11 เม.ย. 2020 เวลา 13:42 • ไลฟ์สไตล์
ช่วงนี้หลายคน Work from home คงมีค่าไฟขึ้นกันบ้างใช่ไหมครับ วันนี้ผมจะมาพูดถึงเรื่องค่าไฟ คำถามที่หลายๆคนคงมีข้อสงสัยอยู่ในใจ คือเรื่องของการเสียบปลั๊กไฟทิ้งไว้ มันเปลืองไฟหรือไม่ หลายบ้านคงมีบรรทัดฐานต่างกัน บางบ้านอาจจะเสียบทิ้งไว้ได้ บางบ้านเสียบปลั๊กพ่วงทิ้งไว้แต่ปิดสวิตซ์ หรือบางบ้านก็บังคับให้ถอดปลั๊กกันทุกวันเลยทีเดียว
อันที่จริง การเสียบปลั๊กไฟทิ้งไว้ แม้ว่าเราจะปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านั้นไปแล้ว อาทิ ทีวี มันยังคงมีกระแสไฟฟ้าไหลอยู่ครับ แต่ไหลในปริมาณที่น้อยมากๆเมื่อเทียบกับในขณะที่มีการใช้งาน โดยกระแสดังกล่าวเรียกง่ายๆว่ากระแสสงบ ส่งผลให้มิเตอร์ไฟเรายังขึ้นอยู่ครับ
แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้การเสียบปลั๊กไฟทิ้งไว้จะมีกระแสไหลนั้น ไม่ได้แปลว่ากินไฟเสมอครับ เนื่องจากกระแสไฟดังกล่าวมีปริมาณที่น้อยมาก น้อยจนแทบไม่ขยับมิเตอร์ไฟเลยทีเดียว การเสียบทิ้งไว้ทั้งปีเนี่ย กินไฟไม่กี่หน่วยเท่านั้นครับ ซึ่งมากน้อยต่างกันไปแล้วแต่ประเภทของเครื่องใช้ไฟฟ้า ถ้าอยากรู้ว่ากินไฟเท่าไหร่ สามารถดูได้ที่สเปคเครื่องใช้ไฟ้าในส่วนของ standby consumption ครับ ส่วนใหญ่จะมีบอกไว้หมด
1
แล้วทีนี้เราควรเสียบปลั๊กทิ้งไว้ไหม จริงๆแล้วมันมีทั้งข้อดีข้อเสียของการเสียบปลั๊กไฟทิ้งไว้ครับ ข้อเสียที่แน่ๆคือ มันกินไฟเล็กน้อยครับ ส่วนข้อเสียหลักๆคือ มันเสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้ในกรณีไฟฟ้าลัดวงจรครับ และเสี่ยงต่อการเสียหายของอุปกรณ์ในกรณีที่เกิดฟ้าผ่า แต่ข้อดีของมันคือ การที่ไม่ถอดเข้าๆออกๆบ่อยๆทำให้ปลั๊กไม่หลวม ไม่สึก และมีโอกาสสปาร์คหรือเกิดอันตรายยากมากขึ้นนั่นเอง
แล้วแบบนี้ทำไงดีหละ สำหรับผู้เขียนเอง แนะนำว่าถอดปลั๊กในกรณีเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ใช้บ่อยครับ เช่น เตารีด หรือ หม้อหุงข้าว สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการใช้งานถี่หน่อย แนะนำให้ใช้ปลั๊กพ่วงแบบที่มีสวิตซ์เปิดปิดควบคุมไฟฟ้าได้ครับ และก็ใช้อย่างเหมาะสมกับกำลังไฟที่ปลั๊กพ่วงรองรับด้วยนะครับ
โดยสวิตซ์ปลั๊กพ่วงเนี่ย เมื่อปิดสวิตซ์จะทำให้ไม่มีไฟไหลเข้าในเครื่องใช้ไฟฟ้าของปลั๊กที่เสียบคาไว้กับปลั๊กพ่วงครับ แต่ยังคงมีไฟไหลเข้าในวงจรปลั๊กพ่วงอยู่ ส่วนหนึ่งคือไหลมายังหลอดไฟที่ใช้สำหรับแสดงว่ามันเปิดหรือปิดอยู่นั่นแหละครับ (เหมือนเสียบปลั๊กหลอดไฟทิ้งไว้แต่ไม่ได้เปิดสวิตซ์ไฟ) อีกส่วนเนื่องจากปลั๊กพ่วงส่วนใหญ่ที่มีคุณภาพ จะมีวงจรที่ใช้สำหรับตัดไฟอยู่ครับ ไฟฟ้าแม้จะปิดก็ยังคงไหลเข้าสู่วงจรดังกล่าว แต่จะมีการกินไฟที่น้อยมากๆเช่นกันครับ
3
อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาด้วยการใช้ปลั๊กพ่วง ยังคงเป็นการแก้ปัญหาเบื้องต้นเท่านั้นครับ แต่ไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงทั้งหมด โดยหลักๆจะใช้เพื่อลดการสึกหรอของเครื่องใช้ไฟฟ้าจากการถอดหรือเสียบปลั๊กบ่อยๆประกอบกับเพิ่มความสะดวกสบายครับ สุดท้ายแล้วปัญหาใหญ่ที่สุดก็คือการมีโอกาสเกิดไฟฟ้าลัดวงจร หรือไฟไหม้ ซึ่งยังคงเป็นปัญหาเดิมถึงแม้จะมีการใช้ปลั๊กพ่วงก็ตาม
2
สุดท้ายผู้เขียนก็ยังแนะนำให้ถอดปลั๊กหรือปลั๊กพ่วงออกในกรณีที่ไม่อยู่บ้านเป็นเวลานาน หรือกรณีที่จะไม่มีการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นเวลานานเพื่อป้องกันเหตุสุดวิสัยได้ดีที่สุดครับ สุดท้ายย้ำอีกครั้งว่าปลั๊กพ่วงที่ใช้ก็ควรจะต้องเป็นปลั๊กพ่วงที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน ซึ่งอาจจะราคาแพงนิดนึง แต่รับรองคุ้มค่ากับความเสี่ยงที่เราสามารถป้องกันได้ในระดับหนึ่งแน่นอนครับ เพราะปลั๊กพ่วงราคาถูกอาจรองรับไฟได้ไม่มากพอ หรืออาจก่อให้เกิดความร้อนมากเสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้ได้ครับ
โฆษณา