12 เม.ย. 2020 เวลา 12:12 • ธุรกิจ
หนึ่งแพลตฟอร์มพิชิตทั่วหล้า:
Cainiao เริ่มบาดหมางกับพันธมิตร (2)
ในบทความตอนแรก เราพอทราบความเป็นมาเป็นไปของ Cainiao กันแล้ว
(เพื่อนๆสามารถย้อนกลับไปอ่านตอนแรกปูพื้นได้ หรือข้ามมาอ่านตอน 2 เลยก็ได้เหมือนกัน)
ย้อนความช่วงปี 2013 ที่ทางแจ็คหม่า ร่วมกับพันธมิตรก่อตั้ง Cainiao โดยมุ่งหวังจะสร้าง “โครงข่ายโลจิสติกส์อัจฉริยะของจีน” เพื่อลดเวลาขนส่งสินค้าพัสดุทั่วประเทศจีน
จากเดิมที่ใช้เวลาสูงสุดถึง 4 วัน ลดลง ให้ส่งสินค้าภายใน 1 วัน และนอกประเทศจีน ให้ส่งได้ภายใน 3 วัน…
ทั้งนี้ ชื่อ Cainiao “ไช่เหนี่ยว” ทางแจ็คหม่า ก็ตั้งชื่อแบบคิดมาดีแล้ว คือ คำว่า “ไช่เหนี่ยว (菜鸟) ในภาษาจีน หมายถึง “มือใหม่” คือ จะบอกว่าบริษัทขนส่งที่ตั้งขึ้นมาใหม่นี้ ไม่ได้คิดจะมาแข่งกับบริษัทขนส่งเจ้าเดิม ซึ่งยอมมาเป็นพันธมิตรกับ Alibaba
แต่ Cainiao มีจุดมุ่งหมาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการข้อมูล และทรัพยากร ด้วยการใช้ “Big Data”ให้เป็นประโยชน์
════════════════
ช่วย SMEs นำเข้า-ส่งออก
════════════════
โดยทาง Cainiao จะลงทุนทำระบบ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลทั้งข้อมูลการค้า และข้อมูลของบริษัทขนส่ง เช่น ข้อมูลคลังสินค้า ข้อมูลปริมาณรถที่พร้อมให้บริการ เป็นต้น
แล้วทาง Cainiao จะเลือกบริษัทที่เชี่ยวชาญ ในแต่ละพื้นที่ ที่มีราคาถูก และบริการได้ตามเป้าหมาย
เรากล่าวได้ว่า Cainiao ใช้ “Platform model” หรือใช้เงินคนอื่นบางส่วนในการทำงาน ที่หลีกเลี่ยงการลงทุนสินทัรพย์ถาวรด้วยตัวเอง (ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ)
Cr. ecommerceIQ
ข้อดีก็คือ Alibaba สามารถที่จะเพิ่มปริมาณขนส่งได้อย่างรวดเร็ว โดยอาศัยกำลังของพันธมิตร
แตกต่างจากของกลุ่มคู่แข่งคนสำคัญอย่าง Jindong (JD) ของ Tencent ที่ลงทุนสร้างระบบขนส่งของตัวเอง เรียกว่าเป็น "Direct Model" ข้อดีคือ สั่งการได้ทุกอย่าง เนื่องจากลงทุนเอง เรียกว่า “สั่งได้ดั่งใจ”
แต่พอ Cainiao เริ่มดำเนินการจริง กลับทำในสิ่งที่สร้างความตกใจให้เหล่าพันธมิตรขนส่ง (และเป็นผู้ถือหุ้นใน Cainiao รวมกัน 5%) ทั้ง SF Express
1
และ กลุ่ม 4 บริษัทขนส่งรายใหญ่ของจีน (3 ทง 1 ต้า) ได้แก่ จงทง (ZTO), หยวนทง (YTO), เชินทง (STO), และยุ่นต๋า (Yun Da)
นั่นก็คือทาง Cainiao ไปไล่ซื้อที่ดิน เพื่อมาทำ คลังสินค้า และศูนย์กระจายสินค้า!
ทางพันธมิตรก็เลยเริ่มงงว่า ไหนคุณหม่า บอกว่า Cainiao จะเป็นแค่บริษัท Internet แต่อยู่ๆ มาซื้อที่ดินแข่งกับพวกผมทำไมครับ?
คือในแง่บริษัทขนส่ง คลังสินค้า ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญ ในการจัดเก็บและกระจายสินค้าให้มีประสิทธิภาพ
โดยมีข้อมูลว่า ในช่วงเดือน มิถุนายน ปี ค.ศ. 2013 หลังจากเปิดบริษัทได้ 1 เดือน ทาง Cainiao ไล่ซื้อที่ดินรวมๆ ไปถึง 8,300 ไร่ โดยทาง Alibaba ไม่ได้กล่าวยืนยันในข้อมูลดังกล่าว
หากเราไปดูข้อมูลช่วงนั้น ก็อาจเข้าใจความคิดของ แจ็คหม่า มากขึ้น
ซึ่งก็มีข้อมูลจาก Global Logistics Properties ที่สร้างนิคมอุตสาหกรรมกว่า 125 แห่งใน 33 เมืองในจีน ที่ว่าการลงทุนในที่ดินเพื่อกิจกรรมขนส่งในจีน 10 ปีย้อนหลัง ให้ผลตอบแทนสูงถึง 15-20% ซึ่งยังไม่รวมราคาที่ดินที่มีโอกาสเพิ่มขึ้น
และด้วยสายสัมพันธ์ของแจ็คหม่า ทำให้เขาซื้อที่ดินได้ในราคาถูก จนทำให้เหล่าผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก็ไม่พอใจอีกด้วย
โดยมีคำกล่าวประชด จาก ประธานกลุ่ม Vantone Holdings ว่า “อนาคตของอสังหาริมทรัพย์ในจีน ไม่ได้ขึ้นกับรัฐบาลจะทำอะไร แต่ขึ้นกับแจ็คหม่า จะทำอะไรมากกว่า”
ถึงแม้ที่ดินที่ Cainiao ซื้อ เมื่อเทียบกับที่บริษัทขนส่งเจ้าอื่นๆ ซื้อ ก็ยังถือว่าไม่ได้ซื้อที่ดินมากมายอะไร แต่ก็สร้างความไม่พอใจให้กับพันธมิตรอยู่ดี
นอกจากนี้ พอผ่านไป 2 ปี ในช่วงปี ค.ศ.2015 ที่ Cainiao เริ่มเป็นรูปเป็นร่างแล้ว
ทาง Cainiao ประกาศแผนกลยุทธ์ ออกมา 5 ข้อด้วยกัน ได้แก่
1) บริการขนส่งด่วน (Express) – ยุติสงครามราคาของบริษัทขนส่ง Cainiao จะช่วยเลือกว่าใครได้งานไหน
2) คลังสินค้าและการกระจายสินค้า - การใช้ศูนย์กระจายสินค้าเพื่อลดค่าขนส่ง และทำให้ส่งของใน 1 วัน ได้ใน 50 เมือง
3) จุดรับสินค้า – เพิ่มจุดรับสินค้า 10,000 จุดทั่วประเทศ
4) การขนส่งระหว่างประเทศ – สร้างเครือข่ายการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ
5) การขนส่งในเขตชนบทของจีน – ครอบคลุม 1,000 จังหวัด และ 100,000 หมู่บ้าน ในชนบท
ซึ่งข้อ 1 ถึง 3 เป็นการควบคุมการดำเนินธุรกิจของบริษัทขนส่งแบบด่วน (Express) โดยเฉพาะบริษัท SF Express ที่กังวลเรื่องการแชร์ข้อมูลกับทาง Alibaba ก็เลยตีตัวออกห่าง ไม่รวมมือกับทาง Cainiao
แต่สำหรับ 4 เจ้าใหญ่ที่เหลือ มองเห็นว่าการรวมมือกับ Alibaba และ Cainiao น่าจะได้ผลดี มากกว่าเสีย ก็เลยให้ความร่วมมือ
ด้วยความที่ขัดแย้งกัน ยังทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบไปด้วย เช่น ลูกค้าที่สั่งของบน เถาเป่า (Taobao) แต่ใช้ SF Express ในการขนส่ง กลับพบว่าไม่สามารถติดตามสถานะสินค้าได้ เพราะว่าทั้ง 2 ฝ่าย ตัดระบบไม่ให้ข้อมูลเชื่อมถึงกัน
ทำไปทำมาจากตอนแรกที่จะเป็นพันธมิตรกัน Cainiao กับ SF Express ก็เลยกลายเป็นคู่แข่งกันแทน
Cr. ejinsight
ทั้งนี้ Alibaba ด้วยความที่เงินหนาพอสมควร ก็เลยไปไล่ซื้อหุ้นในบริษัทขนส่งพัสดุเจ้า มาทั้ง 3 ทง คือ จงทง หยวนทง เชินทง และยังมีหุ้นใน Best Express (ที่เข้ามาให้บริการในไทย แล้ว) และ Quanfeng Express
ยกเว้นแค่ ยุ่นต๋า ที่ยังเป็นพันธมิตรกัน
ส่วนทาง SF Express ก็เลือกทางเดินของตัวเอง…
จากข้อมูลในปี ค.ศ. 2016 (เก่าหน่อย) ระบุว่า ปริมาณขนส่งพัสดุกว่า 80% ในจีน ถูกส่งโดยธุรกิจ e-commerce
ซึ่งบริษัทขนส่งที่ยอมอยู่กับ Alibaba และ Cainiao ซึ่งเป็นเบอร์ 1 ของแพลตฟอร์ม e-commerce ในจีน ก็คงได้ประโยชน์
อย่างไรก็ตาม SF Express เอง ก็ไม่ได้กระจอก โดยมีรายได้กว่า 530,000 ล้านบาทในปีที่แล้ว เพิ่มขึ้น 23.4% และมีกำไรสุทธิ 26,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27%
แสดงถึงการเติบโตของตลาดขนส่งพัสดุแบบด่วน ในจีน ที่สูงมากๆ
และพอมีโควิด-19 ความต้องการขนส่งยิ่งสูงขึ้นไปอีก
หากเทียบกับ Cainiao ที่ให้บริการกันในเครือ และอาจมีให้บริการฟรีบ้าง ในปี ค.ศ. 2019 ก็มีรายได้ประมาณ 33,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสูงถึง 67%
โดยรายได้หลักๆ ที่เติบโตก็คือบริการ “Fullfilled by Cainiao”คือทาง Cainiao ช่วยแพ็คสินค้าและจัดส่งให้พ่อค้าแม่ค้าในแพลตฟอร์มค้าขายของ Alibaba เลย ช่วยลดต้นทุนให้ลูกค้าได้
Cr. ejinsight
ทั้งนี้ Alibaba เองก็ลงทุนใน Cainiao เพิ่มอย่างต่อเนื่อง จนมีสัดส่วนการถือหุ้นขึ้นไปที่ 63% สามารถควบคุม Cainiao ได้เบ็ดเสร็จ….
ในตอนต่อไป เราลองมาลงรายละเอียดกันว่า
Cainiao เวอร์ชั่นพัฒนาแล้ว เค้ามีโมเดลธุรกิจทำรายได้อย่างไรบ้าง?
และหากเทียบกับคู่แข่งคนสำคัญอย่าง JD แล้ว ถือว่าเป็นอย่างไร?
เพื่อนๆที่สนใจ ห้ามพลาด…เชิญมาติดตามบทความดีๆ ทุกวันช่วงๆ 1 -2 ทุ่ม แบบนี้
════════════════
ช่วย SMEs นำเข้า-ส่งออก
════════════════
💡ไม่อยากพลาดข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ กดติดตาม
"นำเข้าส่งออก สุดขอบฟ้า"
❤️ ช่วย SMEs ก้าวไกลไปทั่วโลก
👫 ร่วมกลุ่มผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออก

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา