12 เม.ย. 2020 เวลา 11:35 • ประวัติศาสตร์
Boston City Hall สัญลักษณ์ของ 'ความเป็นเมือง' อันเป็นตำนานของ Michael McKinnell สถาปนิกผู้จากไปด้วยไวรัสโคโรน่า
ไวรัสโคโรน่าได้พรากบุคคลมีชื่อเสียงของโลกหลายคนไป หนึ่งในนั้นคือ Michael McKinnell (1935 – 2020) สถาปิกชาวอังกฤษ เจ้าของผลงานการออกแบบ Brutalist Architecture อันยิ่งใหญ่อย่าง Boston City Hall ซึ่งได้จากโลกนี้ไปในวัย 84 จากการติดเชื้อโควิด-19 เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ณ เมืองร็อกพอร์ต รัฐแมสซาชูเซตส์ หลังจากอาคารแห่งนี้เพิ่งฉลองครบรอบ 50 ปี ไปเมื่อปีที่แล้ว
ที่ว่าการเทศบาลเมืองบอสตัน หรือ Boston City Hall เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี 1969 ถ้าหากย้อนกลับไปในปี 1962 Michael McKinnell คือสถาปนิกเลือดใหม่ไฟแรงที่เพิ่งเรียนจบจากมหาวิทยาลัยโคลอมเบียหมาดๆ ผู้ชนะการแข่งขันออกแบบอาคารที่ว่าการเมืองบอสตันด้วยวัยเพียง 26 เท่านั้น
Boston City Hall คือหนึ่งในอาคารไอคอนิกแห่งยุคกลางศตวรรษที่ 20 ยุคที่สถาปัตยกรรมแบบ Brutalist เริ่มเข้ามามีอิทธิพลกับงานออกแบบทั่วโลก อาคารคอนกรีตขนาดมหึมาที่ใช้ฟอร์มของซิกกูแรต (Ziggurat) หรือพีระมิดไร้ยอดแหลมที่ชาวสุเมเรียน (Sumerian) นิยมสร้างเป็นวิหารในดินแดนเมโสโปเตเมียแห่งนี้ นอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ของเมืองบอสตัน ยังเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงจากโลกเก่าไปสู่โลกใหม่ โดยการเชื่อมต่อระหว่าง 'ประชาชนคนเมือง' กับ 'รัฐ' อย่างที่ไม่เคยมีใครทำ และไม่มีใครกล้าจินตนาการถึงมาก่อน จนหลายคนเปรียบเทียบอาคาร Boston City Hall แห่งนี้กับงานออกแบบอาคารที่ทำการของรัฐบาลหลายแห่งในยุคเดียวกันที่ได้สร้าง ‘ความเป็นเมือง’ ให้ทรงพลังยิ่งขึ้น อย่างเมืองจันดิการ์ (Chandigarh) ประเทศอินเดีย ที่เปลี่ยนเมืองให้เป็นตะวันตกด้วยสถาปัตยกรรมโมเดิร์นทั้งหมดโดยสถาปนิกในตำนาน Le Corbusier และ Pierre Jeanneret หรือบราซีเลีย (Brasilia) เมืองหลวงของประเทศบราซิลที่เต็มไปด้วยสถาปัตกรรมอาวอง-การ์ด (Avant-garde) ล้ำยุค
Kallmann, McKinnell & Wood บริษัทสถาปนิกท้องถิ่นในบอสตันของ Michael McKinnell ได้สร้างผลงานให้เป็นที่จดจำมากมายในงานออกแบบสถาปัตยกรรมร่วมสมัยทั่วอเมริกาจนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น American Academy of Arts and Sciences หรือ Back Bay Station
ซึ่งชุดภาพถ่ายของ Ezra Stoller ชุดนี้จะพาเราไปสำรวจความยิ่งใหญ่ของอาคาร Boston City Hall สัญลักษณ์ของเมืองบอสตัน ในอีกมุมมองหนึ่งที่อาจไม่เคยมีใครได้เห็นมาก่อน
อ้างอิง : Dooddot
โฆษณา