอะมาก ๆ น่าจะเยอะที่สุดในภาค 1 สมัยที่ผมอยู่ ปี ๆ หนึ่ง เลขคดีไม่ต่ำกว่า 8,000 – 9,000 คดี เมื่อจบจาก รร.นรต. แล้ว สามารถเทียบโอนหน่วยกิตกลุ่มวิชากฎหมายอาญา หรือวิธีพิจารณาความอาญา ไปที่ มสธ. ได้ ทำให้ผมจบมาทำงานได้ปริญญาตรี 2 ใบ พอดี ทั้งของ รร.นรต. และ มสธ. แต่ตอนนั้นยังไม่ได้สมัครเรียนเนติฯ เนื่องจากเพิ่งเริ่มทำงาน และคดีเยอะมาก ๆ
.
ปีต่อมาผมได้กลับไปทำหน้าที่ผู้หมวดปกครองที่โรงเรียนเตรียมทหาร โดยเข้าไปเป็นครูฝึกให้น้อง ๆ ซึ่งโรงเรียน จะคัดเลือกจากผู้ที่เคยเป็นนักเรียนปกครองตอนปี 4 เข้าไปทำหน้าที่ตรงนี้ ช่วงเวลานี้เริ่มมีเวลา จึงลงเรียนเนติบัณฑิต และตั้งใจว่าจะต้องจบให้ได้ภายใน 1 ปี เพราะหลังจาก 1 ปี ผมต้องกลับมาเป็นพนักงานสอบสวนเหมือนเดิม แต่เนื่องจากผมเลือกลงกองพันนักเรียนใหม่ คือฝึกน้องปี 1 ที่เพิ่งสอบได้ เพื่อปรับเปลี่ยนบุคลิก ท่าทาง จากพลเรือนมาเป็นทหาร จึงไม่ค่อยว่างที่จะได้อ่านหนังสือ จนเพื่อนร่วมห้องบอกว่า เห็นผมจะสอบเนฯ แต่ไม่อ่านหนังสือจะสอบได้ไหม ถ้าสอบได้จะเลี้ยงข้าวเลย สรุปผมสอบผ่าน 2 ขา ทั้งอาญา และแพ่ง แต่คะแนนไม่ดีมากนัก ซึ่งตอนนี้ก็รอเพื่อนมาเลี้ยงข้าวอยู่ตามสัญญา 555 จนเทอม 2 ของเนติฯ ผมเริ่มมีกำลังใจในการเรียน และตั้งใจว่าต้องเอาให้จบใน 1 ปี แต่ปรากฏว่าผมสอบไม่ผ่าน วิ.แพ่ง เพราะเขียนไม่ทันไป 3 ข้อ (หายไป 30 คะแนน) อีกทั้งปากกาเกิดไปหมึกหมดในห้องสอบ เปลี่ยนมาใช้อีกด้ามก็ฝืด เขียนไม่ลื่น จึงเขียนไม่ทัน นี่เป็นข้อผิดพลาดที่ผมนำมาปรับปรุงแก้ไข ในการสอบขา วิ.อาญา จนสอบผ่านด้วยคะแนนดีมาก ๆ คือ 80 คะแนน (ที่ 1 ของขานี้ สมัยผมคือ 84 คะแนน เสียดายมากเกือบมีชื่อลงบทบรรณาธิการแล้ว 😅) ผมจึงมาค้นพบว่า สาเหตุที่ทำให้เราได้คะแนนดีนั้น ความรู้เป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่หลัก ๆ แล้วคือการเขียนตอบ ซึ่งผมจะได้อธิบายต่อไป
.
ปีต่อมา ผมเอาเทคนิคการเขียนดังกล่าวไปใช้กับ ขา วิ.แพ่ง ที่ผมสอบไม่ผ่านอีก 1 ขา จนสอบผ่านได้มา 75 คะแนน และจบเป็นเนติบัณฑิต สมัยที่ 68 ด้วยลำดับที่ 35
.
ที่เขียนมาในหัวข้อนี้ เพื่อต้องการแสดงให้เห็นว่า จริง ๆ นั้น ความรู้กฎหมาย เราสั่งสมมาตั้งแต่ปี 1 จบมาทำงาน คือประสบการณ์ จนมาเรียนเนติบัณฑิต ต้องทบทวนความรู้อยู่ตลอดเวลา เพราะกฎหมายมีแก้ไขตลอด หากเราไปอ่านรีวิวของหลาย ๆ ท่าน ที่สอบผ่าน แล้วท่านบอกว่าใช้เวลา 1 ปี หรือ 6 เดือน เวลาเหล่านั้นหมายถึง “เวลาในการเตรียมตัวสอบ” #ไม่ใช่ “เวลาในการสะสมความรู้” ดังนั้น หากท่านมีความมุ่งมั่น ตั้งใจ จะสอบอัยการ หรือผู้พิพากษาแล้ว ต้องสะสมความรู้ นับแต่วันแรกในการเรียนกฎหมาย และทุก ๆ วันในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ความรู้นั้นตกผลึก และปรากฏผลในวันที่ท่านสอบผ่าน
.
2. ถามตัวเองก่อนว่าอยากเข้ามาเพราะอะไร?
.
ก่อนที่จะอ่านบทความนี้ในหัวข้อต่อไป ผมอยากให้ทุกท่านพินิจพิจารณา แล้วตอบหัวใจตัวเองดูสักครั้งว่า เราอยากเข้ามาเป็นอัยการ หรือผู้พิพากษา เพราะอะไร ? ซึ่งหากท่านตอบได้ ด้วยใจจริงแล้ว มันไม่ยากเลย ที่ท่านจะทำ แต่เพราะหลายคนสับสน และ #ไม่รู้หัวใจตัวเอง จึงทำให้ยังไม่ประสบความสำเร็จ
.
บรมครูด้านการพูดของผมท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า “อย่ามัวแต่นึกถึงหัวใจคนอื่น จนลืมนึกถึงหัวใจตัวเอง” ซึ่งข้อความนี้ ท่านต้องการจะสอนนักพูดมือใหม่ว่า นักพูดส่วนใหญ่ ไม่กล้าพูด เพราะกลัวคนฟังจะนินทา ว่ากล่าว กลัวว่าจะพูดไม่ดีบ้าง ไม่ไพเราะบ้าง สุดท้ายไม่ได้พูดเลย จึงพูดไม่เป็น “เพราะมัวแต่นึกถึงหัวใจคนอื่น” ทั้งที่หัวใจตัวเอง เปี่ยมล้นไปด้วยพลังที่จะสื่อสารถ้อยคำ และเนื้อหาการพูดนี้ออกไป
.
การทำงานก็เช่นเดียวกัน การเรียนจบกฎหมาย ท่านไม่จำเป็นต้องประกอบอาชีพอัยการ หรือผู้พิพากษา เท่านั้น ขอเพียงท่านรักในสิ่งที่ทำ ท่านทำแล้วมีความสุข นั่นแหละคือความสำเร็จแล้ว อย่ามัวแต่นึกถึงหัวใจคนอื่น ว่าจบกฎหมายต้องเป็นอัยการ ผู้พิพากษา เท่านั้น ไม่เช่นนั้น เส้นทางการเตรียมตัวสอบของท่านจะไม่มีความสุขเลย บุคคลที่มีชื่อเสียงในประเทศไทยหลายท่านที่จบกฎหมาย เขาก็ไม่ได้เป็นอัยการ หรือผู้พิพากษา และเขาเหล่านี้ก็มีความสุขในสิ่งที่ทำ อาทิ พี่ตูน พี่โอม มีความสุขกับการร้องเพลง เขาก็เป็นนักร้องและสร้างความสุขให้พวกเรา หรือแม้แต่กระทั่งประธานรัฐสภาท่านปัจจุบัน ท่านก็จบเนติบัณฑิต แต่ก็มิได้มาสอบอัยการ ผู้พิพากษา เพราะมีความสุข กับสิ่งที่ท่านเลือกนั่นเอง
.
แต่หากหัวใจของท่านมุ่งมั่นที่จะเป็นอัยการ หรือผู้พิพากษาแล้ว เชิญอ่านหัวข้อต่อไปได้เลยครับ
.
3. อิทธิบาทสี่คือหัวใจของความสำเร็จ
.
จากหัวข้อที่ 2 ที่ผมให้ท่านลองถามหัวใจตัวเอง เพื่อจะได้เข้าสู่หัวข้อนี้ เคล็ดลับความสำเร็จของผมจริง ๆ แล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลย หากแต่ทำตามหลักธรรมที่ปรากฏบนโลกนี้มาแล้วหลายพันปี นั่นคืออิทธิบาท 4 ซึ่งผมใช้กับทุก ๆ เรื่องที่ผมประสบความสำเร็จ ตั้งแต่เป็นนักเรียนรางวัลพระราชทาน จนมาได้ถ้วยพระราชทานการพูดสุนทรพจน์ของในหลวง ร.9 และเรื่องอื่น ๆ รวมถึงการสอบก็เช่นกัน
.
#ฉันทะ คือ ความพอใจ หากท่านสำรวจตัวเองแล้วว่า ท่านรักและต้องการจะประกอบอาชีพอัยการ หรือผู้พิพากษา จริง ๆ จากหัวใจ ไม่มีเหตุผลใดเลย ที่ท่านจะย่อท้อต่อความยากลำบากในการเตรียมตัวสอบ อุปมาเหมือนท่านชอบหญิงสาวคนหนึ่ง ไม่ว่าท่านจะงานยุ่งแค่ไหน ท่านต้องหาวิถีทางไปเจอเขาให้ได้ ดังคำโบราณที่บอกว่า “ไม่ได้เห็นหน้าเห็นหลังคาก็ยังดี” การอ่านหนังสือเพื่อเตรียมตัวสอบก็เช่นกัน หากท่านรักที่จะอ่านจริง ๆ แม้เพียง 5 นาที 10 นาที ท่านก็สามารถหาเวลาอ่านสะสมได้ เพราะหลายท่านมักกล่าวว่าทำงาน ไม่มีเวลาอ่าน ซึ่งความจริงแล้วเพราะหัวใจของท่านยังไม่มั่นคงต่างหาก
.
#วิริยะ คือ ความเพียรพยายาม การเรียนกฎหมายต้องทำซ้ำ ๆ ทำบ่อย ๆ ทั้งการอ่านตำรา การท่องตัวบท ที่ผมบอกว่าอ่านจนเข้าเส้น มิใช่อ่านบ้าง หยุดบ้าง ท่านต้องตั้งมั่น และจริงจัง เพราะความสำเร็จรอท่านอยู่
.
#จิตตะ คือ ความตั้งมั่น ตั้งใจจริง ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ใช่ว่าอ่านหนังสือหนึ่งหน้า หันมาเล่นเฟซบุ้ค แบบนี้จะไม่สำเร็จครับ ดังคำที่อาจารย์ท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า “อย่าให้แสงสว่างจากหน้าจอมือถือ ส่องสว่างกว่าอนาคตตัวเอง”
.
#วิมังสา คือ การใคร่ครวญ ตรวจสอบ ในที่นี้คือการฝึกเขียนตอบ หลังจากที่เราอ่านกฎหมายมาอย่างหนักหน่วงแล้ว อย่าลืมฝึกฝน โดยการเอาข้อสอบเก่ามาฝึกทำบ่อย ๆ แล้วดูธงคำตอบว่าเราพลาดตรงไหน ฝึกเขียนแบบนี้บ่อย ๆ เอาความผิดพลาดมาเป็นบทเรียน มุ่งสู่ความสำเร็จ
.
1
4. หัวใจนักปราชญ์อย่าพลาดปฏิบัติ
.
นอกจากอิทธิบาท 4 แล้ว หัวใจนักปราชญ์ คือ สุ จิ ปุ ลิ เป็นสิ่งที่ผมทำสม่ำเสมอ เพื่อสั่งสมความรู้ให้อยู่ในตัวตนตลอดเวลา
.
สุ คือ สุตตะ หรือการฟัง ผมจะเอาไฟล์เสียงคำบรรยายกฎหมาย มาฟังทบทวนตลอดเวลา ทั้งของอาจารย์ ของตัวเองที่เคยสอน รวมถึงไฟล์เสียงตัวบทที่ผมอัดไว้เอง ทุกเวลาที่ว่าง ไม่ว่าจะขับรถ หรือออกกำลังกาย ก็จะใส่หูฟัง ฟังไปด้วย
.
จิ คือ จินตะ หรือการคิด ผมจะคิดเสมอ เวลาเจอเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น มีข่าวสำคัญ ๆ จะคิดตามว่าต้องใช้กฎหมายเรื่องไหน เรื่องการท่องตัวบท เวลาเจอเลขต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น เลขทะเบียนรถ ผมจะนึกถึงว่าเลขนี้ คือ มาตราอะไร เรื่องอะไร เนื้อหาเป็นยังไง
.
ปุ คือ ปุจฉา หรือการถาม ผมจะจับกลุ่มถาม กับเพื่อน ๆ ที่เตรียมตัวสอบด้วยกัน เพราะแต่ละคนมีความเชี่ยวชาญไม่เหมือนกัน ว่าเรื่องแบบนี้ มีความคิดเห็นยังไง แล้วช่วยกันวิเคราะห์ สังเคราะห์
.
ลิ คือ ลิขิต หรือการเขียน เป็นเรื่องที่สำคัญมาก สำหรับการเรียนกฎหมาย ผมจะจดโน้ตย่อ ฎีกา สำคัญ ๆ เอาไว้ในประมวลเสมอ ถ้าไม่พอ ก็จดในสมุดเลคเชอร์ แยกอีกที รวมถึงการฝึกเขียนคีย์เวิร์ดสำคัญ ๆ ที่เป็นถ้อยคำในกฎหมายเอาไว้ทบทวน
.
ทั้ง 4 หัวข้อ ที่กล่าวมาด้านบนนี้ เป็นขั้นตอนในการสั่งสมความรู้ เพื่อตระเตรียมเสบียงทุนความรู้ ซึ่งท่านต้องทำอย่างสม่ำเสมอ เมื่อมีโอกาส นับตั้งแต่ท่านตัดสินใจเรียนสายกฎหมาย และมีฉันทะ หรือความพอใจว่า จะต้องเป็นอัยการ หรือผู้พิพากษา ให้ได้ เมื่อสะสมความรู้จนพร้อมแล้ว ในหัวข้อต่อไป ผมจะพูดถึงขั้นตอนการใช้ความรู้ที่สะสมไว้ จนถึงการสอบ
.
5. อย่าอ่านแต่ฎีกา ควรออกไปหาประสบการณ์
.
หนึ่งในเทคนิคที่ทำให้เราเข้าใจกฎหมายและจำได้ คือการนำไปใช้ในชีวิตจริง ทุกครั้งเวลาสอนลูกศิษย์ผมจะยึดหลัก “เข้าใจ จำได้ ใช้เป็น” เมื่อทำครบจะเห็นผลลัพธ์คือความสำเร็จ ซึ่งผมเชื่อว่าเรื่องนี้มีส่วนสำคัญไม่น้อยไปกว่าการอ่านฎีกาเลย แถมยังเอาไปใช้ในการทำงานเมื่อสอบผ่านได้อีกด้วย
.
คุณสมบัติข้อหนึ่งของการสมัครสอบอัยการ หรือผู้พิพากษา จึงกำหนดว่าต้องมีประสบการณ์ด้านวิชาชีพทางกฎหมายไม่น้อยกว่า 2 ปี ขึ้นไป และต้องมีคดีที่ทำจริง ๆ จำนวนกี่คดี แล้วแต่วิชาชีพที่เราใช้ในการสมัคร เพราะเขาต้องการให้เราออกไปหาประสบการณ์ ไม่ใช่เพียงอยู่บ้านอ่านฎีกาเพื่อมาสอบเท่านั้น
.
ผมเลือกใช้วิชาชีพพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจในการสมัครสอบ แน่นอนว่าการเข้าเวร ทำงานจริง มันไม่เหมือนข้อเท็จจริงในฎีกา เราเจอเรื่องราวมากมายที่ประชาชนมาแจ้งความ เราต้องคิด ทบทวน ใช้วิชาความรู้ที่มีเอาข้อกฎหมายเข้ามาจับว่า แบบนี้เขาผิดอะไร รวมถึงขั้นตอนการดำเนินคดีว่าต้องทำอะไรบ้าง ตั้งแต่สืบสวน จับกุม สอบสวน ฝากขัง ส่งสำนวน ผมจึงแม่นข้อกฎหมายอาญา และวิธีพิจารณาความอาญาพอสมควร จากการทำงานจริง ส่งผลให้ทำคะแนนเนติฯ ขา วิ.อาญา ได้ถึง 80 คะแนน ทั้งที่ไม่เคยไปนั่งฟังคำบรรยายที่เนติฯ เลย ตรงนี้เลยอยากฝากทุกท่านที่เตรียมตัวสอบ ควรหาเวลา ออกมาฝึกประสบการณ์นอกจากอ่านฎีกา เพื่อให้เข้าใจการใช้กฎหมายอย่างถ่องแท้ เมื่อกลับมาทบทวนฎีกาแล้วจะทำให้คิดภาพตามได้ไม่ยากครับ
.
เมื่อครั้งผมดำรงตำแหน่งในสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ก็อยู่ในคณะทำงานด้านกฎหมายหลายคณะ และรับผิดชอบในการทำสำนวนคดีวินัย คดีปกครอง ของหน่วยงานด้วย นอกเหนือจากหน้าที่หลัก แม้ว่าจะไม่ใช่กฎหมายที่ใช้ในการสอบ แต่สิ่งที่เราได้จากการทำหน้าที่ตรงนี้ คือการฝึกการตีความกฎหมาย ทำให้เราเอาไปใช้เวลาตีความตัวบทอื่น ๆ ได้ รวมถึงการได้ฝึกใช้ถ้อยคำภาษากฎหมาย ในการสรุปสำนวนและความเห็นต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้แหละครับ ที่ผมนำมาประยุกต์ใช้ตอนเขียนตอบข้อสอบ
.
แต่หากท่านไม่ได้รับราชการ หรือทำงานเก็บประสบการณ์มาพอสมควรแล้ว ต้องการหยุดเพื่ออ่านหนังสืออย่างเดียว ท่านก็ยังสามารถนำกฎหมายมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ ด้วยการเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้ผู้อื่น มันจะทำให้เราได้ฝึกคิด ฝึกทบทวนความรู้ของเรา ผมเป็นคนหนึ่งที่เพื่อน ๆ ในรุ่น รวมถึงรุ่นพี่ รุ่นน้อง มักโทรมาสอบถามปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งบางเรื่องถ้าเราไม่ทราบ เราก็จะไปหาคำตอบมาให้ มันทำให้เราจำได้ว่าเรื่องนี้เคยมีคนถามเรามาแล้ว
.
อีกเรื่องหนึ่งที่เราสามารถฝึกได้ คือถกเถียงข้อกฎหมาย เกี่ยวกับข่าว หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ว่าเป็นไปตามข้อกฎหมายใด อาจจะถกเถียงกับเพื่อน ๆ ที่เรียนกฎหมายด้วยกัน หรือแสดงความเห็นทางกฎหมาย ให้เพื่อน ๆ คนอื่น ที่เขาไม่ได้เรียนกฎหมายได้ทราบว่าในทางกฎหมายมันเป็นอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่งเคยมีข่าวที่บุคคลหนึ่งขับรถชนนักศึกษาปริญญาโทเสียชีวิต ตำรวจตั้งข้อหาประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เพื่อน ๆ ก็จะแชร์ข่าวว่าแบบนี้มันเจตนาชัด ๆ ประมาทตรงไหน เราก็ไปอธิบายให้เขาฟังว่าคำว่าเจตนา กับ ประมาท ในทางกฎหมาย กับทางความรู้สึกมันต่างกันอย่างไร
.
ล่าสุดเลยก่อนสอบที่มีข่าวชิงทองกลางห้างดังเมืองลพบุรี ที่หลายคนสงสัยว่าคนร้ายก็เป็นข้าราชการ มีหน้ามีตาทางสังคม ทำไมจึงก่อเหตุ เกิดเป็นประเด็นในกลุ่มเพื่อน ๆ ว่า แบบนี้ถ้าขึ้นศาลแล้วอ้างว่าเป็นบ้าจะลงโทษได้ไหม ซึ่งผมก็ได้เข้าไปแสดงความเห็นว่า กรณีนี้ต้องปรับด้วย วิ.อาญา มาตรา 14 ซึ่งปกติในการทำงานเป็นพนักงานสอบสวนผมก็ไม่เคยใช้ มาตรานี้ เพราะไม่เคยเจอผู้ต้องหาเป็นบ้าเลย แถมฎีกามาตรานี้ก็แทบไม่มีให้เห็น แต่เราฝึกใช้กฎหมายจากการวิเคราะห์ข่าว และบังเอิญว่าข้อสอบผู้ช่วย วิ.อาญา รุ่นผม ก็มีข้อหนึ่งที่มีประเด็นย่อยเรื่องมาตรา 14 นี้ พอดี ทำให้ผมตอบได้ แม้ไม่เคยอ่านฎีกาเรื่องนี้ ซึ่งเพื่อน ๆ หลายคนที่สอบก็ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่เคยอ่านมาตรานี้เลย แต่ที่ผมทำได้ เพราะมาจากการนำไปใช้ในชีวิตประจำวันนั่นเอง
.
1
6. การลาออกไม่ใช่การออกจากงาน
.
คำถามที่หลายคนมักถามผมว่าลาออกจากงานมาอ่านหนังสือดีไหม คำตอบนี้ผมคงตอบไม่ได้ เพราะเหตุปัจจัยแต่ละคนไม่เหมือนกัน หากท่านมีครอบครัวที่พร้อมจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตระหว่างอ่านหนังสือ หรือเรียกได้ว่ามีฐานะ ท่านก็สามารถออกจากงานเพื่อมาอ่านเตรียมสอบได้ แต่หากท่านมีภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องรับผิดชอบ ต้องเลี้ยงดูครอบครัว ผมไม่แนะนำให้ท่านลาออก เพราะหากท่านสอบไม่ได้มันจะยิ่งสร้างความกดดันและความเครียดให้กับท่าน
.
เหตุที่ผมตัดสินใจลาออกจากราชการ ไม่ใช่เพื่อมาอ่านหนังสือสอบอย่างเดียวเท่านั้น ยังมีอีกหลายเหตุปัจจัย และเราจะต้องเตรียมแผนสำรองไว้ว่าหากสอบไม่ติดแล้ว เราจะทำอย่างไรต่อไป เนื่องจากผมมีภาระหนี้สิน ที่กู้เงินจากสหกรณ์ไปปลดจำนองที่นาให้คุณแม่อีกเกือบสองล้าน และหนี้คอนโดของผมที่ต้องผ่อนจ่ายทุกเดือน ดังนั้น แต่ละเดือนผมต้องหาเงินสำหรับชำระหนี้ รวมถึงเป็นค่าใช้จ่ายของตัวเองและส่งให้ที่บ้าน เพราะพ่อแม่ผมอายุมากแล้ว คุณพ่อไม่ได้ประกอบอาชีพ มีเพียงคุณแม่ที่เป็นช่างเย็บผ้า รวม ๆ แล้ว เดือนหนึ่งต้องหาเงิน 3- 4 หมื่นบาท เป็นอย่างต่ำ การลาออกจากงานของผม จึงไม่ใช่การออกเพื่อมาอ่านหนังสือ แต่เป็นการเปลี่ยนงานใหม่เท่านั้น เมื่อไม่มีเงินเดือน เราจึงต้องใช้วิชาความรู้ในการหาเลี้ยงชีพ ด้วยการเป็นอาจารย์สอนพิเศษ เป็นวิทยากร และพิธีกรงานต่าง ๆ ซึ่งแต่เดิมเป็นอาชีพเสริมของผม ตั้งแต่ตอนเป็นข้าราชการตำรวจ ณ ตอนนี้มันได้กลายเป็นอาชีพหลักไปแล้ว
.
ความคิดที่ว่าจะออกมาอ่านหนังสืออย่างเดียวจึงไม่ใช่สำหรับผม เพราะผมทำงานแทบจะทุกวัน เป็นฟรีแลนซ์เต็มตัว บางเดือนบินไปบรรยายทั้งภาคใต้ ภาคอีสาน ทั่วประเทศไทย แต่ระหว่างนี้ผมก็จะหาเวลาว่าง สะสมทุนความรู้อยู่ตลอดเวลา ตามหัวข้อที่อธิบายไว้ก่อนหน้า เพื่อรอวันเอาออกมาใช้ สุดท้ายผมตัดสินใจว่าจะหยุดสอนพิเศษ หยุดรับงานเพื่อมาอ่านหนังสืออย่างจริงจัง หลังจากสมัครสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา
.
แต่เดิมผมไม่เคยสมัครสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาเลย เพราะบุคลิก ท่าทาง ค่อนข้างไปทางอัยการ ด้วยลีลาของการเป็นนักพูดและนักโต้วาที ผมสมัครสอบอัยการผู้ช่วย 2 ครั้ง ครั้งแรกปี 59 ขาดไป 38 คะแนน ครั้งที่ 2 ปี 60 ขาดไป 19 คะแนน หลังจากนั้นอัยการผู้ช่วยไม่มีเปิดสอบสนามใหญ่อีกเลย จนถึงปี 2563 นี้ ที่มีกำหนดว่าจะเปิดสอบ แต่ก็ติดสถานการณ์โรคระบาดจึงต้องเลื่อนออกไป
.
ผมสมัครสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาครั้งแรกปี 2561 ซึ่งต้องสอบเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เป็นช่วงที่ผมเพิ่งลาออกจากราชการ และติดบรรยายกฎหมายคนเข้าเมือง จึงตัดสินใจไม่ไปสอบ เพราะไม่ได้ทบทวนความรู้เลย จนปี 2562 มีเปิดสอบอีกครั้ง ผมก็ยังลังเลว่าจะสมัครสอบดีหรือไม่ แต่เมื่อเห็นว่าอัยการสนามใหญ่ยังไม่เปิดสอบ ผมจึงตัดสินใจสมัครในวันสุดท้ายพอดี คือ 28 พฤศจิกายน 2562 เกือบไม่ทัน !!
.
ผมสอบได้แต่สนามใหญ่สนามเดียว เนื่องจากไม่ได้จบโท นิติฯ แต่จบด้านอาชญาวิทยา และไม่มีทุนทรัพย์ไปเรียนต่างประเทศ จึงไม่สามารถสอบสนามเล็ก หรือสนามจิ๋วได้ และนี่แหละคือสนามเดียวสำหรับเรา
.
7. เมื่อตั้งใจแล้วต้องหาแรงบันดาลใจ
.
เมื่อก่อนนี้ผมก็เป็นแบบทุก ๆ ท่าน อ่านแนวทางการเตรียมตัวสอบจากท่านที่สอบติดก่อน ซึ่งแนวทางในการเตรียมสอบในตำนาน ต้องยกให้บทความของท่านอภิรัฐ บุญทอง ซึ่งท่านสอบผ่านผู้ช่วยผู้พิพากษาสนามใหญ่ รุ่นที่มีผู้สอบผ่านเพียง 15 ท่าน เท่านั้น ผมได้อ่านบทความของท่าน และเกิดความประทับใจ ทั้งเห็นว่าเป็นคนบ้านเดียวกัน จึงแอดเฟซบุ้คท่านไป (ตอนแรกท่านยังไม่รับแอดครับ 😅 แต่ตอนนี้เป็นเพื่อนกับท่านในเฟซแล้วครับ ^^) และดูท่านเป็นแบบอย่างว่าสักวันเราต้องสอบให้ได้ ไม่ว่าอัยการหรือผู้พิพากษา ก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่ผมยังไม่ได้ทำตามที่ท่านแนะนำ คือการอ่านหนังสือตามเล่มที่ท่านแนะนำในบทความ เพราะก่อนสอบผมอ่านเพียงคำบรรยายเนติเท่านั้นเนื่องจากเวลาค่อนข้างกระชั้นชิด (บทความนี้ยังหาอ่านได้ในอินเตอร์เน็ตลอง Google ดูนะครับ)
.
อีกหนึ่งท่านที่แนะนำการเตรียมตัวสอบให้ผมคือท่านสันติ ผิวทองคำ ผมทักไปแสดงความยินดีกับท่านในวันประกาศผลสอบ เนื่องจากขณะนั้น ท่านเป็นข้าราชการตำรวจเหมือนกับผม และยังเป็นพนักงานสอบสวน จนถึงวันประกาศผลสอบ ซึ่งงานสอบสวนเป็นงานที่ค่อนข้างหนักของตำรวจและกดดัน แต่ท่านก็แบ่งเวลาได้ โดยเทคนิคที่ท่านบอกผมคือการออมความรู้ วันไหนเข้าเวรเช้าท่านจะอ่านหลังออกเวร วันไหนเข้าเวรเย็นก็อ่านช่วงเช้า สลับกันไปแบบนี้ทุก ๆ วัน ซึ่งผมก็นำเทคนิคนี้มาใช้ในการสะสมทุนความรู้ตามที่ได้อธิบายไว้แต่แรกเริ่ม
.
เมื่อมีรุ่นพี่เป็นแบบอย่างแล้ว เราก็ตั้งมั่นและตั้งใจ เพื่อเดินตามรอยเท้าของท่าน อีกหนึ่งเทคนิคการสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเองคือ เมื่อมีคนใกล้ตัวเราสอบติด ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน พี่ หรือน้อง มันจะช่วยกระตุ้นเตือนเราว่า เขาเหล่านั้นทำได้ เราก็ต้องทำได้สิ ความสำเร็จมันไม่ไกลเกินตัวเราหรอก และการสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาปีก่อนหน้านี้ มีพี่ ๆ หลายท่านที่ผมรู้จักสอบติด มันจึงช่วยจุดติดไฟในตัวให้ลุกขึ้นมาโชติช่วงอีกครั้ง
.
8. แรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่คือตัวเราเอง
.
นอกจากหาแรงบันดาลใจ จากผู้อื่นแล้ว ลองนึกถึงความสำเร็จในอดีตที่ผ่านมาของเราเองดูครับ บอกตัวเองซ้ำ ๆ ว่า ยากขนาดนั้นเรายังทำได้มาแล้ว การสอบครั้งนี้ก็ต้องทำได้สิ แม้ความสำเร็จในอดีตจะไม่เกี่ยวข้องกับการสอบในอนาคต แต่มันจุดติดไฟในตัวได้จริง ๆ ครับ ทุกท่านลองนึกและทำตามดู
.
ผมนึกถึงภาพตั้งแต่สอบเข้าเตรียมทหาร ว่าคนสอบตั้งสามหมื่นกว่าคน รับแค่หลักร้อย เราก็เป็นหนึ่งในนั้นมาแล้ว
.
ผมนึกถึงภาพตอนประเมินนักเรียนรางวัลพระราชทาน ว่าคนเข้าประเมินทั้งประเทศ แต่เราเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่คนที่ผ่านการประเมิน และเข้ารับรางวัลพระราชทาน
.
ผมนึกถึงภาพเมื่อครั้งได้รับรางวัลชนะเลิศ การประกวดสุนทรพจน์ “ถวายงานผ่านภาษา” ที่ผมเพียรพยายามมากว่า 3 ปี จนได้รับถ้วยพระราชทานของในหลวง รัชกาลที่ 9 ซึ่งประเทศไทยมีเพียง 16 คนเท่านั้นที่ได้รางวัลนี้ ตลอดรัชสมัย
.
ผมนึกถึงภาพตอนสอบเนติบัณฑิต ว่าเราเคยทำคะแนนได้ถึง 80 คะแนน เราจบได้ลำดับที่ 35 จากบรรดาคนหลายพันคน
.
เมื่อไฟในตัวลุกโชติช่วงชัชวาลแล้ว ผมไม่ลืมที่จะนึกถึงภาพอนาคต
.
ภาพในจินตนาการที่ผมเห็นคือมีชื่อเป็นผู้สอบผ่านข้อเขียน อยู่ในประกาศหน้าแรก (เพราะการประกาศจะเรียงลำดับจากเลขประจำตัวสอบ ผมได้เลขประจำตัวสอบ 309 ซึ่งคิดว่าต้องอยู่หน้าแรกแน่ ๆ ในวันประกาศผล) พยายามทำให้ภาพนี้มันชัด ชัดขึ้น ชัดขึ้น ไม่เพียงแต่ภาพ ยังรวมถึงความรู้สึกด้วย จนมันรู้สึกได้ว่าเราสอบผ่านจริง ๆ ทั้งที่เรายังไม่ได้สอบ
.
แนวคิดนี้ผมนำมาจากหนังสือเรื่อง The Science of Getting Rich ของ Wallace D. Wattles ซึ่งเป็นหนึ่งในหนังสือทางการตลาดที่ผมศึกษา เขาได้พูดถึงกฎแห่งแรงดึงดูดในการจะสร้างสิ่งหนึ่งขึ้นมา แล้วทำมันอย่างสม่ำเสมอ จนมันเกิดขึ้นจริง แล้วมันก็เกิดขึ้นจริง ๆ สำหรับผม !!
.
9. หนึ่งเดือนครึ่งก่อนถึงวันสอบ
.
ตั้งแต่ผมลาออกจากราชการมา ผมใช้เวลาไปกับการทำงาน หาเงิน เพื่อเก็บเงินบางส่วนไว้ใช้ช่วงสอบ ซึ่งผมตั้งใจว่าจะงดรับงาน แต่ไป ๆ มา ๆ กว่าจะปิดการสอนทุกคอร์สได้ก็ต้นเดือนธันวาคม 2562 แล้ว อีกทั้งผมติดงานรับปริญญาโท ที่ ม.รังสิต มีการซักซ้อม ถ่ายรูป จนถึงวันรับจริง กว่าจะดำเนินเรื่องต่าง ๆ เรียบร้อยคือ 15 ธันวาคม 2562 ดังนั้นผมจึงได้เริ่มอ่านหนังสือแบบจริง ๆ จัง ๆ สำหรับสอบคือวันที่ 16 ธันวาคม 2562 ซึ่งกำหนดการสอบวันแรกคือ 1 กุมภาพันธ์ 2563 มีเวลาประมาณเดือนครึ่ง เท่านั้น !!!
.
ก่อนหน้านี้ผมใช้วิธีสะสมทุนความรู้ ตามที่อธิบายไว้ตั้งแต่แรก แต่ไม่ได้อ่านหนังสือแบบจริง ๆ จัง ๆ ไม่ได้อ่านจูริส (ซื้อมานะแต่ไม่ได้แตะเลยเพราะเวลาแต่ละวันหมดไปกับการสอนหนังสือ) ไม่ได้อ่านหนังสือของอาจารย์หลาย ๆ ท่าน ตามที่พี่ ๆ แนะนำ มีเพียงหนังสือวิชากฎหมายปกครอง กับการค้าระหว่างประเทศ ของท่านก้องวิทย์เท่านั้น ที่ผมอ่านตอนสอบอัยการ แต่รอบนี้สอบผู้ช่วยผู้พิพากษาไม่มีสอบสองวิชานี้ผมจึงไม่ได้อ่านทบทวน อีกทั้งการสอนหนังสือของผมคือการสอนเพื่อสอบรับราชการ ทหาร ตำรวจ ไม่มีวิชาที่ใช้สอบอัยการ หรือผู้พิพากษา ส่วนมากผมจะสอนภาษาไทย สังคม เทคโนโลยี กฎหมายเฉพาะ เช่น ระเบียบงานสารบรรณ พ.ร.บ.ตำรวจฯ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ ฯลฯ ซึ่งวิชาเหล่านี้ไม่มีสอบในสนามอัยการ หรือ ผู้พิพากษา ผมจึงแทบไม่ได้ทบทวนเนื้อหาของตัวเองที่ต้องใช้สอบเลย
.
เวลามีคนมาถามว่าอ่านหนังสืออะไรถึงสอบได้ ผมจึงตอบไม่ได้ เพราะผมไม่ได้แตะหนังสือที่อาจารย์กฎหมายแต่ละท่านเขียนเฉพาะตัวเลย สิ่งที่ผมอ่านมีเพียงฎีกาจากคำบรรยายเนติฯ สมัยล่าสุด ซึ่งจะอธิบายต่อไปว่าผมอ่านอย่างไร และการท่องตัวบท กับการฝึกเขียนตอบ รวมถึงชีทติว ที่ผมเคยเรียนตั้งแต่สมัยติวเนติฯ และที่ตัวเองใช้สอนเอง เพื่อเอามาทบทวน
.
แต่สิ่งที่ผมทำสม่ำเสมอคือการฟัง เพราะผมชอบการเรียนรู้ด้วยการฟังมากกว่าการอ่าน ดังนั้นตรงนี้ต้องบอกกับทุกท่านว่าสไตล์แต่ละคนจะไม่เหมือนกัน วิธีการของผมเป็นเพียงหนึ่งในวิธีการทบทวนเท่านั้น ซึ่งท่านอาจจะไม่ชอบแบบที่ผมทำก็ได้
.
ผมจะโหลดไฟล์เสียงคำบรรยายเนติของอาจารย์ หรือติวเตอร์ที่ผมเคยเรียน รวมถึงเสียงของผมเองที่เคยสอนลูกศิษย์ในเฟซบุ้ค หรือในคอร์สพนักงานสอบสวน ซึ่งมีวิชากฎหมายอาญา วิ.อาญา และพยาน ที่ผมสอน เพื่อเปิดทบทวน เอาไว้ในโทรศัพท์มือถือ แล้วจะเปิดฟังตอนขับรถไปสอน หรือไปทำธุระอื่น ๆ เรียกได้ว่าใครที่นั่งรถผมไม่ได้ฟังเพลงแน่ ๆ จะได้ฟังแต่คำบรรยายตลอดการเดินทาง แม้กระทั่งเวลาผมขับรถกลับบ้านที่ต่างจังหวัด ผมก็จะเปิดฟังแบบนี้ไปตลอดทาง แม้พ่อแม่ผมจะนั่งอยู่ด้วย
.
ช่วงเช้าหรือช่วงเย็นที่ผมออกกำลังกาย ก็จะฟังไฟล์เสียงนี้ไปด้วยเช่นกัน ปกติผมเป็นคนชอบวิ่งออกกำลังกาย หากวิ่ง 10 กิโลเมตร ก็จะฟังได้ประมาณ 1 ชั่วโมงพอดี ช่วงก่อนสอบผมไปลงรายการวิ่งหลายรายการ ไม่ว่าวิ่งฮาล์ฟมาราธอน 21 กิโลเมตร วิ่ง 10 กิโลเมตร หรือวิ่งเทรล ผมก็จะฟังไฟล์เสียงนี้ไปตลอดการวิ่ง เรียกได้ว่าชีวิตประจำวันของผม นอกจากสอนหนังสือแล้วก็คือการฟังไฟล์เสียงคำบรรยายนี่แหละครับ
.
ตัดภาพกลับมา ในวันที่เหลือเวลาหนึ่งเดือนครึ่งก่อนสอบ ผมคิดว่าผมฟังมาเยอะพอสมควร ถึงเวลาแล้วที่ต้องอ่าน แต่ผมไม่ได้อ่านหนังสือนะเพราะมันไม่ทัน สิ่งที่ผมอ่านคือตัวบทกฎหมาย อ่านก่อนนะยังไม่ได้ท่อง
.
ปัญหาก็คือว่ากฎหมายมีการแก้ไขใหม่หลายมาตรา ตัวบทเดิมที่เคยใช้สมัยเรียนเนติฯ ก็ยังไม่ได้แก้ ผมจึงคิดว่าต้องซื้อตัวบทใหม่ ประกอบกับโดนพี่ ๆ นักกฎหมายป้ายยาว่าใช้ไอแพดสิน้อง เวลามีแก้ตัวบทใหม่ก็โหลดลงไอแพดเลยไม่ต้องซื้อใหม่ตลอด ด้วยความที่หลายท่านต่างเชียร์ให้ซื้อไอแพด (หนึ่งในนั้นคือท่านพี่เยลที่สอบผู้ช่วยฯ ผ่านรุ่นเดียวกับผม 😅) ผมจึงตัดสินใจซื้อมาใช้เพื่อการศึกษา และเพื่ออนาคต เมื่อซื้อมาแล้วก็โหลดแอพยอดฮิตอย่าง Good notes มาใช้
.
เอาล่ะเรามาเริ่มใช้ไอแพดกัน !!
.
ผมโหลดตัวบทกฎหมายที่ต้องใช้สอบทุกฉบับ รวมถึงกฎหมายพิเศษลงในไอแพดเรียบร้อย เสร็จแล้วจึงเริ่มไฮไลท์ มาตราที่ต้องอ่านต้องท่อง ด้วยปากกา 4 สี
.
10. เทคนิคการทำตัวบทส่วนตัวด้วยปากกาไฮไลท์ และการตั้งชื่อมาตรา
.
ตัวบทกฎหมายที่ผมใช้อ่านสอบ ผมโหลดมาจากเว็บกฤษฎีกา จากนั้นผมมาไล่ดูสถิติมาตราต่าง ๆ ที่ออกข้อสอบบ่อย ๆ ทั้งของสนามอัยการ และผู้พิพากษา เพื่อจะได้ทำตัวบทไปในคราวเดียวกัน การอ่านตัวบทของผม ผมเปิดในแอพ Good notes แล้วใช้ปากกาไฮไลท์ในแอพแบ่งออกเป็น 4 สี เพื่อให้สมองเราจดจำเป็นภาพในแต่ละสี ที่เป็นองค์ประกอบของตัวบทมาตรานั้น ๆ
.
สีแรก ผมไฮไลท์ชื่อตัวบท
สีที่สอง ผมไฮไลท์ข้อความที่เป็นเหตุ
สีที่สาม ผมไฮไลท์ข้อความที่เป็นผล
และสีที่สี่ ผมไฮไลท์ข้อความที่เป็นข้อยกเว้น
.
เวลาแยกองค์ประกอบในตัวบทกฎหมายของเรา มีแค่ 3 เรื่องนี้เท่านั้นครับ คือเหตุ ผล และข้อยกเว้น ซึ่งบางมาตราอาจจะมีข้อยกเว้นซ้อนข้อยกเว้นอีกได้ นี่คือสิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจ
.
หากมาตรานั้นมีหลายวรรค อย่าลืมเขียน ว. ไว้ข้าง ๆ เพื่อให้จำได้ว่า วรรคนี้ กล่าวถึงอะไร แต่เวลาสอบหากจำวรรคไม่ได้ ใส่ไปแค่เลขมาตราก็พอ ซึ่งผมจะเขียนอธิบายในหัวข้อการเขียนตอบต่อไป
.
หากตัวบทมาตราไหน มีองค์ประกอบหลายอย่าง หรือหลายการกระทำ โดยเฉพาะในกฎหมายอาญา ผมจะใส่เลขเอาไว้ด้านบน เพื่อให้จำได้ว่าเรื่องนี้ มีกี่การกระทำ เช่น ในตัวบทกล่าวถึงหน้าที่ของเจ้าพนักงานว่า มีหน้าที่ ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ผมจะใส่เลข 1 ไว้เหนือคำว่าซื้อ ใส่เลข 2 ไว้เหนือคำว่าทำ ใส่เลข 3 ไว้เหนือคำว่าจัดการ และใส่เลข 4 ไว้เหนือคำว่ารักษา ทำนองนี้ทุกมาตรา
.
และเรื่องสุดท้ายอย่าลืมใส่ชื่อเล่นมาตรานั้น ๆ เอาไว้เหนือเลขมาตรา เพื่อให้เราจำได้ว่ามาตรานี้คือเรื่องอะไร จะมีประโยชน์กับเราตอนท่องตัวบท
.
เทคนิคในการตั้งชื่อตัวบท ผมจะเอาถ้อยคำในตัวบทนั้นแหละมาตั้งเป็นชื่อ เพราะมันเอาไปต่อยอดในการเขียนตอบได้ เช่น ใน ป.วิอาญา มาตรา 30 ตามภาพด้านล่าง ผมจะไม่ตั้งชื่อว่าขอเป็นโจทก์ร่วม เพราะภาษากฎหมายใช้ว่า “ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์” เล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ มีประโยชน์ทั้งนั้นครับ
.
ผมอ่านและไฮไลท์แบบนี้ ทุกมาตราตามสถิติที่เคยออกสอบ ยกเว้นกฎหมายอาญา ผมจะท่องเกือบทุกมาตรา แม้ไม่เคยออกสอบ เพราะข้อสอบอาจเอามาแต่งได้หมด ยกเว้นหมวดความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร มาตรา 107 – 135 ที่ผมไม่ได้ท่อง เนื่องจากไม่เคยออกเป็นข้อสอบ และแต่งเป็นข้อสอบค่อนข้างยากครับ เมื่อครบทุกตัวบทที่โหลดมา กว่าจะอ่านเสร็จก็ประมาณต้นเดือนมกราคม 2563 แล้ว มีเวลาเหลือไม่ถึงเดือน (แต่ก็ยังไปลงรายการวิ่งในวันที่ 5 และ 12 มกราคม อยู่ 😅 ชีวิตต้องผ่อนคลาย และทำในสิ่งที่รักควบคู่กันไปครับ)
.
พอทำครบทุกเล่มแล้ว ปัญหาเกิดตอนจะท่องนี่แหละครับ ผมสร้างภาพจำไม่ได้ เพราะไอแพดมันใช้การเลื่อนเพื่ออ่าน เหมาะกับการอ่าน E-book ไม่สามารถใช้ท่องตัวบทได้ เนื่องจากมันเลื่อนไปเรื่อย ๆ แต่เวลานักกฎหมายเราจำตัวบท จริง ๆ แล้ว เราไม่ได้จำเป็นข้อความ แต่เราจำเป็นภาพว่ามาตรานี้อยู่ตรงไหนของประมวล เช่นบนซ้าย ตรงกลาง ล่างขวา อะไรประมาณนี้ แล้วเราค่อยไปนึกว่ามาตรานั้น ๆ เขียนไว้ว่าอย่างไร มีใครใช้เทคนิคนี้เหมือนผมไหมครับ ?
.
สุดท้ายผมเลยไปปริ้นท์ทุกไฟล์จากไอแพดมาเป็นกระดาษ แล้วเอาไปเข้าเล่ม เพื่อสร้างภาพจำเวลาท่อง สรุปแล้วเสียค่าไอแพด เสียค่าปริ้นท์ เสียค่าเข้าเล่ม แต่เพื่อการศึกษาเสียเท่าไรเราก็ยอมครับ จริงไหม ? ^__^
.
วันนี้ขอจบตอนที่ 1 เอาไว้เพียงเท่านี้ แล้วผมจะมาต่อตอนที่ 2 ในโอกาสต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องการท่องตัวบท การเขียนตอบ และการทำข้อสอบในสนามจริง
.
ขอบคุณที่อ่านและติดตามจนถึงบรรทัดนี้ แล้วรอพบกันในตอนต่อไป กดติดตามเพจนี้ไว้ได้ครับ
.
#อาจารย์เบนซ์
4 เม.ย. 63
.
ป.ล. อ่านตอนที่ 2 ต่อได้ที่ลิ้งก์นี้ครับ
1
โฆษณา