10 เม.ย. 2020 เวลา 04:16 • การศึกษา
## จากรั้วสามพราน จนสอบผ่านข้อเขียนผู้พิพากษา (ตอนที่ 2) ##
.
ประสบการณ์การสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาสนามใหญ่ ครั้งแรกและครั้งเดียวของอาจารย์เบนซ์
.
ต่อจากตอนที่แล้ว หากใครยังไม่ได้อ่านตอนที่ 1 ดูได้จากลิ้งก์นี้ครับ
.
11. จะท่องตัวบทแล้วนะ
.
การท่องตัวบทคือหัวใจสำคัญของการเรียนและการสอบกฎหมายในทุกระดับ เพราะแม้ท่านจะจำฎีกาที่เคยอ่านไปไม่ได้ แต่อย่างน้อยหากอ่านข้อเท็จจริงแล้วรู้ว่าเป็นเรื่องอะไร ก็สามารถที่จะหยิบเอาตัวบทกฎหมายมาวินิจฉัยได้ ซึ่งหลายประเด็นในข้อสอบที่ผมทำได้ ก็มาจากการท่องตัวบทนี่แหละ
.
เมื่อครั้งที่เป็นนักพูดสุนทรพจน์ ผมเขียนบทพูดเองถึงสองหน้ากระดาษเอสี่ ก็ยังจำได้ แม้มันจะยาวมาก ๆ มากกว่าตัวบทกฎหมายมาตราไหน ๆ แต่มันต่างกันตรงที่ บทนั้นเราเขียนขึ้นมาเอง จึงจำได้ง่าย แต่ภาษากฎหมายเราไม่ได้เขียนมันขึ้นมา และมีหลายพันมาตราที่เราจะต้องท่อง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องหนักพอสมควร
.
วิธีการท่องตัวบทของผมจึงไม่เหมือนการท่องบทสุนทรพจน์ แต่ผมจะเน้นท่องคำสำคัญ ๆ ในมาตรานั้น ๆ หรือที่เราเรียกกันว่าคีย์เวิร์ด ซึ่งคำเหล่านี้ผมจะเอาปากกาวงไว้ หรือทำสี่เหลี่ยมเน้นเอาไว้ว่าเป็นคำที่เราต้องท่องให้ได้เป๊ะ ๆ ส่วนถ้อยคำอื่น ๆ เราแค่จำเนื้อหามันได้ก็พอแล้ว
.
หลังจากที่ผมปริ้นท์ตัวบทที่ทำเองไว้แล้วจากหัวข้อที่ 10 ผมใช้วิธีการเดียวกับการท่องบทสุนทรพจน์ คืออัดเสียงตัวเองแล้วเปิดฟัง เสียงของผมค่อนข้างจะนุ่มนวลและฟังง่าย คล้าย ๆ การพูดสุนทรพจน์ ซึ่งผมก็เคยแบ่งปันไฟล์เสียงที่ผมท่องตัวบทเอาไว้ที่หน้าเพจนี้ เผื่อเป็นประโยชน์กับท่านในการท่องตัวบทนะครับ
.
กว่าจะอัดครบทุกมาตราที่ทำไว้ เล่นเอาเสียงแหบหายกันเลยทีเดียว ทีนี้พอเราได้ไฟล์เสียงที่เราอัดไว้แล้วแยกตามรายวิชา การท่องตัวบทของเราก็คือการเปิดไฟล์เสียงคลอไป ให้จดจำเข้าไปในโสตประสาท (อย่างที่อธิบายไว้ในตอนที่แล้วว่าผมชอบเรียนรู้ด้วยการฟังมากกว่าการอ่าน) ส่วนสายตาเราก็จะมองไปที่ตัวบทที่ผมทำไว้ เพื่อให้เกิดภาพจำตามที่อธิบายเอาไว้ในหัวข้อก่อนหน้า
.
อีกหนึ่งเทคนิคที่ผมทำคือจะหาสมุดโน้ตเล่มเล็ก ๆ มาเขียนเลขมาตรากับชื่อเล่นมาตรานั้น ๆ ที่เราตั้งเอาไว้ในตัวบท จนครบทุกวิชาที่เราต้องท่อง เวลาไปไหนผมจะพกสมุดเล่มนี้ติดตัวไปตลอด แม้ไม่ได้พกประมวลไป แล้วจะลองทดสอบตัวเองดูว่า จำตัวบทได้มากน้อยแค่ไหน โดยถ้าเราเจอตัวเลขในชีวิตประจำวัน เช่น ทะเบียนรถ , สายรถเมล์ เราจะนึกขึ้นมาทันทีว่า เลขนี้คือเรื่องอะไร ยกตัวอย่าง ถ้ามีรถเมล์สาย 140 ขับผ่าน เราก็คิดตามไปว่า อ๋อรถคันนี้ เป็นบทหนักของการต่อสู้ขัดขวางหรือข่มขืนใจเจ้าพนักงาน (ผมกำลังนึกถึง ป.อาญา มาตรา 140) รถคันนี้เป็นคดีไม่รู้ตัว (กำลังนึกถึง ป.วิอาญา มาตรา 140) ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ เท่าที่จะนึกได้ เสร็จแล้วก็เปิดสมุดโน้ตเล่มนี้ดูว่าเราจำเลขมาตราถูกไหม ลองเอาไปเล่นดูหรือจะทายกับเพื่อนดูก็ได้นะครับ สนุกดีเหมือนกัน วิธีการแบบนี้คือการจำเลขมาตราครับ ไม่ใช่การท่องมาตรา เพราะหลายท่านจะเอาแต่ท่องมาตรา คือจำเนื้อหาได้ แต่เวลาตอบดันไปใส่เลขมาตราผิด ก็อาจจะโดนตัดคะแนนไปนะครับ ผมเคยโดนมาแล้ว
.
12. กิจวัตรของฉันในวันที่ใกล้สอบ
.
กว่าจะทำตัวบท กว่าจะอัดเสียง กว่าจะเริ่มท่องมาตราได้ ก็พบว่าเหลือเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือนจะสอบเสียแล้ว ในช่วงโค้งสุดท้ายนี้ กิจวัตรประจำวันของผมคือ ตื่นนอนมาเวลาประมาณแปดโมงหรือเก้าโมง เพราะผมชอบนอนดึก ไม่ต่ำกว่าตีสองหรือตีสามทุกคืน มันติดมาตั้งแต่ช่วงสอน และเตรียมเนื้อหาสอนนักเรียน (งานสอนหนังสือไม่ได้สบายอย่างที่คิด) อีกทั้งผมชอบอ่านหนังสือช่วงกลางคืน เพราะเห็นว่ามันเงียบสงบดี
.
สิ่งแรกที่ตื่นขึ้นมาต้องทำเลยคือการเปิดไฟล์เสียงตัวบทของเราที่อัดไว้ เปิดดัง ๆ ให้ลั่นห้อง เพื่อให้เข้าไปในความจำของเรา แล้วผมก็ล้างหน้าแปรงฟัน ทานข้าวเช้าไปพร้อมกับฟังเสียงตัวบทของตัวเองตลอดเวลา หลังจากทานข้าวเช้าแล้ว ก็จะอาบน้ำแต่งตัว เพื่ออ่านหนังสือ (ช่วงนี้จะปิดเสียงตัวบท) การอ่านหนังสือในโค้งสุดท้ายนี้ จะอ่านจากฎีกาในคำบรรยายเนติล่าสุดเท่านั้น ส่วนหนังสือคำอธิบายอื่น ๆ จะเอาไว้เปิดเมื่อสงสัยในเรื่องที่กำลังอ่าน
.
หากช่วงไหนเบื่อ ๆ ก็จะออกไปอ่านข้างนอกบ้าง ร้านกาแฟบ้าง เพราะอ่านที่ห้องบางทีอาจโดนแรงดึงดูดจากเตียงนอน ถ้าอ่านแล้วรู้สึกว่าไม่ไหว ช่วงเย็นจะพักไปวิ่งออกกำลังกาย โดยช่วงวิ่งนี้ก็จะเปิดไฟล์เสียงตัวบทฟังคลอไป เหมือนกับการเปิดไฟล์เสียงคำบรรยายที่อธิบายไว้ในตอนที่แล้วเช่นกัน หากวันไหนไม่ได้วิ่ง ก็จะอ่านลากยาวไปจนถึงช่วงกลางคืน แล้วแต่อารมณ์และความอ่อนล้า ไม่ได้จำกัดเวลาว่าจะต้องอ่านถึงกี่โมง เสร็จแล้วก็สวดมนต์ไหว้พระ บางวันอาจนั่งสมาธิบ้าง จนเข้านอนตีสองถึงตีสาม
.
การอ่านหนังสือของผมไม่ได้อ่านลากยาวตั้งแต่เช้ายันมืด จะมีช่วงพักบ้าง เช่นอ่านไปได้ชั่วโมง หรือชั่วโมงครึ่ง จะพักสายตา ตอบเพจบ้าง ตอบคำถามนักเรียนในคอร์สของตัวเองบ้าง สลับกันไปเช่นนี้ โดยไม่ได้เน้นว่าต้องอ่านกี่เล่ม กี่หน้า แต่ตั้งเป้าว่าต้องอ่านให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะได้อธิบายในหัวข้อต่อไป
.
กิจวัตรอื่น ๆ ก็ยังคงทำปกติ เช่น การลงรายการวิ่ง การไปงานเลี้ยง งานแต่งงาน การไปเป็นพิธีกรต่าง ๆ แต่จะพยายามไปงานเหล่านี้ให้น้อยที่สุด ยกเว้นงานที่สำคัญ และจำเป็นจริง ๆ เพราะเหลือเวลาอ่านอีกไม่ถึงเดือนเท่านั้นก็จะสอบแล้ว เดี๋ยวมันอ่านไม่ทัน
.
เคยอ่านหนักสุดคือรู้สึกมึนหัว เหมือนจะอ้วก อาเจียน แต่คิดว่าน่าจะมาจากการนอนดึกมากกว่าครับ ดังนั้นการพักผ่อนให้เพียงพอถือเป็นเรื่องสำคัญ อาหารเสริม วิตามินต่าง ๆ ก็ทานปกติครับ แต่ช่วงเดือนสุดท้ายไม่ได้ทาน เพราะตั้งใจจะไปบริจาคเลือดก่อนสอบ
.
13. การอ่านฎีกาจากคำบรรยายเนติ
.
อย่างที่บอกไว้ในตอนที่แล้วว่า ผมไม่ได้อ่านหนังสือกฎหมายของอาจารย์ท่านใดเป็นพิเศษ เนื่องจากก่อนหน้านี้จะเน้นการฟังเป็นหลัก การอ่านในช่วงโค้งสุดท้ายนี้จึงไม่มีเวลาพอที่จะมานั่งอ่านจูริส หรือตำรากฎหมาย เพราะผมมั่นใจว่าเรื่องหลักกฎหมายเราก็มีความรู้ในระดับหนึ่งที่สะสมมา แต่สิ่งที่เราต้องตามคือฎีกาใหม่ ๆ หรือฎีกาที่กลับหลักเดิม ผมจึงเลือกอ่านเพียงคำบรรยายเนติสมัยล่าสุด เพราะน่าจะเป็นตำรากฎหมายที่อัพเดทที่สุดแล้ว
.
ผมไม่ได้สั่งคำบรรยายจากเนติฯ มาอ่านทั้ง 16 เล่มครับ เพราะเนื้อหาเยอะมาก ๆ เวลาไม่พอแน่ ๆ แต่จะสั่งสรุปคำบรรยายจากอินเตอร์เน็ตมาอ่าน ซึ่งมีหลายเจ้ามาก ทุกท่านลองเสิร์ชดูได้ และผมก็ซื้อมาหลายที่เหมือนกัน เพื่อจะมาไล่ดูเฉพาะฎีกา บางที่ก็แถมบทบรรณาธิการมาให้ด้วย ข้อดีคือเขาจะแยกของแต่ละขามาให้เรา แต่ข้อเสียคือเขาจะเน้นแค่เอาฎีกามาลง ไม่ได้มีคำอธิบายอะไรเหมือนหนังสือกฎหมาย ดังนั้นหากท่านยังไม่แม่นหลักผมยังไม่แนะนำให้อ่านครับ แต่ที่ผมเอามาอ่านเพราะมีความรู้เกี่ยวกับหลักกฎหมายในระดับหนึ่งแล้ว ต้องการจะมาหาฎีกาเด็ด ๆ เท่านั้น ในระยะเวลาที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่วัน
.
เวลาอ่านผมจะอ่านกฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญาก่อน ซึ่งเป็นวิชาที่ต้องสอบวันแรก โดยเฉพาะกฎหมายแพ่ง เป็นเรื่องที่ผมไม่ถนัดและเนื้อหาเยอะมาก ๆ การอ่านฎีกาผมจะไฮไลท์ส่วนที่เป็นถ้อยคำสำคัญ ถ้อยคำสวย ๆ ที่เป็นเหตุผลทางกฎหมายในการที่ศาลฎีกาวินิจฉัยในเรื่องนั้น ๆ แล้วจดไว้ในตัวบทที่ผมปริ้นท์ออกมาแล้วเย็บเล่ม เพราะผมจะปริ้นท์แบบหน้าเดียว ทำให้อีกหน้าหนึ่งมีพื้นที่ว่างตามรูปด้านล่างนี้ ผมจะจดคีย์เวิร์ดสำคัญที่ศาลวินิจฉัยเอาไว้ พร้อมข้อเท็จจริงย่อ ๆ หากเรื่องไหนมีฎีกาตัดสินเยอะจดไม่พอ ก็จะจดแยกมาในสมุดเลคเชอร์อีกเล่ม
.
การอ่านแบบนี้ไม่ใช่อ่านเพื่อทบทวนหลัก แต่อ่านเพื่อดูฎีกาใหม่ ๆ ว่ามีเรื่องไหนกลับหลักหรือไม่ และอ่านเพื่อหาคีย์เวิร์ดเท่านั้น หากเรื่องไหนอ่านฎีกาแล้วไม่เข้าใจ ผมจะไปเปิดคำอธิบายเพิ่มเติมจากชีทติวที่เราเคยอ่านตั้งแต่ตอนเรียนเนติฯ และที่เราใช้สอนนักเรียน ส่วนกฎหมายอาญาผมจะดูคำอธิบายเรื่องที่ไม่เข้าใจจากหนังสืออาจารย์เกียรติขจร แล้วจดเสริมเข้าไปในตัวบท
.
14. แหล่งฎีกาอื่น ๆ
.
นอกจากคำบรรยายเนติฯ สมัยล่าสุดและบทบรรณาธิการแล้ว เวลาผมเห็นฎีกาไหนน่าสนใจ ก็จะจดเอาไว้ในตัวบทหรือเลคเชอร์เช่นกัน ซึ่งส่วนมากจะมาจากเพจที่ลงฎีกาต่าง ๆ ในเฟซบุ้คที่ผมกดไลค์ไว้หลาย ๆ เพจ รวมถึงในกลุ่มไลน์ของเพื่อน ๆ นักกฎหมายที่แต่ละคนมาแชร์กัน นี่เป็นอีกแหล่งหนึ่งที่เราอ่านฎีกา เป็นการใช้สื่อโซเชียลให้เกิดประโยชน์
.
ช่วงโค้งสุดท้ายนี้ผมงดเล่นเฟซบุ้ค คืองดโพสต์งดคอมเม้นท์ เพราะมันจะทำให้เราเสียเวลาอ่านหนังสือมาก ๆ แต่ไม่ได้ปิดเฟซบุ้คไปไหน เนื่องจากเอาไว้ตามอ่านฎีกาในเพจต่าง ๆ นี่แหละครับ เทคโนโลยีมีทั้งข้อดีและข้อเสียต้องรู้จักใช้ให้เป็นครับ
.
15. การเขียนตอบคือหัวใจสำคัญไม่น้อยไปกว่าการอ่าน
.
ถ้าถามผมว่าอะไรคือหัวใจสำคัญที่ทำให้เราสอบผ่าน ความรู้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น สิ่งสำคัญเราจะเขียนยังไงให้ได้คะแนนดี เพราะนี่คือสิ่งเดียวที่จะทำให้ผู้ตรวจทราบว่าเรามีความรู้เหมาะสมที่จะเป็นผู้สอบผ่าน
.
ผมเชื่อว่าผู้สมัครสอบทุกคน มีความรู้ความเข้าใจในกฎหมายค่อนข้างดีทีเดียว เพราะทุกคนคือเนติบัณฑิตไทย ซึ่งกว่าจะเรียนจบมาได้ก็ค่อนข้างยากแล้ว แถมยังมีประสบการณ์ด้านวิชาชีพทางกฎหมายหลายปีกว่าจะมีคุณสมบัติสมัครสอบได้ การที่ท่านสอบไม่ผ่านไม่ใช่ว่าท่านไม่รู้ แต่ท่านยังขาดทักษะสื่อสารที่เรียกว่าการเขียนตอบ
.
การเขียนตอบข้อสอบที่ดี ผมเลียนแบบมาจากการเขียนคำพิพากษาศาลฎีกาที่เราอ่านในหัวข้อก่อนหน้านี้ โดยจากการอ่านฎีกาจะพบว่า ส่วนมากฎีกาจะมีลีลาการเขียนสองแบบด้วยกัน คือ แบบแรก จะอธิบายหลักกฎหมายในเรื่องนั้น ๆ ก่อน แล้วค่อยเอาข้อเท็จจริงมาวินิจฉัย กับแบบที่สองคือเอาข้อเท็จจริงมาวินิจฉัยปรับกับข้อกฎหมายเลย ซึ่งในการทำข้อสอบผมก็ใช้การเขียนตอบทั้งสองแบบ แล้วแต่ว่าประเด็นปัญหาในคำถามข้อนั้น ๆ จะเป็นแบบไหน
.
ส่วนมากการฝึกเขียนตอบรุ่นพี่หลายท่านจะแนะนำให้เอาข้อสอบเก่ามาฝึกทำ ซึ่งผมก็คิดว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะมันจะได้ฝึกสองอย่างคือการฝึกแกะข้อเท็จจริงในคำถาม กับฝึกการเขียนตอบ ผมเองสั่งซื้อหนังสือข้อสอบเก่าผู้ช่วยผู้พิพากษา 16 สมัยมา แต่เนื่องจากเวลาในการเตรียมตัวสอบของผมเหลือน้อยมาก ตามที่เล่ามาทั้งหมดก่อนหน้านี้ จึงไม่มีเวลาได้ลองฝึกทำเลยสักครั้ง แต่ผมได้ฝึกเขียนตอบโดยการแกะถ้อยคำสำคัญที่เป็นภาษากฎหมาย เป็นถ้อยคำสวย ๆ ที่อยู่ในฎีกาที่ผมอ่าน โดยจดเอาไว้ในตัวบทตามหัวข้อที่แล้ว และฝึกเขียนประโยคนี้ หรือถ้อยคำนี้อย่างสม่ำเสมอ แม้จะไม่ได้เอาข้อสอบเก่ามาทำ แต่ก็ทำให้เราเข้าใจ และจำได้ว่า หากมีประเด็นคำถามเรื่องนี้ ควรใช้ถ้อยคำแบบไหนในการตอบ
.
การใช้ภาษากฎหมายนี้จริง ๆ แล้ว ผมฝึกการใช้มาหลายครั้งตั้งแต่การทำงานเป็นพนักงานสอบสวน หรือทำคดีวินัย คดีปกครอง ที่ต้องมีการสรุปสำนวน ผมก็ถือว่ามันคือการฝึกอย่างหนึ่งเช่นกัน จากประสบการณ์ในการทำงานตามที่ได้อธิบายไว้ในตอนที่แล้ว
.
สิ่งเหล่านี้ท่านต้องฝึกแกะคำสวย ๆ จากฎีกา หรือตัวบทออกมา แล้วเอามาเขียนบ่อย ๆ เขียนซ้ำ ๆ จะทำให้กระดาษคำตอบของเราดูแตกต่างและสอบผ่านในที่สุด ซึ่งผมจะยกตัวอย่างความต่างในหัวข้อต่อไป
.
16. ตัวอย่างการเขียนตอบข้อสอบที่แตกต่าง
.
สิ่งที่ผู้ตรวจจะให้คะแนนเรานั้นมาจากการเขียนตอบข้อสอบของเราว่า เราให้ “เหตุผลทางกฎหมาย” มากน้อยแค่ไหน แม้ตอบถูกธงคำตอบ แต่เหตุผลทางกฎหมายไม่มี คะแนนจึงแตกต่างกันมาก และเป็นผลให้คนที่เขียนดี มีโอกาสสอบผ่านสูงกว่า ต่อไปนี้คือตัวอย่างการเขียนตอบประเด็นง่าย ๆ แต่ไม่ง่ายอย่างที่คิด
.
สมมุติว่าถ้าข้อสอบกฎหมายอาญาถามมาว่านายเอใช้ปืนยิงศีรษะนายบีเป็นเหตุให้นายบีถึงแก่ความตาย นายเอมีความผิดฐานใด (อันนี้ยกตัวอย่างเพื่อให้ดูการเขียนนะครับ ข้อสอบจริงไม่ได้ง่ายแบบนี้) ทุกคนที่เข้าสอบต่างรู้ว่านายเอ มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ตาม ป.อาญา มาตรา 288 นี่คือสิ่งที่ผมบอกว่าความรู้เราไม่ต่างกัน แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือการเขียนตอบ
.
ถ้าผู้เข้าสอบคนที่หนึ่งเขียนตอบว่า “การที่นายเอใช้ปืนยิงไปที่ศีรษะนายบีจนเป็นเหตุให้นายบีถึงแก่ความตาย ถือได้ว่านายเอฆ่าผู้อื่น จึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288”
.
แต่ผู้เข้าสอบคนที่สองเขียนตอบว่า “การที่นายเอใช้อาวุธปืน ซึ่งเป็นอาวุธที่มีอานุภาพร้ายแรง สามารถประหัตประหารชีวิตของผู้อื่นได้ ยิงไปที่ศีรษะของนายบีอันเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย ถือได้ว่านายเอได้ประสงค์ต่อผลให้ความตายเกิดขึ้นต่อนายบีแล้ว เมื่อนายบีถึงแก่ความตายสมดังเจตนาที่ประสงค์ของนายเอ อันเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของนายเอ ดังนี้นายเอจึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288”
.
ทั้งสองคนตอบถูกเหมือนกัน แต่สิ่งที่ผู้เข้าสอบคนที่หนึ่งขาดไปคือการวินิจฉัยโดยให้เหตุผลทางกฎหมาย แล้วแบบนี้หากท่านเป็นผู้ตรวจจะให้คะแนนใครมากกว่ากัน พอจะเห็นความสำคัญของการเขียนตอบหรือยังครับ
.
17. ผ่อนคลายและทำบุญบ้าง ทางสายกลางสำคัญที่สุด
.
ช่วงเตรียมตัวสอบโค้งสุดท้าย ผมไม่ได้อ่านหนังสือหรือท่องตัวบทเพียงอย่างเดียว แต่ก็ยังไปวิ่งออกกำลังกาย ลงรายการวิ่ง ไปงานเลี้ยง งานสังสรรค์บ้าง ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว แต่อีกสิ่งหนึ่งที่มีพี่ ๆ หลายท่านแนะนำ และผมเองก็อยากแนะนำคือการทำบุญ
.
เหตุที่ทำบุญนั้นมิใช่เพื่อหวังพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์โดยไม่ลงมืออ่านหนังสือ แต่บุญนั้นเมื่อทำไปแล้วจะทำให้ใจเรามีความสุข มีความสงบ ส่งผลให้การอ่านหนังสือเป็นไปด้วยดี และจดจำได้ง่ายขึ้น อีกทั้งผมมีความเชื่อว่าตำแหน่งอัยการ และผู้พิพากษานั้น เป็นตำแหน่งที่สำคัญของแผ่นดิน โดยต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อหน้าองค์พระมหากษัตริย์ก่อนปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้นผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนี้ได้ นอกจากความรู้ความสามารถแล้ว ผมเชื่อว่าต้องสั่งสมบุญบารมีมาพอสมควร แต่เหนือสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้ว เมื่อจิตเราสงบ และมีความสุขจากการทำบุญ จะช่วยหนุนนำเราทุก ๆ เรื่อง ผมเชื่ออย่างนั้น
.
การทำบุญของผมนั้นไม่จำเป็นต้องไปเข้าวัดอย่างเดียว ก่อนสอบผมเลือกทำบุญหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการแจกคอร์สเรียนฟรี ถือว่าเป็นการให้วิทยาทานก็เป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง การบริจาคช่วยเหลือมูลนิธิต่าง ๆ ไถ่ชีวิตโคกระบือบ้าง นอกจากนี้คือการสวดมนต์ไหว้พระ ฟังธรรม และนั่งสมาธิ
.
หลักธรรมที่ผมชอบฟังคือ มุตโตทัย ซึ่งเป็นโอวาทธรรมของหลวงปู่มั่น ฟังแล้วคิดตามจะทำให้ใจสงบ ทุกท่านลองหาฟังใน YouTube ได้ครับ วันสุดท้ายก่อนสอบผมจึงหยุดอ่านหนังสือ แล้วไปทำบุญ ทำทานตามวัดต่าง ๆ ไปบริจาคโลหิตที่สภากาชาดไทย ไปไหว้พระบรมรูป รัชกาลที่ 5 และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ผมเคารพนับถือ พร้อมตั้งจิตอธิษฐานว่า หากความรู้และวาสนาของผมถึงพร้อมในครั้งนี้ ขอให้ผมสอบผ่านผู้พิพากษาได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น แล้ววันรุ่งขึ้นก็ถึงวันสอบ
.
18. การทำข้อสอบในสนามสอบจริง
.
เมื่อถึงห้องสอบต้องมีสติ ไม่ตกใจ ไม่ลน คิดไว้ในใจว่าเราเกิดมาเพื่อเป็นผู้พิพากษาอยู่แล้ว การสอบนี้เป็นเพียงแค่ขั้นตอนหนึ่ง ที่เราต้องทำเหมือนกับทุก ๆ คนเท่านั้น (เป็นข้อความที่ผมได้มาจากเพจ เส้นทางสู่ผู้พิพากษา อ่านแล้วฮึกเหิมมากครับ) สร้างขวัญกำลังใจก่อนทำข้อสอบ!!!
.
วันแรกจะเป็นวิชากฎหมายอาญา กับกฎหมายแพ่ง เมื่อได้รับกระดาษคำถามแล้ว ให้เช็คให้ดีว่าคำถามมีครบทุกหน้า ตกหล่นหรือไม่ สมุดคำตอบตรงกับวิชาหรือไม่ มีตำหนิหรือสัญลักษณ์ใด ๆ ในกระดาษคำตอบไหมที่เราไม่ได้ทำขึ้นมา เพราะมันจะทำให้เราโดนหักคะแนนได้ ถ้ามีสัญลักษณ์
.
สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ขาดไม่ได้เลยคือปากกา ห้ามใช้หมึกซึม ใช้ได้เฉพาะปากกาลูกลื่น ซึ่งท่านต้องเลือกที่มันเขียนแล้วลื่นจริง ๆ และเตรียมเผื่อไปหลาย ๆ ด้าม ป้องกันหมึกหมด ซึ่งผมเคยเจอมาตอนสอบเนติฯ วิ.แพ่ง ที่ได้เล่าไว้ในตอนที่แล้ว เมื่อเขียนผิดก็ขีดฆ่า แล้วเขียนใหม่เลย ไม่ต้องเซ็นชื่อ ไม่ต้องใช้น้ำยาลบคำผิด ไม่ต้องทำสัญลักษณ์ใด ๆ ไม่เช่นนั้นอาจโดนหักคะแนนได้
.
ตอนทำข้อสอบเนติฯ ผมจะอ่านคำถามก่อน แล้วจดเลขมาตราที่ต้องใช้ตอบไว้ข้างคำถามจนครบทุกข้อ แล้วจึงมาเริ่มลงมือเขียน แต่ข้อสอบผู้พิพากษาทำแบบนั้นไม่ได้ เนื่องจากคำถามยาวมากและมีหลายประเด็น ผมจะทำเรียงทีละข้อเลย ตั้งแต่ข้อหนึ่งถึงข้อสิบ เพราะเราต้องทำให้ครบทุกข้ออยู่แล้ว หากเขียนไม่ครบโอกาสสอบผ่านจะน้อยมาก ๆ ครับ หรือแทบไม่มีเลย
.
เวลาในการทำข้อสอบข้อหนึ่งจะมีประมาณข้อละ 25 นาที ดังนั้นนอกจากความรู้แล้ว ความเร็วคือเรื่องสำคัญ ทำอย่างไรจะตอบข้อสอบให้ทัน ครบทุกข้อในเวลา โดยผมจะไม่ได้เฉลี่ยเวลาให้เท่ากันแบบนี้ทุกข้อ ซึ่งความคิดผมอาจจะไม่ถูกนัก เพราะหลายท่านมักจะบอกว่าทุกข้อมีคะแนนเท่ากัน แต่จริง ๆ แล้ว เราถนัดไม่เท่ากันทุกวิชา ใน 4 วิชาหลัก วิชาที่ผมถนัดคืออาญา กับ วิ.อาญา ผมจะตั้งเป้าไว้ว่าต้องทำให้ได้อย่างน้อย 8-10 คะแนน เพื่อเอาไปชดเชยวิชาอื่นที่ผมไม่ถนัด ส่วนแพ่ง กับ วิ.แพ่ง ผมตั้งเป้าไว้ว่าอย่างน้อยต้องได้ 6 คะแนน ขึ้นไป ผมจึงให้เวลาในการทำอาญา กับ วิ.อาญา มากกว่า 25 นาที (แต่ไม่ควรเกิน 30 นาที) เพื่อเก็บประเด็นให้ครบที่สุด ผลก็คือข้อท้าย ๆ เช่นข้อ 9 – 10 ผมจะเหลือเวลาเขียนได้น้อย แต่ก็ต้องเขียนให้ครบทุกข้อ ห้ามเว้นว่าง ถ้าเขียนไม่ทันจริง ๆ คือเขียนธงคำตอบลงไปเลย 1 คะแนนก็มีค่า ดีกว่าปล่อยให้ข้อนั้นเป็น 0
.
การตอบข้อสอบ ท่านต้องเขียนความรู้ และความเชื่อมโยงของคำตอบออกมาให้ได้มากที่สุด เพื่อแสดงให้ผู้ตรวจเห็นว่าเรามีองค์ความรู้มากน้อยแค่ไหน บางครั้งอาจต้องเอาความรู้ในวิชาอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องมาเขียนตอบด้วย เช่น ในกฎหมายอาญา มีประเด็นเรื่องมาตรา 8 เกี่ยวกับความผิดนอกราชอาณาจักร ที่ต้องให้ผู้เสียหายเท่านั้น เป็นผู้ร้องขอให้ลงโทษ ผมก็เอา วิ.อาญา มาตรา 2(4) มาเขียนในส่วนวินิจฉัยด้วย ว่าคนนี้ไม่ใช่ผู้เสียหาย หรือข้อสอบ วิ.อาญา ที่มีประเด็นมาตรา 176 ที่ศาลพิพากษาลงโทษได้เลยหากจำเลยรับสารภาพ มันมีประเด็นในข้อสอบว่ากฎหมายมีการแก้ไขอัตราโทษ ผมก็เอา ป.อาญา มาตรา 3 มาเขียน วินิจฉัยด้วย เพื่อสื่อให้เห็นว่าต้องใช้กฎหมายที่เป็นคุณ ในวิชาเลือกของผมคือกฎหมายล้มละลาย มีประเด็นเรื่องจำนองระงับสิ้นไป ผมก็เอา ป.พ.พ. มาตรา 744 มาเขียนวินิจฉัยด้วย แม้จะเป็นคนละวิชากัน เรียกได้ว่า ณ จุด ๆ นี้ ท่านมีความรู้อะไร ใส่ให้เต็มที่ ไม่ต้องยั้ง และคิดเสมอว่านี่คือการสอบครั้งสุดท้าย ถ้าพลาดอีกต้องรอไปถึงปีหน้าเลยนะ !!!
.
19. อย่ามัวแต่สนใจข้อกฎหมาย จนลืมสนใจข้อเท็จจริง
.
สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ผู้เข้าสอบมักหลงลืม คือการอ่านข้อเท็จจริงให้กระจ่าง เพราะถ้าเราไม่เข้าใจข้อเท็จจริงแล้ว เราจะวินิจฉัยข้อกฎหมายผิดพลาด ให้จำไว้เสมอว่าข้อเท็จจริงที่คำถามให้มาถือว่ายุติแล้ว อย่าไปใส่ข้อเท็จจริงอะไรเพิ่มจากความรู้สึกเป็นอันขาด ข้อสอบให้มาแค่ไหนให้วินิจฉัยไปตามนั้น โดยผมจะอ่านท้ายคำถามก่อน ว่าคำถามถามว่าอะไร แล้วค่อยไปดูข้อเท็จจริงเรื่องนั้น ๆ ตามที่โจทย์ถาม
.
ในกระดาษคำถามเราขีดเส้นได้ จดข้อความอะไรลงไปได้ (ยกเว้นในสมุดคำตอบเท่านั้นที่ห้ามทำสัญลักษณ์ใด ๆ ลงไป) ผมจะขีดเส้นในข้อเท็จจริงที่คำถามให้มา แล้วนึกถึงว่าเรื่องนั้น ๆ ต้องปรับด้วยมาตราอะไร แล้วเขียนเลขมาตรา หรือเขียนคีย์เวิร์ดสำคัญไว้ข้าง ๆ ก่อนเอาไปเขียนในสมุดคำตอบ สิ่งที่ผมจะขีดเส้นใต้เน้นเสมอคือการกระทำของตัวละครในคำถามนั้น ตัวเลข จำนวนต่าง ๆ เวลา กลางวัน กลางคืน ก่อน หลัง พวกนี้ มีความหมายทั้งหมด ต้องคิดเสมอว่าเขาให้ข้อเท็จจริงเหล่านี้เรามาทำไม มันเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่เรารู้อย่างไร เพราะบางทีข้อสอบจะไม่บอกมาตรง ๆ เราต้องหัดแกะเอง นี่แหละคือการฝึกการแกะข้อเท็จจริงที่หลายคนมองข้าม ผู้เข้าสอบต้องละเอียด อย่าตกประเด็นเป็นอันขาด ต้องเก็บให้ครบ!!
.
ตัวอย่างในข้อสอบที่ผมทำวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ ข้อสอบให้ข้อเท็จจริงในประเด็นหนึ่งมาว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ซึ่งถ้าอ่านผ่าน ๆ เราอาจจะคิดว่า เป็นเสียงข้างมากแล้ว ก็ถือตามมติศาลรัฐธรรมนูญไป แต่เมื่อผมเห็นเลข 5 ต่อ 4 แล้ว ผมขีดเส้นใต้ทันทีว่า ข้อสอบให้เลขนี้เรามาทำไม มันต้องมีอะไรแน่ ๆ แล้วนึกถึงข้อกฎหมายในมาตรา 173 วรรค 4 ว่า มันต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ในเมื่อจากข้อเท็จจริงมีตุลาการเก้าคน มติสองในสามก็ต้องหกคนสิ แบบนี้จึงถือว่า พ.ร.ก. นี้ ไม่ได้ขัดต่อมาตรา 172 นะ ก็ใช้บังคับต่อไปได้ นี่เป็นตัวอย่างของการวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่ท่านต้องละเอียด อย่าพลาดไป และอย่าลืมขีดเส้นใต้ข้อเท็จจริงที่สำคัญ!!
.
20. จากวันแรกสู่วันสุดท้าย
.
การทำข้อสอบวันแรกถือว่ามีส่วนสำคัญ เพราะหากวันแรกท่านทำได้ดี วันต่อ ๆ ไป ท่านจะมีกำลังใจมากขึ้น ผมออกจากห้องสอบมาวันแรก สิ่งที่ทำให้ฮึกเหิมคือทำข้อสอบครบทุกข้อ ไม่ปล่อยว่าง แม้จะมีบางประเด็นทำไม่ได้ แต่จากการประเมินตัวเองแล้วคิดว่าประเด็นที่ทำได้น่าจะเกินครึ่ง แม้ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าตอบถูกหรือไม่ ท่านแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว ยังไม่ต้องฟังเฉลยของเพื่อน ๆ เพราะเราก็ไม่รู้ว่าเพื่อนตอบถูกหรือไม่ แม้สัปดาห์ต่อมาจะมีธงคำตอบออกมา ผมก็ยังไม่อ่านธงคำตอบ แต่จะอ่านวิชาที่จะสอบสัปดาห์ต่อไปแทน เพราะเราไปแก้ไขอะไรในอดีตไม่ได้แล้ว ทางที่ดีคือทำอนาคตให้ดียิ่งขึ้น
.
เมื่อสอบสัปดาห์แรกเสร็จ ผมก็มานั่งอ่านและจดฎีกาของวิชาที่จะสอบในสัปดาห์ที่สอง และท่องตัวบทไป ตามหัวข้อที่กล่าวมาข้างต้น จนสอบสัปดาห์ที่สองเสร็จ ก็ทำแบบเดิม เมื่อครบสามสัปดาห์แล้ว ค่อยมาดูธงคำตอบ แล้วลองประเมินตัวเองดูว่า ตอบถูกหรือตอบผิดมากน้อยแค่ไหน มีโอกาสสอบผ่านหรือไม่
.
21. อย่าทิ้งภาษาอังกฤษเพราะมันอาจเปลี่ยนชีวิตท่าน
.
หลายท่านอ่านเฉพาะวิชากฎหมาย และไม่เข้าสอบวิชาภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะ 1 หรือ 0.5 คะแนนก็มีค่า หากท่านสอบได้ 139 คะแนน หรือ 139.5 คะแนน ชีวิตท่านจะแตกต่างจากคนที่ได้ 140 คะแนนมาก ซึ่งบางทีภาษาอังกฤษอาจมาเติมเต็มท่านได้
.
ในการสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาสนามใหญ่ วิชาภาษาอังกฤษมี 10 คะแนน แบ่งเป็นแปลอังกฤษเป็นไทย และแปลไทยเป็นอังกฤษ ข้อละ 5 คะแนน วิชาภาษาอังกฤษผมมาอ่านสามวันก่อนสอบ เนื่องจากช่วงที่ผมรับราชการที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง พอจะมีพื้นฐานด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษอยู่บ้าง แม้จะไม่ได้เก่งมากนัก แต่สิ่งที่แตกต่างคือคำศัพท์ เพราะคำศัพท์กฎหมายจะเป็นคำศัพท์เฉพาะ สามวันนี้ผมจึงนั่งท่องศัพท์อย่างเดียว โดย Google หาคำศัพท์ที่เกี่ยวกับกฎหมายมาท่อง แล้วเข้าเว็บสำนักงานศาลยุติธรรม ดูคำศัพท์จากนโยบายประธานศาลฎีกา วิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมาย ของศาลยุติธรรม ซึ่งจะมีฉบับภาษาอังกฤษอยู่ด้วย โดยผมจะแกะคำศัพท์สำคัญ ๆ เกี่ยวกับศาลออกมาท่อง และดูรูปประโยคการเขียน แม้ข้อสอบจะไม่ได้เอาข้อความเหล่านี้มาออกสอบ แต่ส่วนมากคำศัพท์ก็คล้าย ๆ กัน ซึ่งเราสามารถเอารูปแบบการเขียนในเนื้อหาของสำนักงานศาลยุติธรรม มาฝึกเขียนได้ โดยเท่าที่ผมอ่านจะพบว่า ส่วนมากรูปประโยคจะเขียนสองแบบ คือ ประธานเป็นผู้กระทำ หรือ Active Voice กับ ประธานเป็นผู้ถูกกระทำ หรือ Passive Voice แล้วส่วนมากคำที่มีความหมายเหมือนกัน เขามักจะเขียนโดยใช้คำศัพท์ที่ต่างกัน เช่น คำว่ากำหนด บางประโยคใช้คำว่า Setting บางประโยคใช้คำว่า Establishing ผมก็จะจดคำศัพท์สวย ๆ เหล่านี้เอาไว้ เพื่อไปใช้เขียนตอบ
.
ข้อสอบผู้ช่วยฯ ในข้อแปลอังกฤษเป็นไทยที่ผมสอบ เป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎอนามัยระหว่างประเทศ ซึ่งจะมีคำศัพท์เกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนระหว่างประเทศอยู่บ้าง ซึ่งบางคำผมก็เคยใช้ตอนเป็นเจ้าหน้าที่ ตม. ทำให้พอแปลความรวม ๆ ได้บ้าง ส่วนข้อแปลไทยเป็นอังกฤษ เป็นพระบรมราโชวาท ผมก็เอาคำศัพท์กับรูปประโยคที่เคยท่อง พร้อมเลือกคำสวย ๆ มาใช้เขียน โดยดูว่าอันไหนประธานเป็นผู้กระทำ อันไหนประธานถูกกระทำ เพื่อจะได้เขียนในรูปประโยคแบบ Active Voice หรือ Passive Voice ยกตัวอย่างในข้อความว่า “กฎหมายทั้งปวงนั้น เราบัญญัติขึ้นเพื่อ…” ผมเห็นแล้วว่าประธานในที่นี้คือกฎหมายทั้งปวง เป็นผู้ถูกกระทำ เพราะถูกบัญญัติ ต้องใช้รูป Passive Voice คือ Verb to be + V. 3. แล้วผมก็หยิบเอาคำศัพท์ที่ผมท่องไว้มาเขียนตอบ โดยพยายามเลือกใช้คำที่คิดว่าสวยและเป็นทางการมาเขียน ผมจึงเขียนไปว่า All laws are established to … เพราะเห็นว่าเป็นคำที่สวยกว่า written แต่ความหมายเหมือนกัน ส่วนประโยคอื่น ๆ ก็เขียนและแปลโดยใช้หลักการเดียวกันจากคำศัพท์ที่เราท่องมา นี่เป็นตัวอย่างในการทำข้อสอบภาษาอังกฤษ ที่ไม่อยากให้ทุกท่านทิ้งเนื้อหาส่วนนี้ครับ
.
#ปัจฉิมบท
.
เนื้อหาที่กล่าวมาในบทความของผมทั้งสองตอนนี้ เป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างที่ผมทำในช่วงเตรียมตัวสอบ เพื่อให้ทุกท่านนำไปปรับใช้ ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของแต่ละท่าน และเลือกเอาเฉพาะในส่วนที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ไปประยุกต์ใช้ ซึ่งแนวทางการสอบและการเรียนรู้ของแต่ละท่าน ย่อมแตกต่างออกไปด้วยเหตุปัจจัยต่าง ๆ แต่ล้วนต้องด้วยผลลัพธ์เดียวกัน คือปลายทางความสำเร็จแห่งการเป็นอัยการ หรือ ผู้พิพากษา
.
สิ่งหนึ่งที่ผมไม่ได้ทำ และอยากแนะนำให้ทุกท่านทำ คือการฝึกเอาข้อสอบเก่ามาทดลองเขียน เพราะมันจะช่วยเรื่องการฝึกแกะข้อเท็จจริง และการฝึกการเขียนตอบของท่านได้ หากบทความนี้พอจะเป็นประโยชน์อยู่บ้าง ก็ขอมอบคุณงามความดีนี้ แด่บูรพาจารย์ทุกท่านที่ประสิทธิ์ประสาทวิชากฎหมายและเทคนิคต่าง ๆ ให้แก่ผม หากมีเนื้อหาใด ที่ผมเห็นว่าเป็นประโยชน์เพิ่มเติม จะนำมาแบ่งปันทุกท่านอีกครั้งในโอกาสต่อไป
.
การสอบผ่านมิใช่จุดสิ้นสุด หากแต่เป็นจุดเริ่มต้นในอีกบทบาทและหน้าที่หนึ่ง ซึ่งทุกท่านจะต้องศึกษา สั่งสม ความรู้ และประสบการณ์ เพื่อทำงานรับใช้ประเทศชาติและประชาชนต่อไป ไม่ว่าวันนี้หรือวันหน้า ท่านจะเป็นอัยการ หรือ ผู้พิพากษาหรือไม่ ไม่สำคัญเท่ากับท่านได้ใช้วิชาชีพนี้สร้างคุณประโยชน์ใดให้สังคม เพราะตำแหน่งอยู่กับเราไม่นาน เมื่อถึงกาลย่อมเกษียณไปตามวัย แต่ตำนานจะทำให้ผู้คนจดจำท่านตลอดไป เมื่อสิ้นชีพชีวาวาย ยังได้ฝากฝังคุณประโยชน์ไว้ให้แผ่นดิน
.
ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่าน สู่ฝั่งฝันของความสำเร็จ
.
#อาจารย์เบนซ์
5 เม.ย. 63
โฆษณา