Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Aftertaste
•
ติดตาม
12 เม.ย. 2020 เวลา 09:13 • ประวัติศาสตร์
ไวน์แห่งโป๊บ "Chateauneuf du Pape"
2
ไวน์ Chateauneuf du Pape
คุณจะดื่มไวน์อะไร ถ้าพรุ่งนี้คือวันสุดท้ายของชีวิตคุณ ?
“ชาโตเนิฟ ดู ป๊าบ"
ขออภัยที่จำไม่ได้ว่าใครคือคนตั้งคำถาม แต่เจ้าของคำตอบนี้คือ พ่อนักบุญคนบาปแห่งวงการไวน์ “Robert M. Parker Jr.”
วันนี้เลยจะพาคอไวน์ไปรู้จักประวัติย่อของไวน์ ชาโตเนิฟ ดู ป๊าบ (Chateauneuf du Pape) กันสักหน่อย
จุดกำเนิดของไวน์ชาโตเนิฟ ดู ป๊าบ เริ่มมาจากเหตุความขัดแย้งระหว่างกษัตริย์ฝรั่งเศสกับเหล่าศาสนจักรในกรุงโรมตั้งแต่ปี ค.ศ.1309 เนื่องด้วยสมเด็จพระสันตะปาปาที่ได้รับการแต่งตั้งในขณะนั้นเป็นชาวฝรั่งเศส ทำให้ไม่เป็นที่พออกพอใจของชาวโรมนัก จึงต้องระเห็จตัวเองออกจากโรมด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย กลับมาพำนักในบ้านเกิดที่เมืองอาวิญง (ทางฝั่งโรมก็แต่งตั้งสมเด็จพระสันตะปาปาฝั่งตนเองขึ้นมาด้วย) และได้สร้างปราสาทหลังใหม่ขึ้นมาพร้อมๆ กับกิจกรรมทางศาสนา (ก็คือการทำไวน์)
ความขัดแย้งระหว่างกษัตริย์ฝรั่งเศสกับเหล่าศาสนจักรในกรุงโรม
…นี่จึงกลายเป็นที่มาของคำว่า ชาโตเนิฟ ดู ป๊าบ หรือ ปราสาทหลังใหม่ของสมเด็จพระสันตะปาปา (The Pope’s New Castle) นั่นเอง
สมเด็จพระสันตะปาปาเคลมองต์ที่ห้า คือโป๊บองค์แรกที่เก็บข้าวของออกจากโรม พระองค์มีความสนใจและหลงใหลในไวน์อย่างมาก แต่โอนเอนไปทางไวน์เบอกันดีมากกว่า การทำไวน์ทางฝั่งอาวิญงเองจึงดำเนินไปด้วยเหตุผลทางศานาเท่านั้น แถมยังแอบแว้บไปสร้างไวน์ที่บอร์กโดซ์ไว้อีก ซึงยังคงสืบทอดมาถึงทุกวันนี้นั่นก็คือ Chateau Pape Clement ใน Pessac Leognan (คงไม่ต้องบอกว่าชื่อชาโตนี้ได้มายังไง)
สมเด็จพระสันตะปาปาเคลมองต์ที่ห้า ผู้ก่อตั้ง Chateau Pape Clement
ไวน์ชาโตเนิฟ ดู ป๊าบ เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ.1317 เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาองค์ถัดมา คือ โป๊บจอห์นที่ยี่สิบสอง ท่านเป็นแฟนพันธุ์แท้ไวน์ชาโตเนิฟ ดู ป๊าบ จึงได้เริ่มปรับปรุงแนวทางและวางรากฐานการผลิตไวน์ รวมทั้งสร้างปราสาทหลังใหม่ พร้อมปลูกองุ่นเพื่อผลิตไวน์ ซึ่งไวน์ในตอนนั้นมีชื่อว่า "Vin du Pape"
โป๊บจอห์นที่ยี่สิบสองกับปราสาทหลังใหม่ของโป๊บ
Vin du Pape นั้นเจริญเติบโตเป็นอย่างดีภายใต้การดูแลของโป๊บที่สืบทอดตำแหน่งในอาวิญงอีกหลายพระองค์ กระทั่งปี ค.ศ.1378 ก็ถึงคราวซบเซาลง เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปา
เกรกอรี่ที่สิบเอ็ดต้องย้ายกลับไปประจำการที่กรุงโรมตามเดิม แต่ยังคงเป็นแหล่งผลิตไวน์ที่สำคัญในภูมิภาคนี้อยู่
จนเวลาล่วงเลยต่อไปอีกถึงสี่ศตวรรษ ในช่วงปลายศตวรรษ 1700’s ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1650 ไวน์ของโรห์นใต้นี้ก็เริ่มเป็นที่รู้จักในเชิงการค้า ได้รับความนิยมจากบรรดานักชิมไวน์ทั้งหลายที่ต่างยกย่องว่านี่คือของดี จวบจนมาถึงปี ค.ศ. 1737 ก็ได้มีพระบรมราชโองการเป็นตัวบทกฏหมายออกมาว่า ในถังไวน์จากโรห์นทุกถังจะต้องประทับตรา C.D.R. ให้เห็นเด่นชัด
โป๊บที่สืบทอดตำแหน่งในอาวิญง
ชาวโรห์นลืมตาอ้าปากได้ยังไม่ทันไร เคราะห์กรรมก็โหมซัดเข้ามาในปี ค.ศ.1866 เมื่อ Phylloxera ระบาดหนักทำลายเถาองุ่นทั่วทั่งยุโรป โดยเฉพาะที่ชาโนเนิฟ ดู ป๊าบ คือพื้นที่แรกๆ ที่เจ้า Phylloxera บุกทะลวง ปัญหานี้ลากยาวไปจนถึงปี ค.ศ.1880 จนเหลือพื้นที่ปลูกองุ่นได้แค่ 200 เฮกตาร์เท่านั้น เรียกได้ว่าอุตสากรรมไวน์ในพื้นที่ถึงขั้น ล่มจม จนชาวเกษตรกรต้องละทิ้งการปลูกองุ่นทำไวน์แล้วหันไปเลี้ยงชีพด้วยอย่างอื่นแทน
Phylloxera บุกทะลวงไร่ไวน์ในฝรั่งเศสจนย่อยยับ
กาลเวลาผ่านไปอีกนับสิบปี การฟื้นฟูพื้นที่ปลูกองุ่นหลังจากพายุ Phylloxera ที่สงบลงก็ทำไม่ได้โดยเร็วนัก เพราะไวน์ที่ผลิตได้ในช่วงนี้ขายไม่ค่อยได้ราคา ทุนที่จะนำมาฟื้นตัวก็เลยฝืดเคืองไปด้วย ในช่วงเวลานี้เองที่นายกเทศมนตรีของเมืองคือนาย Joseph Ducos ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของ Chateau La Nerthe ในขณะนั้น เห็นว่าจะปล่อยให้สถานการณ์มันย่ำแย่ไปกว่านี้ไม่ได้แล้ว จึงได้เชิญชวนและสอนให้ชาวไวน์เริ่มการตัดต่อกิ่งองุ่นไวน์ของตนกับเถาองุ่นจากอเมริกา ซึ่งทนทานต่อ Phylloxera และยังได้ลงทุนลงแรงทำการทดลองวิจัยจนสามารถระบุพันธุ์องุ่นได้อีกกว่า 10 สายพันธุ์ที่สามารถให้ผลผลิตที่ดี เหมาะกับสภาพดินและอากาศในเขตผลิต
Joseph Ducos
พร้อมกับประกาศให้ชาว ชาโนเนิฟ ดู ป๊าบ ได้ตื่นจากภวังค์ หันมาปกป้องไวน์ที่ตนผลิตขึ้นมา ด้วยการเปลี่ยนชื่อเขตผลิตจาก Châteauneuf Calcernier มาเป็น Châteauneuf-du-Pape ในปี ค.ศ.1893 เพื่อให้ผู้อื่นรับรู้ว่านี่ไม่ใช่ไวน์ไร้ชื่อหรือไวน์ที่ไร้ซึ่งคุณภาพ ถึงกระนั้นในช่วงปี ค.ศ.1900 จนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 (1914-1918) ไวน์จากชาโตเนิฟ ดู ป๊าบ ยังคงถูกเหล่าบรรดาพ่อค้าคนกลางซื้อไปใช้ผสมกับไวน์เบอร์กันดีเพื่อเพิ่มสีสันและเติมแต่งโครงไวน์เท่านั้น
จวบจนในปี ค.ศ.1919 ช่วงเวลาของฟ้าหลังฝนก็มาถึง เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 จบลง เหล่าชาวไวน์ก็ได้เริ่มฟื้นฟูการผลิตไวน์ ชาโตเนิฟ ดู ป๊าบ ให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาใหม่อีกครั้ง โดยทุกคนต่างมีมุ่งมั่นไปในทิศทางเดียวกันว่า การเริ่มต้นใหม่คราวนี้จะไม่ใช่แค่การขอขึ้นทะเบียนคุ้มครองเขตผลิตกับทางรัฐบาลเท่านั้น แต่จะต้องควบคุมผลผลิต พัฒนาการปลูกองุ่นและไวน์ให้มีคุณภาพที่ดีเยี่ยม เพื่อให้ขายได้ราคาและไม่ถูกย่ำยีเหมือนในอดีตอีกต่อไป
ชาวไวน์ได้เริ่มฟื้นฟูการผลิตไวน์ ชาโตเนิฟ ดู ป๊าบ
แม้จะมีความตั้งใจอันแน่วแน่ในการบรรลุภารกิจนี้ ก็นับว่าเป็นการอันหนักหนาและยากยิ่งในภาวะที่ทุกอย่างไม่ได้เป็นไปอย่างใจนัก ชาวไวน์ต่างลงความเห็นว่า คงจะมีเพียงท่าน บารอน ปิแอร์ เลอ ฮอย (Baron Pierre Le Roy de Boiseaumarie) ผู้ที่มีทัศนวิสัยกว้างไกล และเป็นผู้ถือครองไร่ไวน์ในชาโตเนิฟ ดู ป๊าบ มากที่สุดในขณะนั้น (อันได้แก่ Fortia, Rayas, La Nerthe, Vaudieu ในปัจจุบัน) ที่จะช่วยออกแรงเป็นหัวหอกดำเนินการให้สำเร็จลุล่วงได้
ท่าน บารอน ปิแอร์ เลอ ฮอย ยินดีพร้อมตกปากรับคำที่จะรับบทบาทหน้าที่นี้ แต่มีข้อแม้ที่เหล่าชาวไวน์ต้องให้คำมั่นสัญญาสองข้อ คือ ต้องมีความซื่อสัตย์ และความมีระเบียบวินัยที่จะปฏิบัติตามกฎข้อบังคับที่ท่านจะสร้างขึ้นจากนี้ไป จากนั้นในปี ค.ศ.1923 "Syndicat des Propriétaires Viticulteurs de Châteauneuf-du-Pape" ก็ได้ถูกจัดตั้งขึ้นโดยมีท่านบารอน ปิแอร์ เลอ ฮอย นั่งเป็นประธาน
Baron Pierre Le Roy
ให้หลัง 1 ปี ชาโตเนิฟ ดู ป๊าบ ก็ได้ถูกเสนอชื่อเพื่อให้รัฐบาลรับรองและขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการ จนกระทั่งปี ค.ศ.1936 ความพยายามของเหล่าชาวไวน์และท่านท่านบารอน ปิแอร์ เลอ ฮอย ก็ประสบผลสำเร็จ เมื่อ INAO (Institut National des Appellations d’Origine ซึ่งฝรั่งเศสก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1935 เพื่อจัดตั้งระบบ AOC) ประกาศให้ ชาโตเนิฟ ดู ป๊าบ เป็นหนึ่งในเขตผลิตไวน์ AOC พร้อมกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ โดยยึดหลักการของท่านบารอน ปิแอร์ เลอ ฮอย เป็นแนวทางหลักสำหรับการผลิตไวน์ภายใต้ Appellation Châteauneuf-du-Pape Contrôlée
ค.ศ.1936 INAO ประกาศรับรอง Appellation Châteauneuf-du-Pape Contrôlée
สรุป Timeline ไวน์ Chateauneuf du Pape
ยุคโรมันโบราณ เริ่มมีการปลูกเถาองุ่นในพื้นที่ Chateauneuf du Pape
ค.ศ.1309 โป๊บเคลมองต์ที่ห้าออกมาจากโรมย้ายมาพำนักที่อาวิญง
ค.ศ.1317 โป๊บจอห์นที่ยี่สิบสอง เริ่มก่อสร้างปราสาทหลังใหม่และผลิตไวน์ "Vin du Pape"
ค.ศ.1378 โป๊บย้ายกลับไปกรุงโรม "Vin du Pape" เริ่มซบเซาลง
ปลาย 1700’s "Vin du Pape" กลับมาเป็นที่นิยมในหมู่นักชิมไวน์
ค.ศ.1866 Phylloxera ระบาดหนัก ทำลายเถาองุ่นทั่วยุโรป
ค.ศ.1880 เหลือพื้นที่ปลูกองุ่นได้เพียง 200 เฮกตาร์
ค.ศ.1893 Joseph Ducos วิจัยหาพันธุ์องุ่นที่เหมาะสม และเปลี่ยนชื่อไวน์เป็น Chateauneuf du Pape
ค.ศ.1914-1918 ย่ำแย่อีกครั้งจากผลกระทบของสงครามโลกครั้งที่ 1
ค.ศ.1919 รวมตัวเพื่อฟื้นฟู Chateauneuf du Pape
ค.ศ.1923 ก่อตั้ง “Syndicat des Propriétaires Viticulteurs de Châteauneuf-du-Pape” ท่านบารอน ปิแอร์ เลอ ฮอย เป็นประธาน
ค.ศ.1924 เสนอชื่อ Chateauneuf du Pape ให้ทางรัฐบาลรับรอง
ค.ศ.1935 ฝรั่งเศษก่อตั้ง INAO และจัดตั้งระบบ AOC
ค.ศ.1936 INAO ประกาศรับรอง Appellation Châteauneuf-du-Pape Contrôlée
ส่วนที่ว่า ไวน์ชาโตเนิฟ ดู ป๊าบ (รวมถึงไวน์อื่นๆ จากแคว้นโรห์น) มีชื่อเสียงโด่งดังและราคาพุ่งแรงมาจนถึงวันนี้ได้อย่างไร เกี่ยวข้องอย่างไรกับ โรเบิร์ต ปาร์คเกอร์ ตอนหน้าจะเรียงเรียงขึ้นมาให้อ่านกันนะครับ
References
All About Chateauneuf du Pape Guide Best Wine Character Style History :
https://www.thewinecellarinsider.com/rhone-wines-cote-rotie-hermitage-chateauneuf-du-pape/chateauneuf-du-pape-wine-producer-profiles/
AOC creation - Chateauneuf du Pape :
http://www.chateauneuf.dk/en/history/theaoc.htm
9 บันทึก
47
8
9
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
Wine Talks
9
47
8
9
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย