Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
The Ergosphere
•
ติดตาม
15 เม.ย. 2020 เวลา 11:30 • ความคิดเห็น
What is Chuunibyou? : จูนิเบียวคืออะไร? ดัดให้ตรงได้ไหม? (นั่นมันเบี้ยว)
จูนิเบียวเป็นศัพทที่ใช้ในการประชดกึ่งดูถูก สามารถพบเห็นการใช้คำนี้ได้ในกลุ่มนักวาดนักเขียนโดยเฉพาะนักวาดที่ได้อิทธิพลจากมังงะญี่ปุ่นและกลุ่มโรลเพลย์ โดยคำว่าจูนิเบียว (中二病) มีที่มาจากภาษาญี่ปุ่นที่แปลตรงตัวได้ว่า ‘โรคเด็กม.2’ มีที่มาพฤติกรรมที่มักเกิดในเด็กวัยรุ่นตอนต้น หรือประมาณชั้น ม.2 ที่พยายามค้นหาตัวตนของตัวเอง รวมไปถึงการพยายามสร้างคาร์แรคเตอร์ให้ตัวเองโดดเด่นและได้รับความสนใจ
อาการของผู้เป็นจูนิเบียวคือ มักจะพยายามทำในสิ่งที่ตนเองคิดว่าเท่ แต่ในสายตาของคนทั่วไปมองว่ามันขัดกับหลักตรรกะสุด ๆ ดูไม่เข้าท่า น่ารำคาญ แปลกประหลาด
อาการในขอบเขตปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ เช่น คิดว่าตัวเองมีพลังพิเศษและบอกคนอื่นเช่นนั้น, หาส่วนประกอบแปลก ๆ มาใส่เพิ่มในเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายเพราคิดว่าจะทำให้ดูเท่ขึ้น (มักเชื่อมโยงกับข้อแรก), ใช้ถ้อยคำในการพูดต่างจากปกติไป เป็นต้น
อาการดังกล่าวมักจะเริ่มต้นขึ้นในช่วงอายุ 13-15 หรือประมาณม.2 ตามที่มาของชื่อ แต่ถึงจะถูกเรียกว่าโรคเด็กม.2 แต่จูนิเบียวไม่ใช่โรคทางการแพทย์ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา แต่เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนในช่วงวัยรุ่นตอนต้น โดยในปัจจุบันมักถูกนำมาเป็นคำเรียกคนทำตัวเพ้อเจ้อในบางวงการ แต่ถ้าหากจูนิเบียวมีอาการหนักจนแยกความเป็นจริงกับจินตนาการไม่ได้จริง ๆ ก็ควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์เพื่อความปลอดภัยของทั้งตัวคนที่จูนิเบียวและคนรอบข้าง
:: จูนิเบียวสามารถแบ่งได้เป็นประเภทหลักๆ 3 ประเภท ::
1. DQN หรือคนที่พยายามทำตัวต่อต้านสังคมหรืออันธพาลใช้กำลังถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีนิสัยหรือชบทำแบบนั้นเลยก็ตาม มักจะสร้างเรื่องเกี่ยวกับการชกต่อยหรือหาเรื่องเจ็บตัวตลอดเวลา
2. Subculture หรือคนที่ ‘ทำเป็นชอบ’ ในเรื่องราวหรือวัฒนธรรมบางอย่างที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักทั้งๆที่ไม่ได้ชอบในสิ่งนั้นจริงๆ และพูดถึงมันตลอดเวลาเพื่อให้ตัวเองดูเป็นคนที่น่าสนใจ แต่ไม่ได้สนใจลงลึกในรายละเอียดของเรื่องนั้น ๆ แบบคนที่ชื่นชอบจริง ๆ
3. Mystical power หรือคนที่เชื่อว่าตัวเองมีพลังพิเศษเหนือมนุษย์ ถูกวิญญาณร้ายสิงสู่ มีพลังทำลายล้างลึกลับถูกผนึกอยู่ในตัว มีพลังจิต มีความสามารถในการควบคุมหรือสื่อสารกับสิ่งลี้ลับต่าง ๆ และมักจะแต่งเรื่องเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้แล้วนำมาเขื่อมต่อกับสิ่งต่าง ๆ ในโลกความเป็นจริงอย่างเป็นเรื่องเป็นราวได้
:: สำหรับตัวละครที่จูนิเบียวในบทประพันธ์สามารถแยกได้เป็น 2 ประเภทคือ ::
1. ตัวละครจูนิเบียวในโลกความจริง มักถูกสื่อออกมาในรูปของคนเพ้อเจ้อ เช่น บอกว่าตัวเองมีพลังพิเศษทั้งที่เป็นแค่มนุษย์ธรรมดา คิดว่ากำลังทำภารกิจกู้โลกทั้งที่ใช้ชีวิตปกติ มักอยู่ในเรื่องราวที่ยึดความเป็นจริงเป็นหลักโดยตัวละครนั้นเองที่ทำตัวแปลกไป
2. ตัวละครที่เป็นอุดมคติของผู้มีอาการจูนิเบียว มักอยู่ในเรื่องราวที่ตอบสนองต่อความจูนิเบียวของตัวละครนั้น ๆ เช่น ตัวละครที่กรีดร้องหรือตะโกนชื่อท่าตลอดเวลาที่ต่อสู้ หลงตัวเอง คิดว่าตนเองเหนือว่าตัวละครอื่น ๆ มีประวัติเลวร้ายแบบไม่สมเหตุสมผล โดยตัวละครจูนิเบียวประเภทนี้มักจะมาพร้อมกับความแมรี่ซู หรือเป็นตัวละครที่มีดีไปหมดทุกด้านมีแต่คนชื่นชมไม่ว่าจะทำตัวดีหรือแย่ก็ตาม และพลังบางอย่างที่มักจะมีขอบเขตกว้างมาก
โดยผู้อยู่ในสายวาดหรือเขียนที่มีอาการจูนิเบียวก็มักจะสร้างตัวละครในประเภทที่ 2 ออกมาเช่นเดียวกัน และใช้ตัวละครนั้น ๆ แทนบทบาทที่ตนเองอยากเป็นหรือพลังพิเศษที่อยากมี (แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้สร้างตัวละครจูนิเบียวทุกคนจะต้องเป็นจูนิเบียวไปด้วยนะ)
การส่งผ่านความจูนิเบียวออกมาทางตัวละครที่มากจนเกินไปสามารถส่งผลเสียต่อเนื้อเรื่องของบทประพันธ์ หรือก่อให้เกิดความบาดหมางในกลุ่มโรลเพลย์ได้ นอกจากจะเป็นตัวละครประเภทที่น่ารำคาญสำหรับผู้อ่านแล้ว ยังสามารถทำให้อีเว้นท์โรลเพลย์หมดสนุกหรือไปต่อไม่ได้เลยทีเดียว
ส่วนจูนิเบียวในโลกความเป็นจริงนั้น ถึงแม้ส่วนมากจะไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบหรือความเสียหายอะไรต่อคนรอบข้างมากเป็นรูปธรรม แต่ในกลุ่มที่อาการหนักก็อาจเป็นอันตรายต่อตัวเองได้ หากมีคนที่เชื่อในเรื่องราวที่เล่าจนเก็บไปทำตามหรือพยายามพิสูจน์ว่าตัวเองมีพลังอย่างที่เชื่อด้วยการทำอะไรเสี่ยง ๆ รวมถึงพฤติกรรมที่บานปลายจนกลายเป็นเรื่องผิดกฏหมาย เช่น โจมตีผู้อื่นทั้งในโลกความจริงและโลกออนไลน์จนเข้าข่ายหมิ่นประมาท การหลอกลวงผู้อื่น การใช้ความรุนแรงในชีวิตจริง เป็นต้น
:: ตัวอย่างของตัวละครจูนิเบียว ::
- โอคาเบะ รินทาโร่ จาก Steins;Gate ที่เชื่อว่าตัวเองเป็นแอนตี้ฮีโร่นักวิทยาศาสตร์ผู้บ้าคลั่ง ที่ต่อสู้กับองค์กรมืดจากใต้ดินทั้งที่เป็นแค่เด็กมหาวิทยาลัย
- ทาคานาชิ ริกกะ จากเรื่อง Chuunibyou demo Koi ga Shitai ที่คิดว่าตนเองมีพลังสามารถใช้เวทมนตร์ได้ (อนิเมเรื่องนี้ได้เล่าเรื่องราวของผู้มีอาการจูนิเบียวออกมาอย่างชัดเจนเลยทีเดียว)
- ตัวละครชายแมรี่ซูที่มีพลังพิเศษจากตุ๊กตา ในนิยายแฟนตาซีไทยเรื่องหนึ่งที่เชื่อว่าตัวเองเป็นคนสำคัญและมีคนชอบตลอดเวลาไม่ว่าจะทำตัวแบบไหนก็ตาม
- ศาสตราจารย์ล็อกฮาร์ตจากแฮรี่พอตเตอร์ ที่เชื่อว่าตัวเองเป็นคนที่ต่อสู้กับศาสตร์มืดมามากมายทั้งที่ไม่สามารถต่อสู้กับศาสตร์มืดจริง ๆ ได้เลย
:: ตัวอย่างจูนิเบียวในโลกความจริง ::
- กลุ่มเด็กแว๊น ที่คิดว่าการขับขี่จักรยานยนต์เสียงดัง ใช้ความเร็วสูงก่อกวนบนถนนสาธารณะเป็นเรื่องเท่ ทั้งที่ในความจริงแล้วเป็นพฤติกรรมที่น่ารำคาญและก่อความเดือดร้อนให้กับผู้ใช้รถใช้ถนน
- คนที่สร้างเรื่องหลอกลวงเกี่ยวกับสถานศึกษาต่าง ๆ ด้วยการเข้าไปทำกิจกรรมกับคนในสถานศึกษาเพื่อเอาไปใช้ในการยืนยันว่าตัวเองเรียนที่นั่นจริง ๆ
- ความพยายามในการโปรโมทคาแรกเตอร์ของหนังเรื่องหนึ่ง ด้วยการยืมเพจดังที่มีผู้ติดตามจำนวนมากมาโพสต์ข้อความที่มีคำหยาบคายและอ้างว่าเป็นคาแรกเตอร์ของตัวละครนั้น เพราะคิดว่าจะทำให้คนสนใจ โดยไม่ดูความเหมาะสมของเพจและกลุ่มผู้ติดตาม
:: เพิ่มเติมจากในคอมเม้นท์ ::
Q : จูนิเบียวมันคำนิยามถึงคนที่คิดหรือกระทำการใด ๆ ที่เหนือจริง แฟนตาซี หรือแปลกจากคนปกติ พวกที่พูดจาแปลก ๆ หรือเลียนแบบการพูดพฤติกรรมตัวละคร ไม่ก็ทำคิดว่ามีพลังมืด เป็นกูล เป็นยันเดเระตามกระแสไม่ใช่หรอ แบบนี้นิยามก็เพี้ยนหมดสิ ?
A : จูนิเบียวตามนิยามเดิมในปี 1999 ตั้งแต่การใช้คำนี้เป็นครั้งแรกในรายการวิทยุของญี่ปุ่นคือ ความเพ้อเจ้อ/เรื่องไม่เข้าท่าของเด็กม.2 เทียบเท่ากับคำว่า teenage rebellion หรือ goth/punk phase ของฝั่งตะวันตกซึ่งไม่ได้มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมเลียนแบบอนิเมเลย แต่เพิ่งมารู้จักกันอย่างแพร่หลายเพราะถูกเอามาใช่ในอนิเมในปี 2006 และ 2012
ส่วนจูนิเบียวที่มองว่าเป็นพวกเลียนแบบคิดว่าตวเองเป็นตัวละครในสื่อต่าง ๆ เริ่มจากการที่คำว่าจูนิเบียวถูกใช้ในอนิเมเรื่อง Black Lagoon กับ Chuunibyou demo Koi ga Shitai! หรือที่คนอาจจะคุ้นเคยและชัดเจนมากกว่าคือการเล่นเป็น mad scientist ของโอคาเบะใน Steins;Gate ซึ่งนิยามที่ว่าเป็นภาพจำที่ติดมาจากอนิเมอีกที่ ซึ่งไม่ใช่ทั้งหมดของขอบเขตของกลุ่มคนที่เรียกว่าจูนิเบียว เป็นความเข้าใจผิดซ้ำ ๆ จากสื่อที่แก้ยาก คล้ายกับที่คนคิดว่านักโทษต้องใส่เสื้อลายขาวดำเพราะเห็นมาจากในหนัง ทั้งที่จริงแล้วมันเป็นแค่ส่วนหนึ่งของชุดที่มีเป็นสิบแบบที่ไม่ค่อยได้เห็นผ่านสื่อ และของไทยใส่สีน้ำตาลกับสีฟ้าไม่ใช่ขาวดำ
อันที่จริงกลุ่มคนที่พูดจาแปลก ๆ หรือเลียนแบบการพูดพฤติกรรมตัวละคร หรือที่คิดว่ามีพลังมืด เป็นกูล เป็นยันเดเระตามกระแส คือกลุ่ม Mystical power ที่เป็น 1 ในกลุ่มย่อยๆของจูนิเบียวอีกที แต่ถูกเหมารวมมากที่สุดเพราะแสดงออกชัดเจนที่สุดและมีสื่อที่พูดถึงพฤติกรรมดังกล่าวมากกว่า DQN หรือ subculture
คำว่าจูนิเบียวเองก็ไม่ได้มีข้อกำหนดว่าต้องใช้กับบุคคลอย่างเดียว จะเป็นคนจริงๆ ตัวละคร หรือคาแรกเตอร์ของเพจ ก็สามารถเข้าข่ายจูนิเบียวได้เหมือนกัน
สำหรับคำว่าจูนิเบียวในอนิเมพากย์ญี่ปุ่นซับอังกฤษมักจะแปลคำว่าจูนิเบียวเป็น delusion
Q : เด็กแว๊น บอย สกล และคาแร็กเตอร์ผู้คุมในการโปรโมตหนัง มันก็แค่ปัญหาสังคม คนขี้โกหก และการตลาด มันจูนิเบียวตรงไหน?
A : เด็กแว๊นคือกลุ่ม DQN พยายามหาจุดเด่นให้ตัวเองด้วยการทำตัวต่อต้านสังคม ใช้ความรุนแรง ก่อปัญหาก่อความรำคาญให้ผู้อื่น หรือเอาจริงๆก็คือพวก DQN ที่ทำตัวเลยเถิดจนเข้าขั้นก่อปัญหา และอาจจะเข้าข่าย subculture ด้วยเพราะมีความพยายามจะชอบในเรื่องนอกกระแสเหมือน ๆ กันเช่นการแต่งรถให้มีท่อเสียงดัง ขับขี่ด้วยความเร็ว ผาดโผนอันตราย เลียนแบบนักแข่งผาดโผนมืออาชีพ
เคสหลอกลวงเรื่องสถานศึกษาเป็น DQN แบบที่ไม่ได้สร้างเรื่องต่อยตีกับใคร แต่แอบอ้างว่าเป็นในสิ่งที่เป็นได้ยาก (สำหรับคนแบบเขา) และตัวเองเป็นไม่ได้เพื่อให้คนยอมรับจนเลยเถิดไปเป็นการหลอกลวง ถือเป็นพฤติกรรมเพ้อเจ้อเพื่อให้ได้รับการยอมรับแบบหนึ่ง
การโปรโมทด้วยการสิงเพจของผู้คุมเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของจูนิเบียวประเภท mystic power ผสมกับ DQN ในโลกความเป็นจริง โดยการอ้างว่าถูกผู้คุมสิง (Mystic power) และสิงเพจบางประเภทด้วยการทำให้คาแรกเตอร์ปกติของเพจนั้น ที่เป็นเพจสาระหรือเพจไอดอลหลุดคาร์ด้วยการใช้คำหยาบคายในการโพสและตอบโต้กับผู้ติดตามแทนลักษณะการตอบโต้ปกติของเพจ (DQN)
เรียบเรียงโดย : Restorer 37, Mayko
ภาพประกอบโดย : Mayko
#STORY
1 บันทึก
4
1
1
1
4
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย