11 เม.ย. 2020 เวลา 07:39 • การศึกษา
.......ชาวนาจีนมิได้ต่างจากชาวนาไทย
. ตอนอาทิตย์เที่ยงวัน
ชาวนายังพรวนดิน
เหงื่อหยดบนดินภายใต้ต้นข้าว
ใครจะรู้บ้างว่าในจานใบนั้น
ข้าวแต่ละเม็ดคือความยากแค้นแสนสาหัส
บทพรรณนาความทุกข์ยากของชาวนาข้างต้นนี้ มาจากพระราชนิพนธ์ที่สมเด็จพระเทพฯ ทรงแปลจากบทกวีของจีนไว้ในพระราชนิพนธ์บทความเรื่อง “ทุกข์ของชาวนาในบทกวี” บทความนี้อยู่ในพระาชนิพนธ์เรื่อง มณีพลอยร้อยแสง
พระราชนิพนธ์เรื่อง “ทุกข์ของชาวนาในบทกวี” แสดงแนวพระราชดำริเกี่ยวกับบทกวีไทยของจิตร ภูมิศักดิ์และบทกวีจีนของหลี่เซิน
บทกวีจีนที่ทรงแปลเป็นภาษาไทยนั้นก็ได้ทรงพระราชนิพนธ์เป็นบทกวีที่สื่อความได้อย่างชัดเจน ทำให้เราเห็นภาพชีวิตของชาวนาจีนกับชาวนาไทยว่าไม่ได้แตกต่างกันเท่าไรนัก
โดยในหนังสือมีความคร่าวๆว่า
เมื่อครั้งเป็นนิสิต ข้าพเจ้าได้เคยอ่านผลงานของ จิตร ภูมิศักดิ์ อยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้ศึกษาอย่างละเอียด หรือวิเคราะห์อะไร เพียงแต่ได้ยินคำเล่าลือว่าเขาเป็นคนที่ค้นคว้าวิชาการได้กว้างขวางและลึกซึ้งถี่ถ้วน ในสมัยที่เราเรียนหนังสือกัน ได้มีผู้นำบทกวีของจิตรมาใส่ทำนองร้องกัน ฟังติดหูมาจนถึงวันนี้
เปิบข้าวทุกคราวคำ จงสูจำเป็นอาจิณ
เหงื่อกูที่สูกิน จึงก่อเกิดมาเป็นคน
ข้าวนี้น่ะมีรส ให้ชนชิมทุกชั้นชน
เบื้องหลังสิทุกข์ทน และขมขื่นจนเขียวคาว
จากแรงมาเป็นรวง ระยะทางนั้นเหยียดยาว
จากรวงเป็นเม็ดพราว ล้วนทุกข์ยากลำเค็ญเข็ญ
เหงื่อยหยดสักกี่หยาด ทุกหยดหยาดล้วนยากเย็น
ปูดโปนกี่เส้นเอ็น จึงแปรรวงมาเปิบกัน
น้ำเหงื่อยที่เรื่อแดง และนำแรงอันหลั่งริน
สายเลือดกูทั้งสิ้น ที่สูซดกำซาบฟัน
การใช้สรรพนามคำว่า กู ในบทกวีนี้ ทำให้ผู้อ่านได้รับรู้ถึงถ้อยคำความรู้สึกของชาวนาอย่างแท้จริง ชวนให้คิดว่าถ้าไม่มีคนเหนื่อยยากตรากตรำอย่างพวกเขา คนอื่น ๆ จะเอาอะไรกิน อย่าว่าแต่การลำเลิกทวงบุญคุณเลย ความช่วยเหลือที่สังคม มีต่อคนกลุ่มนี้ ในด้านของปัจจัยในการผลิต การพยุงหรือการประกันราคา และการรักษาความยุติธรรมทั้งปวง ก็ยังแทบจะเป็นไปไม่ได้ ทำให้ในหลาย ๆ ประเทศชาวนาต่างก็ละทิ้งจากการทำเกษตรกรรมไปอยู่ด้านอุตสาหกรรมแทน เหตุผลคือได้ทั้งเงินสูงกว่า สวัสดิการดีกว่าและไม่ต้องเสี่ยงเช่นก่อน
ถึงจะมีคนแบบจิตร ที่พยายามใช้จินตนาการสะท้อนความในใจ ออกมาสะกิดใจคนอื่นบ้าง แต่ปัญหาก็ยังไม่หมดไป
หลายปีมาแล้วข้าพเจ้าอ่านพบบทกวีจีนบทหนึ่ง ผู้แต่งชื่อหลี่เชิน ชาวเมืองอู่ชี มีชีวิตอยู่ในระหว่างปี ค.ศ. ๗๗๒ ถึง ๘๔๖ สมัยราชวงศ์ถัง ท่านหลี่เชินได้บรรยายความในใจไว้ เป็นบทกวีภาษาจีน ข้าพเจ้าจะพยายามแปลด้วยภาษาที่ขรุขระไม่เป็นวรรณศิลป์ เหมือนบทกวีของ จิตร ภูมิศักดิ์
กวีของหลี่เชิน
หว่านข้าวในฤดูใบไม้ผลิ ข้าวเมล็ดหนึ่ง
จะกลายเป็นหมื่นเมล็ดในฤดูใบไม้ร่วง
รอบข้างไม่มีนาที่ไหนทิ้งว่าง แต่ชาวนาก็ยังอดตาย
ตอนอาทิตย์เที่ยงวัน ชาวนายังพรวนดิน
เหงื่อยหยดบนดินภายใต้ต้นข้าว
ใครจะรู้บ้างว่าในจานใบนั้น
ข้าวแต่ละเม็ดคือความยากแค้นแสนสาหัส
กวีผู้นี้รับราชการมีตำแหน่งเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น อยู่ในชนบท ฉะนั้นเป็นไปได้ ที่เขาจะได้เห็น ความเป็นอยู่ของราษฎรชาวไร่ชาวนาในยุคนั้น และเกิดความสะเทือนใจ จึงได้บรรยาย ความรู้สึกออกเป็นบทกวี ที่เขาให้ชื่อว่า ประเพณีดั้งเดิม บทกวีของหลี่เชินเรียบๆ ง่ายๆ แต่ก็แสดงความขัดแย้งชัดเจน แม้ว่าในฤดูกาลนั้น ภูมิอากาศจะอำนวยให้พืชพันธุ์ธัญญาหารบริบูรณ์ดี แต่ผลผลิตไม่ได้ตกเป็นประโยชน์ของผู้ผลิตเท่าที่ควร
เทคนิคในการเขียนของหลี่เชินกับของจิตรต่างกัน คือ หลี่เชินบรรยายภาพที่เห็น เหมือนจิตรกรวาดภาพ ให้คนชม ส่วนจิตรใช้วิธีเสมือนกับ นำชาวนามาบรรยาย เรื่องของตน ให้ผู้อื่นอ่านฟังด้วยตนเอง
เวลานี้สภาพบ้านเมืองก็เปลี่ยนไป ตั้งแต่สมัยหลี่เชินเมื่อพันกว่าปี สมัยจิตร ภูมิศักดิ์ เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว สมัยที่ข้าพเจ้าได้เห็นเอง ก็ไม่มีอะไรแตกต่างกันนัก ฉะนั้นก่อนที่ทุกคน จะหันไปกินอาหารเม็ดเหมือนนักบินอวกาศ เรื่องความทุกข์ของชาวนา ก็คงยังจะเป็นแรงสร้างความ สะเทือนใจให้แก่กวียุคคอมพิวเตอร์สืบต่อไป
พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ มณีพลอยร้อยแสง ๒๕๓๓
ที่ได้เล่ามานี้เป็นการย่อและยกใจความสำคัญมาให้ทุกคนได้ทราบ และแสดงให้เห็นว่าไม่ว่าชาวนาในไทยหรือจีน หรือที่ใดในโลกก็ล้วนแต่ประสบกับความยากเข็ญทั้งนั้น
เรื่องทุกข์ของชาวนาในบทกวีนั้นได้นำมาให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาโดยได้ปรากฎในแบบเรียนวรรณคดีวิจักษ์ของชั้น ม.4 อีกด้วยค่ะ
อีกหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจในเรื่องนี้ก็คือชีวประวัติของ จิตร ภูมิศักดิ์ เขาเป็นนักปราชญ์และนักปฏิวัติทางความคิดและวิชาการคนสำคัญของประเทศไทย ซึ่งควรค่าแก่การศึกษาประวิติและผลงานอย่างมาก
🌾 生词 คำศัพท์
• 农民 nóngmín เกษตรกร,ชาวนา
• 米 mǐ ข้าว(ข้าวสาร)
• 米饭 mǐfàn ข้าว(ข้าวสวย)
• 书 shū หนังสือ
โฆษณา