11 เม.ย. 2020 เวลา 08:45 • ไลฟ์สไตล์
ส่องแฝดคนละฝากับหน้าตา 'ผลไม้ไทย'
ว่าด้วยเรื่อง 'ผลไม้ไทย' ที่มีหน้าตาเหมือนกันยังกับฝาแฝด ชวนคุณมาดูว่ามีผลไม้ไทยชนิดไหนบ้างที่คนทั่วไปมักสับสน เช่น มะยงชิด กับ มะปราง, ลองกอง กับ ลางสาด, ขนุนกับจำปาดะ ฯลฯ
บทความโดย ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจออนไลน์
เข้าสู่เดือนเมษายนทีไร "ผลไม้ไทย" ประจำหน้าร้อนก็กลับมาฮอตฮิตกันอีกครั้ง นอกจากทุเรียนแล้วผลไม้อีกหนึ่งชนิดที่คนไทยนิยมรับประทานกันมากก็คือ 'มะปราง' ที่นำมารับประทานสดๆ นำไปเชื่อม หรือเป็นส่วนผสมของขนมต่างๆ ที่เห็นตามท้องตลาด ความหวานและความรู้สึกสดชื่นของมะปรางได้กลายเป็นขวัญใจของใครหลายคน
แต่มักมีเรื่องน่าสงสัยตามมาเสมอเมื่อไปหาซื้อผลไม้ไทยสุดโปรด โดยเฉพาะคนที่ไม่เชี่ยวชาญเรื่องชนิดของผลไม้มากนัก (เชี่ยวชาญเฉพาะตอนกิน) ก็มักจะซื้อผิดซื้อถูก สับสนไปหมด นั่นก็เพราะว่าผลไม้ไทยมีหลายชนิดเลยที่รูปร่างหน้าตาเหมือนกันยังกับฝาแฝด
ผลไม้ฝาแฝด
ยกตัวอย่างเช่น 'มะปราง' มีฝาแฝดคือ 'มะยงชิด' ด้วยรูปร่างหน้าตาคล้ายกันจนยากจะแยกออก บางคนชอบกิน 'มะยงชิด' ก็มักจะสับสนและอาจซื้อผิดไปคว้า 'มะปราง' กลับบ้านมาซะอย่างนั้น
และเพื่อเป็นการไขข้อสงสัยนี้ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ พาไปทำความรู้จักและแยกความแตกต่างผลไม้ฝาแฝดให้กระจ่างและเลือกซื้ออย่างผู้เชี่ยวชาญกันดีกว่า
มะปราง กับ มะยงชิด
มะปรางและมะยงชิด หากมองด้วยตาเปล่าแทบจะไม่เห็นความแตกต่าง เพราะเป็นพืชในกลุ่มเดียวกัน และยังเป็นผลไม้หน้าร้อนที่ได้รับความนิยมมากๆ ทั้งคู่ แต่ความแตกต่างจะดูได้ที่ขนาดเป็นหลัก ถ้าลองดูสังเกตให้ดีจะพบว่าส่วนใหญ่ มะปรางจะลูกเล็กกว่ามะยงชิด อีกทั้งสังเกตได้จากสีหลังจากที่ผลสุกเต็มที่ หากเป็นมะปรางหวานสีจะออกเหลืองนวลมากกว่ามะยงชิดที่ออกสีเหลืองอมส้ม
ตอนผลดิบมะปรางหวานจะมีรสมันสีออกเขียวซีดผลใส ขณะที่มะยงชิดจะมีรสเปรี้ยวและสีเขียวจัดในตอนผลดิบ เมื่อสุกแล้วมะปรางหวานจะให้รสชาติหวานหรือหวานจืด ด้านมะยงชิดจะออกรสหวานอมเปรี้ยว
ที่สำคัญ.. มะปรางหวานบางสายพันธุ์เมื่อทานแล้วจะระคายเคืองในคอเพราะมียาง แต่มะยงชิดไม่มียาง จึงทานได้อร่อยไม่รู้สึกระคายเคืองคอ
โฆษณา