ภิกษุ ท. ! ภัย อันเกิดแต่คลื่น เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุ ท. ! ในกรณีนี้คือ คนบางคนมีศรัทธา ออกบวชจากเรือนไม่เกี่ยวข้องด้วยเรือน เพราะคิดเห็นว่า “เราถูกความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ ครอบงำเอาแล้ว เป็นคนตกอยู่ในกองทุกข์ มีทุกข์อยู่เฉพาะหน้าแล้ว ทำไฉนการทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ จะปรากฏมีได้ ” ดังนี้. ครั้นบวชแล้ว เพื่อนผู้ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยกัน ย่อมว่ากล่าวตักเตือนเธอว่า “ท่าน ! เป็นพระแล้ว ต้องก้าวเดินด้วยท่าทางอย่างนี้ ๆ, ต้องถอยกลับด้วยท่าทางอย่างนี้ ๆ, ต้องแลดูด้วยท่าทางอย่างนี้ ๆ, ต้องเหลียวด้วยท่าทางอย่างนี้ ๆ, ต้องคู้แขนคู้ขาด้วยท่าทางอย่างนี้ ๆ, ต้องเหยียดมือเหยียดเท้าด้วยท่าทางอย่างนี้ ๆ, ต้องนุ่งห่มจับถือซึ่งสังฆาฏิ บาตร จีวร ด้วยท่าทางอย่างนี้ ๆ” ดังนี้. เธอนั้นหวนระลึกไปว่า “เมื่อก่อน เราอยู่ครองเรือน ย่อมว่ากล่าวสั่งสอนผู้อื่น, บัดนี้ พวกภิกษุคราวลูกคราวหลานของเรา กลับมาคอยหาโอกาส
๑. บาลี พระพุทธภาษิต จตุกฺก. อํ. ๒๑/๑๖๕/๑๒๒.
ว่ากล่าวตักเตือนเรา” ดังนี้, เธอก็โกรธ แค้นใจ บอกเลิกสิกขา หมุนกลับคืนไป สู่เพศต่ำแห่งคฤหัสถ์.
ภิกษุ ท. ! ภิกษุชนิดนี้ เรียกว่า ผู้กลัวภัยอันเกิดแต่คลื่น แล้วจึงบอกเลิกสิกขา หมุนกลับคืนไปสู่เพศต่ำแห่งคฤหัสถ์.
ภิกษุ ท. ! คำว่า ภัย อันเกิดแต่คลื่นนี้ เป็นคำแทนชื่อสำหรับเรียก ความโกรธคับแค้นใจ.
ภิกษุ ท. ! นี้ เรียกว่า ภัย อันเกิดแต่คลื่น แล.