11 เม.ย. 2020 เวลา 10:25 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
[2] การตกไข่เกิดสลับซ้าย-ขวาจริงหรือไม่?
หลายคนอาจจะเคยได้ยินมาว่าการตกไข่ (ovulation) ของมนุษย์นั้นเกิดแบบสลับข้างซ้าย-ขวา โดยหากเซลล์ไข่ (secondary oocyte) เริ่มตกจากรังไข่ข้างซ้ายในรอบเดือนแรก ในรอบเดือนถัดไปเซลล์ไข่จะตกจากรังไข่ข้างขวาแทน และจะเกิดสลับข้างซ้าย-ขวาอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ คำกล่าวนี้เป็นจริงหรือไม่?
คำตอบคือ “ไม่”
ผลงานวิจัยของ Ecochard & Gougeon (2000) ซึ่งใช้เทคนิคอัลตราซาวนด์ในการตรวจสอบการตกไข่ พบว่าการตกไข่ของมนุษย์นั้นไม่ได้มีรูปแบบที่จำเพาะ โดยถ้าเซลล์ไข่ตกจากรังไข่ข้างหนึ่งแล้ว การตกไข่ในรอบเดือนถัดไปอาจจะเกิดจากรังไข่ข้างเดียวกันหรือรังไข่คนละข้างกันก็ได้ ดังนั้นคำกล่าวข้างต้นจึงไม่เป็นจริง
และที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้น แม้ว่างานวิจัยนี้จะให้ผลว่าเซลล์ไข่ตกจากรังไข่ข้างซ้ายและข้างขวาในสัดส่วนที่เท่ากันอย่างที่หลาย ๆ คนเข้าใจ แต่ในบางงานวิจัย เช่นงานวิจัยของ Fukuda et al. (2000) กลับชี้ให้เห็นว่าอาจมี “ความไม่สมมาตร” เกิดขึ้นในการตกไข่ของมนุษย์ คณะวิจัยนี้พบว่าเซลล์ไข่มักจะตกจากรังไข่ข้างขวาบ่อยกว่ารังไข่ข้างซ้าย (โอกาสตกจากรังไข่ข้างขวาประมาณ 55%) นอกจากนี้ยังพบอีกว่าไข่ที่ตกจากรังไข่ข้างขวาช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้มากกว่าไข่ที่ตกจากรังไข่ข้างซ้าย ทั้งในการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติและการตั้งครรภ์ที่เกิดผ่านการสร้างทารกในหลอดแก้ว (in vitro fertilization; IVF) หรือการฉีดน้ำอสุจิเข้าโพรงมดลูก (intrauterine insemination; IUI)
ดูท่าวลี “ขวาร้าย ซ้ายดี” อาจจะใช้กับเรื่องนี้ไม่ได้ซะแล้ว
เอกสารอ้างอิง:
Ecochard R. & Gougeon A. (2000) Side of ovulation and cycle characteristics in normally fertile women. Human Reproduction. 15: 752–755. https://academic.oup.com/humrep/article/15/4/752/706405
Fukuda M., Fukuda K., Andersen C.Y. & Byskov A.G. (2000) Right-sided ovulation favours pregnancy more than left-sided ovulation. Human Reproduction. 15: 1921–1926. https://academic.oup.com/humrep/article/15/9/1921/2915355
โฆษณา