13 เม.ย. 2020 เวลา 22:46 • ไลฟ์สไตล์
14 เมษายน หรือที่เรียกว่า วันเนาว์ หรือ วันเน่า ทุกครอบครัวจะทำขนมส่วนมากจะเป็นขนมเทียนไส้หวานหรือไส้เค็มและอาหารที่นิยมทำก็คือ แกงฮังเล
รวมทั้งเตรียมผลไม้ เครื่องอุปโภคบริโภค จำนวนมากเพื่อนำไป "ตานขันข้าว" หรือทำบุญตักบาตรในวันรุ่งขึ้น (15 เมษายน ) และเตรียมเครื่องสังฆทานและตุง ชนิดต่างๆ เพื่อนำไปปักเจดีย์ทรายเพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้บรรพบุรุษ ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วให้ได้รับส่วนบุญส่วนกุศล
พระเอกของวันนี้คืออาหารสุดยอดของสงกรานต์ คือ แกงฮังเล
แกงฮังเลย์หมู
ในสมัยก่อนถ้าไม่ใช่วันสงกรานต์แล้วจะไม่มีใครทำ และไม่มีขายด้วยครับ ต้องเป็นช่วงสงกรานต์ถึงจะมีกินแล้วทำกันแทบทุกบ้าน ปกติจะใช้หมูสามชั้นติดหนัง ประมาณ 3-5 กก. หรือใครที่ชอบไก่ ก็ได้ เครื่องแกง ประกอบไปด้วยพริกแห้งแช่น้ำแกะเมล็ด 1 ถ้วย เกลือ ตะไคร้ ขมิ้น ผิวมะกรูด กระเทียม หอม ผงเครื่องแกงฮังเล น้ำมะขามเปียก น้ำกระเทียมดอง
วันนี้สมาชิกในบ้านแทบจะไม่ได้ออกบ้านเลย เพราะทั้งอาหาร และขนมเทียนไส้หวานและไส้เค็ม ต้องช่วยแม่ทำครัวตั้งแต่เช้าเลยนะครับโขลกน้ำพริก หั่นหมูสามชั้น หม้อที่ใช้แกงฮังเลย์ต้องเป็นหม้อขนาดใหญ่เพราะต้องทำบุญถวายพระ แจกให้กับผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพนับถีอ เป็นอาหารที่ต้องทานในบ้าน
แล้วเอาหมูและน้ำพริกแกง ใส่หม้อเรียบร้อยแล้ว นำเอาผงเครื่องแกงฮังเล
ผงเครื่องแกงฮังเล
หมักรวมกับหมูและน้ำพริกไว้ก่อน ประมาณ 1 ชม. แล้วเติมน้ำลงในหม้อ ถ้าใครชอบหวานก็เติมน้ำกระเทียมดองเพิ่ม เสร็จแล้วเอาตั้งเตาไฟ สักครู่น้ำมันที่อยู่ในหมูสามชั้นจะออกมาผสมคลุกเคล้ากับเครื่องแกงที่อยู่ในหม้อจะมีกลิ่นหอมฟุ้งไปหลายบ้าน ประมาณว่าเดินผ่านบ้านจะรู้เลยว่าบ้านนี้ทำแกงฮังเล ส่วนอาหารอย่างอื่นก็จะทำแล้วแต่ละบ้าน สำหรับบ้านผมแม่จะซื้อเนื้อหมูสันนอก สันใน ซี่โครงหมู ฯลฯ มาเพิ่มอีกทำเป็นทอดกระเทียมไว้กินในช่วงสงกรานต์ ที่ต้องทำเยอะๆในช่วงนี้เพราะว่าตลาดสด หรือ ร้านอาหารจะปิดในช่วงสงกรานต์ ไม่มีใครขายเลยสมัยนั้นไม่มี ร้านสะดวกซื้อ 24 ชม. ไม่มีตลาดห้องแอร์เหมือนสมัยนี้ครับ
เมื่ออาหารและขนมเทียน ทำสุกเรียบร้อยแล้ว ยังไม่ได้ทานนะครับ จะต้องแบ่งใส่หม้อไว้เพื่อพรุ่งนี้เช้าจะได้อุ่นไปทำบุญถวายพระ และแบ่งไปให้ปู่ ย่า ตา ยายและญาติผู้ใหญ่ให้เรียบร้อยก่อนเพื่อนำไปทำบุญในเช้าวันรุ่งขึ้น ส่วนขนมเทียนก็ใช้คนเยอะครับ ต้องโม่แป้งข้าวเหนียว ทำไส้หวานและไส้เค็ม ห่อใบตอง ใส่ลังถึงตั้งไฟนึ่ง สรุปแล้วทุกอย่างเสร็จประมาณสามหรือสี่โมงเย็น เด็กๆ หนุ่มสาว และ พระสงฆ์ จะเดินทางไปยังท่าทรายที่แม่น้ำ เพื่อจะขนทรายไปก่อเจดีย์ทรายในวัด ขาไปก็เดินไปเป็นกลุ่มๆ ถือถังน้ำขนาดเล็กใส่น้ำรดกันสาดกันตามทางไปด้วย เมื่อไปถึงท่าน้ำก็จะรดน้ำสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน ขากลับก็ตักทราย หิ้วกลับมาที่วัดและช่วยกันก่อเจดีย์ทราย
ก่อเจดีย์ทราย
วันนี้จะเน้นไปที่อาหารยอดฮิตแกงฮังเลและขนมสำหรับไปวัดพรุ่งนี้เช้านะครับ สำหรับแกงฮังเล ถือว่าเป็นอาหารประจำภาดเหนือไปแล้ว ไม่ว่าตามร้านอาหาร ในตลาดสด หรือ เป็นเมนูในการจัดขันโตก ตามงานต่างๆ ตามห้องอาหารในโรงแรม หรือร้านอาหารพื้นเมืองทั่วไป ท่านที่มาเที่ยวภาดเหนือคงได้ลิ้มชิมรสกันแล้วนะครับ
บางท่านอาจจะสงสัยว่า ทุกครอบครัวจะต้องไปวัดวันเดียวกัน ช่วงเวลาไปก็
ใกล้ๆกัน แล้ว อาหารและ ฯลฯ ไม่เสียรึไง วันพรุ่งนี้วัดมีทีเด็ดในการถนอมอาหาร รวมทั้งเรื่องราวเครื่องแกงฮังเลของชาวไทยใหญ่ เชิญติดตามนะครับ
สงกรานต์ป๊๋ใหม่เมืองแพร่:สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแพร่:ISBN 974-9681-49-5
โฆษณา