12 เม.ย. 2020 เวลา 13:03 • ข่าว
Focus : ประเด็นน่าสนใจวันนี้
1. World Bank คาดการณ์เศรษฐกิจใน "เอเชียใต้" ตกต่ำรุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี
มีรายงานจากสำนักข่าว Retuers ออกมาว่า อินเดีย และประเทศอื่น ๆ ในแถบเอเชียใต้ มีแนวโน้มที่จะเผชิญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา World Bank กล่าวในวันนี้
รายงานSouth Asia Economic Focus ของ World Bank ระบุไว้ดังนี้
"ภูมิภาคเอเชียใต้ ประกอบไปด้วย 8 ประเทศ มีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจจะเติบโตประมาณ 1.8-2.8% ในปีนี้ ซึ่งลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ 6.3% เมื่อ 6 เดือนก่อน"
เศรษฐกิจของอินเดีย ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียใต้ ได้รับการคาดการณ์ไว้ดังนี้
1. Fiscal Year* ปี 2020 เศรษฐกิจจะเติบโตประมาณ 4.8-5%
2. Fiscal Year ปี 2021 จะเติบโตลดลงเป็น 1.5-2.8%
3. Fiscal Year ปี 2022 จะฟื้นตัวกลับมาเป็น 4-5%
* Fiscal Year แปลว่า ปีงบประมาณ หมายถึง ช่วงเวลา 1 ปี ที่ใช้สำหรับคำนวณงบทางการเงินของบริษัทนั้น ๆ มีความแตกต่างจากปีในปฏิทินทั่วไปตรงที่ "มันไม่ได้เริ่มจากวันที่ 1 มกราคมเสมอไป" โดยทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริษัทนั้น ๆ ว่าต้องการตัดงบประมาณรายปีในช่วงเดือนไหน ซึ่ง Fiscal Year ส่วนใหญ่ของอินเดียจะเริ่มนับในวันที่ 1 เมษายนของทุกปี และสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคมของปีถัดไป
ส่วนประเทศอื่น ๆ ที่ World Bank คาดการณ์ไว้สามารถดูได้ตามภาพด้านล่างเลยครับ
ข้อสังเกต : โดยรวมแล้ว World Bank ได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในเอเชียใต้จะทรุดหนักในปีนี้ และบางประเทศจะฟื้นตัวได้ในช่วงปีหน้า ส่วนบางประเทศจะยังต้องเผชิญกับภาวะถดถอยต่อไปอีกในปี 2021 ก่อนจะกลับมาฟื้นตัวได้ในปี 2022
และแน่นอนว่าสิ่งที่ World Bank ทำจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากการปล่อยกู้เงินกว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ให้แก่ประเทศที่ประสบปัญหาเหล่านี้
ซึ่งตรงส่วนนี้ World Maker จะชี้ให้เห็นครับว่าที่ผ่านมาระบบเงินดอลลาร์เข้าไปฝังรากลึกในทุกประเทศทั่วโลกได้อย่างไร...ลองคิดดูนะครับ ประเทศเหล่านี้ไม่มีทางเลือกอื่นเลยในตอนนี้ นอกจากรับเงินช่วยเหลือ เพราะหากไม่รับเศรษฐกิจจะไปไม่รอด
หลังจากกู้เงินมา แล้วผ่านพ้นช่วง Coronavirus ไป เศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นฟู ขณะนั้น GDP ทั่วโลกจะพุ่งขึ้นสักพัก แต่สิ่งที่ซ่อนอยู่คือวงจรหนี้ ที่รอการทวงคืน และเมื่อเศรษฐกิจฟื้นฟู FED ก็จะต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นเหมือนเดิม รวมถึงเอาเงินที่เคยพยุงไว้ออกไปครับ ทีนี้แหละ ใช้หนี้กันวุ่นแน่
* อ่านเรื่องนี้อย่างละเอียดได้ที่ https://www.blockdit.com/articles/5e9077cd6803a318ea1108ab
ส่วนภาพด้านล่างจะแสดงถึงรายละเอียดเงินทุนฉุกเฉินสำหรับวิกฤต Coronavirus ในปัจจุบันครับ
Source : World Bank
2. IMF มองว่าโลกกำลังอยู่ในภาวะถดถอยที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ Great Depression
IMF หรือที่ภาษาไทยเรียกว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ กล่าวว่าพวกเขาได้มองเห็นเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังเผชิญความยากลำบาก ซึ่งรุนแรงมากที่สุดนับตั้งแต่ Great Depression โดยเฉพาะประเทศตลาดเกิดใหม่ และประเทศรายได้ต่ำ ในแอฟริกา ลาตินอเมริกา และเอเชีย จะจัดอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงเป็นพิเศษ
"ครึ่งหนึ่งของสมาชิก IMF กำลังจัดหามาตรการเยียวยาประเทศเหล่านี้ โดยบอร์ดผู้บริหารได้มีมติเห็นชอบสำหรับการเพิ่มจำนวนเงินทุนกู้ยืมเป็น 2 เท่า ! เพื่อจะทำให้สมดุลกับ Demand ในการกู้ที่คาดการณ์ไว้ประมาณ 1 แสนล้านดอลลาร์" Kristalina Georgieva กรรมการผู้จัดการของ IMF กล่าว
เกล็ดความรู้ : สำหรับใครที่ศึกษาประวัติศาสตร์มา จะรู้ว่าทุกครั้งที่เกิดวิกฤตก็ IMF นี่แหละครับ พระเอกหลักในการปล่อยกู้ แน่นอนว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของวงจร "หนี้" อันมหาศาลในปัจจุบันนี้ และมันกำลังจะเพิ่มสูงขึ้นไปอีก
มุมมองในปัจจุบันของ IMF คือ เศรษฐกิจทั่วโลกจะเริ่มฟื้นตัวในปี 2021 หากการแพร่ระบาดชะลอตัวลงในช่วง 2 ไตรมาสหลังของปีนี้ และประเทศต่าง ๆ เริ่มผ่อนคลายมาตรการกักกันอย่างค่อยเป็นค่อยไป (คาดการณ์ไว้ดีกว่า World Bank)
ข้อสังเกต : IMF คาดการณ์ไว้ว่า "เศรษฐกิจจะฟื้นฟูอย่างค่อยเป็นค่อยไป" ซึ่งตรงกันข้ามกับกลุ่มที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นฟูอย่างรวดเร็วเป็น V-Shape
อย่างไรก็ตาม Kristalina Georgieva ได้เน้นย้ำว่า "ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับไวรัส หมายถึงหลาย ๆ สิ่ง อาจเลวร้ายลงมากกว่านี้" (ความหมายตรงนี้น่าจะหมายถึงการที่ Coronavirus แพร่ระบาดได้ยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้)
กราฟด้านล่างนี้เป็นกราฟที่ได้จากเครื่องมือติดตาม GDP ทั่วโลกของ Bloomberg ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจทั่วโลกในปัจจุบันอยู่ในภาวะถดถอยแล้วตั้งแต่เดือนมีนาคม 2020 (ตัวเลขลดลงต่ำกว่า 0)
ผลกระทบครั้งนี้ลามไปทั่วถึงทั้งอุตสาหกรรมค้าปลีก ภาคบริการ ภาคการขนส่ง ภาคการท่องเที่ยว และธุรกิจส่วนตัว รวมถึงธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก โดย IMF คาดว่ารายได้ต่อหัวของประชาชนใน 170 ประเทศจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
คาดการณ์ครั้งนี้ของ IMF เปลี่ยนแปลงไปจากคาดการณ์ครั้งก่อนเมื่อไม่ถึง 2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งในตอนนั้น IMF เคยกล่าวไว้ว่า Coronavirus จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยมูลค่าของกองทุนต่าง ๆ จะลดลงเพียง 0.1% และ GDP ทั่วโลกจะอยู่ 3.3% (ปัจจุบันคนล่ะเรื่องเลย)
นอกจากนี้ IMF ยังเตรียมที่จะปล่อยเงินกู้ยืมเพิ่มเติมอีกเป็นจำนวน 1 ล้านล้านดอลลาร์ !! หากวิกฤตครั้งนี้ยืดเยื้อยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ หรือหากมันมีการระบาดเกิดขึ้นเป็นรอบที่ 2 เราจะทำการเพิ่มทรัพย์สินสำรอง รวมถึง SDRs*
*SDRs หรือภาษาไทยเรียกว่า "สิทธิพิเศษถอนเงิน" ภาษาอังกฤษเต็ม ๆ เขียนว่า Special Drawing Rights เป็นสินทรัพย์สมมติที่สร้างขึ้นโดย IMF และส่งต่อไปให้ประเทศอื่น ๆ ถือครอง เพื่อใช้เป็นเสมือนทุนสํารองระหว่างประเทศแทนทรัพย์สินสำรองอื่น ๆ (เช่น ทองคำ) และเพิ่มสภาพคล่องที่เอื้ออำนวยต่อการขยายตัวทางการเงินและเศรษฐกิจ โดยมูลค่าของ SDRs จะถูกคำนวณและอ้างอิงโดยสกุลเงินของประเทศที่เข้าร่วมเป็นสมาชิก และจะสามารถแลกเปลี่ยน SDRs เป็นเงินสกุลนั้น ๆ ได้ตามต้องการ
ภาพด้านล่างแสดงให้เห็นถึงจำนวนการปล่อยกู้ SDRs ในช่วงวิกฤตปีค.ศ. ต่าง ๆ ครับ
ปล่อยกู้กันให้กระจาย แล้วกลายเป็นเจ้าหนี้รอกินดอก นี่คือความฉลาดของพวกนายแบงค์ และสถาบันการเงินครับ และเป็นเหตุผลเดียวกันว่าทำไมคนกว่า 80% ตัวโลกถึงต้องทำงานใช้หนี้คนกลุ่มน้อยเหล่านี้ไปตลอดชีวิต ขนาดรุ่นลูกรุ่นหลาน ก็ยังต้องทำงานเพื่อรับใช้คนเหล่านี้ (โทษใครไม่ได้ด้วย)
อย่างไรก็ตาม IMF กล่าวว่ากำลังประเมินในส่วนของ "เงินบริจาค" อีก 1.4 พันล้านดอลลาร์ สำหรับประเทศที่ยากจน
โดยสรุปคือมาตรการหลัก ๆ ของ IMF คือการใช้วงเงินสินเชื่อ (Credit) เพื่อจัดหาเงินสดให้แก่ประเทศต่าง ๆ รวมถึง "เงินกู้ระยะสั้น (Short-term loans)" เพื่อบรรเทาในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังเผชิญภาวะวิกฤต
ข้อสังเกต : IMF ก็บอกเองนะครับว่ามันเป็น Short-term loans หรือเงินกู้ระยะสั้น ดังนั้นแล้วคงเห็นภาพแล้วว่าอีกไม่นานจะถึงเวลา "ใช้หนี้" แน่นอน
การกดไลค์ กดแชร์ กดติดตาม และการติชมในเชิงสร้างสรรค์ของคุณ เป็นกำลังใจให้เราและเหล่าอาชีพนักเขียนทุกคนในการพัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป ขอเชิญทุกท่านร่วมสร้างสังคมการเรียนรู้ที่ดีด้วยกันกับเรา
World Maker
สามารถติดตาม World Maker ผ่านทาง Facebook ได้แล้ววันนี้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา