11 เม.ย. 2020 เวลา 13:52 • ประวัติศาสตร์
จากพ่อค้าความตาย สู่ชายผู้รักสันติภาพ
ถ้าพูดถึงเหตุก่อการร้าย
ที่ทำผู้โดยสารลุ้นกันใจหายใจคว่ำมากที่สุด
ฟันธงเลยว่าต้องมีเหตุการณ์ลอบวางระเบิดบนเครื่องบิน
ของสายการบินฟิลิปปินส์แอร์ไลน์ เมื่อปี 1994 อย่างแน่นอน...
11 ธันวาคม 1994
ระหว่างที่เที่ยวบิน 434 บินจากกรุงมะนิลาไปลงที่เกาะซีบู ทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ มีผู้ก่อการร้ายชาวอาหรับวัย 20 กลางๆ เคราะดกๆ ชื่อ แรมซี ยูเซฟ นั่งเครื่องไปด้วย
ช่วงเครื่องบินกำลังลอยลำ ยูเซฟรีบทำการประกอบระเบิดที่เตรียมมาในห้องน้ำทันที
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า ทั้งก้อนแบตเตอรี่และตัวจุดระเบิดที่ถูกซ่อนเอาไว้ใต้สันรองเท้า จะผ่านเครื่องตรวจที่สนามบินมาได้
แต่ที่ไม่น่าเชื่อเลยก็คือ ของเหลวสีใสๆ ที่เขาแอบพกใส่ขวดน้ำยาล้างคอนแทคเลนส์มาด้วยนั้นจะกลายร่างเป็นระเบิดแล้วไปสร้างฝันร้าย ให้กับผู้โดยสารพร้อมๆลูกเรืออีกเกือบๆ 300 ราย ในเที่ยวบินหลังจากนั้น...
หลังเครื่องบินถึงเกาะซีบู แรมซี ยูเซฟ ก็เดินหายไป
และจะถูกจับได้ที่ปากีสถานในอีก 6 เดือนต่อมา...
ประมาณชั่วโมงครึ่งหลังจากลงจอด เครื่องบินลำเดิมก็กำลังจะเทคออฟขึ้นฟ้าอีกครั้งไปยังที่หมายต่อไปคือ โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
แต่บินไปได้แค่ 4 ชั่วโมง
ของขวัญจากยูเซฟก็ทำงาน
เกิดเสียงระเบิดดังลั่น พร้อมๆกับเสียงกรี๊ดตกใจของผู้โดยสาร...
ด้านข้างฝั่งขวาของเครื่องบินโดนระเบิด เปิดเป็นรูโหว่ ผู้โดยสารหนึ่งคนเสียชีวิตทันที พร้อมคนที่นั่งรอบๆกว่า 10 คน
บาดเจ็บสาหัส
หลังบินต่อไปด้วยความทุลักทุเลเกือบๆ 2 ชั่วโมง กัปตันใกล้เกษียณก็สามารถเอานกเหล็กลำนี้ พร้อมกับชีวิตลูกเรือและผู้โดยสารทั้งหมดกว่า 272 ราย ถึงพื้นโลกได้อย่างปลอดภัย(เสียชีวิตไปหนึ่งคน)
เที่ยวบิน PAL 434 ตอนลงจอด
หลังดับไฟและเรียกกู้ภัยมาช่วยเหลือผู้บาดเจ็บเรียบร้อย
หน่วยสืบสวนก็เข้ามาหาสาเหตุทันที...
หลังจากสืบไปสืบมาก็รู้ว่า เจ้าสารที่ทำให้เกิดการระเบิดครั้งนี้คือของเหลวสีใสๆ ที่ไม่มีชื่อแปลเป็นไทยนั่นก็คือ ไนโตรกลีเซอรีน
ตั้งแต่นั้นมา ทุกๆสายการบินก็เลยต้องเข้มงวดกับของเหลวทุกชนิด แม้ว่ามันจะใส่แค่ยาสระผมมาก็ตาม...
ว่าแต่เรื่องทั้งหมดนี้เกี่ยวอะไรกับพ่อค้าความตาย?
และเกี่ยวอะไรกับชายผู้รักสันติภาพ?
1
จะว่าไป พระเอกของเราไม่เกี่ยวข้องอะไรกับสายการบิน
หรือเหตุระเบิดในครั้งนี้เลยครับ มีแค่อย่างเดียวที่เขาเกี่ยวข้อง
และเกี่ยวข้องมากที่สุด คือไนโตรกลีเซอรีน
เขาคือจุดเริ่มต้นของการนำของเหลวชนิดนี้มาใช้เป็นระเบิด
ไม่ว่าจะเป็นระเบิดเหมือง ระเบิดสะพาน และเปลี่ยนเป็นชื่อเท่ๆว่า ไดนาไมต์
แต่ทุกวันนี้กลับมีผู้ก่อการร้ายหัวใสใช้ผิดวัตถุประสงค์
เอาไปวางระเบิดตามรถไฟหรือสนามบิน
แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็ยังเป็นคนสนับสนุนให้เกิดสันติภาพบนโลกใบนี้ ด้วยการตั้งมูลนิธิๆหนึ่งขึ้นมา เพื่อมอบรางวัลให้กับบุคคลที่ทำประโยชน์แก่โลกนี้ในทุกๆปี
ว่าแต่ ... ถ้าทำเพื่อสันติภาพจริง
เขาจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับวงการระเบิดทำไม?
ที่น่าสนใจคือ อะไรคือจุดเปลี่ยนให้คนประดิษฐ์ระเบิดขาย
กลับใจมาเป็นคนที่รักสันติภาพ?
จะหาเค้าเจอได้ เราคงต้องย้อนเวลากลับไปด้วยกันสักหน่อย
ปี 1850 ปารีส ประเทศฝรั่งเศสครับ
1
ปารีส ฝรั่งเศส
อัลเฟรด เด็กหนุ่มวัย 17 ปีจากสวีเดน ถูกส่งมาเรียนไกลบ้านถึงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อสะสมความรู้และกลับไปสานต่อธุรกิจของครอบครัว
ด้วยช่วงวัยเด็กของเขาที่ชื่นชอบและสนใจในวัตถุไวไฟ หรืออะไรที่ระเบิดแล้วมีแสงแวบๆออกมามากๆ บวกกับพ่อเขาเองอยากให้เดินตามรอยเท้าที่พ่อได้ทำเอาไว้แล้ว ...
ตอนเข้ามหาวิทยาลัยเขาก็เลยเลือกเรียนด้านเคมีโดยเฉพาะ
ช่วงเรียนอยู่ปารีส อัลเฟรดทำงานให้กับห้องวิจัยของนักเคมี
ชื่อดังท่านหนึ่ง อย่าง T.J. Pelouze
ณ ห้องวิจัยนี้ เขาก็ได้พบกับนักเคมีอีกท่านที่เป็นลูกศิษย์
ของเจ้าของห้องวิจัย
"แอสคานิโอ โซเบรโน"
แล้วแอสคานิโอคนนี้ล่ะครับ ที่จะเป็นคนจุดประกายให้กับหนุ่มน้อยอัลเฟรดของเรา ไปสร้างระเบิดที่มีพลังทำลายล้างมากกว่าระเบิดชนิดไหนๆในยุคนั้น ในชื่อที่เราๆคุ้นหูกันเป็นอย่างดี...
"ไดนาไมต์"
3 ปีก่อนหน้านี้ แอสคานิโอได้คิดค้นชนิดสารหนึ่งขึ้นมา
ลักษณะเป็นของเหลวสีใสๆที่ไวต่อทั้งอุณหภูมิและความดัน
และได้ตั้งชื่อให้มันว่า ไนโตรกลีเซอรีน (กลีเซอรอลบวกกับไนโตรเจน)
หลังจากที่ตัวเขาเองเห็นแล้วว่า ของเหลวชนิดนี้ระเบิดง่าย
และจะเป็นอันตรายต่อคนที่เอาไปใช้เขาก็เลยเลือกเก็บงานวิจัยนี้เอาไว้อยู่หลายปี
จนกระทั่งเขาและอัลเฟรดได้เจอกัน...
อัลเฟรดต่างจากแอสคานิโออย่างสิ้นเชิง แทนที่เขาจะมองว่าอันตรายและยากที่จะคุมได้เขากลับสนใจที่จะหาวิธี ควบคุม เจ้าของเหลวไวไฟชนิดนี้ และใช้มันให้เกิดประโยชน์
หลังเรียนจบ อัลเฟรดต้องกลับไปช่วยธุรกิจของครอบครัวทันที
เพราะธุรกิจที่ทำอยู่นี้เป็นธุรกิจนี้ที่ใหญ่มากๆ ใหญ่ระดับชาติเลยก็ว่าได้
...ว่าแต่ครอบครัวของอัลเฟรด ทำธุรกิจอะไร?
ย้อนกลับไปช่วงที่อัลเฟรดยังเด็กๆ พ่อของเขาล้มเหลวแทบจะทุกงานที่เอื้อมมือเข้าไปทำ เพราะเป็นทั้งนักประดิษฐ์ สถาปนิก
ไปพร้อมๆกับวิศวกร อาชีพที่ทำก็ไปทางจับฉ่ายซะหมด
เขาทำทุกอย่างไม่ว่าจะเป็น สร้างสะพาน
ทำระเบิด ทำเครื่องมือในงานไม้ รับจ็อบก่อสร้าง
แต่รายได้ที่เข้ามาก็ยังไม่พอที่จะจุนเจือครอบครัวสักที...
ด้วยขนาดครอบครัวที่ใหญ่ คือมีลูก 4 คน(อัลเฟรดเป็นคนที่ 3)
ทำให้เขาซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัว ต้องดิ้นรนหารายได้
มาเลี้ยงลูกๆและภรรยา
จนวันหนึ่งการตระเวนหางานทำของเขาก็ได้ผล
เขาได้งานใหญ่ที่จักวรรดิรัสเซีย(ยังเป็นจักวรรดิ)
งานที่เขาได้คือ ได้เป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นและพัฒนาระเบิดที่สามารถพุ่งไปชนและจมเรือศัตรูได้อย่างแม่นยำ ที่ทุกวันนี้เรารู้จักกันดีในชื่อของ...
"ตอร์ปิโด"
หางของ torpedo
หลังจากสำเร็จในการคิดค้นตอร์ปิโด พ่อของอัลเฟรดก็ผันตัวมาเป็นพ่อค้าขายอาวุธให้กับกองทัพของรัสเซียตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา...(นึกถึงโทนี่ สตาร์ก)
ต้องบอกว่าเป็นโชคที่ดีจริงๆของอัลเฟรด
ที่กลับมาถูกเวลาถูกสถานการณ์...
ช่วงปี 1855 ที่อัลเฟรดกลับไปช่วยงานพ่อกับพี่ๆทั้ง 2 คนที่รัสเซียดันเกิดสงครามพอดี สงครามนั้นมีชื่อว่าสงครามไครเมีย
(จะเขียนถึงในตอนต่อๆไปครับ)
ทำให้ยอดสั่งซื้ออาวุธจากกองทัพเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล และแน่นอนว่าเม็ดเงินที่เข้ามา ก็จะไหลเข้ามาอย่างมหาศาลไม่แพ้กัน...
แต่ทุกงานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา...
หลังสงครามครั้งนี้สิ้นสุดลงด้วยความพ่ายแพ้ของรัสเซีย
ทำให้การเงินของพ่อค้าอาวุธเริ่มมีปัญหา
หลังจบสงคราม เงินทุนจากรัฐส่วนใหญ่ ก็ต้องวิ่งไปที่การอุปโภคบริโภค ไปซ่อมแซมบ้านเรือน จนด้านการทหารค่อยๆหมดความจำเป็น...
และในปี 1859 บริษัทผลิตอาวุธที่สร้างเงิน
ได้เป็นกอบเป็นกำแห่งนี้ ก็ต้องปิดตัวลงในที่สุด...
เนื่องจากไม่มีเงินทุนเข้ามาหมุนเวียนมากพอ ทำให้อัลเฟรดและครอบครัวต้องขนของกลับสวีเดนบ้านเกิด เพื่อหาอาชีพอื่นทำกันต่อไป..
และการกลับสวีเดนครั้งนี้
จะทำให้เราได้รู้กันเสียทีครับว่า...
พ่อค้าความตาย จะกลายเป็นชายผู้รักสันติภาพได้ยังไง?
หลังกลับสวีเดน หนึ่งสิ่งที่อัลเฟรดยังคงสนใจและทดลองอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่สงครามเริ่มยันสงครามจบคือ "ไนโตรกลีเซอรีน"
ยิ่งว่างจากงานที่เคยทำอยู่แล้วด้วย ทำให้เขามีเวลามากพอที่จะลองผิดลองถูกซึ่งช่วงที่เขากำลังทดลองอยู่นั้น เอมิล น้องชายเขาก็ร่วมด้วยช่วยกันอีกแรง
แต่แล้วเรื่องน่าเศร้าก็เกิดขึ้น...
ปี 1864 เกิดเหตุระเบิดขึ้นที่โรงงานของอัลเฟรด
ทำให้คนงานที่ทำงานอยู่ตรงนั้นกว่า 10 ชีวิต
เสียชีวิตทันที รวมถึงเอมิล น้องชายของเขา...
หลังเหตุระเบิด รัฐบาลก็สั่งห้ามทดลองในเมืองอีก ทำให้อัลเฟรดต้องขนของ ออกไปทำการทดลองนอกเมือง ไปนั่งไปนอนบนเรือกลางทะเลสาบ เผื่อเกิดระเบิดจะได้ไม่มีใครเป็นอะไร
ถึงตรงนี้อาจจะมีคนสงสัย...
ว่าทำไมเขาถึงยังไม่ยอมเลิกสักที ทั้งๆที่ปณิธานอันแน่วแน่ของเขานั้น ถึงขั้นพรากชีวิตน้องชายเขาไปแล้ว?
นั่นก็เพราะเขาบอกตัวเองว่า ถ้าเขาแก้ปัญหานี้ไม่ได้
เจ้าของเหลวไวไฟชนิดนี้คงไม่มีวันใช้ให้เกิดประโยชน์ได้
และจะต้องมีคนตาย จากการทดลองทำสิ่งที่เขาทำอยู่อีกมากแน่ๆ
ดังนั้น มีทางเดียวที่จะหยุดเรื่องนี้ คือต้องทำให้ได้!!
และในที่สุดความพยายามก็เป็นผล...
ปี 1867 เขาสามารถทำให้เจ้าของเหลวสีใสไนโตรกลีเซอรีนนี้เสถียรได้ด้วยการเติมผงดินปืนลงไปประมาณหนึ่ง
แต่การเติมผงดินปืนลงไป ทำให้อานุภาพจากเดิมที่รุนแรงอยู่แล้ว รุนแรงมากกว่าเดิมเสียอีก
นั่นจึงเป็นสาเหตุที่อัลเฟรดตั้งชื่อให้กับสิ่งที่เขาค้นพบว่า
"ไดนาไมต์" เพราะไดนาไมต์มาจากคำว่า dýnamis
ในภาษากรีก แปลว่า พลังและอำนาจนั่นเอง
หลังการค้นพบและจดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อย เขาก็เอาเจ้าของเหลวที่ทำให้เสถียรแล้วนี้ ไปทำในสิ่งที่เขาอยากทำมานาน นั่นคือทำให้เกิดประโยชน์(ในรูปของระเบิด)
ไดนาไมต์ของอัลเฟรดถูกนำไปใช้ทั่วโลกภายในระยะเวลาไม่กี่ปี เพราะแรงระเบิดที่ค่อนข้างรุนแรง ไดนาไมต์เลยถูกนำไปใช้
ตามงานอุตสาหกรรมเช่น ทำเหมืองแร่ ทำถนน ระเบิดสะพาน ทำทางรถไฟ
1
บวกกับยุค 1870 เป็นช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม
ประเทศไหนๆก็ต้องการทรัพยากร ต้องการหิน ต้องการแร่
การระเบิดเอาหินเอาแร่ ทำให้ยอดสั่งซื้อไดนาไมต์พุ่งกระฉูด
และอัลเฟรดก็ขึ้นแท่น เศรษฐี ในเวลาไม่นานนัก...
แต่เหรียญย่อมมีสองด้าน
แม่เหล็กย่อมมีสองขั้ว...
ในยุคนั้นยังมีอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่เกิดควบคู่ไปกับ
การทำเหมืองและทำทางรถไฟคือ "สงคราม"
อาจจะไม่ใช่สงครามใหญ่ๆอย่างสงครามโลก
และแม้จะเป็นเพียงแค่สงครามย่อยๆ ย่อมต้องมีการใช้ระเบิด
ไดนาไมต์ของอัลเฟรดก็เป็นหนึ่งในนั้น...
จากเรื่องทั้งหมดนี้
ทำให้เขาเป็นดั่งพระเจ้าสำหรับนายทุนและกองทัพ
แต่กลับเป็นได้แค่ซาตานผู้ชั่วร้ายสำหรับประชาชน
ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ และการทหาร
ต้องแลกมาด้วยเลือดและน้ำตาของคนบริสุทธิ์
ที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับความเจริญนี้เลย
และจุดเปลี่ยนสำคัญก็มาถึง...
ปี 1888 ประเทศฝรั่งเศส
อัลเฟรดนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งของสำนักพิมพ์ฝรั่งเศส
แต่อ่านไปได้ไม่เท่าไหร่เขาก็ต้องหยุดคิดสักร้อยวิ และขยี้ตาสักร้อยครั้ง...
พาดหัวข่าวเปิดมาด้วย "พ่อค้าความตายสิ้นชีพแล้ว"
ตามด้วย"นักประดิษฐ์ผู้ร่ำรวย ที่คิดวิธีฆ่าคนจำนวนมากได้เร็วมากๆได้จบชีวิตลงแล้ว"
ประเด็นที่อัลเฟรดช็อกก็คือ ทั้งพาดหัวทั้งเนื้อข่าว ...ทั้งหมดนั่นคือชื่อของเขา!
คนที่จบชีวิตจริงๆคือลุดวิก พี่ชายของอัลเฟรด
ไม่ใช่ตัวของอัลเฟรด และแม้ข่าวนี้จะผิดที่ชื่อและ
ไม่ตรงกับความเป็นจริง แต่การอ่านข่าวไม่จริงในครั้งนี้
กลับทำให้เขาคิดทบทวนอะไรได้หลายอย่าง...
1
"นี่เรากำลังทำสิ่งที่ถูกหรือสิ่งที่ผิด"
1
"สิ่งที่เราทำอยู่เป็นประโยชน์
อย่างที่คิดเอาไว้ตั้งแต่ต้น จริงๆหรือเปล่า"
1
ภาพของสงคราม ผู้คนล้มตาย ผุดขึ้นมาพร้อมๆกับ
การระเบิดภูเขา เผาป่า ทำทางรถไฟ...
ภาพของความเจริญในสังคมเมือง ผุดขึ้นมาพร้อมๆกับ
ความลำบากของผู้คนในเขตอุตสาหกรรม
ที่ต้องตระเวนหาที่อยู่ใหม่ อย่างไร้ความหวัง...
และความสะเทือนใจจากการถูกเสียดสีและประณามอย่างรุนแรง ว่าเป็นพ่อค้าความตายผู้โหดร้าย พรากชีวิตผู้คนมากมายไปจากครอบครัว...
ตอกย้ำว่าสิ่งที่เขากำลังทำอยู่เริ่มจะเบี่ยงออกจากปณิธาน
ที่เขาตั้งไว้ว่ามันจะต้องเป็นประโยชน์ขึ้นทุกที
และทั้งหมดที่ว่ามานี้
จะเปลี่ยนแปลงโปรไฟล์ชีวิตเขาไปตลอดกาล...
พินัยกรรมฉบับสุดท้ายของเขามีใจความว่า
"ที่ดินและทรัพย์สินมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอยกให้กับการจัดตั้งมูลนิธิเพื่อมอบรางวัลแก่ผู้ที่ทำคุณูประการดีเด่นให้กับโลกนี้ทุกๆปี ไม่ว่าเขาจะมีสัญชาติอะไรก็ตาม"
1
และหลังจากเขาเสียชีวิตไปไม่นาน
ปณิธานสุดท้ายอันแน่วแน่ของเขาก็ถูกทำให้เกิดขึ้นจริง
มูลนิธิที่เขาขอไว้ได้ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อมอบรางวัลให้
แก่ผู้ที่ทำประโยชน์ให้กับมนุษยชาติใน 5 สาขา
คือ สาขาฟิสิกส์ เคมี การแพทย์ วรรณกรรม
1
และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ "สาขาสันติภาพ"
1
ส่วนชื่อของรางวัลและมูลนิธิ
ก็ถูกจัดตั้งตามนามสกุลของอัลเฟรด
1
นั่นก็คือ "โนเบล"
1
ใช่แล้วล่ะครับ เขาคนนี้ก็คือ "อัลเฟรด โนเบล"
ผู้เป็นทั้งเจ้าของระเบิดไดนาไมต์และผู้ก่อตั้งมูลนิธิโนเบล
ที่มีนักวิทยาศาสตร์ระดับโลกมากมาย ตบเท้าเข้ามารับรางวัลกันในทุกๆปีนั่นเอง
1
และทั้งหมดนี้ก็คือ"การเดินทางของผู้ชายที่ชื่อ อัลเฟรด โนเบล"
จากพ่อค้าความตาย สู่ชายผู้รักสันติภาพ
ขอบคุณที่อ่านกันจนจบนะครับ
#WDYMean
ถ้าชอบหรือถูกใจก็ฝาก
#กดไลค์ 👍
#กดติดตาม✋
เป็นกำลังใจให้กันด้วยนะครับบ😆
ภาพประกอบจาก pixabay
Wikipedia
#อ้างอิงจาก
โฆษณา